Kolb’s Experiential Learning Cycle  ฉบับตีความ


เครื่องมือบ่มเพาะทักษะใคร่ครวญสะท้อนคิด ทักษะสะท้อนคิดสู่ทฤษฎี นิสัยใฝ่รู่ ทักษะใช้การทำงานเป็นโอกาสเรียนรู้ในระดับลึกและเชื่อมโยง

Kolb’s Experiential Learning Cycle  ฉบับตีความ

ชื่อบอกอยู่แล้วว่า นี่คือเครื่องมือเรียนรู้จากประสบการณ์   เป็นเครื่องมือที่ใช้ซ้ำๆ จนติดเป็นนิสัย    เป็นนิสัยของ “บุคคลเรียนรู้” (learning person)    และหากใช้ร่วมกันในทีมงาน (หรือหน่วยงาน/องค์กร) ในการทำงานตามปกติ    แบบใช้ซ้ำๆ ต่อเนื่อง    จะมีผลให้เป็นทีมงาน/หน่วยงาน ที่เรียนรู้ (learning team/organization)    และมีการพัฒนางานฝังอยู่ในการทำงานตามปกติ   

วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติของ โค้ลบ์ แสดงดังนี้

Learning theories for eLearning: Kolb's Cycle

เริ่มจากประสบการณ์ตรง (concrete experience) ของตนเอง หรือของทีมงาน     โดยปฏิบัติเอง หรือเข้าสังเกตการณ์    ปฏิบัติไปพร้อมๆ กันกับสังเกต ในลักษณะสังเกตไปคิดไป     โดยไม่ใช่คิดแบบปกติ (thinking)    แต่ใช้วิธีสะท้อนคิด (reflection)  ในลักษณะ reflective observation   คือสังเกตไปสะท้อนคิดไปในเวลาเดียวกัน 

คนโดยทั่วไปจะสะท้อนคิดสู่วิธีปฏิบัติที่น่าจะให้ผลดียิ่งขึ้น    ซึ่งเป็นการสะท้อนคิดที่ดี    แต่จะยิ่งดีขึ้นหากสะท้อนคิดสู่ข้อเรียนรู้หรือการตกผลึกหลักการ (concept) จากปฏิบัติการนั้น   ในลักษณะ abstract conceptualization   

จุดสำคัญคือ ทำแล้วคิดสู่หลักการ หรือทฤษฎี ด้วยตนเอง   ซึ่งต้องใช้ความกล้า   กล้าตั้งทฤษฎีหรือหลักการด้วยตนเอง     หรือกล้าตั้งคำถามต่อทฤษฎีที่มีผู้ตั้งหรือเสนอไว้ก่อนแล้ว    มนุษย์ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ต้องกล้าคิดทฤษฎีด้วยตนเอง    ไม่ใช่มุ่งเชื่อทฤษฎีที่มีปราชญ์หรือผู้รู้ในอดีตกำหนดไว้เท่านั้น    ต้องกล้าตั้งทฤษฎีเอง หรือกล้าตั้งข้อสงสัยในบางด้านของทฤษฎีที่มีผู้ตั้งไว้     โดยใช้ประสบการณ์ตรงของตนเองเป็นข้อมูลหลักฐาน   

นี่คือการใช้งานประจำที่ตนทำ เป็นข้อมูลสู่การเรียนรู้ในระดับทฤษฎี   ผ่านการฝึกตั้งทฤษฎีด้วยตนเอง   โดยเมื่อตกผลึกหรือตั้งทฤษฎีแล้ว ต้องเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง   ไม่กระโจนเชื่อตัวเองเต็มร้อย    นี่คือท่าทีที่สำคัญมาก ... ท่าทีหรือกระบวนทัศน์สงสัยใคร่รู้ (inquisitive)    ไม่เชื่อแบบเทใจแม้ต่อตนเอง   

เมื่อเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งต่อทฤษฎีหรือหลักการที่ตนเองคิดขึ้น ก็ต้องนำไปทดลองใช้ (active experimentation) ในสถานการณ์เดิม    เพื่อดูว่าได้ผลงานที่ดีกว่าเดิมหรือไม่    หากคุณภาพงานดีขึ้น ก็เป็นหลักฐานว่าหลักการที่คิดขึ้น น่าจะถูกต้อง    หากใช้ในการพัฒนางานหลายๆ รอบ และผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นข้อพิสูจน์ความถูกต้องของหลักการนั้น    โดยที่หลักการที่คิดขึ้น อาจเป็นการตีความทฤษฎีที่มีผู้เสนอไว้ก่อนแล้วก็ได้    ไม่จำเป็นต้องเป็นทฤษฎีใหม่แต่อย่างใด

จะยิ่งดี หากลองนำหลักการที่ตน (หรือทีมงาน) คิดขึ้น ไปลองใช้ในสถานการณ์ใหม่ ที่คาดว่าน่าจะใช้ได้    และหากผลออกมาในทางบวก คือช่วยให้ผลงานดีขึ้น   ก็เป็นหลักฐานสนับสนุนหลักการนั้น ว่าใช้ได้ในหลายสถานการณ์   

ผมมีความเห็นว่า การใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle  โดยนักเรียน กับโดยครู น่าจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน   ที่เสนอไว้ข้างบน เป็นข้อเสนอแนะต่อครูและผู้ปฏิบัติงานโดยทั่วไป     หากเอาไปใช้ในนักเรียนหรือนักศึกษา ต้องมีการช่วย scaffolding โดยครูหรืออาจารย์ช่วยตั้งคำถาม    เพื่อช่วยให้ผู้เรียนใคร่ครวญสะท้อนคิดสู่หลักการ    และเมื่อตกลงหลักการ/ทฤษฎี ที่ผู้เรียนร่วมกันตกผลึกได้แล้ว   ครู/อาจารย์ต้องช่วยโค้ชให้ไม่เชื่อเต็มร้อย    ให้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง   และให้เอาหลักการที่คิดขึ้นนั้นไปลองใช้ในขั้นตอนที่ ๔ ของวงจร Kolb     

คนที่ใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle  จนเป็นนิสัย   เรียกว่าผู้มีทักษะเรียนรู้ (learning skills)   

จะเห็นว่า แม้ Kolb’s Experiential Learning Cycle  จะเป็นเครื่องมือเรียนรู้จากการปฏิบัติ   แต่ก็เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ทฤษฎีด้วย   ทั้งผ่านการทำความเข้าใจทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว     และผ่านการกำหนดหลักการหรือทฤษฎีด้วยตนเอง    จึงน่าจะกล่าวได้ว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle  เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงความรู้ปฏิบัติ กับความรู้ทฤษฎี 

มองในมุมของนักเรียน นี่คือวัคซีนป้องกันการเรียนรู้แบบผิวเผิน   หรือเป็นเครื่องมือช่วยให้เรียนรู้ในระดับเชื่อมโยง (transfer learning)    ตามที่อธิบายในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง    

วิจารณ์ พานิช

๕ ต.ค. ๖๕                      

หมายเลขบันทึก: 708408เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2022 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2022 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท