สภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


"ถอดรหัส" สภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย categories 10 ของ Aristotle

          การศึกษาถึงสภาวะอันเป็นแก่นแท้ของสิ่งต่าง ๆ ในทางปรัชญา แนวทางหนึ่งที่สำคัญคือ การตีความบนพื้นฐานของ “ปทารถะ” หรือ “วิภาค ๑๐” (categories 10) ซึ่งเป็นหลักคิดในเชิงปรัชญาบริสุทธิ์ของ อริสโตเติล (Aristotle) เป็นเรื่องของการอธิบายสรรพสิ่งตามแนวทางภววิทยา (ontology) ที่สามารถนำมาเป็นกรอบในการศึกษาสภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นสากลได้ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ตามลำดับดังนี้

          ๑. สาระ (substance) 

          ได้แก่ สิ่งที่เป็น “สารัตถะ” หรือ “แก่นแท้” ของ “การแบ่งปัน” 

          เมื่อพิจารณาถึง “การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พบว่า เป็นการแบ่งปันที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตอย่างแยกกันไม่ออก ในทางปรัชญาจึงมีลักษณะเป็น “ทวินิยม” ซึ่งโดยสาระแล้ว “การแบ่งปัน” เมื่อวิเคราะห์ตามสภาวะ (state) ถือได้ว่าเป็น “ข้อคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์” ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “จาคะ” ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อสุดท้ายในหลักฆราวาสธรรม ในทางจริยศาสตร์ เรียกว่า การแบ่งปันหรือการเสียสละหรือจิตอาสา โดยปรากฏในคุณธรรมสากล (cardinal virtue) ที่อริสโตเติลได้เคยเสนอเอาไว้ ซึ่งในภาษากรีกใช้คำว่า Dikiosune แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Justice ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ความยุติธรรม” ดูเหมือนว่าจะไม่ตรงตามความหมายเดิม เพราะแท้ที่จริงแล้วความหมายเดิมคือ “การให้ตามความเหมาะสม” (give to his due) หากตีความเพิ่มเติมก็คือ “การดูแล” นั่นเอง ทรรศนะนี้อยู่บนหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่จะต้องห่วงใยดูแลผู้อื่น (care the other) ทั้งนี้ กีรติ บุญเจือ (๒๕๔๖) ได้เสนอว่า จริยธรรมของปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่ทำให้คนในสังคมเกิดการดูแลซึ่งกันและกัน ได้แก่ จริยธรรมดูแล ๔ ประการ คือ สร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา

          พลังสร้างสรรค์ (creativity) จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีทัศนคติ ความคิด ที่เป็นไปในทางกุศล คือ ไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อการสงเคราะห์เกื้อกูล แม้จะสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีหรือผลิตสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบใหม่ ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเป็นเรื่องสร้างสรรค์เสมอไป หากเป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนก็ต้องมีการปรับตัว พลังปรับตัว (adaptivity) เป็นสภาวะแบบยืดหยุ่น เพื่อการดัดแปลงหรือปรับประยุกต์ให้เป็นคุณ ปราศจากโทษ หรือดัดแปลงโทษให้เป็นคุณ ซึ่งเมื่อต้องปฏิบัติร่วมกันก็ต้องร่วมมือกัน พลังร่วมมือ (collaborativity) คือ การร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันตัดสินใจ และรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เกินคาดหมาย คือ เกินกว่าที่คน ๆ หนึ่งจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องมีความรู้รักสามัคคี ปรองดอง ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมแรงร่วมใจ และหากพบว่าสิ่งใดขาดหายก็ช่วยกันแสวงหา พลังแสวงหา (requisitivity) เป็นพลังปัญญาของมนุษย์ที่มีศักยภาพในการเติมเต็มสิ่งที่ขาด ตัดสิ่งที่เกิน เพื่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน โดยทิศทางของการแสวงหานั้นจะต้องเป็นไปตามธรรม ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ความว่า “ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุข ความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น” เป้าหมายปลายทางของคุณจริยธรรมและจริยธรรมนั้นล้วนมุ่งไปสู่ความสุข คุณธรรม คือ “การแบ่งปัน” ก็เช่นเดียวกัน เป็นคุณค่าที่นำไปสู่ความสุขบนพื้นฐานของสติปัญญา 

          ดังนั้น การแบ่งปัน จึงถือได้ว่า เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัว มีความเป็นสากล (universal) มีเป้าหมายนำไปสู่ความสุขระหว่างบุคคลกับบุคคล และสังคมได้ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า

          “คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕

 

          เมื่อพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะ (individual) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การแบ่งปัน (จาคะ) คือ องค์รวมของคุณธรรม ได้แก่ การดำรงชีวิตอย่างมีสติปัญญาบนพื้นฐานของความจริง (สัจจะ) การฝึกฝน/ขัดเกลา (ทมะ) และความเข้มแข็งมั่นคงจากภายใน (ขันติ) การแบ่งปันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมแห่งความสุขที่เกิดขึ้นจากใจที่รู้จักพอ คุณภาพของใจที่รู้จักพอทำให้เกิดความอิ่มเอมจากภายใน ไม่ไหลออกไปด้วยความอยากที่เกินพอดี (โลภะ) เป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่สามารถแยกแยะความต้องการที่จำเป็นและไม่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ แยกแยะได้ว่าอะไรคือคุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม อะไรคือต้นตอของปัญหา อะไรคือทางออกของปัญหา อะไรคือบ่อเกิดแห่งความทุกข์ อะไรคือบ่อเกิดแห่งความสุข ทำให้จิตใจเกิดกุศลธรรม เกิดทัศคติและความคิดที่สร้างสรรค์ที่จะลดทุกข์ สร้างสุข ให้กับตนเองและสังคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมโชวาทเกี่ยวกับคุณธรรมพื้นฐานนี้ โดยได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย   ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ความว่า “ประการแรก... คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจ ต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง... คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม... คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่... คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง” จะเห็นได้ว่า การแบ่งปันเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างแยกไม่ออก เมื่อการแบ่งปันเข้าไปอยู่ในสังคมจึงเกิดสังคมแห่งการแบ่งปัน คุณธรรมทั้ง ๔ ประการมีคุณค่าที่ช่วยขัดเกลาสังคมให้เกิดสติปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความสมดุล มั่นคง ยั่งยืนได้ 

          ๒. ปริมาณ (quantity) 

          ได้แก่ ปริมาณของการแบ่งปัน ประเด็นสำคัญจึงได้แก่ ปริมาณของการแบ่งปันควรอยู่ในระดับใดจึงจะเกิดความพอเพียง คือ ไม่มากไป ไม่น้อยไป มีสภาวะที่สมดุลหรือพอดี เกณฑ์ความพอเพียง ตรงจุดนี้พิจารณาได้จากความหมายเดิมของคำว่า Dikiosune ซึ่งหมายถึง “การให้ตามความเหมาะสม” ซึ่งเป็นการดูแลตนเองและผู้อื่นไปในตัว เป็นการให้หรือการแบ่งปันที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ให้ตามความจำเป็น สมเหตุสมผลหรือในปริมาณที่เหมาะสม เหมาะสมและสมควรแก่กาลเทศะ ซึ่งอาจจะมากก็ได้ หรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่เบียนตนเองและผู้อื่น ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ความว่า “...อาจจะมีของหรูหราก็ได้  แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…” การให้ตามความเหมาะสมไม่จำเป็นต้องให้เฉพาะเรื่องของทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น เพราะการให้มีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญ ผู้ให้ต้องรู้จักประมาณตน ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง ทรัพยากรทั้งปวง ก่อนที่ใครจะให้อะไรใครได้นั้น บุคคลผู้นั้นจำเป็นต้องมีสิ่งนั้นเสียก่อน คือมีเพียงพอ พอกินพอใช้ เหลือพอสำรอง พร้อมที่จะแบ่งปันออกไปได้ ก็จะเกิดความสุขบนความสุขของตนเองและผู้อื่น ซึงเป็นคุณภาพของความสุขที่สอดคล้องกับปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลาง 

          การสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นต้องเริ่มจากใจที่รู้จักพอ คือ พอในความต้องการที่พอเหมาะพอดี ไม่โลภจนเกินไป อันเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียน เกิดทุกข์โทษแก่ตนและผู้อื่น คำว่าพอเพียงนี้ อาจจะมีหรูหราก็ได้ แต่ต้องระมัดระวัง (มีสติ) ไม่ให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น หรือในกรณีที่หลีกเลี่ยงการเบียดเบียนไม่ได้ด้วยเหตุจำเป็นก็เลือกทางที่เกิดการเบียดเบียนให้น้อยที่สุด เพื่อให้แต่ละคนรู้จักประมาณตนในความต้องการเพื่อเว้นจากการเบียดเบียนให้มากที่สุดนั่นเอง

          ดังนั้น เมื่อกล่าวในเชิงปริมาณเกี่ยวกับการลดและการเพิ่ม สิ่งที่ต้องลดลงจึงได้แก่ ตัณหาและความต้องการที่เกินจำเป็น ความโลภหรือความอยากที่เกินพอดี อคติหรือความลำเอียง ส่วนสิ่งที่ต้องเพิ่ม ได้แก่ สติปัญญา คือ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ (ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) ส่วนในเชิงของความต้องการ ได้แก่ การเพิ่มความต้องการที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ๓. คุณภาพ (quality) 

          ได้แก่ คุณภาพของการแบ่งปัน คุณภาพในที่นี้เริ่มต้นจากใจที่รู้จักพอ หรือมีความพอเพียงที่ใจ หากใจยังไม่มีความพอเพียงก็ไม่สามารถรักษาคุณภาพของสังคมแห่งการแบ่งปันได้ การแบ่งปันที่เกิดขึ้นจึงอาจเจือปนไปด้วยทุกข์ ทุกข์อันเกิดจากตัณหา เช่น ความคาดหวัง ความเห็นแก่ประโยชน์ตัวเป็นที่ตั้ง เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญในเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณภาพของการแบ่งปันจึงได้แก่ คุณภาพทางจิตใจ นั่นเอง 

          สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีจุดเริ่มต้นจาก “การให้” ซึ่งการให้ในที่นี้คืออะไรนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสว่า 

          “...การให้ คือให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษ โกรธเคืองกัน ให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน ด้วยมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์ จริงใจ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

 

          จากพระราชดำรัสนี้จะเห็นได้ว่า การให้ เริ่มต้นจากคุณภาพของจิตใจที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งรักและเมตตาเป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องของน้ำใจที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมิตร สิ่งที่ตรงข้ามกับมิตรก็คือศัตรู การรักและเมตตาศัตรูนั้น คือ การให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง อานิสงส์ของการให้อภัยก่อให้เกิดการสงเคราะห์เกื้อกูลทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ให้อภัย และฝ่ายที่ถูกให้อภัย เป็นการดับไฟแห่งโทสะที่เร่าร้อนแผดเผาที่อาจลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นความอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรม ไม่รู้จักจบสิ้น ดังคำพระท่านว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” นั่นเอง การให้โดยพื้นฐาน จึงหมายถึง การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอันเกิดจากการกระทำที่ก่อให้เกิดทุกข์โทษ ในขั้นก้าวหน้ากว่านั้น ก็คือ การมีเจตนาดี มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยน้ำใสใจจริง

          ในทางปรัชญาจริยะนั้น การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ถือได้ว่า เป็นการให้โอกาสกับชีวิตได้ประสบกับความสุข ความสุขจากความพอเพียงนั้นเกิดจากใจที่รู้จักพอ หากจิตใจเต็มไปด้วยความโลภ ยิ่งโลภมากเท่าไหร่จิตใจก็ยิ่งเร่าร้อนเป็นทุกข์มากเท่านั้น 

          คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดอันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข…”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่

คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยยะมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

          จากพระราชดำรัสนี้ทรงชี้ให้เห็นว่า จุดเริ่มต้นของการให้เกิดจากใจที่พอเพียง ถ้าใจคนเราไม่พอเพียงก็จะมี “ความต้องการที่เกินพอดี” หรือมี “ความโลภ” เกิดขึ้น ถ้าโลภน้อยก็มีแนวโน้มที่จะเบียดเบียนคนอื่นน้อย ตรงกันข้าม ถ้ามีความโลภมากก็จะมีแนวโน้มที่จะเบียดเบียนคนอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนั้น พระองค์จึงตรัสเตือนให้มี “ความพอประมาณ” คือ ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด และการกระทำ เพื่อให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

          หากพิจารณาตามหลักทศพิธราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ดำเนินทั้งในด้านการครองตน ครองคน ครองงาน พบว่า คำสอนเรื่อง “ทาน” หรือ “การให้” เป็นคุณธรรมข้อแรกของทศพิธราชธรรม การที่บุคคลใดจะให้อะไรกับใครได้นั้น เขาต้องรู้สึกว่าตนมีความพอเพียงเสียก่อน ถ้าหากใจยังไม่รู้สึกพอเพียง โอกาสที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้กับคนอื่นก็เป็นไปได้ยาก แม้ว่าเขาจะมีฐานะดีแล้วก็ตาม หากใจยังไม่รู้จักพอ ก็มีโอกาสเกิดความตระหนี่ถี่เหนียวได้ หรือแม้ว่าบางครั้งจะมีการให้หรือการแบ่งปันเกิดขึ้น ก็ต้องพิจารณาต่อว่า การให้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่ออะไร หรือเป็นไปในทิศทางใด เพราะบางคนไม่ได้ “ให้เพื่อให้” หรือเพื่อผลักดันสนับสนุนให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้จริง แต่อาจเป็นการให้เพื่อหวังเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์เข้าตัว หรือให้เพื่อสร้างความรู้สึกของการติดหนี้บุญคุณซึ่งต้องมีการทดแทนคืนกลับมา จึงเป็นลักษณะของเจ้าหนี้และลูกหนี้ หรือเป็นการให้เพื่อโยงใย เพื่อให้คนที่รับตกอยู่ภายใต้อำนาจ หมดโอกาสที่จะพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งขัดแย้งกับการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          คุณภาพของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ การแบ่งปันที่เกิดขึ้นจะต้องส่งเสริมให้บุคคลสามารถยืนบนขาของตนเองได้ หรือพึ่งพาตนเองได้ ดังพระราชดำรัสว่า

          บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตนเอง คำว่า ยืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตนเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้นให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอ ก็พอเพียงเพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย... มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง  ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่

คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยยะมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

          การ “ให้เพื่อให้” นี้ สุเมธ ตันติเวชกุล (๒๕๔๓) เรียกว่า เป็นการให้ตามหลักสังฆทาน ดังมีข้อความกล่าวไว้ในหลายตอน อาทิเช่น 

          “...ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของพวกเราในฐานะข้าราชการหรือว่าข้าของพระองค์นั้นก็คงจะต้องปฏิบัติด้วยไม่มากก็น้อย... พระองค์ท่านรับสั่งว่าสังคมนั้นมีปัญหามากเพียงพออยู่แล้ว เราต้อง “ให้” แล้วก็บอกว่า “การให้นั้นให้ใช้หลักสังฆทาน” พระองค์ท่านรับสั่งข้อนี้เป็นพระราชกระแสเลย ทำดีโดยใช้หลักสังฆทาน ไม่ต้องเลือกหน้าทำไป จะเห็นว่าทางภาคใต้นั้นเป็นมุสลิม หรือเป็นชาวเขาในภาคเหนือ หรือเป็นชาวอะไรก็แล้วแต่กระทั่ง แม้กระทั่งคนที่อพยพมาพระองค์ก็พระราชทานช่วยเหลือ...” 

          “...หลังจากที่ได้มีพระปฐมบรมราชโองการครั้งแรกตอนที่ทรงขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และได้ทรงครองราชย์มายาวนานที่สุด ได้ทรงอยู่ในหลักเกณฑ์ซึ่งในพระพุทธศาสนาได้กำหนดไว้เป็น ๑๐ ประการ คือทศพิธราชธรรมโดยแท้จริง และทศพิธราชธรรมนี้มิใช่แต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่สมควรจะดำเนินการให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดียิ่ง หากแต่ว่าเป็นที่ยอมรับกันโดยหมดแล้วว่าทั้งข้าราชการก็ดี  พวกเราที่เป็นนักเรียนหรือประชาชนทั่วไปนั้น ก็ดี ก็เป็นหลักการที่จะต้องยึดถือด้วย เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์ของเรานั้นได้รักษาทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ พร้อมกับหลักสังคหวัตถุ ๔ สิ่งแรกนั้นคือการทำทาน พระองค์ท่าน รับสั่งว่าการพัฒนาประเทศของพระองค์ซึ่งทำอยู่นั้นจะใช้หลักสังฆทาน คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกใครทั้งสิ้น จะอยู่ในศาสนาไหนอยู่แห่งหนใด จะเป็นชาวเขาหรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่นั้น พระองค์ท่านก็ทรงจัดให้เป็นลักษณะการให้ทาน...”

          “...อย่างคำว่า “ให้” พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งอยู่เสมอว่า ที่พระองค์ทำอยู่นั้นทรงใช้หลักสังฆทาน ความหมายนี้ลึกซึ้งมาก คือให้เพื่อให้ พระองค์ท่านไม่เคยนึกว่าเมื่อให้แล้วจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้  หลักสังฆทานให้โดยไม่เลือกแม้กระทั่งเขมร พวกอพยพ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ผู้ประสบความทุกข์ยาก ก็มีโครงการเข้าไปช่วยเหลือ ให้เพื่อให้จริง ๆ ไม่ได้ให้เพื่อคิดหวังอะไรตอบแทน

          นอกจากนี้ สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังส่งเสริมหลักธรรมเรื่อง “จาคะ” ในทางพุทธศาสนา ได้แก่ การสละออกซึ่งเปลือกนอกทางสังคม เช่น การทำดีเอาหน้า การให้ที่คาดหวังผลลัพธ์ด้วยความเห็นแก่ตัว เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีคำสอนเรื่อง “การปิดทองหลังพระ” ซึ่งเป็นวิถีแห่งการสละออกที่ช่วยขัดเกลาจิตใจมนุษย์ให้สูงขึ้น สละส่วนที่เป็นเปลือกผิว เข้าสู่แก่นแท้ของการให้มากยิ่งขึ้น เป็นการให้ที่ยิ่งให้ยิ่งสละอัตตาที่ละได้ยาก ดังพระราชดำรัสความว่า

          “...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖

 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสติปัญญาและประโยชน์สุขในการทรงงาน ทรงประพฤติตนเป็นแบบอย่าง เพื่อไม่ให้หมู่ชนลุ่มหลงไปกับการทำดีเอาหน้าที่ดูปลอมเปลือก เพราะยิ่งทำยิ่งพอกพูนอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความสำคัญตนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากคนในสังคมมีแต่คนประเภทนี้ ก็จะไม่มีใครอยากเสียสละหรือลำบากเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะงานที่ทำไปแล้วก่อเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมแต่ไม่มีใครรู้ หรือรู้เพียงกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า “แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...” นั่นก็เพราะพระองค์มองอย่างเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วน ทรงเล็งเห็นทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการปิดทองหลังพระดังที่พระองค์ทรงสอน อานิสงส์ที่จะเกิดกับบุคคลผู้ปิดทองหลังพระในเชิงมนุษยนิยมนั้น ได้แก่ 

          ๑) เป็นเหตุให้งานที่ทำเกิดความราบรื่นมากยิ่งขึ้น มีอุปสรรคน้อย อันเนื่องมาจาก การปิดทองหลังพระนั้น ป้องกันคนประเภทที่มีใจอิจฉาริษยาที่อาจเข้ามากลั่นแกล้งหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของงานส่วนรวม

          ๒) ได้มีโอกาสขัดเกลาจิตใจของตนให้มั่นคง หนักแน่น มีใจที่เสียสละอันเกิดจากความพอเพียงภายในใจอย่างแท้จริง เมื่อใจมั่นคงพอเพียงอย่างเต็มที่แล้วก็พร้อมที่จะล้นออกมาเผื่อแผ่คนอื่น ๆ โดยไม่คาดหวังจะเอาสิ่งปลอดเปลือกจากภายนอกมาเติมเต็ม

          ๓) เกิดสติปัญญา สามารถมองเห็นองค์รวมได้อย่างรอบด้านจากปัญญาปฏิบัติอันเกิดจากการปิดทองหลังพระอยู่เป็นประจำ เมื่อมีสติปัญญาดี มีความรู้รอบ อุปสรรคหรือปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและส่วนรวมได้อย่างแท้จริง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

          ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คุณภาพของสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มต้นจากคุณภาพของใจที่รู้จักพอ เป็นการให้ด้วยน้ำใจ เป็นการให้ความสุขอันเกิดจากการพึ่งพาตนเองได้ มีความมั่นคงทั้งภายนอกและภายใน ส่วนของภายนอก ได้แก่ กินดี-อยู่ดี-มีสุข มีปัจจัย ๔ ที่พอเพียงต่อความต้องการของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชน ไม่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนแก่ตนเองและผู้อื่น มีสำรองเพียงพอ พร้อมที่จะแบ่งปันตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ เพื่อความอนุเคราะห์เกื้อกูล ทั้งทางด้านปัจจัย ๔ แรงงาน พื้นที่ เครื่องมือ ความรู้ความสามารถ และสติปัญญาในการแก้ปัญหา เป็นต้น ส่วนของภายใน ได้แก่ การมีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามอคติหรืออารมณ์ เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ ความเขลา (ขาดความรอบคอบ ในการไตร่ตรอง) และความกลัว การที่บุคคลทำงานในองค์กรที่มั่นคง แต่ใจคนกลับไม่มั่นคง นั่นก็เพราะยังไม่เต็มอิ่มจากภายใน คือ ใจยังขาดคุณภาพ ยังมีความพร่อง ขาดความสมดุลทางใจ อันเกิดจากความอยากที่เกินพอดี (ความโลภ) จึงไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ (อยู่ภายใต้ระบบอำนาจและผลประโยชน์) ยังมีทัศนะแบบแยกส่วน มองไม่เห็นองค์รวมตามความเป็นจริง (เช่น เลือกมองแต่สิ่งที่พอใจหรืออยากได้ดั่งใจ) ขาดสติปัญญาในการแก้ปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังนั้น คุณภาพใจที่ดีจึงเป็นคุณภาพใจที่เกิดจากความพอเพียง มีความสมดุล พอดี และมั่นคง พึ่งพาตนเองได้จากภายในสู่ภายนอกและพัฒนาต่อยอดไปได้อย่างยั่งยืน

          ๔. ความสัมพันธ์ (relation) 

          ได้แก่ ความสัมพันธ์ในเรื่องการแบ่งปัน ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ทั้งในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม 

          โดยสภาวะของการให้หรือการแบ่งปันนั้น ไม่มีผู้ให้ที่แท้จริง หรือผู้รับที่แท้จริงในธรรมชาติเลย นั่นก็เพราะการให้อยู่ภายใต้กฎแห่งการกระทำที่ว่า ทุกการกระทำที่ส่งแรงออกไป จะมีแรงสะท้อนกลับเสมอ (action = reaction) เสมอ ซึ่งกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ให้ก็คือผู้รับ และผู้รับก็คือผู้ให้ นั่นเอง 

          ในเชิงของความสัมพันธ์ ผู้ให้ไม่สามารถให้ได้โดยหากปราศจากผู้รับ นั่นหมายความว่า ผู้รับเองก็กลายเป็นผู้ให้เช่นกัน คือ “ให้โอกาสผู้ให้ได้ให้” หรือแสดงออกซึ่งการแบ่งปัน หากผู้รับไม่ให้โอกาสผู้ให้ได้ให้ การให้หรือการแบ่งปันนั้นย่อมไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ ดังนั้น ตามธรรมชาติแล้ว จึงไม่มีผู้ให้หรือผู้รับที่แท้จริง และหากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น ก่อนที่บุคคลใดก็ตามจะให้หรือแบ่งปันสิ่งใดแก่คนอื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้น เขาต้องให้โอกาสตนเองได้ให้เสียก่อน เป็นการให้ด้วยใจไม่ใช่หน้าที่หรือให้เพราะหวังผลตอบแทนใด ๆ เพราะการให้เช่นนั้นผูกติดอยู่ในกรอบหรือเงื่อนไข แต่หากการให้หรือการแบ่งปันเกิดขึ้นด้วยน้ำใจที่บริสุทธิ์ เป็นการ “ให้เพื่อให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน การให้ดังกล่าว จึงจะชื่อว่า เป็นการ “ให้โอกาสตนเองได้ให้ บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

          ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงวางวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า “พุทธบริษัท” ประกอบด้วยฝ่ายบรรพชิต และฝ่ายฆราวาสหรือคฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) ทรงวางอริยประเพณีไว้ โดยให้ภิกษุอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ไม่ต้องหุงหาอาหาร ชีวิตเป็นไปเพื่อละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสอนให้ภิกษุประพฤติตัวให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย สิ่งใดที่ภิกษุห้ามบริโภค พระองค์ก็จะวางเงื่อนไขเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น มังสะ (เนื้อ) ๑๐ อย่าง เป็นต้น ดังนั้น ภิกษุจึงแปลว่า “ผู้ขอ” หรือผู้รอรับการให้ (ทาน) จากฝ่ายฆราวาส ส่วนฝ่ายฆราวาส เป็นวิถีชีวิตที่ต้องหุงหาอาหาร จำเป็นต้องทำมาหากิน หาเก็บเพื่อสะสม และบริหารจัดการทรัพยากรที่หามาได้ด้วยความชาญฉลาด

              พระไพศาล วิสาโล (๒๕๖๕) ได้กล่าวไว้ว่า “คนที่ฉลาดจะทำให้ทรัพย์เป็นบ่าวไม่ใช่ปล่อยให้เป็นนายเรา ดังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า กามโภคี ประการสุดท้ายมีความสำคัญมาก คือ อย่าสยบอย่ามัวเมาหมกมุ่นในทรัพย์ ต้องรู้จักมีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระจากทรัพย์ เพราะชีวิตของคนเรามีค่ามากกว่าการที่จะหาเงินหาทองให้ได้มาก ๆ โดยที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างที่มีความหมายต่อชีวิตมากกว่า”

          พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้ฆราวาสรู้จักแบ่งสันปันส่วนทรัพย์ที่หามาได้ ตามหลัก “โภควิภาค ๔” หรือหลักการแบ่งทรัพย์ ๔ ส่วน ได้แก่

          ส่วนแรก ๒๕% (๑ ส่วน) : ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงและทำประโยชน์ เช่น บิดามารดา บุตร สามี-ภรรยา ญาติมิตรสหาย ครูบาอาจารย์ นักบวช การทำบุญทำทาน เป็นต้น

          ส่วนที่สอง ๕๐% (๒ ส่วน) : ใช้ลงทุนประกอบการงาน ด้านการศึกษาที่สร้างปัญญา ทักษะ ความสามารถ หรือเพื่อการท่องเที่ยวเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ส่วนสุดท้าย ๒๕% (๑ ส่วน) : เก็บหรือสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น ในยามเจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุ ตกงาน เป็นต้น

          ในส่วนแรกนั้น “ฝ่ายฆราวาส” จะเก็บไว้เพื่อให้ทานหรือทำบุญแก่ “ฝ่ายบรรพชิต” เมื่อบรรพชิต  รู้ว่าชีวิตตนเนื่องด้วยผู้อื่น (ฆราวาส) จึงทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย โดยรับทานจากสาธุชนด้วยความเคารพ (รับประเคน ๒ มือ) ส่วนฆราวาสนั้นแม้เป็นผู้ให้ แต่ก็ให้ด้วยความเคารพ (ประเคน ๒ มือ) มีความนอบน้อมต่อบรรพชิตผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม รู้สึกขอบคุณที่ฝ่ายบรรพชิตให้โอกาสตนได้ทำบุญทำทานกับผู้มีศีล มีธรรม ด้วยความศรัทธาว่า บรรพชิตผู้มีศีลธรรมคือเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอริยสงฆ์ที่มีภูมิจิตภูมิธรรม สามารถละกิเลสจนเบาบางหรือสิ้นแล้วซึ่งกิเลส อานิสงส์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องความสุขของโลกหน้าแล้ว ยังให้ความสุขกับผู้ให้ในโลกนี้ ได้มีโอกาสขัดเกลาตนเอง ลด ละ เลิก ความตระหนี่ถี่เหนียว ได้มีโอกาสสร้างบารมีธรรมในปัจจุบัน

          อริยประเพณีที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยพระพุทธเจ้านี้มีความสอดคล้องกับธรรมชาติหรือความเป็นจริงในเรื่องของการให้ กล่าวคือ ผู้ให้และผู้รับต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลกันโดยธรรมชาติ ตามสภาวธรรม การให้ที่ได้รับอานิสงส์มาก นอกจากจะให้ทานแก่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์แล้ว ยังมีการให้ที่เรียกว่า “สังฆทาน” ซึ่งเป็นการให้โดยไม่เจาะจง หรือระบุตัวบุคคลว่าจะเป็นใคร เป็นภิกษุรูปใด จึงปราศจากอคติหรือความคาดหวังในเรื่องการยึดติดตัวบุคคล นอกจากการให้จะช่วยละความตระหนี่ถี่เหนียวแล้ว ยังช่วยลดละทิฏฐิ มานะ ของผู้ให้ จึงได้อานิสงส์มากเพราะช่วยขัดเกลากิเลส ทำให้สติ ตั้งมั่นได้ง่าย เมื่อสติมาปัญญาก็เกิด สติปัญญาเป็นมูลเหตุให้เกิดคุณธรรมทั้งปวง นอกจากนี้ ยังมีการให้อีกประเภทหนึ่งที่ได้อานิสงส์มาก เรียกว่า กัลปนา เป็นการให้เพื่อสละออกโดยเฉพาะ เป็นการอุทิศอย่างยิ่งยวด เป็นเรื่องของการขัดเกลาตนเองโดยเฉพาะ เทียบได้กับเรื่องของการปิดทองหลังพระ คือ ไม่คาดหวังว่า การให้หรือการแบ่งปันที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นไปอย่างที่ใจต้องการ เป็นการศิโรราบต่อกฎธรรมชาติ ผู้ให้จึงเป็นเพียงผู้กระทำหน้าที่ไปตามครรลองของมนุษย์ที่จำเป็นต้องเกื้อกูลตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ผู้ให้เป็นเพียงผู้สร้างเหตุ แต่ปล่อยวางผลลัพธ์ เพราะผลที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลตามธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปเพื่อสนองความอยากได้ดั่งใจของใครคนใดคนหนึ่งในโลกนี้เลย ดังนั้น การให้ในระดับกัลปนานี้จึงมีคติอันเป็นที่ไปอย่างชัดเจนก็คือ เพื่อความสิ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง (นิพพาน)

          ๕. สถานที่ (place) 

          ได้แก่ การแบ่งปันที่คำนึงถึงภูมิประเทศ ภูมิสังคม และภูมิวัฒนธรรม ในแต่ละพื้นที่ คงไม่มีใครแบ่งปันเนื้อหมูให้ศาสนิกผู้เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม คงไม่มีใครใส่เนื้อ (มังสะ) ๑๐ อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงไม่อนุญาตให้พระภิกษุบริโภคลงไปในบาตรของพระภิกษุ หรือประเคนเนื้อสดให้พระขบฉัน โดยที่ยังไม่ทำให้สุกเสียก่อน 

          การให้เงินทองแก่ผู้คนที่หิวโหยในพื้นที่สงคราม คงไม่มีประโยชน์มากไปกว่าการให้น้ำและอาหาร ตลอดถึงการให้ที่หลบภัยหรือลี้ภัยเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด

          การแบ่งปันที่ตรงกับความเป็นจริง สามารถพิจารณาได้จากความต้องการที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ ภูมิสังคม และภูมิวัฒนธรรม นั่นก็เพราะ “ภูมิประเทศในแต่ละภูมิภาค เป็นตัวกำหนดภูมิสังคม ภูมิสังคมที่เกิดขึ้น เป็นตัวกำหนดภูมิวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่” ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหา   หรือการพัฒนาใด ๆ จึงต้องคำนึงถึงหลักภูมิสังคมเป็นที่ตั้ง เพราะภูมิสังคมมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับภูมิประเทศและภูมิวัฒนธรรม

          ดังที่ สำนักงาน กปร. ได้อธิบาย หลักการทรงงานข้อที่ ๕ ภูมิสังคม ไว้ว่า“ก่อนจะทำการพัฒนาเรื่องใดในองค์การหรือหน่วยงาน ท่านต้องคำนึงถึงภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ของพื้นที่ที่ท่านจะทำการพัฒนาก่อน โดยต้องทำการศึกษาลงไปในรายละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงหลักการทางสังคมวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอุปนิสัยของคนหรือพนักงาน/ลูกค้าว่ามีอุปนิสัยเป็นเช่นไร วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมที่มีอยู่เดิมของบุคคลในแต่ละกลุ่ม ในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง และในแต่ละพื้นที่ที่จะทำการพัฒนานั้นมีความเหมือน คล้ายคลึง หรือแตกต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นจึงนำทั้งข้อดีและข้อเสียของข้อมูลที่ได้มาจากสภาพโดยรอบมาทำการวิเคราะห์/สังเคราะห์ แยกแยะเอาสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีออกมา เพื่อนำหลักการและวิธีการใหม่ที่ดี เข้าไปพัฒนาและแก้ไขปรับปรุง” 

          จะเห็นได้ว่า สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีความละเอียดอ่อน จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ สิ่งแวดล้อมมีผลต่ออุปนิสัยใจคอ ความเชื่อพื้นฐาน ทัศนคติและวิธีคิดของคนในชุมชน ดังนั้น การจะแบ่งปันสิ่งใดเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขจึงต้องศึกษาเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจเสียก่อน การเข้าใจตนเองเป็นพื้นฐานเบื้องต้น นำไปสู่การเข้าใจผู้อื่น เป็นการฝึกทักษะการยอมรับในความแตกต่างของคนในแต่ละชุมชน แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมร่วมกันบนพื้นฐานของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          สถานที่ นอกจากจะพิจารณาผ่านภูมิสังคมแล้ว ยังสามารถพิจารณาผ่านมุมมองของการกระทำทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าและลับหลังได้ด้วย ในส่วนที่เกิดขึ้นต่อหน้านั้นก็คือรูปธรรมที่คนทั่วไปมองเห็นได้ชัด เช่น บุคคลนี้เป็นคนขยันทำงาน พูดเก่ง ติดต่อประสานงาน ประชาสัมพันธ์เก่ง ผลงานที่เกิดขึ้นเป็นผลงานที่เขาสร้างขึ้นด้วยความรู้สามารถของเขา คนทั่วไปมองเห็นชัดก็ให้การยกย่องชมเชย ให้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ได้อย่างเต็มที่ แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นพื้นที่ที่มองไม่เห็นหรือเห็นได้ยาก ถ้าเปรียบกับองค์พระปฏิมากร ก็คือส่วนที่อยู่ด้านหลังของพระ หรือส่วนที่อยู่ใต้ฐานพระ ในยามที่คนติดทองหน้าพระ ผู้คนทั่วไปก็มองเห็นได้ง่าย ส่วนหลังพระนั้นไม่ค่อยมีใครมองเห็น และน้อยคนที่คิดถึง หรือพยายามทำความเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่ยังต้องการให้คนยอมรับ ยกย่อง สรรเสริญ เขาก็จะเลือกปิดทองหน้าพระมากกว่าจะติดทองหลังพระ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นในสิ่งที่เขากระทำ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการติดทองหลังพระจะไม่มีใครเห็นหรือเห็นได้ยากแต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะหากมีแต่คนคอยติดทองหน้าพระ พระก็ไม่อาจสวยสง่าได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าผู้ติดทองหลังพระอาจจะไม่ได้รับการยกย่อง ชมเชย หรือการยอมรับใด ๆ ก็ตาม แต่หากมองในเชิงคุณค่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปิดทองหลังพระกลับให้ความภาคภูมิใจและอานิสงส์แก่ความมั่นคงในใจอย่างหาประมาณไม่ได้   

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดแก่คณะทำงานด้วยการชี้ให้เห็นคุณค่าแท้ของการเสียสละ ปิดทองหลังพระ ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่เจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจดับเพลิงและบรรดาผู้แทนอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ความว่า

          “ต้องจำไว้นะ งานทุกอย่างนั้นหน่ะ มีด้านหน้าและด้านหลังเหมือนเหรียญบาท งานด้านหน้านั้น มีคนทำกันแยะ และแย่งกันทำ เพราะมีผลเห็นได้ชัด และก็ปูนบำเหน็จกันได้เต็มที่ แต่งานด้านหลังที่ไม่ปรากฏแก่สายตาคนนั้น ต้องเป็นคนที่เข้าใจงานและหน้าที่ของตนจริง ๆ ถึงจะทำได้ และต้องเสียสละด้วย เพราะงานด้านหลังน่ะ เป็นงานปิดทองหลังพระ และต้องยอมรับว่า ไม่มีอะไรตอบแทน นอกจากความภูมิใจในการทำงานในหน้าที่ของตน”

          ๖. กาล (time) 

          ได้แก่ การแบ่งปันที่คำนึงถึงความเหมาะสมในด้านเวลา รู้ว่าเวลาใดควรให้ เวลาใดไม่ควรให้ เพื่อให้เกิดประโยชน์และปราศจากโทษให้มากที่สุด เช่น การถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรควรถวายช่วงเช้าหรือช่วงเพล ไม่ควรเอาไปถวายช่วงเย็น การให้ของขวัญวันเกิด ควรให้เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิด การแสดงมุทิตาจิต ควรแสดงในยามที่คนประสบความสุขความผลสำเร็จในชีวิต ไม่ควรแสดงมุทิตาจิตในยามที่คนเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่รัก การให้อาหารและเครื่องดื่มใด ๆ  ในยามที่ป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ควรให้กินหรือดื่มสิ่งที่แสลงโรคหรือทำให้โรคกำเริบ เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้การแบ่งปันที่เกิดขึ้น “ถูกช่วงจังหวะ” ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่ส่งผลต่อลดทุกข์และสร้างประโยชน์สุขให้กับคนในสังคม

          การให้ที่ถูกช่วงเวลา ก่อให้เกิดคุณมากกว่าโทษ ส่วนการให้เวลาเป็นเรื่องของการแบ่งปันโอกาสให้กับตนเองและผู้อื่นได้เรียนรู้ผ่านความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ มนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งในโลกล้วนมีเวลาจำกัด จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายประการ แต่ทุกสรรพสิ่ง ล้วนถูกเวลากลืนกินไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา) ทุกขัง (ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ต่อไป) อนัตตา (ไม่มีสิ่งใดในโลกคงอยู่จีรังยั่งยืนถาวรโดยไม่เปลี่ยนแปลง) เวลาจึงเป็นสิ่งที่มีค่าต่อมนุษย์ แต่เป็นสภาวะที่ธรรมดาสามัญของธรรมชาติ โลกและจักรวาล

          ในทางพุทธจริยศาสตร์ เรื่องของเวลานั้นมีความสำคัญมากต่อการแบ่งปัน โดยการให้หรือทานนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงเวลา คือ

          ๑) ก่อนให้ (ปุพเจตนา) : เจตนาเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม

          ๒) ขณะให้ (มุญจเจตนา) ได้แก่ เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ของเหล่านั้นเป็นกุศล 

          ๓) หลังจากที่ให้แล้ว (อปรเจตนา) ได้แก่ เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้

          หากบุคคลใดสามารถให้หรือแบ่งปันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ได้ทั้ง ๓ ช่วงเวลานี้ ถือว่า เป็นการให้ทานที่มีอานิสงส์มาก เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่น ๆ และเมื่อดับไปแล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้

          เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่น ๆ และเมื่อดับไปแล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้ ในพระไตรปิฎก ขุทฺทกนิกาย อปทาน แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อน ๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่งเคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้าเป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          ในทางพุทธศาสนา คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึงเจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึง วัตถุคือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทานในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวม ๆ กันไป 

          ๗. ลักษณาการ (position) 

          ได้แก่ ท่าที จุดยืน ตลอดถึงทัศนคติอันเป็นทิศทางของการแบ่งปัน 

          ทิศทางของการแบ่งปัน อาจสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ทิศทาง หากมองในเชิงของการแก้ปัญหาหรือการสร้างปัญหา ทิศทางแรกเป็นการแบ่งปันในลักษณะ “จากล่างขึ้นบน” ทิศทางที่สองเป็นการแบ่งปันในลักษณะ “จากบนลงล่าง” ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

          ๑) ทิศทางการแบ่งปันที่ช่วยแก้ปัญหา

          เป็นการแบ่งปันในลักษณะ “จากล่างขึ้นบน” ซึ่งเป็นลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูล ผลักดัน สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ ตั้งหลักปักฐานได้ มีความมั่นคงทั้งภายนอกและภายใน  มีความยั่งยืนและพัฒนาต่อยอดไปได้ ยกตัวอย่างเช่น การให้โอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป การส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองในด้านการประกอบอาชีพและทักษะการดำเนินชีวิต การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เพื่อพัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหารและปัจจัย ๔ การรักษา/ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น 

          ๒) ทิศทางการแบ่งปันที่สร้างปัญหา

          เป็นการแบ่งปันในลักษณะ “จากบนลงล่าง” เพื่อให้เกิดบริบทของ “ผู้ให้” ที่อยู่เหนือกว่า หรือสูงกว่า “ผู้รับ” เป็นการให้ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง มีความอยากสนองภาวะอำนาจของผู้ให้เป็นการให้ที่ไม่สามารถทำให้ผู้รับเกิดความมั่นคงขึ้นมาได้ทั้งจากภายนอกและภายใน เพราะเป็นการให้ในลักษณะของการดึง ชักใย โดยทำให้ “ผู้รับ” เกิดความรู้สึก “ติดหนี้บุญคุณ” เพื่อที่ “ผู้ให้” จะสามารถทวงบุญคุณผู้รับที่เปรียบเสมือนลูกหนี้ ส่วนตนเองเปรียบเสมือนเจ้าหนี้ที่รอทวงผลประโยชน์ที่ตนเองต้องการ จึงขาดความยั่งยืน ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ ตรงกันข้าม กลับสร้างปัญหาและความเสื่อมถอยทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม การแบ่งปันในลักษณะดังกล่าวนี้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เงินซื้อสิทธิขายเสียงของนักการเมือง การออกนโยบายประชานิยมเพื่อให้ประชาชนรู้สึกติดหนี้บุญคุณนักการเมือง การที่พ่อแม่บางคนเรียกร้องให้ลูกทำทุกวิถีทางเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ตนเลี้ยงมาโดยอ้างคำว่า “กตัญญู” เป็นต้น

          การสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ก่อให้เกิดการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตามธรรมชาติของการเกื้อกูล แต่ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นจากการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” ที่ให้การอุปถัมภ์เฉพาะกลุ่มของตนเท่านั้น การแบ่งปันที่เกิดขึ้นจึงมีแนวโน้มหรือทิศทางที่สร้างปัญหามากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในบางจุด แต่ก็เป็นการสร้างปมปัญหาอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ เพราะขาดการมองอย่างเป็นองค์รวม จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เมื่อมนุษย์มีความใจแคบและเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้องเท่านั้น การแบ่งปันที่เกิดขึ้นจึงขาดความสร้างสรรค์ เป็นเหตุให้เกิดการสร้างปัญหามากมายตามมาภายหลัง

          อย่างไรก็ตาม การให้จากบนลงล่างก็ยังมีความจำเป็นสำหรับสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีกำลังพอที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลได้มอบโอกาสนั้นแก่ผู้ที่ด้อยโอกาส หรือมีต้นทุนทางสังคมไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในด้านทุนการศึกษา การให้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ การแบ่งปันวิทยาการและอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อการประกอบอาชีพ การเปิดพื้นที่เพื่อขยายโอกาสให้กับเครือข่ายภาคประชาสังคมได้เข้ามาร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน โดยมีเจตนาเป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้เกิดความมั่นคง สมดุล และยั่งยืน

          ดังนั้น ทิศทาง ท่าที หรือจุดยืนของสังคมแห่งการแบ่งปันที่ควรจะเป็นจึงควรดำเนินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะส่งเสริมการแบ่งปันที่ช่วยแก้ปัญหา เริ่มจากการพึ่งพาตนเองได้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นเป็นพื้นฐาน จากนั้นจึงขยายการดูแลเอาใจใส่ไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และนานาชาติต่อไป 

          ๘. State : สถานะหรือสภาพ

          ได้แก่ สถานะของผู้ให้และผู้รับตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คำนึงถึงความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น เพื่อให้เกิดสภาวะนี้จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจถึงสถานะของผู้ให้และผู้รับเป็นเบื้องต้นก่อนว่า ผู้ให้นั้นมีความพร้อมที่จะให้โดยไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ ส่วนผู้รับนั้นมีความพร้อมที่จะรับด้วยความเต็มใจ และการรับนั้นก่อให้เกิดความสมดุล ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจหรือไม่ คือ เมื่อรับไปแล้วต้องไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษต่อชีวิต เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คือนอกจากจะเกิดความสมดุลและมั่นคงมากขึ้นแล้ว ยังสามารถเพิ่มโอกาสในการพึ่งพาตนเองเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงในระยะยาว มากกว่านั้น ผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือยังสามารถเกิดความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปันกลับมาสู่ผู้ให้หรือบุคคลอื่น ๆ ในสังคม ตลอดถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดวงจรของความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจอย่างต่อเนื่อง มีการเกื้อหนุนจุนเจืออย่างเป็นวงจร จนเกิดความยั่งยืนในที่สุด 

          ๙. กัตตุภาวะ (action) 

          ได้แก่ เจตนาหรือการวางใจในการให้หรือการแบ่งปัน เช่น เป็นการให้โดย “หวังผล” หรือ “ไม่หวังผล” เพราะคุณภาพของการวางใจทั้งสองแบบนี้ให้ผลที่ต่างกัน

          การให้โดยหวังผล ก่อให้เกิด “ความห่วงกังวล” อันเกิดขึ้นจากความคาดหวัง คือ อยากให้ได้ดั่งใจ คุณภาพทางใจที่เกิดขึ้นจึงได้แก่ “ความทุกข์” ในทางพุทธศาสนา เรียกสาเหตุแห่งทุกข์ในลักษณะนี้ว่า ตัณหา มี ๓ อย่างคือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

          “กามตัณหา” คือ ความอยากได้อยากมี

          “ภวตัณหา” คือ ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ 

          “วิภวตัณหา” คือ ความอยากผลักดันสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการออกไปจากชีวิต

          ตัณหาเหล่านี้สร้างความยึดมั่นถือมั่นในผลลัพธ์ จนเกิดความคาดหวังที่เกินพอดี คือ สุดโต่งในด้านใดด้านหนึ่งแล้วปฏิเสธอีกด้านหนึ่ง เช่น อยากได้แต่ความสำเร็จ ล้มเหลวไม่เอา อยากได้แต่สุข ทุกข์ไม่เอา จะเอาแต่ได้ ไม่เอาเสีย จะเอาแต่ความสมหวัง ไม่เอาความผิดหวัง เป็นต้น ดังนั้น ยิ่งคาดหวังมากจึงยิ่งทุกข์มากเป็นทวีคูณ

          ส่วนคุณภาพของใจที่ไม่คาดหวัง เป็นการวางใจในลักษณะของ “การสร้างเหตุ แต่ปล่อยวางผลลัพธ์” เป็นการทำโดยไม่หวังผล “ทำเพื่อธรรม” หรือ “ให้เพื่อให้” ผู้ที่จะทำเช่นนี้ได้ ต้องมีความศรัทธาในธรรม เห็นคุณค่าในธรรม ไว้วางใจหรือศิโรราบต่อธรรมชาติว่า ธรรมชาติยุติธรรมเสมอตามกฎแห่งกรรม นั่นก็เพราะ ธรรมชาติไม่เคยล้มเหลว (nature does not fail) คือมีธรรมเป็นเจตนาและเป้าหมาย ส่วนประโยชน์สุขเป็นผลพลอยได้ ทำเพื่อสร้างเหตุแต่ปล่อยวางผลลัพธ์ 

          การสร้างเหตุ แต่ปล่อยวางผลลัพธ์นี้ อุปมาเหมือนเราเป็นชาวสวนปลูกต้นพริก หน้าที่ของเรานี้ คือ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช ส่วนหน้าที่ออกดอกออกผล มันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องของต้นพริก เป็นเรื่องของธรรมชาติ ในพุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท กล่าวโดยย่อก็คือ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี... เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ...” เมื่อเราสร้างเหตุได้อย่างพอเหมาะพอดี ความสำเร็จก็จะบังเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันทำให้ใจของเรามั่นคง เพราะเมื่อไม่คาดหวังผลลัพธ์ ในการกระทำสิ่งใด ๆ เราก็จะไม่เกิดความกลัวที่จะต้องผิดหวัง ทุกวันนี้ที่ชีวิตวุ่นวาย เต็มไปด้วยทุกข์ก็เพราะความคาดหวังเช่นนี้ คือไปคิด ไปหวัง แทนต้นพริก อยากให้ต้นพริกออกดอกออกผล ให้ได้ดั่งใจ    ความคาดหวังเช่นนี้จึงเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์เพราะใจถูกครอบงำด้วยตัณหา

          อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงการปรุงแต่งจินตนาการของจิต เป็นความคาดคะเน หาความแน่นอนตายตัวได้ยาก สิ่งที่มนุษย์สัมผัสอยู่ทุกวินาทีคือปัจจุบันเท่านั้น อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่กลับบั่นทอนความสุขในปัจจุบันด้วยความคาดหวังไปอย่างน่าเสียดาย นั่นเพราะมนุษย์ขาดสติ หรือความรู้สึกตัว มนุษย์เอาความรู้สึกตัวไปคิดเรื่องอนาคต จิตใจจึงตกอยู่ในความกลัว ความกังวล แต่ไม่ได้อยู่กับความจริง 

          ในขณะที่กังวลผลลัพธ์อยู่กับผลลัพธ์ที่จะเกิดในอนาคต สิ่งที่ต้องทำก็คือ การสร้างเหตุในปัจจุบัน แต่ผลจะออกมาอย่างไรให้เรายอมรับในทุกทาง ไม่ใช่เลือกยอมรับเฉพาะสิ่งที่เราพอใจ หรือคาดหวัง อะไรที่แก้ไขได้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ ก็ให้ทำตามเหตุ ตามปัจจัยในปัจจุบัน ชีวิตก็จะมีความสุข เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในทุกขณะที่ทำ เมื่อมีโอกาสได้แบ่งปัน ใจก็มีความสุข เพราะให้โดยไม่หวังผลตอบแทน 

          ๑๐. กัมภาวะ (affection) 

              ได้แก่ ผลของการกระทำ อันเป็นส่วนของคุณค่าที่เกิดจากการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความสุข หรือสุขภาวะ แม้แต่การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังมีระบุไว้ข้อหนึ่งว่า “ทำงานอย่างมีความสุข” โดยพระองค์ทรงเคยรับสั่งครั้งหนึ่งว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…” 

          สุขภาวะที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสุขภาวะที่เกิดจากความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืน ซึ่งแตกต่างจากทัศนะความสุขของทางปรัชญาตะวันตก ดังนี้ 

          ๑) ความสุขในรูปแบบลัทธิโซฟิสม์ วางเงื่อนไขไว้กับอารมณ์เป็นที่ตั้ง เช่น ถ้ารู้สึกพอใจ (ชอบ) ก็มีความสุข ถ้ารู้สึกไม่พอใจ (ไม่ชอบ) ก็ไม่มีความสุข เป็นต้น ในขณะที่ความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากการสละออกซึ่งอคติ ไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขของความพอใจ (ฉันทาคติ) หรือไม่พอใจ (โทสาคติ) เป็นที่ตั้ง แต่วางอยู่บนเงื่อนไขของความรอบรู้และเงื่อนไขของคุณธรรม

          ๒) ความสุขในรูปแบบลัทธิรตินิยม วางเงื่อนไขไว้บนความโลภ โดยกระตุ้นให้มนุษย์พยายามกอบโกยความสุขในรูปแบบของวัตถุและกามสุขให้มากที่สุดในขณะที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งคล้ายกับลัทธิจารวากของปรัชญาอินเดียที่มุ่งเน้นกามสุขเป็นหลัก ในขณะที่ความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเกิดจากใจที่รู้จักพอ เป็นความสุขที่เกิดจากความไม่เบียดเบียนเป็นพื้นฐาน ยิ่งมีความโลภน้อย ก็ยิ่งเบียดเบียนได้น้อยลง มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น การที่สามารถสละออกซึ่งความโลภ ความเห็นแก่ตัว มีความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปันให้กับผู้อื่น ปรารถนาให้สังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์สุขร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นความพอเพียงในระดับก้าวหน้าที่ใส่ใจต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยความรู้รักสามัคคี 

          ๓) ความสุขในรูปแบบลัทธิเอพิคีวเรียน วางเงื่อนไขไว้บนความสุขที่ยาวนานและมากที่สุด  แต่มุ่งเน้นความสุขในเชิงวัตถุนิยมเป็นที่ตั้ง เช่น สอนให้คนอดออมไว้ เพื่อในอนาคตข้างหน้าจะได้มีโอกาสร่ำรวยเป็นเศรษฐี เป็นต้น แม้ว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะสอนในเรื่องของการประหยัด อดออม แต่เป็นเพียงกระบวนการส่วนหนึ่งที่มีไว้สำหรับพิจารณาเกณฑ์คุณค่า เช่น ในหลักการทรงงานที่มีชื่อว่า “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” นั้น ประหยัดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการประหยัดเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง การประหยัดในมิติอื่น ๆ เช่น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดทรัพยากร เป็นต้น ของบางอย่างแพง แต่ใช้ได้นานกว่า ทนทานกว่า ก็ถือได้ว่าประหยัด หากมีความคุ้มค่ากว่าของราคาถูก แต่ใช้ไม่นานก็พังเสียหาย ส่วนคำว่าเรียบง่ายนั้น คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความยุ่งยาก ซับซ้อน ล่าช้า เช่น การสร้างนวัตกรรมใดก็ตามจะต้องคำนึงถึงความเรียบง่าย ในการใช้งาน มีความสะดวกรวดเร็ว แต่อุดมด้วยคุณภาพ คือ ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตรงตามหลักวิชาการ เมื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่มีต้นทุนสูงกว่า เป็นต้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนรวม ดังนั้น ความสุขในรูปแบบลัทธิเอพิคีวเรียน จึงแตกต่างจากความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้คิดถึงแต่ความพึงพอใจตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เน้นเฉพาะคุณภาพ ปริมาณ และความยาวนานของความสุขบนเงื่อนไขของวัตถุ แต่เน้นคุณภาพชีวิตของความสุขที่เกิดจากความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล บนเงื่อนไขของความรอบรู้และคุณธรรม

          ๔) ความสุขในรูปแบบลัทธิสโทอิก วางเงื่อนไขไว้บนความสุขที่เกิดจากอุเบกขา คือ การใช้ชีวิตอย่างพอดี ๆ ไม่เสพความสุขหรือทุกข์มากจนเกินไป ทางที่ดีกว่านั้นคือหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นทุกข์ต่อร่างกายความรู้สึก โดยใช้ชีวิตตามความจำเป็นก็พอ หากพิจารณาสภาวะแห่งความสุขดังกล่าวนี้จะมีความคล้ายคลึงกับความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของสมดุลชีวิต ละเว้นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่สภาวะของความพอประมาณ หรือความพอเพียงเฉพาะตน เพราะในเงื่อนไขคุณธรรมส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันอยู่ด้วย ซึ่งหากเกิดการร่วมด้วยช่วยกันในเชิงเครือข่ายสังคม ก็จะเกิดการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปัน เป้าหมายของการขับเคลื่อนก็คือ ความสุข เป็นสุขภาวะที่เกิดจากการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันทั้งในส่วนของภูมิปัญญาและภูมิธรรม ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีความสมดุล มีความมั่นคง และมีความยั่งยืน

          ๕) ความสุขในรูปแบบลัทธิปัญญานิยม วางเงื่อนไขไว้บนความสุขที่เกิดจากความฉลาดและปรีชาญาณ มีมาตรการว่า “คุณธรรม คือ ความรู้” คนมีความรู้จึงมีความสุขได้อย่างแท้จริง ทั้งโลกนี้และโลกหน้าหากจะมีโลกหน้าไม่ว่าในแบบใด ความสุขในรูปแบบนี้มีความใกล้เคียงกับสุขภาวะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด เพราะสอดคล้องกับเงื่อนไขของปัญญาและคุณธรรม แต่สิ่งที่ต่างกันเป็นเรื่องขององค์รวมแห่งการพัฒนา กล่าวคือ ลัทธิปัญญานิยมจะเน้นความสุขทางปัญญาเป็นสำคัญ จึงปฏิเสธความสุขในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ความสุขทางปัญญา แต่สุขภาวะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยอมรับความสุขในทุกระดับหรือทุกสัญชาตญาณ เพียงแต่ต้องมีความพอเพียง คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เช่น ความสุขในระดับสัญชาตญาณสสารจำเป็นต้องมี แต่ต้องไม่มากเกินไปจนเฉื่อยหรือเกียจคร้าน และมีไม่น้อยเกินไปจนขาดการพักผ่อนจนส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางกายและอารมณ์ เป็นต้น 

          ดังนั้นจึงกล่าวสรุปได้ว่า กัมภาวะ หรือผลลัพธ์ของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืน 

          “ความสมดุล” เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากใจที่รู้จักพอ มีสติปัญญา เป็นการแบ่งปันที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แต่มีการเกื้อกูลกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ทั้งในมิติของคน วัตถุ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม  

          “ความมั่นคง” เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากจิตใจที่ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียงไปตามตัณหาและอคติ ดำรงตนอยู่ในสัจจะด้วยความเข้มแข็ง มีวินัยที่สอดคล้องกับธรรมชาติ 

          “ความยั่งยืน” เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ แก้ปัญหาได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตได้ มีความตระหนักรู้คู่คุณธรรม มีความพออยู่พอกิน (living in contentment) และมีความรู้รักสามัคคี (living in harmony and unity or oneness)  

          สภาวะทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวนี้ คือ สภาวะของความสุขที่เกิดขึ้นจากสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วน “ความมั่งคั่ง” นั้นถือว่า เป็นเพียงผลพลอยได้ตามเหตุตามปัจจัย สิ่งสำคัญก็คือ ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความสุข เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

          จากการศึกษาสภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกรอบของ “ปทารถะ” (categories 10) มาทั้งหมดนี้ สามารถสรุปได้ว่า สภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงวางอยู่บนพื้นฐานปรัชญาจริยะ โดยถือว่าเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงของกายและจิต ในเชิงของกาย ได้แก่ การแบ่งปัน (sharing) สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ในเชิงของจิต ได้แก่ ความใส่ใจ (caring) ความมีน้ำใจ ความเมตตา การดูแลบนพื้นฐานของใจที่รู้จักพอ ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “จาคะ” ในคุณธรรมสากล เรียกว่า “Dikiosune” หรือ “การให้  ตามความเหมาะสม” ทรรศนะนี้อยู่บนหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่จะต้องห่วงใยดูแลผู้อื่น (care the other) หรือที่เรียกว่า จริยธรรมดูแล เป็นไปเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขบนพื้นฐานของความไม่เบียดเบียน เป็นการให้เพื่อผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ทั้งจากภายในและภายนอก คำนึงถึงความเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งในด้านเวลาและสถานที่ด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน สภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีผลต่อการขัดเกลาจิตใจตนเองและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความสมดุลระหว่างผู้ให้และผู้รับ สร้างความมั่นคง และความยั่งยืนที่เกิดจากการเกื้อกูลซึ่งกันและกันทั้งจากภายนอกและภายใน

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๙๕ - ๑๑๔.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท