ส้วม: สิ่งประดิษฐ์เล็กๆ ที่เปลี่ยนชีวิตคนทั้งโลก (Toilet: A small invention that changes people lives)


ทุกครั้ง (จริงๆ) ที่ใช้ส้วมโดยเฉพาะเวลาถ่ายหนักผมสำนึกบุญคุณคนที่คิดและประดิษฐ์ส้วมซืมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคญของทุกครัวเรือน ทุกสำนักงาน โรงเรียน โรงแรม และอื่น ๆ เพื่อปลดทุกข์ครับ 

หลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงเพราะเขาเกิดมาพร้อมกับมีส้วมเป็นส่วนประกอบของบ้านอยู่แล้ว แต่ย้อนหลังไปหกสิบเจ็ดสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะในชนบทแล้วที่ปลดทุกข์ก็คือป่า หรือสวนท้ายบ้าน ผมเป็นเด็กบ้านนอกรู้ซึ้งถึงเรื่องนี้เพราะถึงเวลาที่ต้องถ่ายอุจาระผมต้องวิ่งไปป่าท้ายหมู่บ้าน และในป่าแห่งนั้นก็จะเต็มไปด้วยกองอุจาระทั้งเก่าและใหม่ของคนในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรเพราะนั่นเป็นวิถีชีวิต และถ้าบังเอิญตอนไปทำธุระดังกล่าวและเห็นคนอื่นที่กำลังทำธุระเดียวกันอยู่ เราก็จะทำเป็นไม่เห็นและเดินไปที่บังตากันหน่อยแล้วก็ทำธุระของตนไป 

ตอนเป็นเด็กผมก็ไม่ได้สังเกตว่าพ่อกับแม่ผมเขาไปทำธะรุนี้ตอนไหน และที่ไหน จนกระทั่งโตแล้ว (และมีส้วมใช้แล้ว) จึงนึกได้ว่าทำไหมพ่อกับแม่เขาจึงมีสวนกล้วยและปลูกต้นไม้นานาชนิดหลังบ้าน แต่เขาก็ไม่เคยบอกเราว่าไปถ่ายทุกข์แถวนั้นได้ แต่ก็สังเกตอยู่ว่าแม่มักจะถือเสียมและเดินไปหลังบ้าน หลังจากนั้นระยะหนึ่งเขาก็จะกลับมาพร้อมผักสำหรับทำอาหาร หรือผลไม้มาฝากเรา 

แท้ที่จริงแล้วสวนหลังบ้านก็คือที่ปลดทุกข์ของพ่อ-แม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้าน แต่ทำไหมไม่บอกว่าใช้เป็นที่ปลดทุกข์ได้ ปล่อยให้เราเข้าใจว่า ‘สวนก็คือสวน: เป็นที่ปลูกผักและผลไม่สำหรับอาหารของบ้าน’ 

และที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่เวลาไปปลดทุกข์กันที่ป่าท้ายหมู่บ้าน ทำไมจึงไม่มีใครขุดหลุมฝังกลบเหมือนที่เวลาพ่อกับแม่ไปถ่ายทุกข์หลังบ้าน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคิดกันว่านั่นคือป่า ไม่ใช่สวน และทุกคนในหมู่บ้านก็ทำกันแบบนี้มานาน ไม่มีใครขุดหลุมฝังกลบ  

และที่น่าแปลใจอีกอันก็คือ ที่วัดบ้านผมเขามีส้วมหลุม หรือฐาน ซึ่งเป็นอาคารและมีหลุมขนาดใหญ่ใต้อาคารเพื่อเป็นที่ปลดทุกข์สำหรับพระ-เณรในวัด แต่ไม่มีบ้านไหนทำส้วมหลุมเช่นนั้นใช้ในบ้านของตน อาจจะเป็นเพราะมันส่งกลิ่นไปบ้านอื่นก็ได้ เลยไม่มีใครทำ 

แล้วส้วมหลุมสำหรับพระนั้นมีกลิ่นเหม็นไหม คำตอบก็คือ ‘เหม็น’ ครับ 

ที่ผมรู้เพราะส้วมหลุมของวัดบ้านผมมันอยู่ใกล้กับเส้นทางที่ผมต้องผ่านเพื่อไปทุ่งนาผมครับ ทุกครั้งที่ผ่านก็เหม็นเอาการ แต่ดูทุกคนจะยอมรับได้และไม่ว่าอะไรเพราะเป็นของพะ-เณร ครับ 

ตอนนที่ผมเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองช่วงแรก ประมาณปี 2503-2504 นั้น บ้านเช่าก็ไม่มีส้วมเหมือนกัน พวกเราต้องวิ่งไปป่าท้ายหมู่บ้านเพื่อทำธุระเหมือนกันครับ กว่าจะมีส้วมซึมหลังแรกใช้ก็เป็นปี 2505 ครับ เป็นส้มซึมรุ่นแรก ๆ เป็นแบบนั่งยอง ๆ และใช้นำลาดลงครับ 

ตอนที่เรามีส้วมใช้ครั้งแรกนั้น แม้จะรู้สึกสะดวกสบายกว่าที่ต้องวิ่งเข้าป่าเหมือนเดิม ผมเองก็ไม่ได้สำนึกถึงบุญคุณของคนประดิษฐ์หรอกครับ เพราะเราต้องใช้เงินซื้อ และต้องสร้างส้วมด้วยตนเอง 

แต่ตอนนี้ทุกครั้งที่เข้าส้วม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือสำนักงาน หรือโรงแรมที่ไปพักเวลาเดินทาง คนรุ่นไม่อาจจะไม่มีประสบการณ์แบบผม ดังนั้นผมจะสำนึกถึงบุญคุณคนที่เป็นต้นค้นและประดิษฐ์ส้วมทุกคร้้ง เพราะนึกภาพว่าถ้าไม่ไม่ส้วมนะ เวลาไปพักโรงเรียนที่จังหวัดอื่นแล้วอยากเข้าส้วมขึ้นมาแล้วจะวิ่งไปไหน แล้วคนทั้งชุมชน ถ้าต้องไปทำธุระกันในป่า ขณะที่ป่าก็หายากลงทุกวัน แล้วจะเป็นอย่างไร นึกภาพไม่ออกครับ 

จึงขอขอบคุณคนที่เป็นต้นคิดและประดิษฐ์ส้วมให้เราได้ใช้ครับ 

ไม่ว่าคน ๆ นั้นหรือกลุ่มนั้นจะเป็นใคร ผมขอขอบคุณมาก ๆ ครับ 

ขอบคุณครับ

สมาน อัศวภูมิ 

6 ธันวาคม 2565

 

หมายเลขบันทึก: 710790เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2022 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2023 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงด้วยครับ คงลำบากมากๆๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท