หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารงาน


หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารงาน

                   การที่จะบริหารธุรกิจให้สำเร็จผลได้นั้น นอกจากจะต้องรู้หลักการบริหารตนและการบริหารคนดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมีความฉลาดในการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ในพุทธศาสนามีหลักธรรมที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานธุรกิจมากมาย สำหรับการศึกษาครั้งนี้ ได้เลือกเฉพาะหลักธรรมที่พบได้ในพระสูตรที่สอดคล้องต่อการวิจัยเป็นสำคัญ โดยมีรายละเอียดที่ศึกษาดังต่อไปนี้

                 ก. อิทธิบาท 4 

                         หลักอิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรมสำคัญหลักธรรมหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับบริหารงานให้ผู้ปฏิบัติสามารถประสบผลสำเร็จในจุดประสงค์ได้อย่างที่คาดหวังไว้ด้วยความมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดที่ควรศึกษาดังนี้

                    1) ความหมายและองค์ประกอบของอิทธิบาท 4

                         อิทธิบาท หมายถึง คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 149)

                         องค์ประกอบของอิทธิบาททั้ง 4 ข้อ สามารถอธิบายได้ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2552ข, หน้า 160)

                         1) ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป

                         2) วิริยะ หมายถึง ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย

                         3) จิตตะ หมายถึง ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป

                         4) วิมังสา ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น

                        2) ความสำคัญของอิทธิบาท 4

                        จากการศึกษาความหมายและองค์ประกอบของอิทธิบาท 4 สามารถวิเคราะห์ความสำคัญได้ว่า อิทธิบาทเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญในการบริหารงาน ข้อธรรมแต่ละข้อมีลักษณะที่อิงอาศัยกัน กล่าวคือธรรมขั้นที่ 1 เป็นแม่บทให้เกิดธรรมข้ออื่นตามมา และธรรมข้อที่ 2-4 เป็นสิ่งที่อิงอาศัยกัน ซึ่งสามารถอธิบายความสำคัญของข้อธรรมในแต่ละข้อได้ดังนี้

                             1) ฉันทะ มีความสำคัญในด้านการสร้างความพอใจในการทำงาน ในการทำงานทุกอย่างสิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการสร้างความพอใจในงานที่ต้องทำ เพราะหากไม่มีความพอใจแล้วผู้ปฏิบัติงานจะรู้สึกไม่เต็มใจที่จะทำงาน และทำงานด้วยความทุกข์หรือหวังที่ผลประโยชน์จากงาน ทำให้ได้ผลงานที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณภาพแค่พอผ่านมาตรฐาน ไม่ได้ทำงานด้วยความจริงใจ หากมีงานอื่นที่ชอบและให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่าก็ย่อมเลือกที่จะไปทำงานใหม่ ฉันทะจึงเปรียบเสมือนธรรมแม่บทที่จะทำให้เกิดธรรมข้ออื่นตามมา ดังนั้น ในการบริหารธุรกิจให้ได้งานที่ดีได้นั้นผู้บริหารต้องสร้างให้องค์กรของตนเกิดฉันทะเสียก่อน ให้บุคลากรมีความพอใจในการทำงานทำให้เต็มใจที่จะทำงานที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะหาวิธีการทำให้บุคลากรเกิดฉันทะจากการทำงานในต่ำแห่งหน้าที่ของตนได้ ซึ่งผู้วิจัยจะนำมาวิเคราะห์ในบทต่อไป

                             2) วิริยะ มีความสำคัญในด้านการสร้างแรงขับเคลื่อนในการทำงาน เนื่องจากการทำงานต้องการแรงขับเคลื่อนจากคนทำงานที่มาจากความขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ความพยายามบากบั่นไม่ท้อถอยเพื่อให้งานดำเนินไปสู่เป้าหมาย การทำงานที่ขาดแรงขับเคลื่อนเปรียบเสมือนรถยนต์ที่ขาดน้ำมันจะเคลื่อนไปข้างหน้าต้องอาศัยคนผลักดันโดยที่ตัวรถไม่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานภายในย่อมดำเนินไปสู่เป้าหมายด้วยความยากลำบาก ตรงกันข้าม หากมีแรงผลักดันจากภายในก็เหมือนรถที่มีน้ำมันขับเคลื่อนด้วยพลังงานภายในก็จะทำให้ถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็ว ในแต่ละองค์กรต้องการคนที่มีความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นในการทำงานด้วยกันทั้งนั้นจึงมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นด้วยการให้รางวัลบ้าง การให้คำชมเชยบ้าง การให้ตำแหน่งหน้าที่การงานบ้าง และมีการลงโทษผู้ที่มีความเกียจคร้านไม่รับผิดชอบในการทำงานบ้าง

                             3) จิตตะมีความสำคัญในด้านการสร้างพลังใจในการทำงาน พลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการสนับสนุนความพึงพอใจในงานและความขยันหมั่นเพียรในงานให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะการมีจิตใจที่จดจ่อในงานด้วยความมีสติสัมปชัญญะย่อมทำให้การทำงานดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมีเสถียรภาพ มีความสมดุล มีพลังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่ขาดสายเป็นเหตุให้งานสำเร็จได้โดยเร็วตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

                             4) วิมังสามีความสำคัญในด้านการสร้างความรอบคอบในการทำงาน เนื่องจากการทำงานในทุกขั้นตอนย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นมากมายการกล้าที่จะเผชิญปัญหากำหนดและหยิบยกปัญหานั้นขึ้นมาพิจารณาเป็นประเด็นสำคัญแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของผู้ปฏิบัติงานความกล้าหาญนี้ช่วยส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัยในปัญหาต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ความรู้และประสบการณ์ ใช้ปัญญาไหวพริบปฏิภาณ วิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน ตรึกตรองงานอย่างละเอียดอ่อนไม่ประมาท การทำงานใดที่ไร้ซึ่งวิมังสา การงานนั้นย่อมไม่อาจสัมฤทธิ์ผลเพราะไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาโดยการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ขาดการวางแผนงานตามลำดับขั้นตอนอะไรควรทำก่อนอะไรควรทำหลัง เป็นต้น

                 ข. กุลจิรัฏฐิติธรรม 4 

                     กุลจิรัฏฐิติธรรมเป็นหลักธรรมที่สำคัญในด้านบริหารงานให้เกิดความมั่นคงกับองค์กร

                     1) ความหมายและองค์ประกอบของกุลจิรัฏฐิติธรรม 4

                             กุลจิรัฏฐิติธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืน, เหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นาน (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 113)

                             องค์ประกอบของกุลจิรัฏฐิติธรรมสามารถอธิบายได้ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2552ข, หน้า 113)

                             1) นัฏฐคเวสนา หมายถึง ของหายของหมด รู้จักหามาไว้

                             2) ชิณณปฏิสังขรณา หมายถึง ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม

                             3) ปริมิตปานโภชนา หมายถึง รู้จักประมาณในการกินการใช้

                             4) อธิปัจจสีลวันตสถาปนา ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน

                         2) ความสำคัญของกุลจิรัฏฐิติธรรม 4

                             1) นัฏฐคเวสนา หรือ ของหายของหมด รู้จักหามาไว้ มีความสำคัญในด้านเอาใจใส่ไม่เผลอเรอ เห็นคุณค่าของสิ่งของที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพหรือการดำรงชีวิต เมื่อของเหล่านั้นเกิดการสูญหายก็ไม่นิ่งนอนใจมีการค้นหาสิ่งของเหล่านั้นเพื่อนำมาเก็บรักษาในที่อันสมควรเป็นเหตุให้เกิดการประหยัดต้นทุนในการทำงานไม่ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย เป็นเหตุให้เกิดความมั่นคงเพราะรู้จักหลักการประหยักเรียบง่ายได้ประโยชน์สูงสุด

                             2) ชิณณปฏิสังขรณา หรือ ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม มีความสำคัญในด้านการดูแลเอาใจใส่ หรือเห็นคุณค่าของวัตถุสิ่งของในส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่ เป็นการยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่เห่อซื้อของใหม่ด้วยรสนิยม แต่เห็นความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็นของเก่าหรือที่ซื้อมาใหม่ก็ย่อมเสื่อมได้เช่นเดียวกัน ความเสียหายของอุปกรณ์นั้นก็จัดว่าเป็นความเสี่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเข้าใจพื้นฐานธรรมชาติดังกล่าวนี้แล้วบุคคลผู้มีปัญญาย่อมรู้จักการปรับปรุงสภาพความเสื่อมดังกล่าวให้เกิดการยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะทำให้เกิดต้นทุนทางธุรกิจที่ต่ำแต่สร้างเม็ดเงินผลกำไรได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเอาเงินจากผลกำไรเหล่านั้นมาซื้ออุปกรณ์การทำงานใหม่ๆ อย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

                             3) ปริมิตปานโภชนา หรือ รู้จักประมาณในการกินการใช้ มีความสำคัญในด้านการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม รู้จักใช้ชีวิตบนความพอเพียง รู้จักประมาณว่าควรบริโภคอย่างไรให้เหมาะกับฐานะตนโดยคำนึงถึงประโยชน์ สุขภาพ และอนามัย มากกว่ารสนิยมเลิศหรูฟุ่มเฟือย เงินทองที่หามาได้จะมากน้อยเท่าไรอาจไม่สำคัญเท่าผู้ใช้เงินทองเหล่านั้นทำให้เกิดเงินคงเหลือมากเท่าไร บางคนหามาได้มากแต่ใช้ไม่เหลือขาดการวางแผนในการใช้อย่างพอเพียงก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของคนคนนั้นเกิดความมั่งคั่งมั่นคงเพราะขาดความพอเพียง ตรงกันข้าม เมื่อแสวงหาเงินทองมาได้จะมากหรือน้อยหากรู้จักบริโภคอย่างไม่เบียดเบียนและผู้อื่นมีสติในการใช้ให้ตรงกับความจำเป็น ย่อมทำให้มีฐานะอย่างย่อมทำให้มีฐานะอย่างน้อยย่อมไม่เกิดความทุกข์ ด้วยเหตุนี้ หลักปริมิตปานโภชนา จึงสร้างความมั่นคงให้กับองค์กรได้

                             4) อธิปัจจสีลวันตสถาปนา หรือ ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มีความสำคัญในด้านรู้จักเลือกบุคคลให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่ สิ่งแรกที่ต้องรู้คือต้องรู้ว่าคุณธรรมคืออะไร คุณธรรมมีกี่ประเภท คุณธรรมใดเหมาะสำหรับทำอะไร ซึ่งอยู่ในเรื่องการบริหารตนจากหลักสัปปุริสธรรม จากนั้นจึงพิจารณาว่าภายในองค์กร หน่วยงานให้ต้องเน้นคุณธรรมข้อให้เป็นหลัก และใครเป็นคนมีคุณธรรมข้อไหนมากข้อไหนน้อย แล้วจึงเลือกแต่งตั้งให้เหมาะสมกับงาน

                 ค. โภควิภาค 4 

                     โภควิภาคเป็นหลักธรรมที่สำคัญในด้านการบริหารงานด้วยการทรัพย์สินให้เกิดความสมดุลและมั่นคง

                     1) ความหมายและองค์ประกอบของโภควิภาค 4

                        โภควิภาค หมายถึง การแบ่งโภคะเป็น 4 ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 128)

                             องค์ประกอบของโภควิภาคสามารถอธิบายได้ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2552ข, หน้า 127-128)

                             1) เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย หมายถึง การแบ่งทรัพย์ออก 1 ส่วน ไว้สำหรับใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ 

                             2) ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย หมายถึง การแบ่งทรัพย์ออก 2 ส่วน ไว้สำหรับใช้ลงทุนประกอบการงาน

                             3) จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย หมายถึง การแบ่งทรัพย์อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นหรือทุนสำรอง

                        2) ความสำคัญของโภควิภาค 4

                             1) เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย หรือ การแบ่งทรัพย์ออก 1 ส่วน ไว้สำหรับใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ มีความสำคัญในด้านความรับผิดชอบในตนเอง ในด้านความต้องการพื้นฐานซึ่งแต่ละแผนกงานควรได้รับในส่วนที่สำคัญเหล่านี้ หากค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงตนเองและครอบครัวหรือคนที่ควรบำรุง ก็จะมีผลกระทบต่อการทำงานอันมาจากแรงกดดันที่เกิดจากความขาดแคลน คือ ไม่สมดุล ไม่พอเพียง

                             2) ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย หรือ การแบ่งทรัพย์ออก 2 ส่วน ไว้สำหรับใช้ลงทุนประกอบการงาน มีความสำคัญในด้านการประคับประคองงานให้ดำรงอยู่ได้ เพื่ออาศัยแผนงานนี้สำหรับไว้พัฒนาต่อยอดการลงทุนที่ส่งผลประโยชน์ต่อองค์กรและผู้ร่วมงานทุกคน โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ที่เป็นบริษัทมหาชน ประกอบด้วยนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนเหล่านี้จะมีการนำเงินที่ได้ปันผลจากกำไรที่ได้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ มาไว้สำหรับเลี้ยงตนส่วนหนึ่ง แต่เงินโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะหมดไปกับการลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นผู้ก่อการหรือเป็นตัวการที่ทำให้เกิดบริษัทมหาชนขึ้นมา หลักธรรมดังกล่าวนี้จึงมีความสอดคล้องในเรื่องการแบ่งสัดส่วนของทรัพย์สินโดยใช้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ลงทุนไปกับการทำงานที่สร้างมูลค่าสำหรับเลี้ยงตน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานในองค์กร

                             3) จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย หรือ การแบ่งทรัพย์อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นหรือทุนสำรอง มีความสำคัญในด้านการรู้จักเก็บออมเพื่อให้มีเงินสำรองไว้เลี้ยงชีพยามฉุกเฉิน อาจจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าประกันภัยอุบัติเหตุในอนาคต ในองค์กรการทำงานมักจะถูกเก็บสะสมไว้เพื่อเป็นเงินสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการในด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาล หรือการประกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งในขณะทานและในช่วงสภาวะปกติ หรือใช้เป็นโบนัสให้กับพนักงานช่วงสิ้นปี บางคนอาจนำทรัพย์สินไปซื้อประกันสังคม เช่น ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ เงินฝากออมทรัพย์ เงินเหล่านี้ล้วนเป็นเงินเก็บส่วนหนึ่งสำหรับไว้ใช้ในยามฉุกเฉินทั้งสิ้น

                 ง. อปริหานิยธรรม 7

                      อปริหานิยธรรมเป็นหลักธรรมที่สำคัญในด้านบริหารงานให้เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีในองค์กร

                     1) ความหมายและองค์ประกอบของอปริหานิยธรรม 7

                        อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 211)

                             องค์ประกอบของอปริหานิยธรรมสามารถอธิบายได้ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2552ข, หน้า 211-212)

                             1) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

                             2) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

                             3) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม

                             4) ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

                             5) บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ อีกนัยหนึ่งคือไม่ลุแก่อำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น คือไม่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา

                             6) เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป

                             7) จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย

                        2) ความสำคัญของอปริหานิยธรรม 7

                             1) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ มีความสำคัญในด้านการมีส่วนร่วมในการทำงานภายในองค์กร เป็นเรื่องทักษะในด้านการประชุมเพื่อปรึกษาหารือร่วมเสนอประเด็นปัญหา เสนอข้อคิดเห็น ข้อสังเกต ข้อวิจารณ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหา เกิดการคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมกันทำงาน โดยจัดแบ่งเป็นหน้าที่ต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ร่วมลงมือทำและร่วมกันรับผิดชอบในสิ่งที่ทำร่วมกัน การมีส่วนร่วมนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันและกันของผู้ร่วมงานมีความสำคัญกับการทำงานตั้งแต่ขั้นวางแผนจนถึงขั้นสรุปงาน แผนงานที่ขาดการประชุมขาดการแสวงหาการมีส่วนร่วมการดำเนินงานมักจะไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน อาจเกิดภาวะขัดแย้งเนื่องจากไม่มีกระบวนการในการทำความเข้าใจกันของแต่ละฝ่าย ขาดการวางแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ การหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์จึงเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ และทำให้งานเกิดประสิทธิภาพอย่างมีส่วนร่วม

                             2) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ มีความสำคัญในด้านการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันของแต่ละฝ่ายในการร่วมงาน เป็นการตระหนักถึงซึ่งคุณค่าและความจำเป็นที่ทุกแผนกงานหรือแต่ละคนต้องมาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อไม่ให้เกิดการแถลงซ้ำในมติที่ประชุมเพราะจะเป็นการเสียเวลา โดยเฉพาะด้านธุรกิจเวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากเพราะนักธุรกิจจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแสวงหากำไรและการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความสำเร็จทางด้านธุรกิจ

                             3) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม มีความสำคัญในด้านความเคารพ เคารพในฉันทามติร่วมกันของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนไม่แสดงอาการลุแก่อำนาจ หรือการกระทำที่เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจตนเองซึ่งเป็นกิริยาอาการของการแสดงถึงความไม่เคารพในมติที่ประชุม ความไม่เคารพในมติที่ประชุมเป็นเหตุให้เกิดงานเสียหายการทำงานไม่ถูกดำเนินไปด้วยความชอบธรรมเกิดมาตรฐานที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นเพื่อความผาสุกของผู้ร่วมงานทุกคน เมื่อมีการประชุมกันอย่างเนืองนิตย์ไม่ว่าจะเป็นวาระการประชุมรายเดือน การประชุมบอร์ดต่างๆ การประชุมแผนงานโครงการและกิจกรรม การประชุมไตรมาส ตลอดจนการประชุมประจำปี ควรให้ความเคารพต่อมติในที่ประชุมด้วยความเป็นเอกฉันด้วยพร้อมเพรียงกัน

                             4) ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง มีความสำคัญในด้านการให้ค่าแก่ผู้มีคุณธรรมที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นประธานในการประชุมที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การที่ให้ค่าบุคคลผู้มีพรหมวิหารธรรมเช่นนี้ก็เพราะเป็นการยกย่องผู้นำที่มีคุณธรรม มีความเป็นธรรมที่ทุกคนควรให้ความเคารพ แม้ว่าทุกคนจะต้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการที่ประชุมแต่ก็มีปัญหาบางประเด็นที่ไม่สามารถลงมติในที่ประชุมได้จึงต้องอาศัยการตัดสินของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ในที่ประชุม นอกจากการรับฟังปัญหาที่แก้ไม่ตกด้วยความเคารพแล้วการชี้นำวิสัยทัศน์ของการบริหารงานยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมประชุมควรให้ความสำคัญเพื่อเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนในองค์กร

                             5) บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ อีกนัยหนึ่งคือไม่ลุแก่อำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น คือไม่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา มีความสำคัญในด้านการปกป้อคุ้มครองดูแลบุคคลที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ ไม่ทำการละเมิดข้อกฎหมายว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กหรือใช้แรงงานสตรีในส่วนที่ไม่เหมาะสม เด็กและสตรีมีข้อจำกัดในด้านโครงสร้างทางกายภาพจึงไม่เหมาะแก่การทำงานหนักในลักษณะงานของผู้ชาย เช่นงานแบกหาม งานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะสังคมไทยที่ให้เกียรติสตรีและให้การดูแลเด็กจะมีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรีไว้ในกฎหมายบ้านเมืองซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรละเมิด

                             6) เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป มีความสำคัญในด้านการให้คุณค่าด้านจิตใจต่อสิ่งที่ควรเคารพของผู้ร่วมงานที่มีความเชื่อ ความศรัทธาแตกต่างกันไป ควรให้เกียรติ ให้ความเคารพ ให้ความเข้าใจแก่กัน จะเห็นได้ว่าการทำงานในด้านธุรกิจมักมีการขอกำลังใจจากสิ่งที่ตนเคารพศรัทธาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนในองค์กร การลบหลู่ดูหมิ่นซึ่งความเคารพศรัทธาของกันและกันย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งเป็นเหตุให้การดำเนินงานในองค์กรมีปัญหาด้วย เพราะคนในองค์กรมุ่งแต่ความสำเร็จตามรูปแบบความเชื่อของตนโดยไม่สนใจและใส่ใจผู้อื่นเป็นเหตุให้จิตใจคับแคบและไม่ยอมรับความเชื่อที่แตกต่าง ดังนั้น ควรทำความเข้าใจกันว่าแต่ละคนล้วนต้องการกำลังใจด้วยกันทั้งนั้นอย่าทำลายศรัทธาของใครเพียงเพราะความยึดมั่นถือมั่นในศรัทธาของตนเอง

                             7) จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย มีความสำคัญในด้านการสร้างระบบหรือธรรมเนียมที่ให้ค่าแกบุคคลที่มีคุณงามความดีบริสุทธิ์ ในด้านการทำงานเชิงองค์กรซึ่งเป็นแบบโลกียะนั้นในการประยุกต์ใช้อาจต้องมีการลดความเข้มข้นจากระดับบุคคลที่เป็นอริยะให้อยู่ในระดับกัลยาณชนหรือคนดี กัลยาณชนหรือคนดีในที่นี้เช่น เป็นบุคคลที่เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ไม่คอรัปชั่น ไม่เอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนบุคคลในองค์กร และยกย่องบุคคลที่ทำดีเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจกับคนทำดีเป็นเหตุให้เกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติตนให้เป็นกัลยาณชนคนดีในรุ่นต่อๆ ไป

หมายเลขบันทึก: 710698เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท