การบริหารงานตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ


การบริหารงานตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ

 

              หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานมีอยู่มากมายในพระสูตร แต่จะขอเลือกเฉพาะที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการบริหารงานนักธุรกิจสำหรับ ได้แก่ หลักอิทธิบาทธรรม กุลจิรัฏฐิติธรรม โภควิภาค และอปริหานิยธรรม หลักธรรมทั้ง 4 หมวดนี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการทำงาน ใช้การทำงานเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการฝึกจิตใจ ซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ดังนี้

 

สังเคราะห์การบริหารงานตามหลักอิทธิบาท 4

              การบริหารงานให้เกิดความสำเร็จตามเป้าประสงค์ในทางธุรกิจ หลักธรรมที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ หลักอิทธิบาท 4 ซึ่งเป็นหลักคำสอนทางพุทธปรัชญาเถรวาทที่กล่าวถึงหลักความประพฤติให้ถึงความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย องค์ประกอบของอิทธิบาททั้ง 4 ข้อ สามารถอธิบายได้ดังนี้

            หลักอิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรมสำคัญหลักธรรมหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับบริหารงานให้ผู้ปฏิบัติสามารถประสบผลสำเร็จในจุดประสงค์ได้อย่างที่คาดหวังไว้ด้วยความมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดที่ควรศึกษาดังนี้

            1) ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ

            2) วิริยะ หมายถึง ความเพียร

            3) จิตตะ หมายถึง ความตั้งใจ

            4) วิมังสา ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น

              การบริหารงานให้ประสบผลสำเร็จ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การสร้างความพอใจในการทำงาน ความพอใจในที่นี้ได้ว่า เป็นความพอใจในการทำงานที่ตรงต่อธรรม ตรงต่อความจริง ทำแล้วก่อประโยชน์สุขแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม มีความพอใจในงานที่ทำเพราะไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่ความพอใจหรือไม่พอใจที่เกิดจากตัณหา การพอใจในความจริงเกิดขึ้นได้เพราะคนที่ทำงานสามารถสัมผัสได้จริงถึงคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น คนทำงานก็จะเกิดแรงจูงใจ เกิดความพอใจที่จะทำงานอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย การหลักฉันทะในแนวทางนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับเรื่องความต้องการของพนักงาน (Employee’s needs) ตามแนวคิดตะวันตก ที่เห็นว่าต้องการของพนักงาน เป็นปัจจัยที่มีส่วนกำหนดวิธีการที่ผู้นำใช้ในการบริหารงาน กล่าวคือ เมื่อความต้องการของพนักงานแตกต่างกันออกไป ย่อมส่งผลให้ผู้นำเลือกใช้วิธีการบริหารงานที่ต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานคนนั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากพนักงานต้องการชื่อเสียงเกียรติยศ ผู้นำจำเป็นต้องเน้นการให้เกียรติและยกย่องในความสำเร็จของพนักงานมากที่สุด แต่หากพนักงานต้องการความรักและความผูกพันกับสมาชิกในองค์กร ผู้นำต้องเน้นที่ความรู้สึกของพนักงาน และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในองค์กร เป็นต้น แต่การได้มาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศจะต้องไม่ใช่ความพึงพอใจหลัก ควรให้อยู่ในฐานะที่เป็นผลพลอยได้ หรือผลของการกระทำที่ควรจะได้รับ ไม่เช่นนั้นแล้วความสุขในการทำงานจะถูกบั่นทอน เพราะการทำงานที่มุ่งผลประโยชน์เป็นหลักจะมีความสุขก็ต้องอาศัยผลประโยชน์หรืออามิสเหล่านั้นมาสนองจึงจะเกิดความสุข ส่วนผู้ที่มุ่งความสำเร็จของงานเป็นความสุข ก็จะมีความสุขเฉพาะในยามที่งานสำเร็จเท่านั้น ส่วนในขณะที่ดำเนินงานอาจไม่สามารถให้ความสุขเป็นความพึงพอใจได้ ดังนั้นฉันทะที่มีประสิทธิภาพจึงควรเป็นฉันทะที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะสร้างแนวทางของวิริยะให้ดำเนินไปอย่างมีความสุขด้วย

              “วิริยะ” หมายถึง ความเพียร หรือความพยายามในการทำงาน บุคคลแม้มีฉันทะในการทำงานแต่หากขาดวิริยะแล้วงานก็ย่อมไม่สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ ผู้ที่มีวิริยะน้อยทำบ้าง ไม่ทำบ้าง อาจทำให้งานคั่งค้างไม่สำเร็จลุล่วง ดังนั้น เพื่อให้งานลุล่วง วิริยะที่เกิดขึ้นนั้นจึงควรมีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอจึงจะเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง และเพื่อให้การบริหารงานคุณภาพ ผู้ปฏิบัติงานควรมีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ ความเอาใจใส่ดังกล่าวนี้ในพุทธปรัชญาเถรวาทเรียกว่า “จิตตะ” ความขยันหมั่นเพียรที่ปราศจากจิตตะ แม้จะทำให้งานสำเร็จแต่อาจขาดคุณภาพเพราะขาดความเอาใจใส่ แต่หากผู้ปฏิบัติงานเจริญจิตตะอยู่เนืองๆ ย่อมสามารถส่งเสริมความพึงพอใจในงานและความขยันหมั่นเพียรในงานให้เกิดคุณภาพอย่างต่อเนื่องได้ เพราะกระทำด้วยความมีสติสัมปชัญญะ มีความต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ มีความสมดุล มีพลังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่ขาดสายเป็นเหตุให้งานสำเร็จได้โดยเร็วตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

              การบริหารงานให้เกิดความสำเร็จตามเป้าประสงค์ในทางธุรกิจ นอกจากจะต้องมีฉันทะ วิริยะ และจิตตะแล้ว สิ่งที่ทำให้การทำงานในทุกขั้นตอนลดปัญหาและความเสี่ยงจากการทำงานก็คือความรอบคอบในงานที่ทำ คือมีการไตร่ตรอง ทดลอง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น ในทางพุทธปรัชญาเถรวาท เรียกว่า “วิมังสา” เป็นข้อธรรมข้อสุดท้ายที่มีความสำคัญตั้งแต่กระบวนการวางแผนจนไปถึงการประเมินผลเพื่อคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง วิมังสาในการทำงานจะเกิดความงอกงามขึ้นได้จะต้องปลูกฝังวิจารณญาณให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้รู้จักการ วิจักษ์ และวิธาน ใช้ความรู้และประสบการณ์ ใช้ปัญญาไหวพริบปฏิภาณตรึกตรองงานอย่างละเอียดอ่อน ไม่ประมาท การบริหารงานตามหลักวิมังสานี้ คล้ายคลึงกับแนวคิดการบริหารงานในตะวันตก เพราะให้ความสำคัญกับการวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การชี้นำ (Leading) และการควบคุม (Controlling) กระบวนการเหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยกระบวนการคิด มีการตรึกตรอง มีการพิจารณา มีการใช้วิจารณญาณทั้งสิ้น เพื่อให้องค์กรปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่ประสงค์ ผลผลิตทางความคิดจะก่อให้เกิดการวางแผน ทั้งในส่วนที่เป็นพันธกิจ เป้าหมาย และแผนงาน 

              วิมังสาจะช่วยให้เข้าใจถึงปัจจัยที่สำคัญของสิ่งที่จะดำเนินไปในทางธุรกิจ เช่น ปัจจัยทางด้านลูกค้า (Customer) สินค้าหรือบริการ (Product or Services) ทำเลที่ตั้ง (Location) เป้าหมายทางเศรษฐกิจ (Economic Objective) เทคโนโลยี (Technology) ปรัชญา (Philosophy) จุดแข็ง (Strength) ภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ (Public Image) และพนักงาน (Employees) นอกจากนี้ วิมังสายังช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายและพันธกิจขององค์กรธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ สามารถกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับพันธกิจ เพื่อให้องค์กรดำรงอยู่ได้ตามพันธกิจที่กำหนดและสนับสนุนให้พันธกิจขององค์กรเป็นจริง และช่วยให้กระบวนการจัดองค์การ (Organizing Process) ไม่เกิดความซ้ำซ้อนเพราะมีการจัดระบบความสัมพันธ์ของคนและงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วิมังสาช่วยให้เห็นภาพรวมความสัมพันธ์ของการออกแบบงาน การออกแบบโครงสร้างองค์กร การจัดแบ่งอำนาจหน้าที่ และการประสานงาน สามารถและวิจักษ์ ให้เห็นผลดีและผลเสียของเหตุปัจจัย ในการบริหารได้อย่างชัดเจนก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่เสียเวลาไปกับการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพ 

 

สังเคราะห์การบริหารงานตามหลักกุลจิรัฏฐิติธรรม 4

              กุลจิรัฏฐิติธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืนหรืออยู่ได้นาน มีความสำคัญในด้านบริหารงานให้เกิดความมั่นคงกับองค์กร กุลจิรัฏฐิติธรรมมีองค์ประกอบ ดังนี้

              1) นัฏฐคเวสนา หมายถึง ของหายของหมด รู้จักหามาไว้

              2) ชิณณปฏิสังขรณา หมายถึง ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม

              3) ปริมิตปานโภชนา หมายถึง รู้จักประมาณในการกินการใช้

              4) อธิปัจจสีลวันตสถาปนา ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน

              การบริหารงานตามหลักกุลจิรัฏฐิติธรรม เป็นหลักคำสอนในทางพุทธปรัชญาเถรวาท ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้เกิดกับองค์กรธุรกิจ โดยสามารถได้ดังนี้

              งานทางธุรกิจจำเป็นต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรม เพื่อเสนอขายให้กับลูกค้า ซึ่งมีทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค งานสาธาณูปโภค และงานบริการต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมมีวันหมดหรือเกิดความชำรุด ธรรมะได้แก่ นัฏฐคเวสนา จึงมีความสำคัญในการบริหารงานทางธุรกิจ หากปริมาณผลิตภัณฑ์และบริการไม่เพียงพอต่อลูกค้า อาจเป็นเหตุทำให้ลูกค้าตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทอื่นๆ หลักการดังกล่าวนี้สอดคล้องกับแนวคิดการบริหารของทางตะวันตกในเรื่อง การควบคุมสินค้าคงเหลือ (Inventory Control) เนื่องจากการบริหารสินค้าคงเหลือที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะนำมาซึ่งต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่องค์กรหลายๆ ด้าน เพราะหากซื้อสินค้าในปริมาณที่สูงเกินไป นอกจากจะทำให้ต้นทุนซื้อสินค้าสูงเกินความจำเป็นแล้ว ยังทำให้เกิดต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าเกินความจำเป็น ในทางตรงกันข้ามหากสั่งซื้อน้อยเกินไปอาจทำให้สินค้าขาดมือ (Stock-out Cost) องค์กรย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการจัดส่งสินค้าอย่างเร่งด่วน หากสินค้ามาล่าช้า อาจทำให้ลูกค้าเสียความนิยมในองค์กรและตัวสินค้าได้ และในขณะที่การส่งซื้อสินค้าบ่อยเกินไปย่อมก่อให้เกิดต้นทุนจากการสั่งสินค้า (Ordering Cost) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การเสียเวลาขออนุมัติสั่งซื้อ ค่าเอกสารและค่าติดต่อสื่อสาร ค่าใช้จ่ายในการติดตามงานและการตรวจรับสินค้า เป็นต้น

              นอกจากนี้ ปัจจัยการผลิตในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในกระบวนการการผลิต หากเครื่องจักรกลเหล่านี้เกิดความเสียหาย ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรหรือเครื่องมืออุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ตามหลัก “ชิณณปฏิสังขรณา” ธุรกิจใดที่จำเป็นต้องแรงงานคนเข้ามาเป็นปัจจัยในการผลิต เมื่อคนทำงานมีอยู่ไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องรับสมัครพนักงาน และมีกระบวนการเสริมสร้างทักษะพนักงานให้สามารถทำงานได้และมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการรายใดไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้ งานธุรกิจก็ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้ธุรกิจเกิดผลกระทบ ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจาก(บริโภคสินค้าและบริการ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ พึงเจริญธรรมคือ นัฏฐคเวสนาและชิณณปฏิสังขรณา ให้ถึงพร้อม 

              เมื่อผู้ประกอบการสร้างเหตุแห่งความเจริญ ได้แก่ นัฏฐคเวสนาและชิณณปฏิสังขรณา ได้ถึงพร้อมแล้ว สถานะทางการเงินก็จะดีขึ้น เพราะมีผลกำไรเข้ามาไหลเวียน แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าฐานะของผู้ประกอบการจะมีความมั่นคงและมั่งคั่ง หากไม่รู้จักน้อมนำเอาหลักปริมิตปานโภชนา มาใช้ คือยังไม่รู้จักประมาณในการกินการใช้ เช่น ใช้ชีวิตอย่างประมาท ใช้เงินฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน คบเพื่อนที่มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นนักเลงผู้หญิง นักเลงสุรา เป็นต้น หรือเอาเงินไปซื้อหนี้สิน ไม่นำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานธุรกิจ ดังนั้น สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เงินที่หามาได้ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้ ต้นเหตุมาจากการวางแผนในการใช้อย่างพอเพียง ดังนั้น หากรู้จักวางแผนการใช้เงินที่หามาได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อย รู้จักบริโภคอย่างไม่เบียดเบียนและผู้อื่น คือมีสติในการบริโภคก็เป็นเหตุให้เกิดความมั่นคงกับองค์กรได้ นอกจากนี้ อธิปัจจสีลวันตสถาปนา หรือ ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ฆราวาสผู้ครองเรือนต้องอยู่ร่วมกับครอบครัว และในครอบครัวย่อมประกอบด้วยผู้มีอินทรีย์หรือบารมีธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่มีสติปัญญามองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ก็จะตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน เพราะผู้มีคุณธรรมเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติ เป็นวิญญูชน (ผู้รู้ดีชั่วตามปกติ) สามารถบริหารตน บริหารคน และบริหารงานได้ตามธรรมชาติ รู้ว่าจะส่งเสริมคุณธรรมอันโดดเด่นของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างไร สามารถรู้ว่าจะเพิ่มพูนคุณธรรมที่ยังอ่อนด้อยของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งในตระกูลโดยธรรม

 

สังเคราะห์การบริหารงานตามหลักโภควิภาค 4

            โภควิภาค หมายถึง การแบ่งโภคะเป็น 4 ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน ดังนี้

              1) เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย หมายถึง การแบ่งทรัพย์ออก “1 ส่วน” ไว้สำหรับใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ 

              2) ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย หมายถึง การแบ่งทรัพย์ออก “2 ส่วน” ไว้สำหรับใช้ลงทุนประกอบการงาน

              3) จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย หมายถึง การแบ่งทรัพย์อีก “1 ส่วน” เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นหรือทุนสำรอง

              ผู้วิจัยได้ว่า การบริหารงานตามหลักโภควิภาค 4 นี้ เป็นเรื่องของการแบ่งสัดส่วนของทรัพย์สินที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค การลงทุน และการเก็บออม ในด้านแนวคิดการบริหารงานนั้นถือเป็นเรื่องของ การควบคุมอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratios Control) ได้แก่ ข้อมูลงบการเงิน เช่น งบดุล และงบกำไร/ขาดทุน การบริหารงานตามหลักโภควิภาค 4 นี้ช่วยให้เกิดการควบคุมอัตราส่วนทางการเงินให้ครอบคลุมการชี้วัดสถานะขององค์กร 4 ด้าน ได้แก่ อัตราส่วนสภาพคล่อง อัตราส่วนสภาพเสี่ยง อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร และอัตราส่วนความสามารถในการใช้ทรัพย์สิน

              นอกจากนี้ยังได้ว่า หลักธรรมโภควิภาคเป็นเรื่องของการควบคุมงบประมาณ (Budgetary Control) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในภาคธุรกิจ เพราะงบประมาณเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังขององค์กรธุรกิจ ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้อยู่โดยทั่วไปแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ งบประมาณดำเนินงาน (Operating Budget) ซึ่งเป็นงบประมาณที่ใช้แสดงรายได้และรายจ่ายขององค์กรในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี และงบประมาณลงทุน (Capital Budget) เป็นงบประมาณที่ใช้แสดงการใช้เงินขององค์กรเพื่อการลงทุนระยะยาว อาทิ การซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งงบประมาณลงทุนแบ่งเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่ ศูนย์รายได้ ศูนย์ค่าใช้จ่าย ศูนย์ต้นทุนมาตรฐาน ศูนย์กำไร ศูนย์ลงทุน

 

สังเคราะห์การบริหารงานตามหลักอปริหานิยธรรม 7

 

              อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง เป็นหลักธรรมที่สำคัญในด้านบริหารงานให้เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีในองค์กร องค์ประกอบของอปริหานิยธรรมสามารถอธิบายได้ดังนี้

              1) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ 

              2) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

              3) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม

              4) ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

              5) บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ อีกนัยหนึ่งคือไม่ลุแก่อำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น คือไม่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา

              6) เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป

              7) จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย

              ผู้วิจัยได้ว่า อปริหานิยธรรมทั้ง 7 ข้อนี้เป็นหลักการบริหารงานที่เน้นการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับการประชุมร่วมกัน ซึ่งหากนำหลักการนี้มาใช้ในการบริหารงานทางธุรกิจจะทำให้งานทางธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยความสามัคคีเป็นที่ตั้ง

              หลักการบริหารงานตามหลักอปริหานิยธรรมทั้ง 7 เริ่มตั้งแต่การร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งหมายถึง การประชุมงานแต่ละครั้งจะต้องมีการประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง หรือพร้อมหน้ากัน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานของส่วนรวม หรือมีผลได้ผลเสีย หรือมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับรู้ รับผิดชอบร่วมกัน 

              การประชุมอาจเริ่มจากการมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็น วิสัยทัศน์ ข้อสังเกต หรือหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาที่ควรนำมาปรับปรุงแก้ไข หรือเสนอสิ่งใหม่ๆ ในทางสร้างสรรค์อันจะนำพาองค์กรธุรกิจก้าวไปข้างหน้าในเชิงนวัตตกรรม จากนั้น ร่วมกันวางแผน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบหรือทำงานร่วมกัน ร่วมตัดสินใจ ร่วมประเมิน และรับผลประโยชน์อันพึงได้ร่วมกัน โดยถือฉันทามติเป็นที่ตั้ง ให้เกียรติกันและกันในทุกแผนกงาน การให้เกียรติได้แก่ การรักษาเวลาที่นัดหมายกันไว้ ไม่ปล่อยให้คนอื่นต้องรอนานหรือผิดนัด เพราะนอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้วยังถือเป็นการไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน (ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน/สุดวิสัยที่มีการแจ้งเข้ามาให้ที่ประชุมทราบล่วงหน้า) คือ ประชุมพร้อมหน้าพร้อมตา และไม่กลับก่อนเวลาเลิกประชุม แต่เลิกประชุมพร้อมเพรียงกัน สิ่งใดที่ตกลงกันในที่ประชุม อันว่าด้วยข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ข้อตกลงที่เป็นฉันทมติ ก็ให้ถือตามที่ตกลงกันไว้ ไม่เพิ่มหรือตัดออกตามใจใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากจะเพิ่มหรือตัดออกจะต้องมาจากมติร่วมกันในที่ประชุม เพื่อรักษาความเรียบร้อยและรักษาไว้ซึ่งคำมั่นสัญญาอันเป็นสัจจะร่วมกัน 

              นอกจากนี้ การประชุมจะต้องให้เกียรติผู้อาวุโสหรือผู้ที่ดำรงตนโดยธรรมไว้อย่างสูงสุด การให้ความเคารพนับถือเช่นนี้จะทำให้คนรุ่นต่อๆ ไปมีความเคารพยำเกรงในบารมีธรรมคือข้อประพฤติที่เป็นธรรม ไม่สร้างวัฒธรรมที่ถือเอาวัตถุธรรมเป็นใหญ่ เช่น นับถือคนรวยมากกว่าคนดีมีคุณธรรม เป็นต้น เพราะจะทำให้อารยธรรมที่งดงามสูญหายกลายเป็นว่างานธุรกิจมีหน้าที่รับใช้กิเลสของมนุษย์เท่านั้น คุณค่าของงานในการฝึกฝนอบรมตนเองก็จะหมดไปกับกาลเวลา

              ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในสังคมก็คือ สังคมที่เป็นอารยชนจะต้องให้เกียรติสตรี คือไม่ข่มเหงสตรีด้วยการลุอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ บุรุษใจพาลผู้มีมิจฉาทิฏฐิ เมื่อได้รับอำนาจจากตำแหน่งที่สูง มักจะใช้เงินเป็นเครื่องล่อให้สตรีมาบำเรอตน หากกุลสตรีไม่ยอมก็อาจจะขู่เข็ญด้วยการทำให้พ้นจากตำแหน่งบ้าง ตัดเงินเดือนบ้าง ไม่ขึ้นเงินเดือนบ้าง ตัดลาภอันควรได้บ้าง (เช่นโบนัส) หรือกลั่นแกล้งให้ทำงานหนักเกินภาระงานบ้าง ซึ่งองค์กรธุรกิจใดหวังความเจริญและความสามัคคีให้เกิดขึ้นแล้ว ควรร่วมแรงร่วมใจกันไม่ให้สตรีถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ หรือถูกผู้บริหารลุแก่อำนาจ ลุแก่ความอยากที่เกิดขึ้น จนทำให้ความสามัคคีเหือดหายลงเพราะความอยุติธรรม

              นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นที่พึ่งทางใจของผู้มีศาสนาหรือผู้ที่ศรัทธาในวัฒนธรรม คือศรัทธาในคุณธรรมของบรรพบุรุษ อาจมีสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เป็นขวัญกำลังใจ เช่น พระพุทธรูป รูปปั้น ภาพบุคคลที่ควรเคารพ เป็นต้น ในกาลอันสมควร เช่น วันพระ เป็นต้น ควรทำการสักการะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเชิดชูผู้มีคุณธรรม เป็นการพยุงจิตใจไม่ให้ไหลลงต่ำ อีกทั้งยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งคุณงามความดีของู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันด้วย ทำให้คนเหล่านี้ได้รับการสรรเสริญยกย่อง ได้รับการอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความดีที่ควรประพฤติและดำเนินตาม เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของผู้มีความเจริญไม่ให้เสื่อมหายไป

 

สรุป

              จากที่ได้ศึกษามาทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า บริหารงานตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น มุ่งเน้นการบริหารที่เกิดการพัฒนาตนเองและทีมงาน เพื่อสร้างกุศลจิตให้เกิดขึ้นกับจิตใจ กุศลจิตได้แก่ อโลภะ อโทสะ และโมหะ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดข้อคุณธรรม ดำรงตนในธรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะ คือ สร้างตน สร้างคน สร้างงาน ด้วยคุณธรรมหรือคุณงามความดี ดำเนินงานธุรกิจโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เน้นการมีส่วนร่วมโดยธรรมในการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นเคียงคู่กับการบริหาร พัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุให้เกิดความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม และเป็นแบบอย่างแห่งอารยธรรมของผู้ที่เจริญแล้วสืบไป

หมายเลขบันทึก: 710703เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท