การบริหารคนตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ


การบริหารคนตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ

การบริหารคนตามหลักธรรมที่พบได้ในพระสูตร หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารคนนั้นมีอยู่มากมาย แต่ขอเลือกเฉพาะหลักธรรมที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจ ในที่นี้ ได้แก่ พรหมวิหารธรรม สังคหวัตถุธรรม สัปปุริสทาน และอคติ หลักธรรมทั้ง 4 หมวดนี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการบริหารคนจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ดังนี้

 

สังเคราะห์การบริหารคนตามหลักพรหมวิหาร 4

              พรหมวิหาร หมายถึง ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม ถือว่าเป็นธรรมแห่งพรหมซึ่งเปรียบเสมือนผู้เป็นใหญ่หรือผู้ใหญ่ในองค์กรธุรกิจ ผู้ประกอบการหรือหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ล้วนเป็นบุคคลที่ถือว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่โดยตำแหน่ง มีความจำเป็นที่จะต้องดำรงพรหมวิหาร 4 ให้เป็นไปโดยธรรม 

              องค์ประกอบของพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ข้อ ได้แก่ 

               1) เมตตา หมายถึง ความรัก ความปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข 

               2) กรุณา หมายถึง ความคิดสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ 

               3) มุทิตา หมายถึง ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข 

               4) อุเบกขา หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา

               การบริหารคนด้วยหลักพรหมวิหาร 4 สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การบริหารเกิดขึ้นจากสภาวะภายในของผู้นำ ผู้นำต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ คือมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาให้ได้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถปกครองคนหรือบริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสง่าผ่าเผย โดยปกติแล้วธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปล้วนต้องการความรักความเข้าใจเป็นพื้นฐาน การบริหารคนจึงต้องยึดหลักเมตตามาเป็นอันดับต้น เพราะมีความสำคัญที่สุดในด้านความรู้สึกระหว่างบุคคลที่บริหารและบุคคลที่ถูกบริหาร ผู้บริหารคนได้ดีคือผู้ที่ต้องได้ใจคน การจะได้ใจคนนั้น ผู้บริหารจะต้องละอัตตาตัวตนลง สนใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ร่วมงานเป็นที่ตั้ง ใส่ใจดูแล และให้การสนับสนุนผู้ร่วมงานให้เจริญก้าวหน้า แสดงความรักออกมาจากใจ เป็นความจริงใจใสสะอาด แสดงออกทางวาจาด้วยวาจาที่ไพเราะอ่อนหวานที่กลั่นออกมาจากใจที่เมตตา แสดงออกมาทางการกระทางกายเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ธรรมะคือความกรุณาจะเกิดขึ้นมาทันที 

               ความกรุณาคือปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูล ช่วยคิด ช่วยแก้ปัญหา ช่วยตัดสินใจ และช่วยรับผิดชอบร่วมกัน บางครั้งแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เรื่องงานโดยตรง อาจเป็นเรื่องส่วนตัวเสียส่วนใหญ่ ก็มีความปรารถนาที่จะช่วยแบ่งเบา ปลดเปลื้องทุกข์ตามสติกำลังความสามารถ ถ้าสามารถช่วยเป็นสิ่งของได้ก็แบ่งปันความเมตตาความกรุณาออกมาเป็นวัตถุสิ่งของ ถ้าให้โอกาสได้ก็แบ่งปันเป็นโอกาสที่ดีให้กับชีวิตเพื่อนร่วมงาน ถ้าแบ่งปันความคิดสติปัญญาในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ก็ให้คำปรึกษาแนะนำชี้ทางไปในทางที่ถูกต้อง ทางแห่งสัมมาทิฏฐิที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน 

               นอกจากเรื่องทุกข์ร้อนอันเป็นปัญหาชีวิตแล้ว ชีวิตคนย่อมมีเรื่องที่สมหวัง เรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้นกับบุคลทั่วไปรวมถึงผู้ร่วมงานทุกคน อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองเช่น การได้เลื่อนตำแหน่ง การที่พ่อแม่หรือคนรักหายป่วยหรือได้ออกจากโรงพยาบาลมีชีวิตรอดปลอดภัย การที่ลูกได้รับพระราชทานปริญญาบัตร หรือได้งานทำ การที่ลูกได้บวชเรียนเขียนอ่านสืบทอดพระพุทธศาสนา การได้รับรางวัลดีเด่นหรือยอดเยี่ยมต่างๆ อันนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี การได้ชัยชนะจากการแข่งขันในเรื่องต่างๆ การได้เฉลิมฉลองวันเกิดด้วยความสุข เป็นต้น บุคคลที่เป็นผู้นำดำรงตนตามหลักพรหมวิหารธรรมย่อมรู้ว่าควรเข้าไปแสดงความยินดีอย่างไร การแสดงความยินดีที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงความยินดีที่ออกจากใจ คือไม่ได้ทำเพียงเพราะว่าเป็นเรื่องของค่านิยมและไม่มีความอิจฉาริษยาเมื่อผู้อื่นได้ดีกว่าตนหรือลดทอนคุณค่าของคนอื่นให้ต่ำลง แต่เข้าไปแสดงความยินดีด้วยสีหน้าท่าทางที่เป็นมิตร ให้กำลังใจให้คำสนับสนุน ให้ความยกย่องคำสรรเสริญให้ปรากฏแก่คนทั่วไป คือทำให้ปรากฏต่อสาธารณะชนโดยไม่ปิดบังอำพรางคุณงามความดีที่เกิดขึ้นของผู้ร่วมงานแต่ยกย่องเชิดชูให้สมเกียรติเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ที่ตั้งใจทำคุณงามความดีต่อไป สิ่งที่อธิบายมานี้ในทางพุทธปรัชญาเรียกว่า “มุทิตา” หรือการแสดงออกซึ่งมุทิตาจิต

               หลักธรรมที่สำคัญประการสุดท้ายของพรหมวิหาร 4 คือ อุเบกขา แปลว่า การวางเฉย เมื่อวิเคราะห์คำว่าการวางเฉยไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำอะไรเลยหรือไม่สนใจใส่ใจอะไรเลย แต่เป็นลักษณะอาการวางจิตที่เป็นกลางไม่คาดหวังหรือกระทำด้วยความลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะเขลา และเพราะกลัว ซึ่งเป็นเรื่องของอคติ 4 

              อุเบกขานั้นจะเจริญหลังจากที่ได้แสดงความเมตตา กรุณา และมุทิตาอย่างถึงที่สุดแล้ว ในบางครั้งการแสดงออกซึ่งความรักความเข้าใจ การอุทิศตัวช่วยเหลือผู้อื่นและการยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีได้ถูกตอบแทนกลับมาเป็นความไม่เข้าใจ ความขัดเคืองใจ การไม่เห็นคุณค่าหรือโดนลดคุณค่าการทำดี ความอิจฉาริษยาไม่อยากให้เราได้ดีเพราะเขารับไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้อุเบกขาคือวางใจเป็นกลางโดยธรรมว่า มนุษย์ผู้ถูกอวิชชาเข้าครอบงำย่อมมีราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง มีความยึดมั่นถือมั่นหลงติดในมานะ 9 ประการบ้าง การกระทำทั้งปวงมีทั้งสมหวังและผิดหวังบ้าง ได้ลาภก็เสื่อมลาภบ้าง ได้ยศก็เสื่อมยศบ้าง มีสรรเสริญบ้างติเตียนบ้าง บางวันก็สุขบางวันก็ทุกข์ซึ่งความทุกข์เหล่านี้ล้วนเกิดจากความยึดมั่นถือมั่น เกิดจากความคาดหวัง หวังที่จะเสพการยกย่องสรรเสริญบ้าง หวังที่จะให้คนมาเข้าใจตนเองบ้าง ถ้าไม่สามารถละความหวังลงได้ก็ต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ไม่รู้จบ เพราะสิ่งใดๆ ในโลกล้วนอนิจจังคือไม่เที่ยง แปรเปลี่ยน และดับไป ดังนั้น การบริหารคนจำเป็นต้องวางใจให้เป็นอุเบกขาได้เพื่อไม่ให้ใจลุ่มหลง ยึดติด ถือมั่น เอนเอียง ก็จะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับจิตใจได้เป็นบุคคลที่มีความเที่ยงธรรม หนักแน่น และน่าเกรงขาม

 

สังเคราะห์การบริหารคนตามหลักสังคหวัตถุ 4

            สังคหวัตถุ หมายถึง เรื่องที่จะสงเคราะห์กัน, คุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้, หลักการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือกันยึดเหนี่ยวใจกันไว้ และเป็นเครื่องเกาะกุมประสานโลกคือสังคมแห่งหมู่สัตว์ไว้ดุจสลักยึดรถที่กำลังแล่นไปให้คงเป็นรถและวิ่งแล่นไปได้ มี 4 อย่าง คือ 1) ทาน การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 2) ปิยวาจา พูดจาน่ารัก น่านิยมนับถือ 3) อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ และ 4) สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือ ไม่ถือตัว ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เป็นต้น

            ในการบริหารคนนั้น จำเป็นต้องมีศิลปะในการเชื่อมโยงประสานใจหรือมิตรไมตรีของผู้ร่วมงานไว้อย่างเหนียวแน่น สังคหวัตถุมีความสำคัญในเชิงของการยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในความสามัคคีได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในงานธุรกิจจึงควรนำเอาสังคหวัตถุมาใช้ในการยึดเหนี่ยวใจคนด้วยการแบ่งปัน ที่เรียกว่า “ทาน” เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกันในเชิงวัตถุสิ่งของ ปัจจัย 4 เป็นการแสดงออกภายนอกแต่สามารถสื่อถึงใจของผู้ให้ได้ ผู้ให้จะต้องไม่ให้ด้วยเงื่อนไขของผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งเพราะจะได้ผลน้อย แต่ผลเสียมีมากและทำให้จิตใจขุ่นมัว คุณภาพจิตต่ำ การให้จะต้องไม่มุ่งหวังว่าให้ไปแล้วเขาจะเห็นคุณค่าหรือไม่ เพราะหากคาดหวังแล้วเมื่อไม่สมหวังผู้ให้ก็จะทุกข์และหมดกำลังใจในการให้ได้ การให้ต้องให้เพื่อบูชาธรรม มีธรรมเป็นที่ตั้ง มีธรรมเป็นเป้าหมาย ให้แล้วก็จะสบายใจเพราะเชื่อวาธรรมชาติยุติธรรมเสมอ กฎแห่งกรรมเป็นกฎที่ให้ความชอบธรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ที่รู้สึกว่าไม่ชอบธรรมเป็นเพราะกิเลสของมนุษย์ปิดบังตนเองจากอัตตา ความอยากที่เกินพอดี จากความไม่รู้ว่าผลของการกระทำจะออกมาในรูปแบบใด การให้เพื่อธรรมจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการให้ที่เชื่อใจกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้น ได้แสดงถึงความมีน้ำใจเอื้ออาทร หรือเอื้อเฟื้อต่อกัน 

            นอกจากการให้โดยไม่หวังผลแล้ว สิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจได้อีกวิธีหนึ่งก็คือการแบ่งปันคำพูดที่เป็นปิยวาจา การบริหารคนนั้นจำเป็นต้องรักษาน้ำใจกันและกัน วาจาที่เชือดเฉือน ฟังแล้วระคายหู ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจแก่สาธารณชนทั่วไป เมื่อความขัดเคืองใจเกิดขึ้นอัตตาของแต่ละคนก็จะเกิดขึ้นตามมาสร้างความไม่พอใจจนก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทต้องการเอาชนะซึ่งกันและกันด้วยความรุนแรง ทั้งๆ ที่บางทีเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่รุนแรงซึ่งสามารถทำความเข้าใจกันได้ แต่การใช้วาจาที่รุนแรงทำให้คนตัดสินใจทะเลาะวิวาทกันมากกว่าจะแสวงหาทางออกในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ทำให้เกิดความทุกข์ร้อนไม่เป็นผลดีต่อจิตใจเป็นผลเสียทั้งส่วนตนและส่วนรวม ดังนั้นการบริหารคนจึงไม่ควรมองข้ามคำพูดที่เป็นปิยวาจาเพราะแม้คำพูดนั้นจะเป็นคำจริง มีประโยชน์ ถูกกาละเทศะ แต่หากคำพูดนั้นไม่มีความอ่อนหวาน ไม่ให้เกียรติแก่ผู้ร่วมงานอาจก่อให้เกิดปัญหาหรือก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำได้

            นอกจากการแบ่งปันและการมีวาจาที่อ่อนหวานแล้วบุคคลที่เป็นผู้นำจะต้องรู้จักประพฤติตนให้สมกับคำพูดให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่การงานของตนอย่างสม่ำเสมอ การที่ผู้นำจะสร้างคุณูประการให้เกิดแก่หมู่ชนได้นั้นจำเป็นต้องอุทิศตัวเพื่อรับใช้หรือให้การสนับสนุนผู้ร่วมงานหรือบริวารรอบตัว เพราะอำนาจและผลประโยชน์ไม่สามารถซื้อใจคนได้อาจเหนี่ยวรั้งได้เพียงชั่วคราวแต่ไม่ยั่งยืน การจะได้ใจคนทำงานนั้นจะต้องมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันยอมทุ่มเทอุทิศตัวเพื่อส่วนรวมภาวะผู้นำจึงบังเกิดขึ้นและดึงใจผู้ร่วมงานไว้ได้ เหตุที่เกิดขึ้นในที่ทำงานแม้จะหนักสักเพียงใดก็อาจเบาบางลงได้ด้วยบารมีของผู้ที่อุทิศตนให้กับผู้อื่น การอุทิศตนนั้นบางครั้งจำเป็นต้องปิดทองหลังพระเมื่อปิดจนเต็มหลังพระก็จะล้นออกมาหน้าพระบังเกิดเป็นบารมีที่ยึดโดยงจิตใจคนให้สมัครสมานสามัคคีกันได้

            ธรรมะที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจคนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะบรรลุผลสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัย “สมานัตตตา” คือมีความสม่ำเสมอในการบำเพ็ญประโยชน์ ได้แก่ มีการให้อย่างต่อเนื่อง มีปิยวาจาอย่างต่อเนื่อง มีการอุทิศตนให้เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง คือต่อเนื่องจนกลายเป็นความปกติเป็นวิถีชีวิตเป็นธรรมดา เมื่อทำต่อเนื่องจนบารมีแก่กล้าเป็นที่นับถือของคนทั่วไปแล้วก็ไม่หยิ่งทนงดำรงตนโดยธรรม มีความนอบน้อมไม่ถือตัว ให้ความเท่าเทียมในด้านความรู้สึกในการวางตัวที่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม

            2) ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ มีความสำคัญสำหรับการบริหารคนในด้านการรักษาน้ำใจจากการพูดหรือการสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น ประสานมิตรไมตรีกันไว้ไม่ให้เสื่อม หลายครั้งที่การพูดโดยไม่ระมัดระวังสร้างความแตกแยก หรือความขัดเคืองให้เกิดในที่ทำงาน เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง กินแหนงแคลงใจกันอยู่ตลอด การบริรหารคนก็เกิดปัญหาเพราะขาดปิยวาจา เพราะฉะนั้น ปิยวาจาคือวาจาที่อ่อนหวาน เป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการบริหารคนให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี มีขวัญและกำลังใจในการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จร่วมกัน

            3) อัตถจริยา มีความสำคัญสำหรับการบริหารคนในด้านพฤติกรรมและความประพฤติ ผู้นำที่เอาแต่สั่ง แต่ไม่ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ตาม เขาย่อมไม่สามารถเข้าไปนั่งอยู่บนหัวใจของผู้ตามได้ เพื่อนร่วมงานที่ดีแต่พูดแต่ไม่ทำ คำพูดนั้นจะย้อนกลับเข้ามาสู่ผู้พูดทำให้เสียความเคารพนับถือและความไว้วางใจ การปกครองคนนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีให้เกิดแก่องค์การ นำพาคนในองค์กรไปสู่ความสำเร็จร่วมกันด้วยการปฏิบัติให้เกิดผลจริง 

            4) สมานัตตตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารคนในด้านความประพฤติตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัวยกตนข่มท่านหรือจัดระดับเพื่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำแต่ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น สมานัตตตาช่วยให้ผู้นำรู้จักร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้ตามในฐานะของผู้ร่วมงานหรือเพื่อร่วมงานที่ช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคในการทำงานโดยไม่ทอดทิ้ง แต่เอาใจใส่และดูแลอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความรักและเคารพเลื่อมใสเพราะความประพฤติที่เป็นประโยชน์สุขนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแต่มีความยั่งยืนเสมอต้นเสมอปลายไปตลอด

 

สังเคราะห์การบริหารคนตามหลักสัปปุริสทาน 8

            หลังจากวิเคราะห์สังคหวัตถุ 4 ในข้อที่ 1 คือทานมาแล้วทำให้ทราบว่าการให้หรือการแบ่งปันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการยึดเหนี่ยวจิตใจคนทำงาน ในสัปปุริสทาน 8 นี้เป็นหลักธรรมที่จำแนกแจงแจงของที่ให้อีกครั้งหนึ่ง ช่วยให้ทราบหลักของการให้ว่า การให้ของสัตบุรษผู้มีปัญญารอบคอบนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ 8 ประการ ดังนี้ 1) สุจึ เทติ หมายถึง ให้ของสะอาด 2) ปณีตํ เทติ หมายถึง ให้ของประณีต 3) กาเลน เทติ หมายถึง ให้ของเหมาะกาล ให้ถูกเวลา 4) กปฺปิยํ เทติ หมายถึง ให้ของสมควร ให้ของที่ควรแก่เขา ซึ่งเขาจะใช้ได้ 5) วิเจยฺย เทติ หมายถึง พิจารณาเลือกให้ ให้ด้วยวิจารณญาณ เลือกของ เลือกตนที่จะให้ ให้เกิดผลประโยชน์มาก 6) อภิณฺหํ เทติ หมายถึง ให้เนืองนิตย์ ให้ประจำ หรือสม่ำเสมอ 7) ททํ จิตฺตํ ปสาเทติ หมายถึง เมื่อให้ ทำจิตผ่องใส และ 8) ทตฺวา อตฺตมโน โหติ หมายถึง ให้แล้ว เบิกบานใจ

            1) สุจึ เทติ หรือ ให้ของสะอาด สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นธรรมสำหรับการบริหารคนให้ได้รับวัตถุสิ่งของที่เหมาะสมและสมควร ไม่ก่อให้เกิดโทษ คือเป็นของที่หามาได้ด้วยความสุจริต เช่น เครื่องมือในการทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สำนักงาน งบประมาณในการทำงาน เป็นสิ่งที่ไม่ได้ปล้นใครมา ไม่ใช่ของหนีภาษี ไม่ใช่ของที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม เพราะของที่ไม่สะอาดย่อมทำให้เกิดโทษแก่ผู้ที่ได้รับภายหลัง เช่น การให้สินบน การคอรัปชั่นให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แล้วแบ่งให้พวกพ้องบริวารของตน เป็นต้น ของที่ไม่สะอาดเหล่านี้นำมาซึ่งความเสื่อมแก่หมู่คณะ แก่เพื่อนร่วมงาน ผู้ที่เป็นผู้นำควรตระหนักถึงการให้ที่สะอาดบริสุทธิ์นี้เพื่อรักษาเกียรติและชื่อเสียงของคณะผู้ปฏิบัติงานทุกคน ให้ดำเนินงานด้วยความสุจริต มีชีวิตที่สะอาดปราศจากโทษ 

            2) ปณีตํ เทติ หรือ ให้ของประณีต สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การบริหารคนให้เกิดความสัมพันธ์อันดี จะต้องส่งเสริมเรื่องการเอาใจใส่กันและกัน คือมีความสนใจกัน ปรารถนาดีต่อกันด้วยความจริง เอาใจใส่ เมื่อจะให้สิ่งของใด ก็คัดเลือกมาอย่างประณีตที่สุดเท่าที่จะหาได้ ณ เวลาและสถานที่หนึ่งๆ เช่น การซื้ออาหารและขนม ก็ต้องดูให้ชัดว่าอาหารและขนมที่ซื้อนั้นมีความสะอาด ถูกหลักอานามัยหรือไม่ ดูวันหมดอายุให้ชัดเจน คือพิจารณาดูกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบกระวนการให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นการเลือกสรรอย่างประณีตเพื่อให้ผู้รับได้ของที่ดีและเหมาะสมกับแต่ละคน เช่น ถ้าบางคนมีโรคประจำตัว หรือแพ้อาหารบางชนิด ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือขนมชนิดนั้นๆ ได้ก็ต้องละเว้น ไม่ให้ของที่เกิดโทษต่อสุขภาพเพื่อนร่วมงาน คือมีความใส่ใจเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง 

            3) กาเลน เทติ หรือ ให้ของเหมาะกาล ให้ถูกเวลา สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การบริหารคนนั้นควรคำนึงถึงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม นอกจากเงินเดือน (Salary) หรือค่าจ้างรายวัน รายสัปดาห์ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ต้องให้ตามปกติแล้ว การจะให้สิ่งใดที่อยู่นอกค่าตอบแทนเหล่านี้ ควรจะต้องพิจารณาให้ดี ของบางอย่างควรให้ตามกาลเวลาที่เหมาะสมจึงจะเกิดคุณค่าอย่างสูงสุด เช่น ช่วงสิ้นปีของที่ควรให้อาจได้แก่โบนัส (Bonus) ในช่วงตรุษจีนอาจต้องให้อั่งเปาสำหรับคนที่ทำงานขยันหรือพนักงานดีเด่น การให้ค่าตอบแทนพิเศษ (Special Compensation) ในกรณีทำงานล่วงเวลาสำหรับผู้ที่ทำงานล่วงเวลา การแบ่งกำไร (Profit Sharing) ให้กับผู้ถือหุ้นในเวลาที่เหมาะสม การให้สิทธิเพื่อซื้อหุ้นในราคาพิเศษ (Stock Option) แก่พนักงานที่ประพฤติดีและมีอายุการทำงานเกิน 5 ปีขึ้นไป เป็นต้น ถ้ามีการให้โดยขาดการเลือกเวลาที่เหมาะสม การให้ที่เกิดขึ้นอาจดูไร้ค่า คนทำงานอาจไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ได้รับมากที่ควร ทำให้ขาดแรงจูงใจหรือดึงดูดใจ (Attractive) ในการทำงานซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการบริหารคนในองค์กร

            4) กปฺปิยํ เทติ หรือ ให้ของสมควร ให้ของที่ควรแก่เขา ซึ่งเขาจะใช้ได้ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การบริหารคนนั้นควรคำนึงถึงการให้ของที่สมควร เช่น แม่บ้านทำความสะอาดต้องการไม้กวาดและผ้าถูพื้นมากกว่าคนที่ทำงานเป็น CEO เป็นต้น หรือการให้กระโปรงแก่เพศหญิงย่อมเกิดความเหมาะสมมากกว่าให้กับเพศชาย เป็นต้น ในบรรดาปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานที่ควรให้แก่คนทำงาน ได้แก่ เงิน (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และเครื่องจักร (Machine) ควรคำนึงถึงความเหมาะสมตามบทบาท หน้าที่ และความรู้ความสามารถ ก็จะสามารถบริหารคนให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

            5) วิเจยฺย เทติ หรือ พิจารณาเลือกให้ ให้ด้วยวิจารณญาณ เลือกของ เลือกตนที่จะให้ ให้เกิดผลประโยชน์มาก สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การบริหารคน นอกจากจะต้องรู้จักให้ของสะอาด ของประณีต ของเหมาะกาล ให้ถูกเวลา ให้ของสมควร ให้ของที่ควรแก่เขาแล้ว ยังต้องมีการใช้ความรอบคอบตัดสินอีกทีว่าสมควรหรือไม่สมควรให้อย่างไร โดยเล็งผลอันเลิศที่ประสิทธิภาพสูงสุดของการให้ เช่น การให้โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการบริษัทควรกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัททุกคน ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน การให้ที่คำนึงถึงประโยชน์เช่นนี้จะนำมาซึ่งจริยธรรมอันดีในองค์กร ในปัจจุบันเรียกว่าธรรมาภิบาลบ้าง บรรษัทภิบาลบ้าง ซึ่งก็คือการบริหารจัดการที่ดีซึ่งสามารถทำได้ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน

            6) อภิณฺหํ เทติ หรือ ให้เนืองนิตย์ ให้ประจำหรือสม่ำเสมอ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การให้ที่ขาดจังหวะ ขาดความต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้ผลแต่ก็ได้ผลน้อย เพราะการให้ยังไม่ประติดประต่อกันจนเป็นอุปนิสัยที่เคยชิน อาจทำให้คนคิดว่าการให้ในแต่ละครั้งเป็นการให้เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน การให้จะถูกให้ค่าว่าไม่บริสุทธิ์เท่าที่ควร ดังนั้น การให้ควรมีความเสมอต้นเสมอปลาย เช่น เมื่อให้ความเป็นธรรมในด้านการบริหารจนเกิดบรรษัทภิบาลในสถานที่ทำงานแล้ว ก็ควรรักษาสิ่งดีดีนี้ไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เกิดความน่าเชื่อถือ และทำให้องค์กรเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน

            7) ททํ จิตฺตํ ปสาเทติ หรือ เมื่อให้ ทำจิตผ่องใส สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การให้ที่ดีต้องมาจากภายใน คือมีน้ำใสใจจริงที่จะให้ ไม่ได้ให้เพราะหวังผลประโยชน์ แต่ให้ด้วยจิตใจที่ผ่องใส ผ่องแผ้ว เบ่งบานด้วยธรรม มีความร่าเริงในธรรม คือให้จากเจตนาดี ได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ การให้เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความรัก ความเมตตา เอื้ออาทรต่อกัน ทำให้สามารถครองคนได้อย่างเป็นธรรม และมีความสุข

            8) ทตฺวา อตฺตมโน โหติ หรือ ให้แล้ว เบิกบานใจ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เมื่อบุคคลได้ให้ของแก่ใครแล้ว เพื่อไม่ก่อให้เกิดทุกข์ในภายหลังจะต้องรู้จักหมั่นตรวจตราสภาวะจิตใจของตนว่ามีความยินดี มีความแจ่มใสเบิกบานหรือมีความสุขหรือไม่หลังจากที่ให้ไปแล้ว หากไม่มีความสุขอาจเป็นเพราะการให้นั้นยังมีความติดข้องติดขัดก็ต้องรีบแก้ด้วยปัญญา คือพิจารณาถึงคุณค่าของการให้ ตระหนักถึงหน้าที่ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน คือรู้จักแบ่งปันความสุขให้แก่กันและกัน เป็นการละอัตตา ละความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวในตน ให้แล้วเบิกบานใจ ใจก็เป็นสุข ให้แล้วผลจะออกมาเช่นไรก็บูชาแล้วซึ่งพระธรรม ใจก็เบิกบาน เป็นสุข ผู้รับก็จะเป็นสุขตามไปด้วย

 

 

สังเคราะห์การบริหารคนตามหลักอคติ 4

            อคติ 4 หมายถึง ฐานะอันไม่พึงถึง ทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

            1) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ

            2) โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง

            3) โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง ผิดพลาดเพราะเขลา

            4) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

            อคติ 4 เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลในองค์กร ย่อมทำให้การบริหารคนดำเนินไปได้ยาก เพราะการทำงานจะดำเนินไปด้วยความเอนเอียง ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น การบริหารคนให้ได้ประสิทธิภาพ ผู้นำเองก็ต้องละเว้นจากคติ 4 ซึ่งสามารถวิเคราะห์ในเชิงการบริหารธุรกิจได้ดังนี้

            1) ฉันทาคติ หรือ ลำเอียงเพราะชอบ มีผลกระทบต่อการบริหารคนเป็นอย่างมาก เพราะทำให้จิตเอนเอียงไม่เป็นธรรม หรือไม่สามารถทำให้เกิดความชอบธรรมแก่คนที่ทำงานในองค์กรธุรกิจได้ จิตที่มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ แม้เป็นเรื่องที่ดี แต่กลับเสียหายเมื่อมีความยึดมั่นหรือยึดถือ การยึดมั่นในตัวบุคคลว่าคนนี้เป็นคนที่เรารัก คือรักมากกว่าคนอื่น การแบ่งสรรผลประโยน์ การพิจารณาการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง การกำหนดรายได้ เพิ่มรายได้หรือเงินเดือน ก็มักจะเลือกที่รักก่อนที่ชังเสมอ ซึ่งมักจะทำให้เสียการปกครอง ผู้ที่ตั้งใจทำงานแต่ไม่เป็นที่รักก็อาจเกิดความน้อยใจ รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการบริหาร ซึ่งอาจทำให้เสียบุคลากรที่มีประสิทธิภาพได้ หรือถึงแม้จะอยู่ก็ไม่ได้ตั้งใจทำงานเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างแท้จริง เพราะคิดว่าทำให้มีประสิทธิภาพมากเท่าไรก็มีค่าเท่ากับคนที่ทำงานไร้ประสิทธิภาพ 

            2) โทสาคติ หรือ ลำเอียงเพราะชัง มีผลกระทบต่อการบริหารคนไม่แพ้ฉันทามติ เพราะทำให้จิตเอนเอียงไม่เป็นธรรมเช่นกัน จึงไม่สามารถทำให้เกิดความชอบธรรมแก่คนที่ทำงานในองค์กรธุรกิจได้ โดยปกติแล้ว ผู้บริหารที่ดีต้องสามารถวางใจให้เป็นอุเบกขาได้ คือ ไม่รักและไม่ชัง พิจารณาทุกอย่างตามเหตุคตามปัจจัยโดยอาศัยความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกคนในที่ทำงานล้วนต้องการความเป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้นแม้ว่าเขาจะเป็นน่าชังมากเท่าไร ดังนั้น การทำงานใดๆ ก็ตาม หากต้องการครองคนให้เป็นไปด้วยธรรมแล้ว จะต้องไม่เอนเอียงหรือมีอคติเพราะชังโดยเด็ดขาด

            3) โมหาคติ หรือ ลำเอียงเพราะหลง ผิดพลาดเพราะเขลา มีความสำคัญสำหรับการบริหารคนมาก หากรู้ตัวว่าผู้ปฏิบัติงานยังเขลาอยู่ ควรส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง อาจจะมีการจัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพของผู้ทำงาน การอบรมการทำงานเป็นทีม การอรมในด้านจิตสำนึก เป็นต้น ความหลงทำให้จิตเอนเอียงไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนส่วนรวมโดยไม่รู้ตัว ขาดสติยั้งคิด ใคร่ครวญไม่รอบคอบด้วยปัญญา มีผลกระทบต่อการทำงานในเชิงของการทำให้งานเสียหาย ไร้ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม 

            4) ภยาคติ หรือ ลำเอียงเพราะกลัว เมื่อเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ทำงานมักจะทำให้งานส่วนรวมเสีย เพราะหากแต่คนกลัวว่าความคิดเห็นที่ตนจะเสนอต่อองค์กรนั้น อาจทำให้ใครบางคนหรือบางกลุ่มไม่พอใจทั้งๆ ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ทำให้องค์กรหรือส่วนรวมขาดโอกาสพัฒนาและอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ 

            ความกลัวอีกประการหนึ่งคือเกิดจากความริษยา คือ ทนไม่ได้เมื่อคนอื่นได้ดีกว่าตน ความกลัวนี้ส่งผลให้เกิดการกระทำในทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นคนดีมีความสามารถไม่ให้มีโอกาสเข้ามาดำรงตำแหน่ง เพราะกลัวจะสร้างผลงานที่โดดเด่นกว่าตนเอง

            ความกลัวอีกรูปแบบหนึ่งเป็นความกลัวที่จะเสียผลประโยชน์ ทำให้เกิดการสร้างกลุ่มเพื่อเล่นพรรคเล่นพรรคเล่นพวก เอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มของตนเองเป็นหลัก ทำการคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ทำให้งานส่วนรวมเสียหาย คนที่เข้ามาทำงานภายหลังหากไม่เข้ามาอยู่ภายใต้กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะทำงานอย่างอึดอัดใจและยากลำบาก เป็นเหตุให้หลายคนที่เอือมละอาแต่มีความสามารถต้องลาออกจากงานเพื่อหนีกลุ่มคนที่มีปัญหาเหล่านี้ ซึ่งสาเหตุก็มาจากความกลัวที่จะเสียฐานอำนาจและผลประโยชน์นั่นเอง

            กล่าวโดยสรุปได้ว่า อคติ 4 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารคนในองค์กร ผู้นำหรือผู้บริหาร ตลอดถึงคณะทำงานควรตระหนักถึงโทษภัยอันเกิดจากอคติเหล่านี้ เพราะเป็นเหตุทำให้ส่วนรวมเกิดความเสียหาย ผู้ทำงานแต่คน แต่ละฝ่าย แต่ละหน้าที่ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม เมื่ออคติเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งย่อมส่งผลกระทบมีโอกาสกระจายเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายให้กับองค์กรธุรกิจไม่มากก็น้อย

 

สรุป 

               จากที่ได้ศึกษาการบริหารคนตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ พบว่า หลักธรรมที่พบได้ในพระสูตร หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารคน ได้แก่ พรหมวิหารธรรม สังคหวัตถุธรรม สัปปุริสทาน และอคติ หลักธรรมทั้ง 4 หมวดนี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการบริหารคนจากภายในสู่ภายนอก เมื่อสังเคราะห์หลักธรรม พบว่า ผู้นำที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มีวาจาที่ไพเราะอ่อนหวานที่กลั่นออกมาจากใจ มีการให้และแบ่งปันอย่างมีปัญญาและมีความชอบธรรม ปราศจากอคติ ย่อมได้ใจคนหรือเพื่อนผู้ร่วมงาน สามารถประสานประโยชน์สุขให้กับคนหมู่มากได้อย่างชอบธรรม แบ่งปันความสุขความสำเร็จร่วมกันได้ด้วยความรักสามัคคี

               

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 710700เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท