หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารตน


หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารตน

                 หลักธรรมโดยส่วนใหญ่ของพุทธศาสนามุ่งการพัฒนาจิตใจตนเองให้บริสุทธิ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการบริหารตนเป็นอย่างมาก เพราะจิตใจเป็นเรื่องสำคัญต่อจิตสำนึกในเชิงจริยธรรมซึ่งครอบคลุมถึงวิถีชีวิตในด้านต่างๆ รวมถึงการบริหารธุรกิจด้วย ดังนั้น จึงได้ศึกษาถึงหลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารตนไว้ดังนี้

                 ก. ฆราวาสธรรม 4 

                      หลักฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมสำคัญหลักธรรมหนึ่งที่สามารถนำมาบริหารตนให้เป็นผู้ครองเรือนได้อย่างสมบูรณ์ คำว่าครองเรือนในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะในครอบครัว แต่ยังหมายถึงหน่วยงานองค์กรและสังคม เพราะฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมทั่วไปสำหรับฆราวาสที่มีสถานะต่างจากบรรพชิต โดยมีรายละเอียดที่ควรศึกษาดังนี้

                  1) ความหมายและองค์ประกอบของฆราวาสธรรม 4

                          ฆราวาสธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับฆราวาส, ธรรมสำหรับการครองเรือน, หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 113) คำว่า ฆราวาส นั้น เป็นคำที่สื่อความหมายตรงกันข้ามกับบรรพชิพหรือนักบวชผู้ออกจากเรือนหรือสละแล้วซึ่งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยเยี่ยงคฤหัสถ์ ดังนั้น เพศฆราวาสจึงมีความแตกต่างจากเพศบรรพชิตตรงที่ ฆราวาสเป็นผู้ที่ต้องหุงหาอาหาร ทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทั้งที่มีคู่ครองและไม่มีคู่ครอง ทั้งที่อยู่ในครอบครัวใหญ่หรือที่อยู่ในครอบครัวเล็ก หรืออยู่ตามลำพัง ใช้ชีวิตอยู่กับโลกียวิสัยเป็นปกติ ดำรงชีวิตเป็นไปเพื่อการสั่งสม เพื่อความมีอยู่ซึ่งปัจจัย 4 เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับประกอบอาชีพและวัตถุสิ่งของ หรือเทคโนโลยีที่เป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ส่วนเพศบรรพชิตเป็นผู้ที่ที่ไม่ต้องหุงหาอาหาร มีชีวิตเนื่องด้วยฆราวาส กล่าวคือ ต้องอาศัยอาหาร (ภัตราหารที่บิณฑบาต ภัตราหารเช้า-เพล น้ำดื่ม น้ำปานะ ฯลฯ) เครื่องนุ่งห่ม (ไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าอาบน้ำฝน อังสะ ฯลฯ) ที่อยู่อาศัย (กุฏิ ศาลา โรงครัว อาคารเอนกประสงค์ต่าง ๆ ฯลฯ) ยารักษาโรค (ยาแพทย์แผนไทย ยาแพทย์แผนปัจจุบัน การตรวจรักษาโรคในโรงพยาบาล ฯลฯ) การดำเนินชีวิตของเพศบรรพชิตเป็นไปเพื่อความละ เพื่อความปล่อยวาง เพื่อความไม่สั่งสม ดำเนินชีวิตเป็นไปเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง จึงถือพรหมจรรย์เป็นปกติวิสัย ไม่พัวพันกับความเป็นโลกียวิสัยเยี่ยงฆราวาส 

                      ฆราวาสธรรม มีองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 113) ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

                         1. สัจจะ หมายถึง ความจริง ความซื่อตรง ความสัตย์จริง ความจริงดังกล่าวนี้แสดงออกได้ 3 ทาง คือ จริงใจ จริงวาจา จริงการกระทำหรือทำจริง 

                        จริงใจ หมายถึง มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีใจปรารถนาดี มีความบริสุทธิ์ใจ ความจริงใจเปรียบเสมือนแหล่งน้ำที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ด้านล่างได้อย่างชัดเจน เห็นทั้งปลา กุ้ง เต่า จอก แหน สาหร่าย โขดหิน ไม่มีเล่ห์ปิดบังอำพรางที่จ้องจะเอาเปรียบหรือจ้องที่จะฉกฉวยผลประโยชน์ด้วยความละโมบโลภมาก เป็นจิตสำนึกที่ดีที่ออกมาจากใจจริง ความจริงใจเป็นเหตุหรือเป็นแรงจูงใจฝ่ายกุศลที่ก่อให้เกิดการกระทำทั้งทางวาจาและทางกายที่ตรงไปตรงมา ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้อุบายก็เกิดจากเจตนาที่ดี มีจิตคิดช่วยเหลือ เสียสละและเล็งผลดีเป็นเป้าหมายโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ การที่เราจะสามารถมีความจริงใจกับผู้อื่นได้นั้นเราต้องเห็นว่าผู้อื่นนั้นเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราก่อน ไม่มองไปที่ผลประโยชน์หรือคิดจะใช้เป็นเครื่องมือ อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีความจริงใจก็เปรียบเสมือนผู้นั้นมีความเป็นมิตรแท้หรือกัลยาณมิตรนั่นเอง

                        จริงวาจา หมายถึง การพูดจริง พูดแล้วรักษาคำพูด มีสัจจะในคำพูด ไม่ผิดสัญญา ไม่หลอกใช้ใครด้วยการโน้มน้าวจูงใจให้หลงเชื่อ ไม่โกหกหลอกลวง ลิ้นสองแฉก พูดในสิ่งที่ทำได้หรือพูดในสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ คำพูดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญหากไม่ออกมาจากใจจริงแล้วไซร้มักจะเจือด้วยความลวงหลอก คือหลอกทั้งตนเองและผู้อื่น คำพูดที่ลวงหลอกไม่จริงใจนั้นไม่ได้ให้ผลดีกับใครเลย หากถูกจับได้ภายหลังว่าตนพูดเท็จก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้มีวาจาปลิ้นปล้อนหลอกลวง ส่วนคำพูดที่ออกมาจากความจริงใจมักจะจริงวาจาด้วยเสมอและก่อให้เกิดคุณค่าแก่ผู้พูดและผู้ฟัง ผู้ที่พูดจริงย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือของคนทั่วไป และหากยิ่งพูดออกจากความจริงใจและมีวาทศิลป์ในการพูดให้ถูกต้อง ถูกกาลเทศะย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ผู้พูดและผู้ฟังเสมอ

                        จริงการกระทำ หมายถึง ไม่เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ทำได้ตามที่พูดหรือที่รับปากไว้ มีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน หากเกิดความผิดพลาดไม่สามารถทำได้อย่างที่พูดก็จะไม่หาคำแก้ตัวให้ตนเองดูดีหรือโยนความผิดไปให้กับผู้อื่น อยากจะรับผิดชอบด้วยการแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นด้วยการกระทำที่เหมาะสม

                        2. ทมะ หมายถึง การฝึกฝนตนเองด้วยการขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาด หมั่นตรวจตราเฝ้าดูใจตัวเองอย่างรอบคอบเพื่อฝึกหัดดัดนิสัยใจคอหรือแก้ความบกพร่องของตนด้วยความไม่ประมาท มีสติประคับประคองกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในความปกติสมดุลจึงเป็นลักษณะอาการของการข่มใจ เพราะผู้ที่ฝึกฝนตนนั้นต้องมีการข่มใจเพื่อฝึกหัดนิสัยให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เป็นลักษณะของจิตที่มีสติรู้จักควบคุมจิตใจให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา

                        3. ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้นซึ่งมีทั้งความอดทนอดกลั้นทางกายและทางใจ บุคคลผู้ฝึกฝนตนด้วยทมะอันแรงกล้าย่อมต้องอาศัยขันติธรรมเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งที่ต้องพานพบอุปสรรคมากมายจำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มีจิตใจมุ่งมั่นในจุดหมาย ไม่ท้อแท้หรือท้อถอยโดยง่าย ความอดทนอดกลั้นนี้เปรียบเสมือนศิลาหรือภูเขาที่กว้างใหญ่ หนักแน่น หนา และทึบ ทรงตัวอยู่ได้ไม่หวั่นไหวเอนเอียงแม้จะปะทะกับลมพายุก็ไม่หักโค่นโดยง่ายเหมือนต้นไม้ที่อยู่บนยอดภูเขา

                        4. จาคะ หมายถึง ความเสียสละ การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์ตนเพื่อส่วนรวม การเสียสละมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าการให้โดยทั่วไป การให้วัตถุสิ่งของเช่นการให้ทานอาจไม่ได้ใช้พละกำลังในการถอดถอนความตระหนี่ ความยึดมั่นถือมั่นในใจได้มากพอเหมือนกับจาคะ เพราะจาคะเป็นการเสียสละเพื่อละทิ้งกิเลสภายในใจ ได้แก่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความใจแคบ เป็นต้น ดังนั้น การเสียสละในระดับจาคะจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในจิตใจโดยเฉพาะ การมีทมะ มีขันติธรรมแต่ขาดจาคะเปรียบเสมือนมีดที่ฟันอะไรไม่ขาดเพราะไร้ความคม เพราะจาคะนั้นแสดงออกถึงซึ่งปัญญาในการลด ละตัดกิเลสให้ขาดสะบั้น ยิ่งปัญญามีความเฉียบคมมากเท่าไรก็สามารถตัดกิเลสได้เร็วมากเท่านั้น นอกจากนี้จาคะยังแสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางแห่งจิตใจ ผู้ที่มีจาคะเป็นธรรมประจำใจย่อมเป็นผู้ที่ใจกว้าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา มีใจที่เปิดรับซึ่งความคิดและความรู้สึกของคนรอบข้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเข้าถึง จึงมักจะเข้าถึงสัจจะได้ง่าย และพร้อมที่ร่วมมือ ช่วยเหลือ เผื่อแผ่ มีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบหรือเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว

                     2) ความสำคัญของฆราวาสธรรม 4

                        หลักฆราวาสธรรมมีความสำคัญในการบริหารตนให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิตแบบฆราวาสหรือคฤหัสถ์ โดยเน้นวิธีการที่สร้างความสุขแบบที่ปุถุชนต้องการ 4 อย่าง คือ 1) มีปัญญา 2) มีชื่อเสียง 3) มีมิตร 4) มีทรัพย์ ให้เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นการใช้ชีวิตในรูปแบบของคฤหัสถ์ไม่ให้เสียชาติเกิดหรือละโลกนี้ไปสู่โลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศก หลักฆราวาสธรรม ปรากฏในอาฬวกสูตร (ขุ.สุ. 25/311/361) เหตุมาจากการที่พระพุทธเจ้าได้ตอบปัญหากับอาฬวกยักษ์ที่ได้ถามปัญหาว่า “คนได้ปัญญาอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ไปสู่โลกหน้าทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศก” 

                        พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา เป็นผู้ไม่ประมาท มีวิจาร คนทำเหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระเป็นผู้หมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้ คนย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม 4 ประการนี้คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ชื่อเสียงยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งการได้ปัญญายิ่งไปกว่า ทมะก็ดี เหตุแห่งการผูกมิตรยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิด ฯ”

                        จากที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักฆราวาสธรรมได้ว่า สัจจะทำให้เกิดชื่อเสียง ทมะทำให้เกิดปัญญา จาคะทำให้เกิดการผูกมิตร ขันติทำให้เกิดการหาทรัพย์ได้ จากคำตอบที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่อาฬวักยักษ์แสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของฆราวาสธรรมเท่านั้น แต่ว่าในกระบวนการทำให้เกิดผลได้อย่างไร หรือมีวิธีการสำหรับปฏิบัติอย่างไรบ้างนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงอธิบายต่อเพราะอาฬวกยักษ์เข้าใจและพอใจในคำตอบแค่นั้นคำถามจึงจบลง หลักฆราวาสธรรมจึงควรนำมาตีความเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นสำหรับการนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต

                        (1) สัจจะ มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านทำให้เกิดชื่อเสียง เพราะผู้ที่มีสัจจะเป็นคุณธรรมประจำตนย่อมเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ว่าเป็นผู้มีความจริงใจ รักษาคำพูด ไม่โลเล ย่อมจะสามารถจะปฏิบัติหน้าที่การงานได้ด้วยความรับผิดชอบต่อสัจจะ ทำให้เกิดการประสบความสำเร็จในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ ในการบริหารธุรกิจสัจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเครดิต (credit) หรือความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเจริญเติบโตและประสบความสำเร็จ สัจจะ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญต้นๆ ที่พระพุทธจ้าทรงตรัสสอนเหล่าคฤหัสถ์เอาไว้ในสมัยพุทธกาล ซึ่งในปัจจุบัน หลักธรรมนี้ก็ยังมีความทันสมัย สามารถนำมาใช้ได้จริง

                        (2) ทมะ มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านทำให้เกิดปัญญา เพราะผู้ที่มีทมะเป็นคุณธรรมประจำตนย่อมฝึกฝนตนเองด้วยการขัดเกลาจิตใจด้วยสติให้มีนิสัยที่ดีขึ้นอยู่เสมอ ทำให้สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นจึงทำให้สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งกันจากอารมณ์โดยง่าย เพราะรู้จักใช้สติเข้าข่ม เป็นการรู้จักใช้ปัญญารับปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์รับปัญหา ในการบริหารธุรกิจ ทมะเป็นปัญญาในการบริหารจัดการความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

                        (3) ขันติ มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านการหาทรัพย์ เพราะผู้ที่มีขันติเป็นคุณธรรมประจำตนย่อมเป็นผู้มีจิตใจมุ่งมั่นในจุดหมาย ไม่ท้อแท้หรือท้อถอยโดยง่าย มีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคงอดทน อดกลั้น ต่อปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ ขันติจึงเป็นหลักประกันในการสร้างฐานะและชีวิตตนเองให้มีทรัพย์ เพราะในการบริหารธุรกิจต้องประสบกับปัญหาที่จะเข้ามากอย่างหลากหลาย ขันติจึงเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการบริหารธุรกิจที่จะต้องมีความตั้งมั่นในเป้าหมายโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

                        (4) จาคะ มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านทำให้เกิดมิตร เพราะผู้ที่มีจาคะเป็นคุณธรรมประจำตนย่อมรู้จักการเป็นผู้ให้ที่แท้จริง คือ ให้โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการสละเพื่อให้ผู้อื่นได้รับความสุข (สำหรับผู้ที่ต้องการมิตรแท้) ทำให้ไม่เห็นผู้อื่นเป็นเครื่องมือหรือให้เพื่อต้องการผลประโยชน์ ผลจากจาคะจะทำให้ผู้รับเห็นถึงความจริงใจจึงทำให้เปิดใจมองด้านดีของผู้ให้ ซึ่งจะทำให้เกิดความสามัคคี ไม่ชิงดีชิงเด่นกันเอง จาคะจึงเป็นพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์สามารถร่วมกันในสังคมได้อย่างสมานฉันท์ เพราะรู้จักการแบ่งปันกันในสังคม

                        หลักฆราวาสธรรม 4 จึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความสงบสุขในสังคม ทำให้คนในสังคมมองกันอย่ามิตรไม่เป็นคู่แข่งหรือศัตรู ทำให้คนในสังคมมีความน่าเชื่อถือ สังคมปลอดภัยและน่าอยู่ และจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดียิ่งขึ้นไป

                 ข. ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

                     ประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท แบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ ประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในภพหน้า และประโยชน์สูงสุด สำหรับ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม นี้จัดอยู่ในประโยชน์ในภพนี้ซึ่งเน้นในเรื่องผลประโยชน์หรือประโยชน์สุขที่ได้รับในปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าศึกษาดังนี้

                     1) ความหมายและองค์ประกอบของทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

                        ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 116) ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงให้แก่คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนโดยตรง จึงเป็นธรรมระดับโลกียะธรรมที่เป็นหลักเกี่ยวกับประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่างสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน บ้างเรียกว่าหัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ที่คนทั่วไปปรารถนา เช่น มีทรัพย์ ยศ เกียรติ มิตร เป็นต้น ความสุขชนิดนี้จึงเป็นความสุขแบบปุถุชนในเบื้องต้นจึงหมายถึงการมีจากการแสวงหาวัตถุมาบริโภคสำหรับดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ถึงแม้ว่าหลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมจะเป็นหลักของการมีเพื่อประโยชน์ในโลกนี้แต่ก็ไม่ได้มีแบบการแสวงหาความสุขตามสัญชาตญาณพืชที่มุ่งแต่กอบโกยวัตถุหรือผลประโยชน์เพื่อเลี้ยงตัวเองให้โตเหียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่เป็นการแสวงหาความมีวัตถุโดยใช้ปัญญามากำกับโดยไม่ให้เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอีกด้วย

                        ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม มีองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 116)

                        1) อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี

                        2) อารักขสัมปทา หมายถึง ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย

                        3) กัลยาณมิตตตา หมายถึง คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

                        4) สมชีวิตา หมายถึง มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้

                     2) ความสำคัญของทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

                        ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์มีความสำคัญในการบริหารตนให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิตแบบฆราวาสหรือคฤหัสถ์ โดยเน้นความสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่ความสุขในโลกหน้าที่ต้องรอคอยหลังจากที่ละโลกนี้ไปแล้วเหมือนกับสัมมปรายิกัตถประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้เป็นความสุขที่ขัดขวางในส่วนปรมัตถประโยชน์ คือ นิพพาน ตรงกันข้าม กลับช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปในทางที่ถูกต้องหรือถูกทำนองคลองธรรม เพราะดำเนินชีวิตมีสติ มีธรรมะในปัจจุบัน จึงทำให้ชีวิตดำเนินไปเพื่อเป้าหมายสูงสุดได้ในรูปแบบของผู้ที่ครองเรือน

                        ในทีฆชาณุสูตร ได้กล่าวถึงหลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมไว้ ซึ่งเหตุมาจากบุคคลชื่อ ทีฆชาณุ เป็นชาวเมืองโกฬิยะได้ขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เหมาะกับคฤหัสถ์เพื่อประโยชน์ในปัจจุบันและภายภาคหน้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดง ดังนี้

                        “ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร คือ 1) อุฏฐานสัมปทา 2) อารักขสัมปทา 3) กัลยาณมิตตตา 4) สมชีวิตา” (องฺ. อฏฐก. 23/144/222)

                        (1) อุฏฐานสัมปทา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านความสามารถเลี้ยงชีพโดยสุจริต ประกอบการงานในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นงานภาครัฐ งานราชการ งานเอกชน งานรัฐวิสาหกิจหรือกึ่งราชการ งานการกุศล เช่น มูลนิธิ ชมรม สมาคมต่างๆ เป็นต้น เมื่อประกอบกิจการงานขึ้นมาแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานในหลากหลายรูปแบบนี้ก็คือ ความสุจริตในงานที่ทำ การทำงานต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยธรรม นอกจากความสุจริตในงานแล้วผู้ประกอบการงานต่างๆ ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ขยันให้ถูกทางหรือประกอบด้วยปัญญา เพราะความขยันที่ปราศจากปัญญาไม่อาจทำให้งานเกิดความสำเร็จเท่าที่ควร ตรงกันข้าม อาจทำให้งานที่ทำอย่างขยันนั้นเกิดความเสียหายให้แก่ตนและส่วนรวมได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เวลาเสียไปกับสิ่งที่ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ ปัญญาจึงเป็นเครื่องสอดส่องให้เห็นว่าควรขยันในงานแต่ละประเภทให้เหมาะกับเวลาและประเภทของงานอย่างไร เช่น งานจำเป็นเร่งด่วน ถ้าขยันมากไป งานก็ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีเวลาคิดวางแผนให้รอบคอบรัดกุม เพราะให้ความสำคัญกับงานมากกว่างานที่จำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน ได้แก่ งานด้านการวางแผน การประชุมงาน การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจ การตกลงกัน การวางมาตรการป้องปรามเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ปัญญาจะช่วยให้เกิดการสอดส่องถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งของตนเองและผู้อื่น ปัญญาจะช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมได้ และทำให้การทำงานนั้นมีความสมดุล คือ เกิดความเสียหายน้อย เกิดประโยชน์มาก และใช้เวลาน้อยคือไม่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนมากมาย มีระบบงานที่ชัดเจนและมีความยั่งยืน นอกจากนี้ ปัญญายังช่วยให้เกิดอุบายในเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีธรรมเป็นเป้าหมาย จึงทำให้ธุรกิจนั้นดำเนินไปโดยธรรม ไม่ใช้โลภะ โทสะ และโมหะเป็นตัวนำ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานเสียหายได้ เพราะขาดหลักธรรมและปัญญาเป็นเครื่องสนับสนุน การใช้ธรรมะในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ หรือมีความเป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่บนหอคอยงาช้างที่ผู้ครองเรือนไม่สามารถเข้าถึงและนำมาปฏิบัติ ตรงกันข้าม กลับสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนและผู้ร่วมงานได้อย่างสมบูรณ์ อุฏฐานสัมปทา จึงเป็นหลักธรรมสำคัญต้นๆ ที่พระพุทธจ้าทรงตรัสสอนเหล่าคฤหัสถ์เอาไว้ในสมัยพุทธกาล ซึ่งในปัจจุบัน หลักธรรมนี้ก็ยังมีความทันสมัย สามารถนำมาใช้ได้จริง หลักธรรมอุฏฐานสัมปทาดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า 

อุฏฐานสัมปทา ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา” (องฺ. อฏฺฐก. 23/144/222)

                        กล่าวโดยสรุป อุฏฐานสัมปทา มีความสำคัญในเรื่องการหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต มีความขยันหมั่นเพียร มีปัญญาสอดส่องงานที่ทำอย่างมีวิจารณญาณ มีอุบายในการทำงานเพื่อให้เกิดกุศลธรรม คือมีธรรมเป็นเป้าหมายของงานไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ ก็ตามก็สามารถนำหลักธรรมนี้มาประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม

                        (2) อารักขสัมปทา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านการรักษาทรัพย์สมบัติหรือทรัพยากรในการบริหารที่หามาได้ให้สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ไม่สูญหายไปด้วยความเขลาเบาปัญญา ทั้งทรัพยากรด้านวัตถุและทรัพยากรบุคคล เมื่อสามารถแสวงหาทรัพย์ที่ได้มาอย่างสุจริตชอบธรรมแล้วก็ต้องแสวงหาวิธีบริหารจัดการทรัพย์ที่หามาได้นั้นไม่ให้สูญเสียไปจากเหตุที่ไม่ชอบธรรม กล่าวได้ว่าเป็นการวางมาตรการสำหรับป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่น การเรียนรู้ด้านกฎหมายในอาชีพที่ตนทำอยู่ว่าทำอย่างไรถึงจะถูกกฎหมาย ทำอย่างไรจึงผิดกฎหมายและนำความรู้นั้นมาอบรมบุคลากรในองค์กรไม่ให้ทำผิดกฎหมายด้วย ศึกษาภาษีที่ตนจะต้องจ่ายให้ชัดเจนและเสียภาษีอย่างถูกต้องเพื่อที่จะไม่โดนภาษีย้อนหลังหรือหลีกเลี่ยงภาษี ทำระบบป้องกันอัคคีภัย ทำระบบ safety first และอบรมบุคลากรให้เหมาะสมกับงานที่ทำ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด และทำประกันภัย มีการตั้งสถานที่ทำงานในทำเลที่เหมาะสมไม่แออัดและไม่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ จัดวางวัสดุอุปกรณ์ในการทำงานอย่างเหมาะสมกับการทำงานและสะดวกเวลาเคลื่อนย้าย ฯ ในด้านการรักษาทรัพยากรบุคคลจะกล่าวถึงต่อไปในเรื่องการบริหารคน การจัดระบบหรือการวางมาตรการสำหรับป้องกันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจัดหาและปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้ไม่สูญเสียทรัพย์ไปกับภัยต่าง ๆ ทำให้เห็นได้ว่าหลักธรรมนี้ก็ยังมีความทันสมัย สามารถนำมาใช้ได้จริง หลักธรรมอารักขสัมปทาดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“อารักขสัมปทา ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวชอบธรรม ได้มาโดยธรรมเขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา

                        กล่าวโดยสรุป อารักขสัมปทามีความสำคัญในเรื่องการป้องกันทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้สูญเสียไปกับภัยต่างๆ โดยใช้วิธีจัดระบบเป็นมาตรการป้องกันด้วยปัญญา ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม

                        (3) กัลยาณมิตตตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านการเลือกคบค้าสมาคมกับคนดีในสังคมที่ตนอาศัยอยู่ เพราะในสังคมของมนุษย์ย่อมมีทั้งคนที่ดีและคนที่ไม่ดีอาศัยอยู่ปะปนกันไป ในพุทธศาสนาการเลือกคบคนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังภาษิตที่ว่า คบพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล การได้คบกับกัลยาณมิตรเป็นหลักการสำคัญขั้นแรกของพุทธศาสนาที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ เพราะกัลยาณมิตรย่อมชักชวนไปในทางที่ดีหรือเจริญ เมื่อมีทรัพย์ที่หามาได้อย่างสุจริตและมีการป้องกันทรัพย์จากภัยแล้ว ความสำคัญลำดับต่อมาคือแสวงหากัลยาณมิตรที่อาศัยอยู่ร่วมสังคมกับเราเพื่อที่จะช่วยแนะนำและชักชวนให้เราไปในทางที่เจริญยิ่งขึ้น กัลยาณมิตรที่ต้องแสวงหานั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเพศอะไร อายุเท่าไหร่ จบวุฒิอะไร หรือมีหน้ามีตาในสังคมมากแค่ไหน แต่ต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ และมีปัญญา มีศรัทธาหมายถึงมีศรัทธาในสิ่งที่ดีที่ถูก ไม่ใช่ศรัทธาในผลประโยชน์หรือศรัทธาในสิ่งที่จะที่นำพาความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น มีศีลคือไม่เบียนเบียนละเมิดผู้อื่นเมื่อคบแล้วย่อมสามารถไว้ใจได้ว่าจะไม่นำพาความเดือดร้อนมาให้ มีจาคะหมายถึงมีความเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน เมื่อคบแล้วย่อมสามารถไว้ใจได้ว่าจะไม่คบเราที่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว มีปัญญาหมายถึงมีปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม รู้จักแยกแยะสิ่งต่างๆ ว่า ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ไม่ใช่แต่ฉลาดเรื่องทำมาหากินแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นไปทั่ว ผู้ที่มีปัญญาเมื่อคบแล้วย่อมสามารถไว้ใจได้ว่าจะนำพาชีวิตเราให้ไปสู่ความเจริญ แต่กัลยาณมิตรที่สมบูรณ์พร้อมทั้งคุณสมบัติ 4 ประการนั้นย่อมหาได้ยากในสังคมยุคปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องตั้งเกณฑ์ไว้สูงเอาเป็นแค่มีครบทั้ง 4 ข้อแบบไม่เข้มข้นก็สามารถที่จะคบได้ หลักธรรมกัลยาณมิตตตา ดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“กัลยาณมิตตตา ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีลศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา”

                        กล่าวโดยสรุป กัลยาณมิตตตา มีความสำคัญในเรื่องการเลือกคบคนในสังคมที่ตนอยู่ให้ถูกเพื่อที่จะนำพาปสู่ความเจริญ

                        (4) สมชีวิต มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านการบริหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความสมดุลเหมาะสมกับทรัพย์ที่หามาได้ ในขั้นสุดท้ายของประโยชน์ในปัจจุบัน เมื่อมีทรัพย์ รักษาทรัพย์ไว้ได้ พร้อมทั้งรู้จักทางเจริญและความเสื่อมของทรัพย์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ใช้ชีวิตให้เกิดความสมดุล คือ ไม่ให้ฟูมฟายนักไม่ให้ฝืดเคืองนัก เพราะคนบางจำพวกเมื่อมีทรัพย์แล้วก็เกิดความฟุ้งเฟ้ออยากได้นั่นอยากได้นี่ให้เหมาะสมกับฐานะตนเองแบบต้องมีมากกว่าผู้อื่นหรือไม่เป็นรองใครในระดับเดียวกัน เพราะความรู้สึกไม่อยากด้อยกว่าใคร ส่วนคนบางประเภทเมื่อมีทรัพย์แล้วก็ไม่ลืมตนว่าเคยไม่มีมาก่อนกลัวว่าทรัพย์ที่มีอยู่จะสูญเสียไปจึงใช้พยายามใช้ชีวิตให้ประหยัดเหมือนเมื่อตอนยังไม่มีทรัพย์จนกลายเป็นตระหนี่เพราะไม่รู้จักจาคะหรือแบ่งปันให้กับผู้อื่น ชีวิตทั้งสองแบบเป็นชีวิตที่สุดโต่งไปทางหนึ่ง หลักธรรมสมชีวิตา ดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“สมชีวิตา ก็สมชีวิตเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนักไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะเปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถงจะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา”

                        ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมเป็นหลักธรรมที่สำคัญสำหรับคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือนเพื่อให้เกิดประโยชน์ภายในปัจจุบัน ในขั้นแรกผู้ใช้ชีวิตแบบครองเรือนต้องมีอาชีพหรือมีงานทำอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมทั้งมีความรู้มีความชำนานในอาชีพของตนไม่เกียจคร้าน เรียกว่า “อุฏฐานสัมปทา” ขั้นที่สองผู้ครองเรือนเมื่อได้ทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริตชอบธรรมแล้วก็ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ทรัพย์ที่หามาได้นั้นสูญหาย ถูกริบทรัพย์ ถูกปล้น หรือถูกขโมยทั้งจากคนภายนอกและภายในครอบครัว เรียกว่า “อารักขสัมปทา” ขั้นที่สามเมื่อมีเงินและมีทรัพย์แล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามต้องรู้จักเข้าหาคหบดีหรือเจ้าบ้านที่มีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา เพื่อศึกษาไว้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตเรียกว่า “กัลยาณมิตตตา" ขั้นสุดท้ายคือต้องรู้จักใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับรายได้ของตน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมของทรัพย์ มีรายรับมากกว่ารายจ่าย ใช้ชีวิตไม่ให้ฟุ้งเฟื้อและไม่ให้ฝืดเคือง เรียกว่า “สมชีวิตา” หลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมจึงมีความสำคัญที่เป็นพื้นฐานของผู้ครองเรือนที่ต้องการใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ในทางกลับกันแล้วหากในสังคมขาดหลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมแล้ว ในสังคมก็จะขาดคนที่มีคุณภาพ เพราะจะไม่มีคนที่ขยันตั้งใจทำงาน ใช้ชีวิตไปอย่างฟุ้งเฟ้อและหลงไปกับอบายมุขต่าง ๆ เพราะไม่รู้จักคบผู้ที่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา จึงทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงและจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมาก

                 ค. ปาปณิกธรรม 3

                     ชีวิตของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน นอกจากจะต้องมีฆราวาสธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว เมื่อคฤหัสถ์นั้นเป็นผู้ประกอบการค้าหรือนักธุรกิจ การที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างมีความสุข จำเป็นต้องพึ่งพาปาปณิกธรรม 3 ในฐานะเป็นแกนหลักที่ควรดำเนินของพ่อค้าตามหลักพุทธศาสนา โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจใคร่ศึกษาดังนี้

                 1) ความหมายและองค์ประกอบของปาปณิกธรรม 3

                 ปาปณิกธรรม หมายถึง หลักพ่อค้า องค์คุณของพ่อค้า (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 152-153)

                 ปาปณิกธรรม มีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ จักขุมา วิธูโร นิสสยสัมปันโน (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 96)

                 1) จักขุมา หมายถึง ตาดี คือ รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ

                 2) วิธูโร หมายถึง จัดเจนธุรกิจ รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า

                 3) นิสสยสัมปันโณ หมายถึง พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย คือ เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย

                 2) ความสำคัญของปาปณิกธรรม 3

                 ปาปณิกธรรม (องฺ.ติก. 20/459/111) มีความสำคัญในการบริหารตนให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิตแบบฆราวาสหรือคฤหัสถ์ โดยเน้นความสุขที่เกิดขึ้นจากการมีโภคทรัพย์ หลักปาปณิกธรรมเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุด้วยการนำหลักธรรม 3 ข้อของพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จในการค้ามาอธิบายเทียบให้ภิกษุเห็นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติธรรมให้ประสบความสำเร็จ ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ 3 ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือไม่นานเลย องค์ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนที่มีตาดี 1 มีธุระดี 1 ถึงพร้อมด้วยบุคคลที่จะเป็นที่พึ่งได้ 1”

“...ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ 3 ประการนี้แล ย่อมจะถึงความมีโภคะมากมายเหลือเฟือไม่นานเลย ฉันใด ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 3 ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูนไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย ธรรม 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจักษุ 1 มีธุระดี 1 ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้ 1...”

                 หลักปาปณิกธรรมจึงเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนในด้านธุรกิจให้ประสบความสำเร็จโดยตรง

                 พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งทางโลกและทางพ้นโลก กล่าวคือเป็นหลักการเหมือนกันแต่ใช้ในวัตถุประสงค์ต่างกันได้ โดยมีหลักการเป็นแกนกลางและมีวิธีนำไปใช้ที่เข้มข้นและยาก-ง่ายต่างกัน ในที่นี้ทรัพย์ของปุถุชนคือเงินทอง (โลกียะทรัพย์) ส่วนทรัพย์ของภิกษุคือกุศลธรรม (โลกุตระทรัพย์) หลักธรรมคือวิธีการทำให้มีทรัพย์เพิ่มพูน

                 ความสำคัญของหลักปาปณิกธรรมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการมีปุถุชนทรัพย์ของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่ต้องใช้ชีวิตบนความมีวัตถุ และทำให้เห็นถึงความสำคัญในการมีอริยทรัพย์ของภิกษุด้วยการมีกุศลธรรมซึ่งเป็นทรัพย์คนละระดับกัน แต่สำหรับผู้บริหารที่จะต้องข้องเกี่ยวกับเรื่องทางโลกนั้นจำเป็นจะต้องมีทรัพย์จากวัตถุจึงจะสามารถดูแลตนเอง ครอบครัว ตลอดไปจนถึงองค์กรของตนได้ ดังนั้น ปาปณิกธรรมจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญและมีความจำเป็นสำหรับผู้บริหารธุรกิจที่จะต้องมีไว้เป็นเทคนิคหรือทักษะ โดยฝึกตนให้มีธรรม 2 ข้อแรกก่อน คือ มีตาดีและมีธุระดี เมื่อมีสองข้อแรกสมบูรณ์แล้วก็คือนักบริหารธุรกิจที่มีความสามารถเป็นที่เชื่อถือได้หรือมีเครดิต จะทำให้ข้อที่ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้อื่นจะตามมา เมื่อมีคุณสมบัติครบ 3 ข้อผู้บริหารธุรกิจย่อมจะถึงความมีโภคะมากมายเหลือเฟือไม่นานเลย ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้บริหารไม่มีปาปณิกธรรมเสียแล้วธุรกิจก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีเครดิต 

          ง. สัปปุริสธรรม 7 

                 บุคคลผู้ได้ชื่อว่าบัณฑิตผู้มีปัญญา เมื่อศึกษาหลักธรรมใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตแล้ว ยังจะต้องฉลาดในอุบายที่จะนำหลักธรรมเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสม จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีข้อปฏิบัติอันงดงาม ในทางธุรกิจก็เช่นกัน หากขาดความเข้าใจในอุบายวิธีย่อมเป็นไปได้ยากที่การดำเนินธุรกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้น นักธุรกิจจึงควรศึกษาหลัก สัปปุริสธรรม 7 เพื่อเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ดังนี้

                 1) ความหมายและองค์ประกอบของสัปปุริสธรรม 7

                 สัปปุริสธรรม หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรษ, คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 210) คำว่า สัตบุรุษ หมายถึง คนที่มีความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ คือมีพฤติกรรมถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือเรียบร้อยดีไม่มีโทษ เป็นผู้มีจิตสงบระงับจากบาปอกุศลธรรม ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ในพระสูตรพระพุทธเจ้าตรัสสอนหลักธรรมนี้แก่พระภิกษุว่าสิ่งที่ควรรู้นอกจากธรรมแล้วยังต้องรู้จักสิ่งอื่นเพื่อที่จะปฏิบัติตนต่อสิ่งนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสมด้วยทำให้เห็นได้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลแล้วคอยชี้นำคนอื่นให้ทำตาม แต่สอนให้ปรับตัวและร่วมมือกับสังคม

                 สัปปุริสธรรมมีองค์ประกอบ 7 ประการ ได้แก่ ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา อัตตัญญุตา มัตตัญญุตา กาลัญญุตา ปริสัญญุตา ปุคคลัญญุตา

                 1) ธัมมัญญุตา หมายถึง ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น

                 2) อัตถัญญุตา หมายถึง ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น

                 3) อัตตัญญุตา หมายถึง ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

                 4) มัตตัญญุตา หมายถึง ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

                 5) กาลัญญุตา หมายถึง ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

                 6) ปริสัญญุตา หมายถึง ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

                 7) ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา หมายถึง ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

                 2) ความสำคัญของสัปปุริสธรรม 7

                 หลักสัปปุริสธรรม (องฺ.ติก. 20/459/111) มีความสำคัญในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตด้วยการรู้สิ่งที่ควรรู้ในหน้าที่ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม กล่าวคือ ในระดับภิกษุก็ต้องมีสิ่งที่ภิกษุควรรู้และปฏิบัติต่อตนเองและสังคม ในระดับผู้ครองเรือนก็ย่อมมีสิ่งที่ผู้ครองเรือนควรรู้และปฏิบัติต่อตนเองและสังคมเช่นกัน โดยต่างกันตามวัตถุประสงค์ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบที่ต่างกันได้ตามความเหมาะสมกับความเป็นกัลยาณชนหรือสัตตบุรุษ ในพระสูตรหลักสัปปุริสธรรมเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุด้วยการนำหลักธรรม 7 ข้อที่จะทำให้ภิกษุเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า คือ 1) ธัมมัญญู (รู้จักธรรม) 2) อัตถัญญู (รู้จักอรรถ) 3) อัตตัญญู (รู้จักตน) 4) มัตตัญญู (รู้จักประมาณ) 5) กาลัญญู (รู้จักกาล) 6) ปริสัญญู (รู้จักบริษัท) 7) ปุคคลปโรปรัญญู (รู้จักเลือกคบคน)

                 หลักสัปปุริสธรรมจึงเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนว่าควรรู้อะไรบ้าง ในด้านบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จหลักสัปปุริสธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารธุรกิจจะต้องรู้เรื่องของตนเองและจะต้องรู้ว่าจะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นและสังคมอย่างไร

                 (1) ธัมมัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านการรู้จักว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่มีทฤษฎีและหลักการอะไรบ้างที่ต้องรู้ เช่น เป็นภิกษุก็ต้องรู้จักธรรมว่ามีกี่หลักการ แต่ละหลักการมีการนำไปใช้ได้อย่างไร ส่งผลอย่างไร ในทางบริหารธุรกิจ ผู้บริหารก็ต้องรู้ว่าธุรกิจมีหลักการอย่างไรบ้าง มีกี่ทฤษฎี สามารถนำไปใช้ได้อย่างไร ต้องศึกษา เรียนรู้ บันทึก ให้ครบถ้วนครอบคลุม สรุปได้ว่าต้องมีความรู้รอบในสาขาของตน หลักธัมมัญญูจึงอาจเรียกได้ว่ารู้กว้าง หรือรู้รอบ หลักธัมมัญญูดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ”

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า ธัมมัญญุตา มีความสำคัญในเรื่องการรู้จักธรรมหรือหลักการที่ตนเองควรรู้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในการใช้ชีวิตแต่ละแต่ละอาชีพย่อมมีเป้าหมายและสิ่งที่ต้องรู้แตกต่างกัน หลักธัมมัญญูเป็นหลักสอดส่องความรู้ว่างานที่ทำนั้นควรจะรู้อะไรและมีหลักอะไรบ้าง ทำให้มีอุบายในการทำงานเพื่อให้เกิดกุศลธรรม คือมีธรรมเป็นเป้าหมายของงานไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ ก็ตามก็สามารถนำหลักธรรมนี้มาประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม

                 (2) อัตถัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านการมีความรู้หรือเข้าใจในทฤษฎีอย่างแตกฉาน กล่าวคือ รู้ว่าทฤษฎีที่ตนรู้นั้นมีความหมายว่าอย่างไร สามารถวิเคราะห์ วิจักษ์ วิธาน ในทฤษฏีที่ตนรู้ได้อย่างชำนาญ หลักอัตถัญญูจึงเป็นความรู้ขั้นรู้ลึก หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในความรู้ของตน ในทางบริหารธุรกิจผู้ที่มีอัตถัญญูธรรมจึงเปรียบได้กับผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ เช่น กุนซือ หรือที่ปรึกษา ซึ่งมีความสำคัญในการวางแผนและแก้ปัญหาต่างๆ ผู้บริหารธุรกิจที่ต้องการให้องค์กรของตนมีความก้าวหน้าเท่าทันคนอื่นจึงต้องพัฒนาตนให้มีอัตถัญญูธรรมจนเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตน หลักธรรมอารักขสัมปทาดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า อัตถัญญูมีความสำคัญในเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาของตน ซึ่งนอกจากจะรู้แล้วยังต้องเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ วิจักษ์ วิธาน แยกแยะให้เห็นผลดี ผลเสีย และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในส่วนต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้

                 (3) อัตตัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านรู้จักตนและสามารถประมาณตนเองได้ถูกต้องและเหมาะสมกับสิ่งที่ทำจากความรู้ที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด กล่าวคือต้องรู้ว่าศักยภาพของตนเองมีประมาณไหนทำให้สามารถประเมินว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่หรือทำได้แค่ไหน สำหรับการบริหารธุรกิจหลักอัตตัญญุตาคือการรู้จักองค์กรของตนทุกส่วนว่าในแต่ละภาคส่วนมีกำลังและศักยภาพเท่าไหร่ มีจุดอ่อนตรงไหนและมีวิธีปิดจุดอ่อนอย่างไร ทำให้สามารถประเมินหรือรับงานได้อย่างไม่ผิดพลาดเสียหาย และสามารถวางแผนงานได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความไว้วางใจแก่คู่ค้าและลูกค้า ไปจนถึงบุคลากรในองค์กรที่ได้รับมอบหมายงานอย่างเหมาะสมทำให้เกิดกำลังใจและความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงาน หลักธรรมอัตตัญญุตา ดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้”

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักอัตตัญญุตาเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนในด้านการรู้จักตนเอง สามารถประเมินตนเองว่ามีสิ่งใดที่สามารถพัฒนาต่อยอดและขาดสิ่งใดที่ควรพอกพูนให้เกิดขึ้นและพัฒนาต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแห่งคุณภาพชีวิต เป็นการเตรียมความพร้อมและตรวจสอบตนเองอยู่เสมอก่อนที่จะลงมือกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                 (4) มัตตัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านทำให้เกิดความสมดุลในการบริโภคสิ่งต่าง ๆ เพราะการจะทำสิ่งใดก็ตามต้องรู้จักประมาณการในสิ่งที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด กล่าวคือต้องรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำมีประมาณแค่ไหน เท่าไหร่จึงพอเพียง ไม่ขาด ไม่เกิน เช่น ภิกษุเป็นผู้เลี้ยงชีพด้วยการขอ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้ภิกษุรู้จักประมาณในการรับสิ่งที่มีผู้มาถวาย เพราะการรับมากจนเกินไปทำให้เกิดผลเสียทั้งต่อตนเองซึ่งดำเนินชีวิตโดยไม่สะสมวัตถุและองค์กรเพราะผู้ที่มองมาจากภายนอกที่จะเสื่อมศรัทธา ในด้านการบริหารธุรกิจการรู้จักประมาณเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกับการรู้จักตน เพราะการรู้จักตนทำให้สามารถประมาณตนได้ถูกว่าควรทำอะไร อย่างไร แค่ไหนจึงจะไม่ขาดไม่เกินกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ หรืออาจเรียกว่าให้ดำเนินไปในทางสายกลาง หากธุรกิจมีการรับงานที่มากจนเกินพอดีแล้วบุคคคลในองค์กรก็จะต้องทำงานหนักขึ้น ไปจนถึงมีงานค้างไม่สามารถทำได้ทัน ส่งผลต่อการเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือ หลักมัตตัญญุตาจึงเป็นหลักที่ทำให้เกิดความสมดุลทั้งกับตนเองและองค์กร หลักธรรมมัตตัญญุตา ดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร”

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักมัตตัญญุตาเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนในด้านการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นจากการประมาณตน สามารถประเมินตนเองว่าต้องทำอย่างไร ใช้และรับอย่างไร เป็นการเตรียมความพร้อมและตรวจสอบตนเองให้เกิดความสมดุลก่อนที่จะทำสิ่งใดก็ตาม

                 (5) กาลัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านบริหารเวลา กล่าวคือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน ไม่ให้ใช้ชีวิตแบบหย่อนนึกอยากจะทำอะไรเวลาไหนก็ทำโดยไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง หรือใช้ชีวิตแบบตึงมุ่งทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบผลสำเร็จจนไม่รู้จักเวลาที่ควรทำ เช่น พักผ่อน ดูแลสิ่งที่ควรดูแลอื่น เช่น บิดา มาดา บุตร เพราะมนุษย์ไม่ได้มีเพียงหน้าที่เดียว หลักกาลัญญุตาจึงเป็นหลักในการบริหารเวลาให้เหมาะสม ในด้านการบริหารธุรกิจการบริหารเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าบริหารเวลาได้ไม่ดีงานจะล่าช้าหรือไม่สำเร็จทำให้สูญเสียทั้งชื่อเสียง เวลา และเงิน การนำหลักกาลัญญุตาตามาใช้ในการบริหารธุรกิจจึงต้องเข้าใจองค์กรทั้งหมดจึงจะสามารถวางแผนบริหารเวลาได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน หลักธรรมกาลัญญุตา ดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น”

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักกาลัญญุตาตาเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนในด้านการบริหารเวลาให้เกิดความเหมาะสมในการดำเนินงานแต่ละประเภทที่มีความสำคัญเร่งด่วนแตกต่างกัน สามารถประเมินตนเองว่าเวลาไหนควรทำอะไรก่อนอะไรหลังได้อย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้เกิดการทำงานที่ประหยัดเวลาและได้ประสิทธิภาพสูงสุด 

                 (6) ปริสัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านรู้จักการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมต่อบุคคลอื่นอย่างเหมาะสม เพราะมนุษย์มีความหลากหลายแตกต่างกันไปทั้งภาษา ความคิด ความเชื่อ ความชอบ ความชัง มารยาท วัฒนธรรม ประเพณี กระบวนทรรศน์ ฯลฯ การที่จะผูกมิตรกับผู้อื่นได้จึงต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นเสียก่อนไม่ใช่เอาตัวเราเป็นที่ตั้งไปวัดหรือตัดสินผู้อื่นเพียงอย่างเดียว การเข้าใจผู้อื่นจึงเป็นการสร้างความร่วมมือซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือ ในด้านการบริหารธุรกิจการรู้จักบุคคลอื่นเป็นสิ่งสำคัญทำให้สามารถเข้าใจและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันได้ หลักปริสัญญุตา ดังกล่าวนี้ มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้”

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักปริสัญญุตาเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนในด้านการรู้จักปฏิบัติต่อกลุ่มคนในเครือข่ายต่างๆ ที่มีความเชื่อ มีวัฒนธรรมองค์กร มีข้อปฏิบัติของกลุ่มที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ธรรมะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจได้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าในแต่ละกลุ่มและเกิดความเหมาะสมดีงาม

                 (7) ปุคคลัญญุตา มีความสำคัญสำหรับการบริหารตนในด้านรู้จักแยกแยะบุคคลให้เป็น รู้ว่าคนมีกี่จำพวก ใครต้องการอะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำให้สามารถแยกแยะได้ว่าควรจะวางตัวหรือปฏิบัติตอบอยางไร สามารถคบได้หรือไม่ ในด้านการบริหารธุรกิจปุคคลัญญุตามีความสำคัญตั้งแต่เริ่มรับพนักงานเข้าทำงานก็ต้องคัดเลือกให้เป็น การหาพันธมิตรหาเครือข่ายก็ต้องเลือกให้ถูก

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน 2 คือ บุคคล 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะพึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม… บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี 2 จำพวก คือพวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม… บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้... บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม... บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี 2 จำพวก คือพวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่... 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น...”

                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักปุคคลัญญุตาเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการบริหารตนให้รู้จักแยกแยะประเภทของบุคคลและทำความเข้าใจบุคคลประเภทต่างๆ ทั้งในด้านอุปนิสัยใจคอ กระบวนทรรศน์ทางความคิดและอารมณ์ คุณวุฒิ วัยวุฒิ วุฒิภาวะ เป็นต้น ก็จะทำให้เราสามารถนำหลักธรรมที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบุคคลแต่ละคนได้

หมายเลขบันทึก: 710696เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท