Developmental Evaluation : 53. หลักการมองเชื่อมโยง


 

DE เน้นหลักการมองเรื่องราวที่กำลังสนใจแบบ มองเชื่อมโยง   มองให้เห็นการรวมตัวเป็นระบบ เป็นเครือข่าย     ไม่มองเรื่องนั้นๆ แบบแยกส่วน    

รวมทั้งมองปฏิสัมพันธ์นั้นๆ คล้ายมีชีวิต    มีจิตวิญญาณ    ยอมรับมิติของความเป็นมนุษย์ปุถุชน    คือมีทั้งส่วนดีและส่วนด้อย    แต่มุ่งคิดเชิงบวก    จ้องหาช่องใช้พลังบวกในท่ามกลางความซับซ้อน (และหลอกลวง หรือพลังลบ) นั้น     

Micheal Quinn Patton เสนอให้มองเชื่อมโยงกว้างออกไปอีก ด้วย Blue Marble Evaluation    ที่ผมตีความไว้ที่ (๑)    คือหาหลักการคิดแบบเชื่อมโยง ที่กว้างออกไป   และมีหลักการคิดที่แยบยลหรือลึกซึ้งหลากหลายแนวทาง     ที่มีหลักการถึง ๑๖ ข้อ   ตามที่ระบุไว้ใน (๑) 

ผมเข้าไปอ่านทบทวน (๑) แล้ว พบว่าเข้าใจยาก   จึงหาทางทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ    พบวิธีการยุคปัจจุบันคือ เข้าไปฟังคลิปที่ผู้เขียนอธิบายสาระหลักในหนังสือของตน    ดังใน (๒)    อธิบาย Blue Marble ว่าหมายถึงภาพของโลกที่ถ่ายจากดาวเทียมเมื่อปี 1972  เห็นดาวเคราะห์โลกสีน้ำเงินที่ไร้เส้นแบ่งเขตแดน     ส่วนต่างๆ ของโลกเชื่อมต่อกันหมด    คำว่า  Blue Marble จึงเป็นสัญลักษณ์ของการที่สรรพสิ่งเชื่อมต่อกัน   เส้นกั้นหรือเขตแดนทั้งหลายเป็นสมมติ 

คำหลักสำคัญคือ Think globally, act locally   ปฏิบัติอย่างโฟกัสประเด็น  แต่คิดอย่างเชื่อมโยง หรืออย่างไร้ขอบเขต    ซึ่งผมตีความว่า เราต้องทำงานภายใต้ระบบสมมติอย่างรู้เท่าทัน   ตอนปฏิบัติอาจต้องคล้อยตามบางประเด็น แต่ตอนคิดต้องอย่าติดกรอบสมมตินั้น   แล้วใช้การคิดไม่มีกรอบมาตั้งคำถามหรือหาช่องทางตีความกรอบให้เอื้อต่อสถานการณ์ของงาน   

ที่จริงเรื่องแหวกกรอบนี้ คนไทยเราเก่งระดับอัจฉริยะ   แต่มักเก่งในเรื่องไม่เป็นเรื่อง (ศรีธนญชัย)  หรือเก่งเรื่องไม่ซื่อ    แต่ในที่นี้เราต้องการหาทางเก่งในเรื่องที่มีประโยชน์หรือคุณค่ายิ่งใหญ่ต่อส่วนรวม    เก่งในเรื่องที่สะท้อนความมั่นคงในคุณธรรม (integrity)      

คำหลักที่สองคือ Anthropocene era   ยุคมนุษย์เป็นใหญ่และทำทั้งคุณและโทษต่อภาพใหญ่ของโลก   เราต้องทำงานภายใต้ความตระหนักของบริบทนี้   

ยังมีคลิปที่ยาวครึ่งชั่วโมง ที่ Patton และสมาชิกของ Blue Marble Evaluation Network แนะนำเรื่อง Introduction to Blue Marble Evaluation    ว่าเน้นที่คำถาม มากกว่าที่วิธีการ    เน้นการ transform ผู้คน    การเปลี่ยนแปลงสังคม    ด้วยการนำทาง สร้างแรงบันดาลใจ    โดยนักประเมินตระกูลนี้ เน้นทำงานเพื่อหนุนความเป็นธรรมในสังคม   

ฟังแล้วผมได้ความคิดเรื่อง intended result กับ emerging result   ว่ามักไม่ตรงกัน    หากผู้เกี่ยวข้องมีการรับรู้อย่างอิสระ  ไม่ถูกครอบงำโดยเป้าหมายที่ต้องการ    มีการรับรู้ผลที่ผุดบังเกิดโดยเราไม่ได้ตั้งความหวังไว้     และสามารถหยิบฉวยเอามาดำเนินการต่อ และในที่สุดเกิดนวัตกรรมในเรื่องนั้นๆ    เกิดการเปลี่ยนใหญ่ (transformation) ของระบบนั้นๆ     ดังตัวอย่างการเปลี่ยนระบบการจัดการน้ำในลุ่มน้ำอะเมซอน ตามที่เล่าในวิดีทัศน์   

Blue Marble Evaluation เป็น transcendent evaluation   คือเป็นการประเมินที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เลยผลประโยชน์แคบๆ   หรือระบบที่คับแคบ    สู่การเปลี่ยนโลก   

ผมตีความว่า ไม่ว่าเราทำอะไร ที่อาจเป็นงานเล็กๆ  ณ จุดเล็กๆ   เราสามารถสร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ระดับโลกได้เสมอ   

คลิปที่สาม ที่มาเสนอตัวเองหลังชมคลิปที่สองจบ   คือเรื่อง The Niche and Purpose of Developmental Evaluation : A Conversation with Michael Patton    เสนอเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๓   ย้ำว่า DE เป็น การประเมินเพื่ออนาคต   เพื่อความสำเร็จในอนาคต    ในสถานการณ์ที่ผันผวน ไม่แน่นอน    เป็นการประเมินแบบเรียนรู้ต่อเนื่อง    โดยสามารถรองรับเป้าหมายการประเมินได้หลากหลาย    ท่านเอ่ยถึง ราวๆ ๒๐ เป้า    และเอ่ยถึงสถานการณ์ที่ DE มีคุณค่า ๕ สถานการณ์   โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อบรรลุเป้าหมาย    แต่หวังว่าจะมีผลในระดับสร้างนวัตกรรม    ผ่านการมองเชื่อมโยง ที่เรียกว่า systems thinking                       

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๖๕   เพิ่มเติม ๒๗ พ.ย. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 710793เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2022 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2022 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท