ชีวิตที่พอเพียง 4351. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ๑๗๓. ก่อเกิดเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง


ทีมวิจัยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง นำโดย รศ. ดร. พิณสุดา สิริธรังศรี จัดประชุมนำเสนอผลการวิจัยและประเมินผลโครงการ ปี ๒๕๖๔ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕   และทบทวนเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองว่า  “วัตถุประสงค์ 1) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนด้วยตนเองทั้งระบบ (whole school approach) และโรงเรียนมีศักยภาพในการดำเนินการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง 2) เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่สัมฤทธิผลทางการเรียนที่สูงขึ้นตามศักยภาพของผู้เรียน โดยเน้นการดูแลนักเรียนด้อยโอกาสทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 3) เพื่อพัฒนาทักษะของผู้บริหารในการบริหารจัดการโรงเรียน และทักษะที่จำเป็นสำหรับครูในการจัดการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 4) เพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning 5) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ (Q-info) และการใช้ฐานข้อมูล เพื่อการบริหารจัดการโรงเรียนและการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ 6) เพื่อศึกษาวิจัย ติดตาม และประเมินผล และถอดบทเรียนจากการดำเนินงาน และขยายผลการพัฒนาไปยังโรงเรียนเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาคุณภาพได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท   นำไปสู่การสื่อสารสังคม และขับเคลื่อนเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”   

ผมได้รับเชิญเข้าร่วมให้ความเห็นด้วย  จึงถือโอกาสไปเสนอว่า อยากให้ช่วยชี้ให้เห็นจะจะ   ว่ามีโรงเรียนใดบ้างใน ๖๓๖ โรงเรียน   ที่น่าจะเชื่อมั่นได้ว่า จะดำเนินการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง   เกณฑ์ในการประเมินว่าพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องมีอะไรบ้าง   โรงเรียนเหล่านั้นมีปัจจัยสู่ความสำเร็จ (key success factors) อะไรบ้าง   มีเส้นทางการพัฒนาสู่ความต่อเนื่องนี้อย่างไร    หากจะหนุนให้โรงเรียนเหล่านี้พัฒนาได้ต่อเนื่องต่อไป (หลังจบโครงการ TSQP) ต้นสังกัดควรทำอย่างไร    กสศ. ควรหนุนตรงไหน    

 ที่จริงคำถามของผมนั้น มีตอบอยู่ในรายงานหนา ๑๑๗๗ หน้าอยู่แล้ว   แต่เป็นการนำเสนอแบบเน้นโครงการ TSQP เป็นหลัก    สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การสังเคราะห์ และ conceptualize เข้าสู่การมองที่โรงเรียนเป็นหลัก    และที่จริงทีมวิจัยก็ได้เสนอโรงเรียนเด่นมาแล้ว     แต่บางโรงเรียนผมพอจะทราบข้อมูล และผมไม่คิดว่าจะพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่อง   

คืนวันที่ ๒๘ ทีมวิจัยฯ ส่ง ppt ประกอบการนำเสนอมาให้    รุ่งขึ้นเช้ามืดฝนตกหนักต่อเนื่อง ผมออกไปเดินออกกำลังไม่ได้  จึงได้อ่าน ppt    และเกิดความตระหนักว่า ถ้าไม่ระวัง ทางโรงเรียนจะทำตามที่ทีมโค้ชกำหนด   และทีมโค้ชก็ทำตาม TOR ที่ กสศ. กำหนด    และทางทีมวิจัยฯ ก็ไปติดตามตาม TOR ที่ กสศ. กำหนด    ส่วนผม อ่านเพื่อหาร่องรอยหลักฐานที่จะช่วยบ่งชี้ว่า โรงเรียน ๖๓๖ โรงเรียนในโครงการมีโรงเรียนใดบ้างที่น่าจะดำเนินการพัฒนาตนเองต่อเนื่องหลังโครงการ TSQP สิ้นสุด   

สามทีมแรก เน้นปัจจุบัน   ส่วนผม เน้นอนาคต    ย่อมไม่ตรงกัน เป็นธรรมดา     ผมจึงต้องเข้าประชุมแบบ หาทาง “อ่านระหว่างบรรทัด” เพื่อหาคำตอบเอง    ว่าจะมีแนวทางหนุนการ “ก่อเกิดเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง” หลังสิ้นสุดโครงการ TSQP อย่างไร     

จะเห็นว่า “จุดจับจ้อง” ของสามทีมแรกอยู่ที่โครงการ TSQP    แต่ของผมอยู่ที่ผลต่อนักเรียน และการเปลี่ยน (transform) โรงเรียน    ที่โรงเรียนมีกระบวนการพัฒนาตนเอง หรือการเรียนรู้จากและเพื่อการทำหน้าที่ อย่างต่อเนื่อง   

กล่าวใหม่ว่า สามทีมแรก เน้นที่ “กระบวนการ” (process)    ส่วนผมเน้นที่ผลลัพธ์ (result)  และผลกระทบ (impact)      

ข้างบนนั้น เขียนก่อนประชุม   ในการประชุม ที่ใช้เวลาเกือบ ๗ ชั่วโมง   มีการเรียนรู้มาก ทั้งที่เกิดจากข้อมูลของทีมวิจัย  และจาก reflection ของทีมโค้ช   และข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ   ข้อสรุปอย่างกว้างที่สุดคือ โครงการ TSQP ได้หนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในโรงเรียน    ที่หากทำให้ “stick” หรือคงอยู่ต่อเนื่อง    จะเกิดคุณค่ายิ่งต่อการทำหน้าที่เป็น Change Agent ให้แก่ระบบการศึกษาไทย 

การประชุมวันนี้ จึงเป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมกันหาลู่ทางให้โรงเรียนจำนวนหนึ่งใน ๖๓๖ โรงเรียนของโครงการ   ที่ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆ ของโรงเรียน  และเกิดผลดีต่อนักเรียน ในระดับที่เป็นโรงเรียนตัวอย่างได้   ได้ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)    ในขบวนการ (เครือข่าย) โรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง   

ดร. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา แนะนำว่า ต้องหาทางเสนอแนะต่อ สพฐ. และต้นสังกัดอื่นๆ ให้เห็นคุณค่าของโรงเรียนแกนนำเหล่านี้   รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีหนุนนำให้โรงเรียนพัฒนาตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา    เพื่อต้นสังกัดจะได้เอาไปใช้สร้างผลงานของตน   

ที่น่ายินดีคือ การเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนคิดวิธีทำงานใหม่ๆ (เราเรียกกันว่านวัตกรรม) เพื่อเป้าหมายที่ไม่ได้ระบุไว้ในโครงการ TSQP   เช่นระบบช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา    การพัฒนาคุณธรรม    การพัฒนาจิตสาธารณะ   

นอกจากนั้น ยังเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่สำคัญยิ่งหลายประการ เช่น บทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ    กระบวนทัศน์เรื่อง All for Education ที่ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนในพื้นที่ของโรงเรียนเหล่านี้เห็นคุณค่าจากประสบการณ์ของเขาเอง   กระบวนทัศน์เรื่องโรงเรียนต้องหมุนวงจรเรียนรู้ของตนเองเป็น    โดยมี DE, Double Loop Learning, Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็นเครื่องมือ    โรงเรียนต้องประเมินผลงานของตนเองเป็น สำหรับนำมาเป็นข้อมูล feedback / feed forward เพื่อหมุนวงจรเรียนรู้ของตน   

จึงเป็นข้อท้าทาย ว่า กสศ. และภาคี จะใช้ “สินทรัพย์” (assets) ที่เป็นผลงานของโครงการ TSQP นี้ ขับเคลื่อนการ transform ระบบการศึกษาของประเทศอย่างไร    กลไกหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ ขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง   ที่โรงเรียนรวมตัวกันเอง  จัดการกันเอง            

วิจารณ์ พานิช     

๒๙ ก.ย. ๖๕   

 

 

หมายเลขบันทึก: 710794เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2022 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2022 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท