"สงครามฝิ่น"


    *สงครามฝิ่น "

สงครามฝิ่นคืออะไร | ลงทุนศาสตร์ Investerest.co

    “สงครามฝิ่น” (อังกฤษ: Opium Wars; จีน: 鸦片战争) เป็นสงครามสองครั้งในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทอังกฤษ-จีนในเรื่องการค้าของบริเตนในจีนและเอกราชของจีน ข้อพิพาทนี้มีสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1839–1842) และสงครามฝิ่นครั้งที่สอง (ค.ศ. 1856–1860) สงครามและเหตุการณ์ระหว่างสงครามบั่นทอนกำลังของราชวงศ์ชิงและลดการแยกตัวของจีนจากส่วนอื่นของโลก

    *สงครามจีน-อังกฤษครั้งที่หนึ่ง หรือที่นิยมเรียกว่า สงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: First Opium War/จีน : 第一次鴉片戰爭) เป็นสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์และจีนราชวงศ์ชิง โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการค้าในจีน ในปี ค.ศ. 1842 สนธิสัญญานานกิง สนธิสัญญาฉบับแรกที่ชาวจีนเรียกว่า "สนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม" ถูกบีบบังคับให้จ่ายค่าชดเชยให้กับอังกฤษ เปิดเมืองท่าสนธิสัญญาห้าแห่ง และการยกเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ ตลอดจนยุติระบบผูกขาดการค้าในระบบกว่างโจว สงครามดังกล่าวเป็นจุดสิ้นสุดของนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยวของจีน และเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์จีน

   -ฝิ่นเป็นยาเสพติดที่ชาวจีนติดกันอย่างมากและติดกันมานาน ในรัชกาลจักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正) เคยมีดำริที่จะทำการปราบปรามฝิ่นแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ชาวจีนส่วนใหญ่ยังติดฝิ่นเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวง (道光) ปีที่ 19 พระองค์มีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะทำการปราบฝิ่น ทรงแต่งตั้งหลินเจ๋อสวี(林則徐) เป็นผู้ว่าราชการเหลียงกว่าง (兩廣總督) หรือผู้ว่าราชการสองมณฑลกวางตุ้ง-กว่างซี และข้าหลวงใหญ่ผู้แทนพระองค์ (欽差大臣) เพื่อเป็นผู้นำในการกวาดล้างฝิ่นจากแผ่นดินจีน

 *เริ่มกระบวนการปราบปรามฝิ่น

    -หลินเจ๋อสวีเริ่มงานด้วยการห้ามค้าฝิ่นในมณฑลกวางตุ้ง และจับพ่อค้าฝิ่นชาวจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดไปคุมตัวในเรือนจำ ใครที่มีหลักฐานว่าค้าฝิ่นจะต้องถูกประหาร และตัดศีรษะเสียบประจาน เพื่อข่มขู่ชาวจีนอื่น ๆ ให้เกรงกลัวจะได้ไม่กล้าค้าฝิ่นอีก นอกจากปราบปรามการค้าฝิ่นในหมู่ชาวจีน หลินเจ๋อสวี ยังได้พยายามฟื้นฟูสุขภาพชาวจีนที่ติดฝิ่น โดยจัดโครงการรณรงค์การอดฝิ่น มีชาวจีนหลายคนที่อดฝิ่นได้สำเร็จ ทางการก็จะประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้คนอื่น ๆ เอาเป็นแบบอย่างอันดีที่จะพยายามเลิกฝิ่นให้ได้ จากนั้นหลินเจ๋อสวีก็สั่งห้ามเรือพ่อค้าต่างชาติที่บรรทุกฝิ่นเข้ามาในอาณาจักรจีน โดยห้ามเรือล่องเข้าแม่น้ำจูเจียงมาเป็นเด็ดขาด และประกาศให้พ่อค้าต่างชาติที่มีฝิ่นในครอบครอง ต้องนำฝิ่นมาส่งมอบให้ทางการจีน แต่พ่อค้าชาวต่างชาติไม่สนใจคำสั่งของหลินเจ๋อสวี ยังคงค้าฝิ่นต่อไป หลินเจ๋อสวีจึงสั่งปิดล้อมย่านการค้าของคนต่างชาติใน และบีบให้พ่อค้าต่างชาติส่งฝิ่นให้ทางการจีน หลังจากปิดล้อมอยู่สองวัน พวกพ่อค้าต่างชาติก็ยอมมอบฝิ่นออกมาในที่สุด ฝิ่นที่ยึดได้ครั้งนี้ หลินสั่งให้เอาฝิ่นทั้งหมดไปละลายกับกรดน้ำส้มกับเกลือและน้ำ เพื่อฆ่าฤทธิ์ของฝิ่น แล้วก็โยนทิ้งทะเลไปจนหมดสิ้น ผลจากการปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจังของหลินเจ๋อสวี ทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะพ่อค้าอังกฤษที่มีผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นมหาศาลไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะฝิ่นที่หลินเจ๋อสวีทำลายไปมีจำนวนมหาศาลถึง 20,000 ลัง คิดเป็นน้ำหนักสองล้านปอนด์ครึ่ง และเนื่องจากฝิ่นเป็นสินค้าที่มีค่าสูง จึงยังมีพ่อค้าต่างชาติทั้งชาวอังกฤษและโปรตุเกส ยังคงลอบค้าฝิ่น แต่เปลี่ยนฐานการค้าจากตัวแผ่นดินใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง ไปอยู่ที่มาเก๊า และเกาะฮ่องกง ซึ่งมีทำเลดีกว่าแทน

*สงครามปะทุ

   -การกระทบกระทั่งระหว่างจีนกับอังกฤษยังคงมีต่อมา เมื่อชาวจีนถูกกะลาสีเรือชาวอังกฤษฆ่าตายที่เกาลูน หลินเจ๋อสวีให้ทางอังกฤษส่งตัวกะลาสีที่ก่อเหตุมารับโทษตามกฎหมายจีน แต่กัปตันเอลเลียตของอังกฤษปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ผลจากการกระทบกระทั่งกันครั้งนี้ ทำให้หลินเจ๋อสวีขับไล่ชาวอังกฤษทั้งหมดออกจากมาเก๊า แต่พ่อค้าเหล่านี้ก็ไปตั้งหลักที่ฮ่องกงแทน กัปตันเอลเลียต ขอความช่วยเหลือไปทางรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเป็นยุคสมัยของการล่าอาณานิคม ถือเป็นเหตุในการทำสงครามกับจีน โดยเริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) โดยสั่งให้บริษัทอินเดียตะวันออก ซึ่งเป็นบริษัทการค้าของรัฐบาลอังกฤษ ส่งกองเรือไปช่วยที่ฮ่องกง เมื่อกองเรือรบกองแรกมาถึงซึ่งประกอบไปด้วยเรือปืนจำนวน 28 ลำ หลินเจ๋อสวีไม่เคยมีประสบการณ์กับการรบกับอาวุธที่ทันสมัยเช่นนี้ จึงถูกโจมตีจนกองเรือจีนพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว หนำซ้ำพวกขุนพลของจีนที่สู้แพ้อังกฤษ ยังไม่กล้ารายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริง ทำให้หลินเจ๋อสวีเข้าใจผิดว่ากองเรือของจีนเอาชนะกองทัพเรือสหราชอาณาจักรได้ จึงถวายรายงานกับพระจักรพรรดิเต้ากวงว่า จีนได้รับชัยชนะ และยิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อพวกอังกฤษยิ่งขึ้น 

  -ในที่สุด ในปี พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ฝ่ายกองเรือรบอังกฤษก็บุกเข้าปากแม่น้ำจูเจียง และยึดเมืองกวางซูเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย พร้อมทั้งเคลื่อนกองเรือรุกเข้ามาในแผ่นดินจีนขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังส่งกองเรือราชนาวีจำนวนหนึ่งไปยึดเมืองท่าริมทะเลเอาไว้ด้วย ความทราบถึงพระจักรพรรดิเต้ากวง จึงทรงตำหนิหลินเจ๋อสวีอย่างรุนแรง และปลดหลินเจ๋อสวีจากตำแหน่งทั้งหมด เนรเทศไปยังซินเจียง และส่งแม่ทัพฉีซานมาแทน ฉีซานไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของอังกฤษได้

*ผลลัพธ์

  -ในปี พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) กองทัพอังกฤษบุกเข้ายึดเมืองนานกิงได้ จนกระทั่งในที่สุดจำเป็นต้องเจรจาสงบศึกกับอังกฤษ ที่เมืองนานกิงนั่นเอง และยอมเซ็นสนธิสัญญาที่เรียกว่าสนธิสัญญานานกิงในปีเดียวกันนั้น เนื้อหาในสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษบังคับให้จีนเปิดเมืองท่าตามชายทะเลเพื่อค้าขายกับอังกฤษ รวมทั้งขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนจีน คนที่ถือสัญชาติอังกฤษ จะไม่ต้องขึ้นศาลจีน รวมทั้งสิทธิใด ๆ ที่อังกฤษได้ ต่างชาติอื่น ๆ ก็ต้องได้ด้วย แม้ว่าเนื้อหาของสนธิสัญญานี้ จีนต้องเสียเปรียบอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่จีนก็จำต้องเซ็นสัญญาเพื่อยุติสงครามที่จีนเสียเปรียบ ต่อมาจีนก็สูญเสียเอกราชบนคาบสมุทร เกาลูนไปอีก ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ตามสนธิสัญญาปักกิ่ง ในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸丰) ปีที่ 10 และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) ตรงกับรัชกาลจักรพรรดิกวังซวี่ (光緒帝) ปีที่ 24 สูญเสียพื้นที่เขตดินแดนใหม่ (New Territories) ให้กับสหราชอาณาจักรในสัญญาเช่า 99 ปี นับแต่นั้น เซินเจิ้นและฮ่องกงก็ถูกแบ่งแยกการปกครองออกจากกัน และภายใน พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) คนจีนกว่า 13 ล้านคน ยังคงติดฝิ่นอยู่ เศรษฐกิจของจีนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากการที่จีนต้องนำเข้าฝิ่นเป็นจำนวนมากมายมหาศาลและราชวงศ์ชิงก็ตกอยู่ในภาวะแห่งการล่มสลาย

    *สงครามฝิ่นครั้งที่สอง (จีนตัวย่อ: 第二次鸦片战争; จีนตัวเต็ม: 第二次鴉片戰爭; พินอิน: Dì'èrcì Yāpiàn Zhànzhēng ตี้เอ้อร์ชื่ออาเพี่ยนจ้านเจิง; อังกฤษ: Second Opium War) เป็นสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ กับ ราชวงศ์ชิง

   “สงครามฝิ่นครั้งที่สอง”

    -ภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1839-42) ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนอยู่ในขั้นเปราะบาง จีนมีท่าทีบ่ายเบี่ยงไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญานานกิงที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม จึงต่อต้านอังกฤษในทุกวิถีทาง

   -ขณะที่อังกฤษก็พยายามกดดันจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะรายได้จากจีนนั้นมีมูลค่ามหาศาลต่ออังกฤษอย่างมาก อังกฤษจึงส่ง “เซอร์จอห์น เบาว์ริง” (Sir John Bowring) มาประจำการยังฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 1849 โดยอังกฤษต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนในจีนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจแบบผูกขาด ด้วยการใช้นโยบายการค้าเสรีบังหน้า แต่มีลักษณะอัฐยายซื้อขนมยาย นั่นคือ อังกฤษขายฝิ่นจากอินเดียให้จีนแล้วนำเงินนั้นซื้อใบชาจากจีนส่งกลับไปอังกฤษ

  -ขณะที่ราชสำนักจีนได้แต่งตั้ง “เย่หมิงเจิ้น” (Ye Ming Zhen) เป็นเจ้าเมืองกวางตุ้งเพื่อรับมือกับอังกฤษ ขุนนางจีนผู้นี้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกชาตินิยมและหัวรุนแรง เขาเรียกคนอังกฤษว่าพวกป่าเถื่อน และปฏิเสธที่จะร่วมมือกับอังกฤษไม่ว่าจะถูกข่มขู่อย่างไร

“สงครามฝิ่นครั้งที่สอง ผลงานของเซอร์จอห์น

  -สงครามที่เซอร์จอห์นต้องการคือ ประกาศตนเป็นศัตรูกับระบอบเจ้าขุนมูลนายของจีน เรียกการต่อสู้ครั้งนี้ว่าสงครามฝิ่นครั้งที่ 2…ชนวนของสงครามปะทุขึ้นเมื่อตอนเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1856 เวลาประมาณ 08.00 น. เรือสำเภาจีนแต่ถูกดัดแปลงใหม่คล้ายเรือลูกผสมฝรั่ง จอดทอดสมออยู่หน้าโกดังสินค้านอกเมืองกวางตุ้ง ชื่อเรือ แอร์โรว์ (Arrow) กัปตันเป็นชาวอังกฤษ ชื่อโทมัส เคนเนดี้ (Thomas Kennedy) ถูกเรือตรวจการณ์ของจีนเข้าตรวจค้นหาสินค้าหนีภาษี (ตามปกติ)

   -กัปตันเคนเนดี้ประท้วงอย่างรุนแรงโดยอ้างว่าในขณะนั้นเรือแอร์โรว์ชักธงอังกฤษตามระเบียบ จึงควรได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญานานกิง เรือตรวจการณ์ของจีนได้ตรวจค้นและจับกุมลูกเรือแอร์โรว์ ประกอบด้วยกุลีจีนจำนวน 14 คน มัดมือไพล่หลังแล้วนำออกไปทันที กัปตันเคนเนดี้กล่าวหาว่านอกจากเป็นการกระทำโดยพลการแล้ว ทหารจีนคนหนึ่งยังได้กระชากธงอังกฤษลงจากเสาของเรือ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยามอังกฤษอย่างร้ายแรง เกิดปะทะคารมกันเล็กน้อยแต่ฝ่ายจีนก็ส่งคืนลูกเรือกลับมา 2 คน แต่ควบคุมอีก 12 คนไว้ก่อนจะแล่นจากไป

 

“เรือสำเภาจีน”

ต่อมารัฐบาลจีนแจ้งว่าลูกเรือทั้ง 12 คน เป็นพวกกบฏไต้ผิง และเรือแอร์โรว์นั้นก่อนหน้านี้ก็ใช้เป็นเรือกบฏ แต่ถูกดัดแปลงและขายต่อให้พ่อค้าอังกฤษใช้เป็นเรือสินค้า จากการสอบสวนอย่างละเอียดทางจีน แจ้งว่า 2 ใน 12 คนเป็นหัวหน้าพวกกบฎจริง หมายความว่าทางการจีนได้กระทำถูกต้องแล้ว ทั้งยังยืนยันอีกว่าขณะเข้าตรวจค้นเรือแอร์โรว์มิได้ชักธงอังกฤษตามธรรมเนียม…ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาทางการอังกฤ๋แจ้งให้ทางการจีนทราบว่า 1. จะขอคืนลูกเรือทั้ง 12 คน มาสอบสวนเองอีกครั้ง 2. ขอจดหมายขอขมาอย่างเป็นทางการจากเจ้าเมืองกวางตุ้งว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และให้ตอบภายใน 24 ชั่วโมง…

เซอร์จอห์นซึ่งปกติเป็นคนแข็งกร้าวและเด็ดขาดกับทางการจีนอยู่แล้ว คิดว่ากรณีเรือแอร์โรว์น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในการปรักปรำรัฐบาลจีนว่าได้ล่วงละเมิดเอกสิทธิ์ของอังกฤษตามสนธิสัญญานานกิง และจีนมีท่าทีต่อต้านการค้าเสรีของเรือสินค้าอังกฤษ จึงพร้อมจะยกระดับปัญหากรณีเรือแอร์โรว์เป็นข้อพิพาทระดับชาติที่ต้องตัดสินความถูกผิดและหาผู้รับผิดชอบมาลงโทษ

อย่างแรกที่เซอร์จอห์นต้องทำคือยื่นเรื่องประท้วงอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาก็ต้อง ‘ล็อบบี้’ แม่ทัพเรือของฝ่ายตนคือพลเรือเอกซีมอร์ (Admiral Seymour) ให้เตรียมความพร้อมหากการตัดสินปัญหาด้วยการเจรจาใช้ไม่ได้ผล เซอร์จอห์นเน้นในรายงานของเขาเข้าไปยังลอนดอนถึงการเหยียดหยามธงชาติอังกฤษโดยทหารจีนเป็นหลัก และตัดรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับทะเบียนเรือ (ที่เคยจดกับกงสุลอังกฤษ) แต่หมดอายุไปนานแล้วและยังไม่ได้ต่อ ตลอดจนลูกเรือที่เป็นพวกกบฏไต้ผิงออกไปจนหมดสิ้น ซึ่งเท่ากับหวังผลทางการเมือง แต่ถ้ายอมจำนนต่อหลักฐานตามความเป็นจริงแล้วทางการจีนก็มิได้ทำความผิดแม้แต่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการให้ความเท็จของฝ่ายอังกฤษโดยเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นร่วมมือกันประพฤติมิชอบ

(เรือแอร์โรว)

   -เมื่อวิกฤติเรือแอร์โรว์ขยายตัวออกไป เจ้าเมืองกวางตุ้งก็ตั้งค่าหัวชาวอังกฤษ เพื่อล่อใจชาวจีนที่ต้องการล้างแค้น และเสนอที่จะให้รางวัล $100 ต่อผู้ที่สามารถสังหารคนอังกฤษได้ 1 คน โดยให้เหตุผลว่า ‘พวกอังกฤษป่าเถื่อนกำลังจะบุกเมืองของเรา และทำร้ายผู้คนของเรา ข้าขอประกาศที่จะต่อสู้กับพวกมัน จงสังหารคนอังกฤษเมื่อพบพวกมันทั้งบนดินและบนเรือ ใครฆ่าพวกหัวหน้าของมันได้จะมีรางวัลให้ $5,000 และถ้าสามารถปลิดชีวิตเจ้ากงสุลหรือตัวทูตได้ ข้าจะตบรางวัลให้ $30,000’

  *กวางตุ้งถูกถล่ม ความสะใจของคนอังกฤษ

ครั้นเมื่อเห็นความดื้อดึงของเซอร์จอห์นยืดเยื้อออกไป เย่หมิงเจิ้นเริ่มตระหนักถึงการตกเป็นเบี้ยล่างในสถานการณ์นี้ จึงติดต่อขอประนีประนอมกับอังกฤษโดยพร้อมที่จะคืนลูกเรือทั้งหมดและขอขมา แต่สายเกินไปเสียแล้ว อังกฤษให้เหตุผลว่าเกินกำหนดเส้นตาย 24 ชั่วโมง ที่ได้ให้ไว้

   -วันที่ 23 ตุลาคม 1856 เซอร์จอห์นออกคำสั่งให้เรือรบเอ็นเคาน์เตอร์ (H.M.S. Encounter) ระดมยิงเมืองกวางตุ้งด้วยปืนใหญ่อย่างบ้าระห่ำทุก ๆ 5 นาที โดยให้เล็งปากกระบอกปืนไปยังคฤหาสน์ของท่านเย่เป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อเป็นการสั่งสอน…

(ชาวจีนอ่านประกาศของเย่หมิงเจิ้น ที่มีการตั้งค่าหัวชาวอังกฤษ)

    -กระสุนนัดแรกตกลงกลางใจเมือง มีราษฎรเสียชีวิตทันที 5 ศพ จำนวนนี้เพิ่มเป็น 10 เท่ากับกระสุนปืนนัดที่ 2 เย่หมิงเจิ้นประกาศกร้าวให้ชาวจีนเอาชีวิตเข้าแลกกับการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ (หมายเหตุ : ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 รัฐบาลจีนยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนสูงถึง $6,000,000 ให้อังกฤษ เพื่อมิให้กวางตุ้งถูกโจมตี แต่ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และชาวจีนตัดสินใจขัดขืนคำขู่ของอังกฤษโดยยอมสู้ตาย)

  -ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 1856 โกดังเก็บสินค้าของชาวต่างชาติทั้งหมดถูกชาวจีนเผาทิ้งวอดเป็นหน้ากลอง ผู้ช่วยกงสุล…คนหนึ่งชื่อ เฮนรี่ เลน (Henry Lane) เสียชีวิตในกองเพลิง ความอาฆาตแค้นระบาดไปถึงที่มั่นของอังกฤษบนเกาะฮ่องกง โดยในวันที่ 15 มกราคม 1857 ชาวอังกฤษนับร้อยคนรวมทั้งครอบครัวของเซอร์จอห์นถูกวางยาพิษในขนมปังที่วางจำหน่ายอยู่ภายในเบเกอรี่แห่งหนึ่ง ตัวเซอร์จอห์นเองก็ถูกหามส่งโรงพยาบาล แต่หมอช่วยชีวิตไว้ได้ทันท่วงที ถึงรอดมาได้ก็สะบักสะบอมเต็มที”

ผลของสงครามครั้งนี้ จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะจีนไม่อาจต่อกรกับมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในเวลานั้นอย่างอังกฤษได้อย่างแน่นอน

   -อย่างไรก็ตาม เซอร์จอห์น เบาริง ถูกนักการเมืองในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามโจมตี และแสดงความไม่ห็นด้วยการกระทำของอังกฤษต่อจีนในกรณีนี้ จนนักการเมืองบางส่วนกดดันรัฐบาลให้เรียกตัว เซอร์จอห์น เบาริง กลับแล้วให้ยุบสภา บางส่วนเห็นว่าควรทำสงครามต่อไป

  -รัฐสภาอังกฤษได้วิจารณ์การกระทำของ เซอร์จอห์น เบาริง ดังปรากฎใน BLUE BOOK ของทางการ ซึ่งเป็นหนังสือปกสีน้ำเงินที่รัฐสภาอังกฤษพิมพ์ขึ้นเพื่อแถลงกิจการแก่สาธารณชน BLUE BOOK เล่มนี้เป็นรายงานของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ เมื่อ ค.ศ. 1865 ลงความเห็นเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ที่มี เซอร์จอห์น เบาริง เป็นผู้รับผิดชอบ มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

   -“วาจา และการกระทำของ เซอร์จอห์น เบาริง บันทึกความจำโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ แห่งเขตเซ็นต์แพนคราส (ลอนดอน)

เซอร์จอห์น เบาริง แสดงปาฐกถาเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจและการค้าเสรี ที่เมืองเอ็กซิเตอร์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 1865 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ท่านเชื่อว่าเมื่อพระเป็นเจ้าทรงสร้างโลกขึ้นแล้วก็ทรงกระจายอำนาจของมนุษยชาติไปยังดินแดนต่าง ๆ ให้คนมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน นี่เป็นความเชื่อของชาวคริสเตียนเช่นเรา และเมื่อพวกเขามีปัจจัยยังชีพเกินความจำเป็นแล้ว ก็ควรแบ่งปันให้กับเรา และถ้าเรามีมากเกินไปก็ให้กับพวกเขาเป็นการตอบแทน (ที่ประชุมปรบมือ) มันเป็นหน้าที่ของมวลมนุษย์ที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และให้พรเพื่อนบ้านของตน เพราะเราเกิดมาเป็นพี่น้องกัน แต่ละคนควรมองคนแปลกหน้าเหมือนเป็นเพื่อนเราเอง ความเจริญและสันติภาพจึงจะเกิดขึ้นได้ (เสียงไชโยโห่ร้อง)

   -(ทหารอังกฤษรอคำสั่งยิงในเหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 2)

   -เซอร์จอห์น เบาริง มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว เพราะมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญดูแลกิจการค้าขายกับทางเมืองจีน แต่คนจีนจะมองหน้าเขาประดุจเพื่อนได้อย่างไร? ในเมื่อเขาก้าวก่ายกิจการภายในของจีน และเมื่อถูกต่อต้าน เขาก็ถล่มเมืองกวางตุ้งอย่างน่าละอายใจ

   -ผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นประณามพวกเราชาวอังกฤษว่าป่าเถื่อนและขาดศีลธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ทำตัวเหมือนสัตว์ป่าดังเช่นเสือหิวกระหายเลือดและเป็นพวกน่ารังเกียจ อพยพไปเรื่อย ๆ เหมือนฝูงนกฝูงกา พวกอังกฤษดูหมิ่นเหยียดหยามเบื้องสูง และดักโจมตีชาวจีนที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เหมือนสุนัขลอบกัด คนอังกฤษเผาบ้านเมืองและทำลายร้านค้าของจีนด้วยความอาฆาตพยาบาท

  -ในทางกลับกัน เซอร์จอห์น เบาริง กล่าวหาจีนว่าคว่ำบาตรสนธิสัญญาของอังกฤษ เขาจึงต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยอ้างเหตุผลต่อไปว่า :

1. การโจมตีกวางตุ้งก็เพื่อตอบโต้การดูหมิ่นธงชาติอังกฤษ 

2. การโจมตีเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อปกป้องลูกเรือแอร์โรว์ผู้บริสุทธิ์ 

3. ผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นไม่ควรกักขังหน่วงเหนี่ยวลูกเรืออังกฤษไว้เป็นตัวประกันโดยไม่มีเหตุผล

ทว่าข้ออ้างทั้งหมดล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะ

   1. เรือจีนดัดแปลงเป็นอังกฤษชื่อเรือแอร์โรว์นั้นไม่มีสิทธิ์จะชักธงอังกฤษด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนว่า เซอร์จอห์น เบาริง จะอ้างถึงสิทธิ์นี้โดยไม่จำเป็น ทั้งที่เขาเองได้ยืนยันกับกงสุลปาร์คส์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1856 แล้วว่าเรือลำนี้ไม่มีสิทธิ์ชักธงอังกฤษ แต่กลับคำพูดตนเอง โดยโต้แย้งกับผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นว่าเรือแอร์โรว์ชักธงอังกฤษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ร้อยโททอมสันอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ เป็นพยานยืนยันในจดหมายถึงคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งเมืองเชฟฟิลด์ว่า เรากุเรื่องทั้งหมดขึ้นมาเอง ทั้งที่เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ

เรือรบอังกฤษยิงถล่มเมืองกวางตุ้ง ในเหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 2

   2. การยิงถล่มเมืองกวางตุ้งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการปกป้องผู้ใดเลย เพราะผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นก็ได้ยินยอมส่งคืนลูกเรือทั้งหมดให้ทางการอังกฤษก่อนถึงกำหนดเส้นตาย กงสุลปาร์คส์เองก็ยอมให้การข้อเท็จจริงไว้ใน BLUE BOOK แล้วเช่นกัน

   3. ถึงลูกเรือจะถูกส่งมอบให้อังกฤษหมดแล้ว แต่การยิงถล่มเมืองกวางตุ้งก็ยังดำเนินต่อไปตามแผน หมายความว่า เซอร์จอห์น เบาริง มิได้ให้ความสำคัญกับลูกเรือแม้แต่น้อย แต่กระทำทุกวิถีทางที่จะสั่งสอนรัฐบาลจีนและฉวยโอกาสนี้หักหาญเข้าตีเมืองกวางตุ้ง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองเท่านั้น

   -เราจึงควรพิจารณารายละเอียดของเหตุการณ์นี้อย่างถ่องแท้ และด้วยความระมัดระวังเพื่อมิให้หลงประเด็น อันเนื่องมาจากการปาฐกถาของ เซอร์จอห์น เบาริง ที่เมืองเอ็กซิเตอร์นั้น ก็เท่ากับปฏิเสธหลักการอันมั่นคงของเราเองและทำลายเกียรติศักดิ์ของสมาชิกภาพที่เราดำรงอยู่

  *ลงนามตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศในที่ประชุมC. D. Collet (ประธานการประชุม) C. F. Jones (เลขาธิการ) ณ วันที่ 31 มีนาคม 1865″

คำสำคัญ (Tags): #"สงครามฝิ่น"
หมายเลขบันทึก: 710705เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท