การบริหารตนตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ


การบริหารตนตามหลักพุทธธรรมสำหรับนักธุรกิจ

              หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารตนมีมากมาย จึงเลือกเฉพาะในส่วนที่เหมาะสมกับการบริหารตนสำหรับนักธุรกิจ ได้แก่ ฆราวาสธรรม ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ปาปณิกธรรม และ สัปปุริสธรรม หลักธรรมทั้ง 4 หมวดนี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการฝึกฝนขัดเกลาตนเองจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ดังนี้

 

สังเคราะห์การบริหารตนตามหลักฆราวาสธรรม 4

              ฆราวาสผู้ครองเรือนดำรงชีวิตแตกต่างจากเพศบรรพชิตตรงที่ เพศบรรพชิตหรือนักบวชเป็นผู้ที่ไม่หุงหาอาหาร ชีวิตเป็นไปเพื่อการละ การปล่อย การวาง การไม่สะสม เป็นการดำเนินชีวิตที่เนื่องด้วยฆราวาส คืออยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 ที่ฆราวาสได้ให้การอนุเคราะห์ ช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อสนับสนุนให้เพศบรรพชิตได้ดำเนินวิถีพรหมจรรย์ไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์คือพระนิพพาน ส่วนฆราวาสผู้ครองเรือนนั้น ชีวิตเป็นไปเพื่อความมี เพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ต้องหุงหาอาหาร ต้องประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงบริวาร หลายครั้งจำเป็นต้องมีการแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในโลกธุรกิจซึ่งมีการแข่งขันกันในระดับสูง ต่างฝ่ายต่างวางยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ เพื่อชิงชัยเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย นักธุรกิจบางคน บางกลุ่ม บางบริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่เอาเปรียบลูกค้า ขาดความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ไร้สัจจะ บางครั้งปัญหาเหล่านี้เกิดกับคู่ค้า ผู้ร่วมถือหุ้น ร่วมดำเนินการ ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลมทางจิตใจเกิดขึ้นเพราะเกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการขาดความจริงใจต่อกันในวงการธุรกิจ

              ฆราวาสธรรม 4 ข้อแรกนั้นจึงให้ความสำคัญกับความมี “สัจจะ” คำว่าสัจจะในที่นี้นอกจากจะหมายถึงความจริง การดำรงชีวิตที่อยู่กับความเป็นจริงแล้ว ยังหมายถึง ความจริงใจ ซึ่งความจริงใจดังกล่าวนี้ก็คือความสัตย์จริงที่ออกมาจากใจนั่นเอง เมื่อมีความจริงใจก็จะส่งผลให้วาจามีความจริงตามไปด้วย และการกระทำก็จะจริงตามไปด้วย

            ดังนั้น หลัก “สัจจะ” ซึ่งเป็นหลักธรรมข้อแรกในฆราวาสธรรมนี้ จึงเป็นหลักในฝึกฝนตนเองให้เกิดภาวะผู้นำ ทำให้บริวารไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน คู่ค้า ลูกค้า เกิดความเชื่อถือ ให้ความไว้วางใจกันได้ เพราะมีบุคลิกภาพและความประพฤติที่ตรงกับความจริง คือ จริงใจ จริงวาจา และจริงการกระทำ ในส่วนผู้ตามที่มีสัจจะย่อมเป็นที่ไว้วางใจของผู้นำและเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงลูกค้าที่มารับบริการจากผู้ตามด้วย การอยู่กับความจริงนอกจากจะสร้างแรงศรัทธาให้เกิดขึ้นกับคนรอบข้างแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนและขัดเกลาจิตใจตนเองให้สัมผัสกับธรรมะคือความจริงในทุกๆ วัน พลังแห่งสัจจะสามารถช่วยให้เกิดคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม บุคคลที่อยู่กับความจริงย่อมเกิดการพัฒนาคุณลักษณะทางความคิดและสติปัญญา (Conceptual Characteristics) หมายถึง ความฉลาดหลักแหลมของผู้นำ สามารถคิด วิเคราะห์ และคาดการณ์ได้อย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาที่มีความซับซ้อนก็สามารถเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกำหนดแนวทางตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม สัจจะที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดความต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องมีธรรมข้อที่สองคือ “ทมะ” เคียงคู่ไปด้วยกันในด้านของการฝึกฝน

              ทมะ แปลตรงๆ คือ การข่มใจ หากไม่วิเคราะห์ให้กระจ่างอาจถูกตีความผิดเพี้ยนไปว่า การข่มใจดังกล่าวนี้เป็นความอดทนภายในใจในการกดข่มกิเลสไม่ให้เฟื่องฟูขึ้นมา แต่แท้ที่จริงแล้ว ทมะเป็นมากกว่านั้น เพราะเนื้อแท้ของ “ทมะ” คือ การฝึกฝนตนเองในทุกๆ วันให้เป็นผู้ที่มีสัจจะอย่างต่อเนื่อง โดยกระทำความจริงให้ปรากฏชัดในใจของตนอยู่เนืองๆ คือต่อเนื่องไม่ขาดสาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

              ส่วนที่ 1 สังวรปธาน เป็นการฝึกฝนอบรมตนให้มีความระมัดระวังในบาปอกุศล

              ส่วนที่ 2 ปหานปธาน เป็นการฝึกฝนอบรมตนให้มีความพยายามละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

              ส่วนที่ 3 ภาวนาปธาน เป็นการฝึกฝนอบรมตนให้มีความพยายามสร้างสรรค์และเพิ่มพูลกุศลธรรมให้เกิดขึ้นในใจ

              ส่วนที่ 4 อนุรักขนาปธาน เป็นการฝึกฝนอบรมตนให้รู้จักรักษากุศลธรรมที่เกิดแล้ว ไม่ให้เสื่อมถอยลงไป

              การฝึกฝนอบรมตนทั้ง 4 ส่วนนี้วิเคราะห์ขยายความได้ว่า การบริหารตนจำเป็นต้องมีสติปัญญารักษาตนด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อเผลอสติ โดยเฉพาะบาปอกุศลที่อาจเกิดขึ้นในใจอยู่ตลอดเวลา นักธุรกิจโดยมากมักถูกความโลภครอบงำเพราะมีเจตนามุ่งแสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง และการแสวงหากำไรนั้นเป็นการตั้งเจตนาเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและ/หรือพวกพ้องเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านักธุรกิจโดยทั่วไปมีการศึกษาเล่าเรียนในด้านธุรกิจแบบตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจของตะวันตกยังมีปัญหาอยู่ตรงที่เน้นการแข่งขันชิงชัย เน้นการแสวงหาผลกำไรและความสุขจากวัตถุมากจนเกินไป แม้ว่าจะมีการส่งเสริมศักยภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดถึงความสร้างสรรค์ให้เกิดแก่ผู้เรียน แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจและผลประโยชน์ จึงขาดการเชื่อมต่อทางด้านความรู้สึกที่เป็นเรื่องของความรักและความเข้าใจ เพราะไม่ให้ความสำคัญด้านคุณธรรมจริยธรรมภายในมากไปกว่าผลประโยชน์ทางวัตถุภายนอก แนวคิดเช่นนี้จึงก่อให้เกิดปัญหาด้านทัศนคติแก่นักธุรกิจที่ขาดความระมัดระวังในบาปอกุศล ก่อให้เกิดความเชื่อที่ผิดเพี้ยนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้น สังวรปธานจึงมีคุณค่าสำหรับการฝึกฝนอบรมตนให้มีความระมัดระวังในบาปอกุศล คือ รู้จักกระทำต่อใจของตนเองอย่างถูกวิธี คือไม่ตั้งเจตนาของการทำธุรกิจที่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนผู้อื่น ระมัดระวังไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้ามาครอบงำได้ จึงเป็นการบริหารตนเพื่อให้มีศักยภาพภายในที่เข้มแข็ง มีป้อมปราการที่แข็งแรงคือสติเป็นเครื่องกั้นกิเลสที่เกิดขึ้นภายในใจไม่ให้ลุแก่อำนาจจนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้จนเกินพอดี 

              เมื่อใจมีสติเป็นเครื่องกั้นบาปอกุศล (โลภะ โทสะ โมหะ) ได้แล้ว การฝึกฝนอบรมตนให้มีความพยายามละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่เรียกว่า “ปหานปธาน” ก็มีความสำคัญเป็นลำดับต่อมา เพราะการบริหารตนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจว่าตนเองเป็นคนเช่นไร อาจเริ่มจากการสำรวจข้อบกพร่องของตนเองแล้วทำการแยกแยะออกมาว่าความบกพร่องดังกล่าวนั้นเกิดมาจากสาเหตุใด ความบกพร่องบางอย่างเป็นเรื่องของศักยภาพด้านการคิด การคำนวณ ความสามารถ ทักษะ/ประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้แก้ได้โดยการยอมรับตนเอง พัฒนาตนเอง หรือการแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับความสามารถในแต่ละบุคคล แต่ความบกพร่องอันเกิดจากบาปอกุศลเป็นตัวขับเคลื่อนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องลด ละ เลิกออกไปจากจิตใจ การบริหารตนจึงจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อยางแท้จริง ตนเองรู้ว่าอุปนิสัยใดเป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ให้ยอมรับตนเองตามที่เป็นจริง อย่าพยายามหาข้อแก้ตัวแก้ต่างเพื่อปกป้องบาปอกุศลเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป เมื่อยอมรับตนเองตามที่เป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตใจก็ปล่อยวางเพราะเห็นโทษภัยอันจะเกิดขึ้นกับตนเองและส่วนรวม เมื่อทำได้เช่นนี้ ความเห็นอกเห็นใจ การเอาใจเขามาใส่ใจเราก็จะเกิดขึ้น ความสร้างสรรค์ทางธุรกิจก็จะเกิดประสิทธิภาพขึ้น เพราะจะทำธุรกิจใดๆ ผู้ที่พัฒนาตนแล้วย่อมดำเนินธุรกิจให้เห็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่นได้อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

              เมื่อบุคคลสามารถละบาปอกุศลได้แล้ว การบริหารตนในขั้นต่อไปจึงได้แก่ “ภาวนาปธาน” เป็นการฝึกฝนอบรมตนให้มีความพยายามสร้างสรรค์และเพิ่มพูนกุศลธรรมให้เกิดขึ้นในใจ กุศลในทางพุทธศาสนา ได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ (ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง) เมื่ออธิบายมาถึงจุดนี้อาจก่อให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า การทำธุรกิจนั้นหากไม่มีความโลภ ความอยากได้ แล้วจะทำธุรกิจไปเพื่ออะไร เพราะเป้าหมายทางธุรกิจนั้นต้องเป็นไปเพื่อการแสวงหากำไร ยิ่งได้มากก็ยิ่งดี

              ผู้วิจัยวิเคราะห์ได้ว่า การบริหารตนตามหลักทมะในข้อฆราวาสธรรมนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรแต่อย่างใด สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตนาในการทำธุรกิจ ผู้กระทำนั้นตั้งจิตหรือตั้งเจตนาในการกระทำให้เป็นไปในทิศทางใด ในที่นี้ขอแบ่งเจตนาในการกระทำออกเป็น 3 อย่างคือ ทำเพื่อเอา ทำเพื่อให้ ทำเพื่อธรรม

              1) ทำเพื่อเอา ได้แก่ การทำเพื่อสนองความสำเร็จของตนเอง ทำเพื่อต้องการให้คนยอมรับ ทำเพราะต้องการเป็นคนสำคัญ ทำเพื่ออำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน ทำเพื่อครอบครองจับจองเป็นเจ้าของธรรมชาติ

              2) ทำเพื่อให้ ได้แก่ การให้เพื่อให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อไมตรีจิตอันปราศจากโลภะ ให้โดยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ให้โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำให้เป็นไปเพื่อความสุขส่วนรวม

              3) ทำเพื่อธรรม ได้แก่ ทำโดยมีธรรมเป็นเป้าหมายหลัก ทำด้วยเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ผลของการทำจะออกมาเป็นเช่นไรก็บูชาธรรมคือไม่หวังเอามาเป็นของตน เป็นการทำเพื่อรักษาธรรมเป็นหลัก ทำเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคนรวมทั้งตนเองด้วย

              ผู้วิจัยวิเคราะห์ได้ว่า ข้อบกพร่องของแนวคิดทฤษฎีการบริหารทางตะวันตกนั้นมีเจตนาทำเพื่อเอา คือเอาผลกำไรส่วนตัวเป็นที่ตั้ง จึงมุ่งความสำเร็จเพื่อตอบสนองอัตตาของตนเองเป็นหลัก ทำให้เกิดความคาดหวัง ยิ่งหวังมากยิ่งมีแรงบีบคั้นในใจเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่สมดังหวังก็ทุกข์ เมื่อสมหวังก็มักจะเกิดการเบียดเบียนเพราะทำไปเพื่ออำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน และเพื่อครอบครองจับจองเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ

              ส่วนการทำเพื่อให้ แม้จะดีกว่าการทำเพื่อเอา แต่ถ้าการให้นั้นถูกปฏิเสธคุณค่าเพราะความไม่เข้าใจของเพื่อนมนุษย์ ผู้ให้ก็มักจะท้อแท้ หดหู่ รู้สึกว่าทำดีไม่ได้ดี หมดกำลังใจในการทำเพื่อผู้อื่น แต่ก็มีข้อดีตรงที่ยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คือเริ่มออกจากความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าจะให้เกิดการบริหารตนอย่างสูงสุด ต้องพัฒนาไปให้ถึงการทำเพื่อธรรม การทำธุรกิจการงานจะกลายเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาพัฒนาจิตใจตนเองในทุกๆ วัน ในแต่ละวันนั้น ผู้ฝึกฝนอบรมตนจะทำการตรวจสอบหรือประเมินตนเองได้ว่าสามารถละบาปอกุศลได้แค่ไหน สามารถปลูกสร้างกุศลธรรมได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และกุศลธรรมที่มีอยู่แล้วได้ถูกพัฒนามากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ การพัฒนาอบรมฝึกฝนตนเองได้เช่นนี้ชื่อว่าเป็นการบริหารตนตามหลัก “ทมะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก “ฆราวาสธรรม 4” บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยหลักทมะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารตนให้มีคุณลักษณะทางด้านการทำงาน (Technical Characteristics) หมายถึง การเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถปฏิบัติงาน สามารถแก้ปัญหาในงานที่เกิดขึ้น รู้จักวิธีการถ่ายทอดและสอนงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจะฝึกฝนอบรมตนเองให้พัฒนาศักยภาพได้ตลอดนั้นจำเป็นต้องสร้างตบะธรรมให้แก่กล้าด้วยขันติธรรม ธรรมะคือขันตินี้จึงเป็นธรรมลำดับที่สามที่สำคัญของหลักฆราวาสธรรม 4

              ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้น ช่วยให้การฝึกฝนอบรมตนเองเกิดความต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพราะมีใจที่เข้มแข็ง ไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอยโดยง่าย ผู้ที่ขาดการฝึกฝนในด้านขันติธรรมมักเป็นคนโลเล ไม่มั่นคง ในยามที่เจออุปสรรคก็มักจะคลายความอดทน ลุแก่อำนาจ ลุแก่กิเลสของตนได้โดยง่าย เพราะความอดทนดังกล่าวนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา คือเป็นแค่ลักษณะทนๆ กันไป 

              ขันติธรรมจะเกิดประสิทธิภาพอันสูงสุด ผู้ฝึกฝนอบรมตนจะต้องสร้าง “ความเข้าใจ” ให้เกิดขึ้น ความเข้าใจในที่นี้หมายถึงความเข้าใจในตนเองและความเข้าใจในผู้อื่น ความเข้าใจในตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เข้าใจในเป้าหมายที่ตนเองกำลังดำเนินไป เข้าใจถึงเจตนาของตนเองว่าทำไปเพื่ออะไร เมื่อเข้าใจเป้าหมายและเจตนาได้เช่นนี้ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าเส้นทางที่ยอมเหนื่อยยากลำบากนี้มีความหมายต่อชีวิตของตนเองเช่นไร ส่วนความเข้าใจผู้อื่น ได้แก่ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นว่าต่างก็เกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขกันทั้งนั้น การเข้าใจผู้อื่นเช่นนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างสูงสุด เพราะจะเกิดการละความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้จนเกินพอดี เมื่อประกอบธุรกิจใดๆ ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการดำรงตนอย่างไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติ เป็นการดำเนินตามหลักขันติธรรมที่เข้าใจความหมายของชีวิต คือเข้าใจเจตนารมณ์ของตนและเป้าหมายที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและผู้อื่น คือเห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลัก ขันติธรรมนี้จะเกิดพลังเพิ่มพูนทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยความเข้าใจ และทำให้งานธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้โดยธรรม บุคคลที่ฝึกฝนขันติธรรมได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารตนให้มีคุณลักษณะส่วนตัว (Personal Characteristics) หมายถึง คุณลักษณะส่วนตัวโดยทั่วไป อาทิ มั่นใจในตนเอง มั่นคงทางอารมณ์ สามารถเก็บความรู้สึกในโอกาสอันควร รักษาความลับ มีความรับผิดชอบสูง มีความทะเยอทะยาน มีความรอบคอบ มีความกระตือรือร้น มีความมุ่งมั่นตั้งใจไม่ย่อท้อ และมีความเสมอต้นเสมอปลาย เป็นต้น 

              การพัฒนาตนขั้นต่อไปของหลักฆราวาสธรรมสี่ก็คือ “จาคะ” เป็นการพัฒนาตนให้รู้จักการแบ่งปันเพื่อให้เข้าถึงประโยชน์ส่วนรวม สร้างการมีส่วนร่วม ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในกลุ่มการทำงาน จาคะมีอยู่สองแบบ คือจาคะภายในกับจาคะภายนอก จาคะภายใน ได้แก่ การยอมสละอัตตา บาปอกุศล เพื่อธำรงไว้ซึ่งธรรม จาคะภายนอกได้แก่การแบ่งปัน คำว่าแบ่งปันในที่นี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า มีความแตกต่ากันในลักษณะของการให้ การ “แบ่ง” หมายถึง การ “แบ่ง” ผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยให้เหมาะสมตามที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วนคำว่าปันหมายถึง การที่บุคคลยอมนำส่วนแบ่งของตนเองที่ได้รับมาแล้ว “ปัน” ให้ผู้อื่นเพื่อเห็นว่าสัดส่วนของการแบ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยยึดความจำเป็นที่เกิดขึ้นเป็นหลัก เช่น มีชาย 4 คนออกเรือไปหาปลาด้วยกัน ได้ปลามา 8 ตัว ตัวละเท่าๆ กันจึงแบ่งให้คนละ 2 ตัวเท่าๆ กัน ในขณะนั้นมีบุคคลหนึ่งเห็นว่าตนเองอยู่คนเดียวไม่มีครอบครัว กินคนเดียวตัวเดียวก็อิ่มจึง “ปัน” ปลาในส่วนของตนให้อีกบุคคลหนึ่ง เพราะเห็นว่าบุคคลนั้นมีสมาชิกในครอบครัวอยู่หลายคนหากได้ปลาไปแค่ 2 ตัวคงสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวให้อิ่มท้อง เป็นต้น 

              การบริหารตนด้วยการฝึกฝนจาคะเช่นนี้เป็นการสร้างภาวะผู้นำให้เข้าถึงการเป็นผู้ให้ที่มีใจเที่ยงธรรม มีใจกว้างขวางเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อได้ขึ้นเป็นผู้นำหรือผู้บริหารความประพฤติเช่นนี้จะก่อให้เกิดความรัก ความศรัทธา มิตรภาพในวงกว้าง จะทำธุรกิจใดๆ ก็จะมีผู้สนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเต็มที่ตามสติ ตามกำลังความสามารถ ส่วนผู้ตามที่มีจาคะ ย่อมได้รับการสรรเสริญให้ให้คุณค่าความสำคัญจากผู้นำ ผู้ตาม และลูกค้าที่ใช้บริการ ทำให้เป็นที่รักของคนรอบข้าง ดังนั้น คุณธรรมคือจาคะนี้จึงเป็นหลักพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมานฉันท์ รู้รักสามัคคี รู้จักการแบ่งปันให้กับสังคม

              บุคคลผู้พัฒนาตนด้วยหลักจาคะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารตนที่มีลักษณะทางความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Characteristics) หมายถึง การมีทักษะในการติดต่อสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่น มีทัศนคติที่ดีเป็นที่ยอมรับ และเป็นตัวอย่างที่ดีกับสังคมโดยทั่วไป

              กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักฆราวาสธรรม 4 มีความสำคัญในการบริหารตนให้เกิดความสุขในการดำเนินชีวิตแบบฆราวาสหรือคฤหัสถ์ เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเพราะมีสัจจะและทมะ เป็นเหตุทำให้เกิดทรัพย์เพราะมีขันติธรรม มีความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงสามารถหาทรัพย์ได้ด้วยความบากบั่นไม่ย่อท้อ เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ มีกัลยาณมิตรรอบตัวเพราะดำเนินธรรมคือจาคะได้บริบูรณ์ เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

              

สังเคราะห์การบริหารตนตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

                  ประโยชน์ในทางพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ ประโยชน์ในภพนี้หรือปัจจุบัน ประโยชน์ในภพหน้าหรือโลกหน้า และประโยชน์อันสูงสุดหรือนิพพาน หากวิเคราะห์ประโยชน์ทั้ง 3 แล้วจะพบว่า ประโยชน์อันสูงสุดถือเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนประโยชน์ในโลกหน้าเป็นเพียงผลพลอยได้หรือเป็นแค่ทางผ่านก่อนจะไปถึงเป้าหมายสุดท้าย แต่สำหรับประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมากที่สุดคือประโยชน์ในปัจจุบัน อันเป็นมรรคหรือเส้นทางไปสู่เป้าหมายสุดท้าย ซึ่งสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ได้แก่ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 ประการ คือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546, หน้า 116) 

                  1) อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี 

                  มีพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับอุฏฐานสัมปทา ดังนี้

                  “อุฏฐานสัมปทา ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา” (องฺ. อฏฺฐก. 23/144/222)

                  หลักธรรมในข้อนี้วิเคราะห์ได้ว่า การบริหารตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญประการหนึ่งได้แก่ ความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ความหมั่นเพียรในที่นี้เป็นความหมั่นเพียรโดยสุจริตธรรม คำนึงถึงความเป็นธรรมหรือมีธรรมาภิบาล เช่น มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและให้เกียรติซึ่งกันและกันตามความเป็นจริง อีกประการหนึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นหลักธรรมที่ช่วยสร้างภาวะผู้นำให้เกิดความขยันบนรากบานของปัญญา คือขยันถูกทางเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะความขยันที่ไร้ทิศทางหรือไม่เป็นไปเพื่อธรรมย่อมมีความเสี่ยงทำให้งานที่ทำเกิดความเสียหายแก่ตนและส่วนรวมได้ นอกจากนี้การขยันอย่างมีปัญญายังช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีธรรมเป็นเป้าหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการสร้างภาวะผู้นำอย่างมีส่วนร่วม

                  ในอดีตผู้นำทางธุรกิจมีบทบาทในการนำ ส่วนผู้ตามก็มีหน้าที่ทำตามคำสั่งของผู้นำ ซึ่งทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความกดดัน อึดอัด หรืออาจเกิดความคับแค้นใจหากผู้นำไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตามอย่างเพียงพอ เมื่อใดที่ผู้ตามทำถูกก็จะได้รางวัล แต่เมื่อทำผิดก็จะถูกลงโทษทั้งๆ ที่ผู้ตามหรือทีมงานไม่ได้อยู่ในฐานะที่สามารถออกความเห็นใดๆ ได้ในการบริหารลักษณะนี้ ในขณะที่โลกปัจจุบันได้หมุนเวียนเปลี่ยนไป หลักธรรมในข้อนี้เป็นการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ตระหนักรู้ว่าผู้นำทางธุรกิจนอกจากจะต้องมีความขยันหมั่นเพียรและกระตุ้นให้ทุกคนได้เกิดความขยันไปด้วยกันแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้นำต้องมีปัญญาตระหนักรู้ว่าแม้ตนเองจะมีความเก่งกาจหรือฉลาดและขยันสักเพียงใดแต่ก็ยังมีจุดอ่อนได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ความขยันที่พึงเกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในปัจจุบันได้อย่างเต็มที่จึงเป็นลักษณะของการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขยัน โดยเน้นการมีส่วนร่วม เน้นการกระจายอำนาจ เน้นการเปิดพื้นที่ให้กับทางเลือกที่เป็นไปได้ และสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันคือเน้นการทำงานร่วมกันด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่คาดหวังให้การกระทำใดๆ เป็นไปอย่างใจตนเอง แต่เน้นฉันทามติหรือเน้นการตัดสินใจที่ทุกคนยอมรับ แม้ว่าจะได้รับผลที่ไม่สมบูรณ์แบบได้ดังใจตนเอง ยอมรับความคิดที่แตกต่างและเชื่อมั่นว่าสิ่งดีๆ และความก้าวมักเกิดขึ้นจากความคิดที่แตกต่าง ซึ่งเป็นคุณลักษณะทางด้านการทำงานของผู้นำที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถปฏิบัติงาน นอกจากนี้ควรฝึกตนเองให้รู้จักการกระจายอำนาจต่อผู้ร่วมงานเพื่อให้เกิดการบริหารอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นคือไม่ปกปิดหรืออำพรางไว้แต่เปิดเผยข้อมูลอย่างทั่วถึง ใช้ฉันทามติที่เกิดขึ้นเป็นพันธสัญญาร่วมกัน ไม่ยึดติดความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง ให้เกียรติกันวางใจกันและกัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นให้เปิดพื้นที่แก่คณะทำงานเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักการแก้ปัญหาร่วมกันโดยไม่แสดงออกซึ่งการคัดค้าน แต่สนับสนุนให้คณะทำงานได้บริหารจัดการตนเองและฝึกรับผิดชอบร่วมกัน หากแต่ละฝ่ายบริหารตนเองได้เช่นนี้ การกระทำก็จะเกิดความซื่อสัตย์ในหน้าที่การงาน ทำให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

                  2) อารักขสัมปทา หมายถึง ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย

                  มีพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับอารักขสัมปทา ดังนี้

                  “อารักขสัมปทา ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวชอบธรรม ได้มาโดยธรรมเขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา

                  หลักธรรมในข้อนี้วิเคราะห์ได้ว่า การบริหารตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญประการอีกหนึ่งได้แก่ การรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร พระพุทธเจ้าตรัสสอนเหตุแห่งความเสื่อมไว้มากมาย เมื่อพิจารณาจากพุทธพจน์ตรงท่อนที่ว่า “ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป” ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า ในอดีตนั้นอาจมีเหตุที่ทำให้พระราชาเข้ามายึดทรัพย์สินไปได้ เหตุดังกล่าวอาจจะเกิดจากการหาทรัพย์มาด้วยความทุจริตหรือเบียดเบียนคนอื่น ถ้ามองในปัจจุบันอาจได้แก่ การรักษาโภคทรัพย์ไว้ด้วยการทำให้ถูกกฎหมาย คือจะต้องเรียนรู้ว่าอาชีพการงานของตนนั้นทำอย่างไรจึงจะถูกกฎหมายก็พึงกระทำ ทำอย่างไรผิดกฎหมายก็พึงเว้น ศึกษาถึงระบบภาษีที่ตนต้องชำระว่าจะมีทางใดที่สามารถลดภาษีลงได้ด้วยความชอบธรรม มีความถูกต้อง ไม่โดนเรียกภาษีย้อนหลัง หรือเสียค่าปรับที่เกินจำเป็น จะทำให้เสียทรัพย์โดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ทรัพย์ที่หามาได้จะต้องรู้จักเก็บเอาไว้ในสถานที่ปลอดภัยและวางใจได้ เช่น ฝากไว้ในธนาคาร ในตู้เซฟ เป็นต้น นอกจากนี้ อาคารบ้านเรือน สถานประกอบธุรกิจที่เก็บเงินและทรัพย์สินอันมีค่าควรมีความปลอดภัยในระดับที่เหมาะสม เช่น มีการล็อกประตู หน้าต่าง มีระบบเตือนภัย มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิด เป็นต้น เพื่อป้องกันการโจรกรรม ไม่ให้โจรลักขโมยมาได้ สถานที่ตั้งและแนวป้องกันที่ควรคำนึงในยามที่อาจจะเกิดน้ำท่วมก็ควรมีการเตรียมพร้อมและพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะการตั้งกิจการในพื้นที่เสี่ยง เพราะอาจทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้มาก นอกจากนี้ยังมีอัคคีภัยที่ควรมีมาตรการป้องกัน คือให้คิดว่า กันไว้ดีกว่าแก้ อาจมีการตั้งระบบน้ำที่ใช้ดับเพลิงอัตโนมัติเมื่อมีไฟไหม้อาคารสถานที่ มีกริ่งสัญญาณเตือนอย่างทั่วถึง มีบันไดหนีไฟ หรือทางหนีไฟ เพื่อเป็นทางหนีทีไล่ให้กับผู้ที่ทำงาน มีอุปกรณ์ดับไฟ หนีไฟที่เพียบพร้อมและพอเพียงเพื่อรักษาชีวิตของทุกคนให้ได้มากที่สุด นอกจากภัยธรรมชาติดังที่กล่าวมาแล้ว ภัยที่มาจากคนที่อยู่อาศัยร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก หากคนในบ้านหรือในที่ทำงานไม่มีศีลธรรมก็ควรหาทางอบรมให้มีศีลธรรม หากคนในบ้านหรือในที่ทำงานขาดสติปัญญาในการรักษาทรัพย์ก็ควรหาทางอบรมให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา หากยังไม่สามารถอบรมให้ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำงานร่วมกันตระหนักในศีลธรรมและสติปัญญาได้ก็ควรหามาตรการป้องปราม คือป้องกันสิทธิในการเข้าถึงทรัพย์สมบัติเพื่อมิให้ถูกโจรกรรมหรือนำไปใช้ในทางมิชอบ มิควร เป็นเหตุทำให้ทรัพย์ที่หามาด้วยความยากลำบากพลันทลายหายไปด้วยความไม่รอบคอบและประมาทเลินเล่อ

                  3) กัลยาณมิตตตา หมายถึง คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

                  มีพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับกัลยาณมิตตตา ดังนี้

                  “กัลยาณมิตตตา ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา”

                  หลักธรรมในข้อนี้วิเคราะห์ได้ว่า การบริหารตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญประการอีกหนึ่งได้แก่ การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร คำว่าคนดีเมื่อวิเคราะห์ตามความเป็นจริงแล้วอาจไม่มีอยู่จริง เพราะมนุษย์ผู้เจือด้วยกิเลสย่อมมีความบกพร่องเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครเกิดมาดีเต็มร้อยเปอร์เซ็น และในขณะเดียวกัน ไม่มีใครเกิดมาชั่วร้อยเปอร์เซ็น เช่นนี้แล้วจะหาคนดีได้ที่ไหน ผู้วิจัยวิเคราะห์ได้ว่า คำว่า กัลยาณมิตตตา นั้น ไม่จำเป็นต้องดีร้อยเปอร์เซ็นแบบอุดมคติ เพียงแต่บุคคลที่ชื่อได้ว่ากัลยาณมิตร พึงเป็นบุคคลที่มีเจตนาอันเป็นกุศล มีความจริงใจต่อกัน ในยามที่พลั้งพลาดก็เข้าใจกัน ช่วยเหลือกัน ให้อภัยกัน ตักเตือนกันได้ ไม่โกรธเกลียดอาฆาตกัน ชักชวนกันไปในทางกุศลทั้งทางด้านความคิด วาจา และการกระทำ

              กัลยาณมิตรนี้ไม่จำเป็นต้องมีอายุเท่ากัน มีฐานะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน เพียงแต่เป็นผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา จะมากจะน้อยก็ขอให้เป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในธรรม มีธรรมเป็นที่ตั้ง มีธรรมเป็นเป้าหมาย มีธรรมเป็นที่พึ่งที่ปฏิบัติ

                  4) สมชีวิตา หมายถึง มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้

                  มีพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับกัลยาณมิตตตา ดังนี้

                  “สมชีวิตา ก็สมชีวิตเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะเปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถงจะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา”

                  หลักธรรมในข้อนี้วิเคราะห์ได้ว่า การบริหารตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญประการอีกหนึ่งได้แก่ การรู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี คือมีความพอเพียง พระพุทธเจ้ากำหนดหลักการให้ว่า “รายได้ต้องเหนือกว่ารายจ่าย และ รายจ่ายต้องไม่เหนือกว่ารายได้” คือรู้จักชั่งน้ำหนักดูว่า เมื่อใดที่ปริมาณรายจ่ายพุ่งขึ้นสูงจนเกินรายได้ ก็ต้องรู้จักใช้ให้ประหยัดลง หรือเพิ่มรายได้ให้มีสูงกว่ารายจ่าย เพื่อให้การเลี้ยงชีพไม่ฝืดเคือง ไม่ก่อหนี้ให้เกิดทุกข์ หลักการดังกล่าวนี้ช่วยให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติเข้าถึงความเจริญทางโภคทัพย์ ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ บุคคลผู้หวังความเจริญในตน ความก้าวหน้าในการประกอบสัมมาอาชีพหรือธุรกิจ เพื่อให้มีความสุขในปัจจุบันจึงควรตระหนักและนำหลักธรรมข้อนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ครอบครัวก็จะเกิดความพอเพียง เป็นเหตุให้ฐานะมั่นคงในที่สุด

 

สังเคราะห์การบริหารตนตามหลักปาปณิกธรรม 3

                 ปาปณิกธรรม หมายถึง หลักพ่อค้า องค์คุณของพ่อค้า มีองค์ประกอบ 3 อย่าง 

                 1) จักขุมา หมายถึง ตาดี

                 2) วิธูโร หมายถึง จัดเจนธุรกิจ

                 3) นิสสยสัมปันโณ หมายถึง พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย 

                    องค์ประกอบ 3 ประการนี้ มีสอนไว้ในพุทธพจน์ที่ว่า 

                 “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ 3 ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือไม่นานเลย องค์ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนที่มีตาดี 1 มีธุระดี 1 ถึงพร้อมด้วยบุคคลที่จะเป็นที่พึ่งได้ 1”

                 “...ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ 3 ประการนี้แล ย่อมจะถึงความมีโภคะมากมายเหลือเฟือไม่นานเลย ฉันใด ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 3 ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูนไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย ธรรม 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจักษุ 1 มีธุระดี 1 ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้ 1...”

                    องค์คุณหรือองค์ประกอบที่สำคัญของบุคคลผู้ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้านักธุรกิจทั้ง 3 ประการนี้ เป็นเหตุทำให้การประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จได้โดยตรงและใช้เวลาไม่นาน เพราะ “จักขุมา” ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ แสดงถึงความรอบรู้และมีสติปัญญา เช่น รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ เป็นต้น ส่วน “วิธูโร” ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเป็นมืออาชีพ คือ จัดเจนธุรกิจ เช่น รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจ และรู้จักเอาใจลูกค้า เป็นต้น ส่วน “นิสสยสัมปันโณ”  คือ ช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ เพราะแสดงถึงความมั่นคงทางการงาน มีทุนหรือทรัพยากรที่ทำให้นักลงทุนอยากเข้ามาร่วมทุนด้วย จึงสามารถหาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย ทั้งนี้ก็เพราะการบริหารตนของผู้นำและผู้ตามคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนรวมดังกล่าวนั้นก็รวมประโยชน์ส่วนตนไว้ในนั้นด้วย กฎกติกาใดที่ตกลงร่วมกันก็ต้องให้เกียรติกันในเรื่องสิทธิของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน (Respect for Person) และด้านคุณธรรม ความดีความถูกต้อง (Moral Values) โดยมีเจตนาที่ดีขับเคลื่อนการกระทำ ทำให้มีความน่าเชื่อถือ (Credibility) มีความสามารถในการควบคุมตนเอง (Self-Control) มีความเป็นธรรม (Fairness) และเชื่อถือได้ (Reliability)

 

สังเคราะห์การบริหารตนตามหลักสัปปุริสธรรม 7

                    สัปปุริสธรรม 7 เป็นหลักธรรมที่สำคัญมากในการพัฒนาตนเพื่อให้รู้จักเข้าสังคมได้อ่ยางสง่าผ่าเผย มีบุคลิกภาพที่ดี ดูเป็นผู้ที่น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ เพราะรู้จักคิด รู้จักพูด รู้จักทำอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมอย่างรอบรู้ใน 7 ประการคือ ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา อัตตัญญุตา มัตตัญญุตา กาลัญญุตา ปริสัญญุตา ปุคคลัญญุตา

                    1) ธัมมัญญุตา หมายถึง ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล

                    วิเคราะห์ได้ว่า ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้น ประการสำคัญคือการรู้จักเหตุ เหตุในที่นี้หมายถึงการรู้จักหลักการในการทำธุรกิจ เช่น หลักความพอเพียง มีหลักการว่า “รายได้ต้องเหนือกว่ารายจ่าย และ รายจ่ายต้องไม่เหนือกว่ารายได้” ผู้ที่รู้ถึงหลักการข้อนี้ก็ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อรายได้เหนือกว่ารายจ่ายก็จะทำให้สภาพการลงทุนทางธุรกิจมีความคล่องตัว มีฐานะที่ดีได้ แต่หากมีรายจ่ายเหนือกว่ารายได้ ก็จะทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินหยุดชะงักหรือถอยหลังกลายเป็นหนี้เป็นสินไม่รู้จบ ดังนั้น บุคคลที่หวังความเจริญในตนจึงควรศึกษาให้เข้าใจถึงหลักการต่างๆ รวมถึงหลักเกณฑ์พื้นฐานในการทำธุรกิจ เข้าใจเหตุอันเป็นกฎธรรมดาว่าธุรกิจมีขึ้นมีลง มีการแปรเปลี่ยนผันผวนได้โดยง่าย บุคคลที่ประกอบธุรกิจจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นกฎธรรมดานี้อย่างไม่ประมาท ก็จะเป็นการพัฒนาตนเองให้เป็นนักธุรกิจที่มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ทันยุคทันสมัยตลอดเวลา ส่วนผู้ตามก็จะกลายเป็นผู้ที่เข้าใจเหตุ เข้าใจหลักการในสิ่งต่างๆ มีสติรู้ตัวอยู่กับความเป็นจริง

                    2) อัตถัญญุตา หมายถึง ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก 

                    ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรู้จักเล็งผลอันเลิศในเชิงประสิทธิภาพสูงสุด เช่น “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” ประโยชน์ที่จะได้รับนี้เป็นผล ผลที่เกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงหลักคุณภาพ เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็จะเกิดการพัฒนาตนให้รู้ใจเขาใจเรา รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความรู้สึกของคนรอบข้าง ซึ่งเป็นผลดีต่อการบริหารงาน และการตอบสนองความต้องการโดยมีผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจเกิดแก่ลูกค้าโดยทั่วไป ทำให้เป็นที่รักของคนรอบข้างและมีกิจการที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

                    3) อัตตัญญุตา หมายถึง ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

                    วิเคราะห์ได้ว่า ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรู้จักและเข้าใจตนเองให้มากที่สุด ทั้งในด้านความคิดความรู้สึก ความสามารถ คุณธรรมที่มีและไม่มีในตน แล้วยอมรับตัวตนตามที่เป็นจริง เมื่อยอมรับได้โดยธรรมเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดการสำรวจปรับปรุงตนเองในส่วนที่ควรปรับปรุง และพัฒนาจุดเด่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถและคุณธรรมให้ไปสู่ความเป็นเลิศ สร้างนวัตตกรรมที่สร้างสรรค์ให้แก่ตนเองเพื่อความสุขให้แก่คนรอบตัว อย่างน้อยที่สุดคือปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

                    4) มัตตัญญุตา หมายถึง ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี 

                    วิเคราะห์ได้ว่า ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรู้จักประมาณตน คือหลังจากพิจารณาและรู้จักตนเองดีแล้วว่ามีความรู้ ความสามารถ กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ คุณธรรมจริยธรรมมากน้อยเพียงใด ก็ต้องรู้จักประเมินต่อไปว่าการดำเนินกิจการใดๆ จะต้องทำไม่เกินกำลังของตนมากจนเกินไป ผู้ฝึกฝนอบรมตนควรยอมรับว่าไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบและทำอะไรได้ทุกอย่าง เมื่อตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้ก็จะเกิดการคิดการมีส่วนรวมเพื่อเติมพลังให้กันและกัน ใครถนัดตรงไหน มีกำลังด้านไหนก็ช่วยกันในด้านนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ปัญหา ผู้นำบางคนเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในงานมักจะเข้าไปจัดการปัญหาเอง สำหรับผู้นำตามหลักมัตตัญญุตา หากเหตุนั้นไม่เกินกำลังก็สามารถทำได้ แต่ถ้าหากเกินกำลังหรือมีความต้องการเรียนรู้ร่วมกัน ทางที่เหมาะสมกว่านั้นก็คือ การให้ทีมงานร่วมกันหาทางออก โดยแจ้งข้อมูลให้กับทุกคนรับรู้ เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง มอบหมายให้ทีมงานค้นหาประเด็นของปัญหา สาเหตุของปัญหา และเสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้ปัญหาหมดไปในระดับต่างๆ ผู้นำที่ทำได้เช่นนี้ย่อมได้ใจทีมงานและสามารถสร้างผู้นำอย่างมีส่วนร่วมได้ เป็นการเพิ่มกำลังให้เกิดความเหมาะสมกับการทำงานที่ต้องการความก้าวหน้าทางธุรกิจ ส่วนผู้ตามที่ปฏิบัติตามหลักมัตตัญญุตาได้ย่อมทำให้การดำเนินชีวิตไม่ฝืดเคือง ไม่ติดหนี้ติดสิน สร้างความสมดุลในการทำงานให้เกิดขึ้นได้ในหลายมิติ

                    5) กาลัญญุตา หมายถึง ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

                    วิเคราะห์ได้ว่า ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรู้จักกาลเวลา คือรู้ว่าเวลาใดควรทำกิจการงานใดก่อน-หลัง เพื่อให้งานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะงานธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง นักธุรกิจควรฝึกฝนตนให้เป็นรู้จักเห็นคุณค่าของเวลา เวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับการทำธุรกิจ มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่เห็นเวลาเป็นเงินเป็นทอง คือสามารถคิดมูลค่าที่เกิดขึ้นจากธุรกิจโดยผูกติดไว้กับเวลาเป็นวินาที เสี้ยววินาที แต่การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องเป็นคนที่รู้กาลเวลาอันเหมาะสม คือรู้ว่ากิจกรรมใดควรทำก่อนทำหลัง กิจกรรมใดมีความสำคัญมากน้อยต่างกัน กิจกรรมใดเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน งานที่ดำเนินอยู่นั้นงานใดควรทำให้เสร็จก่อนหรือเสร็จหลัง และฝึกให้เป็นคนตรงต่อเวลา ทำสิ่งใดให้เหมาะแก่เวลา ก็จะทำให้งานบรรลุเป้าหมายได้ตามเวลาที่กำหนด สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ร่วมลงทุนและลูกค้า

                    6) ปริสัญญุตา หมายถึง ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

                    วิเคราะห์ได้ว่า ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้นจำเป็นต้องรู้ว่าชุมชนใดมีความเชื่อ มีทัศนคติแบบใด แล้วต้องปฏิบัติตนแบบใดเพื่อให้เข้ากับชุมชนนั้นๆ การดำเนินธุรกิจก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่น และได้รับความร่วมมือ เช่น หากเป็นบริษัทผลิตน้ำหอม และมีแผนการตลาดว่าจะผลิตไปขายให้กับคนตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ น้ำหอมที่ผลิตไปขายนั้นจะผสมแอลกอฮอร์ไม่ได้เลย หากผสมก็จะขายไม่ได้ กิจการก็จะล้มเหลวเพราะไม่รู้จักชุมชนหรือกลุ่มลูกค้าว่ามีพื้นฐานความเชื่อ ทัศนคติ รสนิยมอย่างไร

                    7) ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา หมายถึง ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

                    วิเคราะห์ได้ว่า ในการบริหารตนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตหรือการประกอบธุรกิจนั้นจำเป็นต้องฝึกให้ดูคนเป็น ใช้คนเป็น คือพิจารณาดูให้รู้โดยถ่องแท้ว่าแต่ละคนเป็นคนเช่นไร มีอุปนิสัยใจคออย่างไร เป็นคนกระบวนทรรศน์ใด มีความสามารถ มีคุณธรรมที่โดดเด่นในด้านใด เพื่อที่จะรู้ว่าต้องปฏิบับติกับคนอย่างนั้นเช่นไรเพื่อไม่ให้เกิดโทษ ไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในทางพุทธศาสนาเถรวาทแบ่งคนออกเป็น 6 ประเภทตามจริตนิสัย เรียกว่าจริต 6 ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

                    (1) ราคจริต คือ สภาวะจิตที่หลงติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสจนเป็นอารมณ์

                    (2) โทสจริต คือ สภาวะจิตที่โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย เพียงพูดผิดสักคำ ได้เห็นดีกัน

                    (3) โมหจริต คือ สภาวะจิตที่มักอยู่ในสภาพง่วงเหงางาวนอนหรือซึมเศร้าเป็นอาจิณ

                    (4) วิตกจริต คือ สภาวะจิตที่กังวล สับสนและวุ่นวาย ฟุ้งซ่านแทบทุกลมหายใจ

                    (5) ศรัทธาจริต คือ สภาวะจิตที่มีปรัชญาหรือหลักการของตัวเองและพยายามผลักดันให้ตัวเองและผู้อื่นบรรลุถึงจุดหมายนั้น

                    (6) พุทธิจริต คือ สภาวะจิตที่เน้นการใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง คิดหาเหตุหาผลมาแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน รวมทั้งมีความสนใจเรื่องการยกระดับและพัฒนาจิตวิญญาณ

                    หากมองในเชิงจิตวิทยา แต่ละคนล้วนมีอยู่ทุกจริต แต่จะมีจริตใดจริตหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดตามอุปนิสัยใจคอของแต่ละคน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง โดยวิเคราะห์โทสะจริตอย่างละเอียดเพื่อให้เห็นแนวทางในการพัฒนาตนเองในมุมมองของคนโทสะจริต ซึ่งสามารถวิเคราะห์และอธิบายได้ดังนี้

                    1) วิเคราะห์ลักษณะคนโทสจริต คนที่อยู่กลุ่มโทสะจริต หรือมีสภาวะอารมณ์เป็นอารมณ์โกรธ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้โดยธรรมชาติแล้วเป็นบุคคลผู้มีหลักการของตนเองในการทำงานและในการกระทำต่างๆ และมักเป็นผู้เคารพกฎเกณฑ์และมีวินัยสูงกว่าจริตอื่นๆ และการที่ตนเองมีหลักเกณฑ์ ระเบียบวินัยค่อนข้างสูง จึงทำให้ทนไม่ได้เมื่อมาเจอผู้ที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีเคารพหลักเกณฑ์ 

                    นอกจากนี้จะเป็นคนที่รักษาคำพูดรักษาเวลา จึงทำให้ทนไม่ได้มาเมื่อกับคนที่ไม่รักษาคำพูด ไม่รักษาเวลา กลุ่มโทสะจริตมักคาดหวังว่าโลกจะเป็นอย่างที่ตนเองต้องการ และจากการที่ตัวเองมักจะมีระเบียบวินัยสูงกว่าคนปกติ ก็มักจะคิดว่าโลกควรจะเปลี่ยนไปเหมือนตนเอง แต่เมื่อพบว่าโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้น และไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ก็เกิดความขุ่นเคืองลึกๆ อยู่ในใจอยู่เสมอ และพร้อมจะระเบิดออกมาได้เมื่อเจอกับผู้ที่ไม่มีความเป็นระเบียบวินัย หรือความไม่ถูกต้อง การที่ยึดมั่นในหลักการและกฎเกณฑ์ต่างมากกว่าคนอื่นๆ ทำให้เป็นคนตรงไปตรงมา ทำให้บุคคลที่เป็นโทสะมาก มีสมาธิแรงมาก แต่ในทางกลับกันคนที่มีพื้นฐานจิตเป็นโทสะจริตมักมีสติค่อนข้างอ่อน เพราะไม่ได้ดูโลกตามความเป็นจริง ไม่ได้ดูว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไร แตกต่างกับเราอย่างไร อันที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้แทบไม่สนใจดูผู้อื่นหรือดูโลกเท่าไรนัก เพราะคิดว่าโลกหรือทุกคนควรจะเปลี่ยนตนเองไปตามหลักการหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง นั่นคือ ทุกคนควรมีวินัย ควรตรงต่อเวลา ควรเคารพกฎเกณฑ์ โลกของกลุ่มโทสะจริตเป็นโลกที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เป็นโลกที่เป็นอยู่จริง คนที่ไม่สามารถทำได้จะถูกตัดสินว่าไม่มีความสามารถ และมีท่าทางเย้ยหยันโลก ดูถูกโลก กลุ่มโทสะจริตจึงไม่ค่อยมีความเมตตากับคนอื่นมากนัก เพราะมองว่า คนพวกนี้ไม่รักษาคำพูด ไม่มีระเบียบวินัยเอง ดังนั้น เขาจึงได้รับผลจากกระทำของตัวเองดังกล่าว คนประเภทโทสะจริตลึกๆ แล้วก็เป็นคนอ่อนข้างในเพราะไม่ค่อยได้รับความรักความอบอุ่น จึงมีความน้อยใจหรือต้องการความรักความอบอุ่นอยู่ลึกๆ แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง เลยจำต้องยึดกรอบเกณฑ์ระเบียบเป็นเสมือนเป็นเกราะป้องกันความอ่อนแอภายใน และไม่ต้องการให้ใครได้เห็นความอ่อนแอดังกล่าว แต่การที่มีเกราะขึ้นมาป้องกันมากทำให้ไม่สามารถแสดงความรักความรู้สึกได้มากเท่าไร ทำให้จิตใจค่อนข้างขุ่นเคืองเป็นประจำ

                    2) เราจะสังเกตคนกลุ่มโทสจริตได้อย่างไร คนที่อยู่ในกลุ่มโทสะจริตจะมีวิธีการพูดที่ตรงๆ ไม่กลัวใคร การพูดจาจะมีพลัง เสียงดังฟังชัด ฟังแล้วน่าเกรงขาม เพราะมีสมาธิแรง แต่คำพูดค่อนข้างแรงและหนัก ฟังแล้วไม่รื่นหูคำพูดอาจไม่ไพเราะ เพราะไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนฟังเท่าไร นอกจากนี้ จะพูดค่อนข้างเร็ว เพราะไม่ได้ยินเสียงตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นคนพูดชี้ถูกชี้ผิด เพราะคนที่เป็นโทสะจริตเป็นคนที่คิดว่าตนเองมีหลักการ และยึดกฎเกณฑ์เป็นที่ตั้ง ดังนั้นจะมีสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้องอยู่ในใจเสมอ สิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามหลักการและกฎเกณฑ์ของตนเองแล้วย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูก เนื่องจากคนประเภทนี้มักจะเชื่อว่าตนเองมีคุณธรรม มีวินัยสูง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นประเภทเจ้าระเบียบ เจ้ากฎเกณฑ์ จึงมักจะใช้หลักเกณฑ์ของตนเองเข้าชี้ผิดชี้ถูกคนอื่นอยู่เสมอ เป็นคนที่เคารพกฎเกณฑ์จึงมักทนไม่ได้ที่เห็นใครละเมิดกฎเกณฑ์ขององค์กรหรือของสังคม ทำให้คนอื่นมองว่าเป็นพวกชอบจับผิด 

                    หากจะดูวิธีการแต่งกายของคนที่มีลักษณะโทสะจริตจะเห็นได้ว่า ค่อนข้างเป็นระเบียบ การแต่งตัวค่อนข้างประณีต สะอาด สำหรับสีที่ชอบจะเป็นสีฉูดฉาดหรือไม่ก็สีเข้ม เช่น แดง สีส้มสด เหลืองสด เพราะทำให้อารมณ์นิ่งสงบและเข้าสู่ภาวะปกติ คนในกลุ่มนี้จะมีการเดินที่รวดเร็วและตรงแน่ว เพราะเขารู้ชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน เนื่องจากเป็นคนที่เคารพเวลาและมีวินัย จึงไม่ค่อยวอกแวก และรู้จักตัดบทเก่ง ไม่เออระเหยลอยชาย ดวงตาจะสว่างไสวและเป็นประกาย เพราะสมาธิสูง หน้าจะมีสีสันและพลังงาน แต่หน้าตาอาจไม่สวยไม่หล่อนัก เพราะจิตมีความขุ่นเคืองเป็นอารมณ์ ไม่แจ่มใสเบิกบาน ประกอบกับไม่มีความเมตตาทำให้ไม่มีเสน่ห์และบารมีมากนัก

                    3) วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของโทสจริต จุดแข็งของบุคคลที่เป็นโทสะจริตคือ จะเป็นผู้อุทิศทุ่มเทให้กับการงานสูง สามารถทำงานได้รวดเร็ว และเป็นไปตามที่ได้รับมอบหมายไม่ผิดพลาด เนื่องจากเป็นคนที่มีสมาธิสูงอยู่แล้ว และไม่ปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงฟังอะไรไม่ผิดพลาด และทำงานไม่ผิดพลาด ประกอบกับการเป็นผู้มีระเบียบวินัย เคารพกฎเกณฑ์ทำให้เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงานได้อย่างไม่ยากเย็นโดยเฉพาะในหน้าที่การงานที่เน้นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ การตรวจสอบความถูกต้อง เช่น ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้ดูแลด้านปฏิบัติการ (operation) หรืองานของระบบราชการ เป็นคนมีระเบียบวินัยสูง ตรงต่อเวลา หากนัดหมายกับคนที่เป็นจริตนี้ ต้องตรงเวลา เพราะเขาจะมาตรงเวลาและจะดูถูกพวกที่ไม่มีวินัย ไม่เคารพสัญญา และไม่ตรงเวลา เป็นนักวิเคราะห์ที่เก่ง เพราะมองอะไรตรงไปตรงมาไม่ปรุงแต่ง จึงสามารถมองเห็นเหตุมองเห็นผลได้ชัดเจน จึงเหมาะเป็นผู้ร่วมวางแผน เป็นผู้ที่สามารถพึ่งพาได้ เนื่องจากเป็นผู้มีหลักการ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ไม่ใช้อารมณ์หรือเล่นพวกเล่นพ้อง มีความจริงใจต่อผู้อื่น พูดอะไรเป็นคำไหนคำนั้น ไม่เป็นคนแทงคนข้างหลัง แต่อาจแทงข้างหน้าเลย หากจะด่าก็จะด่าต่อหน้าไม่ด่าลับหลัง และจะด่าทันทีท่ามกลางที่ประชุมหรือสาธารณชนได้โดยไม่หวั่นเกรงหรือหวั่นไหวต่อสายตาหรือความรู้สึกใดเหมือนคนจริตอื่นๆ การที่มีลักษณะดังกล่าวทำให้คนที่เป็นโทสะจริตจะเป็นที่เกรงขามหรือเกรงกลัวของคนอื่นโดยธรรมชาติ เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีน้ำผึ้งผสม ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม พูดคำไหนเป็นคำนั้น ทำให้เป็นผู้ที่แม้ไม่น่าคบแต่ก็น่าทำธุรกิจด้วย เป็นคนไม่ค่อยโลภเพราะอยู่ในโลกของความคิด โลกของความน่าจะเป็น โลกของหลักการ และกฎเกณฑ์มากกว่าโลกของวัตถุสิ่งของ 

                    คนที่มีลักษณะเป็นโทสะจริตจะมีจุดอ่อนสำคัญคือ โกรธอยู่เป็นประจำ ใครพูดไม่เข้าหูก็ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวเป็นนิจ ไม่ค่อยไม่เป็นที่น่าคบค้าสมาคมของผู้อื่น อารมณ์ที่ขุ่นมัวขุ่นเคืองอยู่เสมอนำมาสู่ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย จึงทำให้คนจริตนี้มักจะมีโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นผลจากอารมณ์โกรธและความไม่ผ่องใสของจิตได้ง่าย การใช้คำพูดที่ก้าวร้าวรุนแรง ตลอดจนเสียดสีจิตใจผู้อื่นเป็นการสร้างวจีกรรมอยู่ตลอดเวลา สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้อื่น เกลียดชัง และอาจทำไปสู่การทะเลาะวิวาทค่อนข้างบ่อย นอกจากนั้น การชอบจับผิดคนอื่น หรือมองคนอื่นว่าไม่เก่งหรือมีความสามารถเท่าตนเอง มีนิสัยค่อยข้างเย่อหยิ่งอวดดี ทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ค่อยราบรื่น มักจะต้องอยู่คนเดียวไม่มีเพื่อนหรือต้องอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงานเพราะหาคนที่ดีพอเท่าตัวเองหรือมีระเบียบเท่าตัวเองไม่ได้ ถ้าแต่งงานก็ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร เพราะอีกฝ่ายรู้สึกว่าเหมือนเข้าอยู่โรงเรียนประจำ การที่อยู่ในโลกของกรอบ โลกของหลักการและหลักเกณฑ์ทำให้ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีความคิดริเริ่มอะไรที่แหวกแนว การที่พูดจาตรงไปตรงมาไม่สนใจความรู้สึกคนฟังทำให้แทบไม่มีความถนัดด้านการตลาด นอกจากนี้ คนที่มีลักษณะโทสะจริตมักจะตกอยู่ในหลุมกลของนิสัยตัวเอง เพราะการที่แสดงความโมโหเกรี้ยวกราดมักจะนำมาสู่ความเกรงกลัว นำมาสู่อำนาจเหนือผู้อื่น และมักจะนำมาสู่สิ่งที่ตัวเองประสงค์อยู่เสมอ ทำให้เป็นการบ่มเพาะนิสัยช่างโมโหของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และยากที่แก้นิสัยดังกล่าวได้

                    4) หากเราเป็นคนโทสจริตต้องทำอย่างไร คนโทสะจริต จะมีความอดทนต่ำ โมโหง่าย รำคาญคนง่าย หากเราเริ่มรู้ตัวว่า เริ่มโกรธ เริ่มโมโห เริ่มรำคาญใจ ให้ทำตัวเป็นขอนไม้ นิ่ง ต้องหยุดมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมที่เป็นอกุศลก่อน เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อตัวเองและคนอื่น การสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่นไม่ว่าจะโดยวจีกรรมหรือกายกรรมก็ตาม ในที่สุดแล้วจะส่งผลกลับมาให้ตัวเราเอง ดังนั้น หากอารมณ์เราเริ่มขยับด้วยความโกรธแล้ว ให้ทำตัวเป็นขอนไม้ มิฉะนั้นจะสร้างกรรมเพิ่มมากขึ้น คนที่เป็นโทสะจริตจะอยู่ในอารมณ์ เมื่อเกิดความโกรธหรือโมโหก็มักไม่ค่อยรู้ตัวว่า กำลังโกรธหรือโมโหอยู่ จะรู้อีกทีก็เมื่อหายโมโหแล้ว ซึ่งในขณะนั้น เราอาจจะพูดหรือทำอะไรไปแล้วมากมายโดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจต้องเสียใจภายหลัง จึงขอให้หัดลองสังเกตดูอารมณ์ของตัวเองเป็นประจำ ถามตัวเองอยู่เสมอว่า ตอนนี้รู้สึกอะไร รู้สึกดีใจ รู้สึกเสียใจ รู้สึกรำคาญ รู้สึกโกรธ 

                    เราจะสังเกตุเห็นว่า อารมณ์ของทางจะค่อนข้างมีแต่ความขุ่นเคือง รำคาญ อึดอัด มากกว่าความรู้สึกอื่น เพราะส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้สร้างกรอบตัวเองไว้ขังตัวเองค่อนข้างมากอยู่แล้ว เราได้ขีดเส้นให้ตัวเองเดินซ้ายเดินขวาอยู่ตลอดเวลา แต่การที่เราฝึกถามไปเรื่อยๆ จะทำให้เริ่มเห็นอารมณ์ของเรา ในยามที่ความโกรธกำลังจะครอบหงำจิตใจของเรานั้น หากเราเห็นเริ่มเห็นอารมณ์ในยามนั้น เห็นความโกรธเกรี้ยวของสภาวะอารมณ์ในยามนั้นแล้ว ก็จะช่วยดึงสติกลับมาก่อนที่เราจะทำอะไรรุนแรงไป เป็นการเตือนสติให้รู้จักความผ่องใส ให้รู้จักการปล่อยวาง ทำให้อารมณ์ที่กำลังจะเพิ่มระดับความรุนแรง พอคลายลงมาได้บ้าง เจริญเมตตาให้มาก คนในจริตนี้มักจะทำร้ายผู้อื่นได้ง่ายกว่าจริตอื่นๆ คนซึ่งมีการขัดเกลาทางด้านจิตใจน้อย ก็อาจจะทำร้ายผู้อื่นทางร่างกาย แต่ผู้มีการขัดเกลาทางจิตใจมากขึ้นหน่อยก็จะทำร้ายผู้อื่นทางวาจา แต่ไม่ว่าเราจะทำร้ายด้วยวิธีใดโดยจะรู้ตัวหรือไม่ หากเริ่มโมโหหรือโกรธ ขอให้รีบเจริญเมตตาต่อผู้อื่น เพราะความโมโหหรือโกรธจะหยุดด้วยความเมตตา หากโมโหมากๆ ให้เหลือบดูสีหน้าของบุคคลที่อยู่รอบข้าง ซึ่งมีความทุกข์และความเศร้าพอเพียงอยู่แล้ว เราไม่ควรซ้ำเติมให้เขามีความทุกข์กายทุกข์ใจมากกว่านี้ ให้คิดว่า การทำร้ายด้วยวจีกรรม ก็ไม่กับต่างกับการทำร้ายด้วยพละกำลัง การเจ็บกายอาจหายได้ แต่การทำให้คนอื่นเจ็บใจนั้น จะฝังอยู่เนินนาน ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างกรรมที่รุนแรงกว่าการกระทำเสียอีก ฟังเสียงที่ตัวเองพูด ว่าเป็นอย่างไร น้ำเสียงชวนให้เป็นมิตรหรือสร้างศัตรู น่าติดตามฟัง น่าเชื่อถือ หรือว่าน่าเบื่อ ชวนรำคาญ และฟังว่าคำพูดที่ออกมาง่ายต่อการเข้าใจหรือเปล่า 

                    ปกติคนที่เป็นโทสะจริตมักไม่ค่อยฟังเสียงตัวเอง หากเราฟังเสียงของเราที่เปล่งออกมาแล้ว เราก็จะ เลิกสงสัยเสียทีว่า ทำไมเราพูดอย่างนี้แล้วเขาถึงยังไม่เข้าใจเรา หรือทำไมเขาถึงไม่ชอบเรา ทำเขาถึงโกรธหรือโมโหเรา ให้เริ่มคิดว่าโลกนี้ไม่ต้องจริงจังมากนัก โลกนี้ก็เป็นอย่างนี้ คนที่เป็นโทสะจริตมักจะพยายามสร้างกรอบ ขีดเส้นให้กับตัวเอง ในแง่ดีแล้วทำให้เป็นคนมีวินัย แต่ในแง่เสียคือ มีความอึดอัดเป็นอารมณ์ ไม่สามารถแสดงความรู้สึก ความปรารถนาของตัว ไม่สามารถทำอะไรอย่างที่ตัวเองต้องการ เพราะโดนจำกัดด้วยความคิดที่ว่า ควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เพียงแต่จะพยายามวางกรอบให้กับตัวเอง คนในจริตนี้จะพยายามวางกรอบให้กับคนอื่นไปด้วย กล่าวง่ายๆ เหมือนกับจะพยายามควบคุมโลกให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ ดังนั้น เมื่อบุคคลอื่นเข้าใกล้ผู้เป็นโทสะจริตจะรู้สึกอึดอัดไปด้วยและโดยปกติแล้วมักพยายามหลีกเลี่ยง หนทางแก้ไขประการหนึ่งก็คือ ขอให้ปล่อยวางบ้างอย่างไปจริงจังมาก การมีวินัยเป็นสิ่งดี แต่การสร้างกรอบการขีดเส้นให้กับชีวิต ก็เหมือนการถูกพันธนาการ เหมือนกับการเอาจิตใจตัวเองล่ามพันธนาการเอาไว้ จิตใจจึงเหมือนถูกบีบถูกกดเอาไว้ตลอดเวลา ทำให้จิตไม่ผ่องใส ไม่เบิกบาน และทำให้ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะอยู่แต่ในกรอบเก่าๆ ของตัวเองตลอดเวลา ต้องใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ไปพิจารณา เนื่องจากคนจริตนี้มักมีกรอบมีระเบียบบางประการ และใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เหล่านั้น หากกรอบความคิดดังกล่าวถูกต้องก็ดีไป นำพาชีวิตไปสู่ความก้าวหน้า แต่ถ้ากรอบดังกล่าวไม่ถูกต้องชีวิตก็จะติดหล่มกับดักของความคิดตัวเอง คนที่เป็นโทสะจริตต้องพยายามพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์ของตัวเองที่ว่าต้องทำนั่นต้องทำนี่ ว่ามันถูกต้องและใช่ได้เหมาะสมกับกาละและเทศะมากน้อยเพียงใด และต้องเปิดใจกว้างรับฟังความคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปคิดไปพิจารณา มิฉะนั้น ชีวิตจะไม่สามารถออกจากวังวนของพฤติกรรมเดิมได้ ต้องคิดก่อนพูด คิดให้นานๆ เข้าไว้ เพราะโทสะจริตจะเริ่มจากพูดไปก่อนและค่อยมาคิดทีหลัง และมักจะเสียใจภายหลังในสิ่งที่ตัวเองได้พูดได้ทำไปแล้วอยู่เสมอ ให้พิจารณาว่าความโกรธทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของร่างกาย ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร ระบบฮอร์โมน และโรคเก๊าท์

                 5) ถ้ามีลูกน้องเป็นจริตนี้จะทำอย่างไร คนจริตนี้เป็นลูกน้องที่ดีและเพื่อนร่วมงานที่ดี เชื่อถือได้ ไม่โกง เป็นคนมีสัมมาคารวะให้การเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจมากกว่าหรือตำแหน่งสูงกว่า และถ้าเราสามารถได้ใจเขาก็จะสบายเพราะจะได้แม่ทัพที่ค่อนข้างเข้มแข็ง มีวินัย คอยรักษากฎเกณฑ์ของสำนักงาน ทำงานใหญ่ได้เนื่องจากเป็นคนที่อุทิศทั้งแรงกายและแรงใจอยู่แล้วตามธรรมชาติ งานมักออกมาค่อยข้างเรียบร้อย ไว้วางใจได้ นอกจากนี้ มักมีนิสัยชอบเป็นครู ชอบแนะนำสอนคนอื่นอยู่เสมอ หากเรามีลูกน้องที่เป็นโทสะจริต ประการแรกเราต้องมีปิยะวาจา ต้องทำใจ ลดความเป็นตัวตนลง และพูดด้วยน้ำเสียงเย็นนิ่งในการโน้มน้าวหรือสั่งการ เราอาจต้องพูดแบบมธุรสวาจามากหน่อย เพราะคนที่เป็นโทสะจริตชอบกินขนมหวาน แม้พูดหวานเขาก็รู้สึกธรรมดา ค่อยๆ พูดอย่างละมุนละไม แม้ผู้พูดเองจะรู้สึกหวานมาก แต่สำหรับคนที่เป็นโทสะจริตจะดูว่า เป็นเรื่องธรรมดาและเห็นว่าโลกควรจะปฏิบัติต่อเขาเช่นนี้ ให้คิดถึงนิทานเรื่องโคนันทวิศาล ซึ่งหากใช้คำพูดไม่เพราะหู นอกจากจะไม่ยอมเดิน อาจจะขวิดเราได้ การพูดจาไม่ไพเราะจะบีบคั้นจิตใจเขามาก ต้องใช้กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์เข้าคุยกัน ทุกอย่างทุกเรื่องว่ากันไปตามกฎเกณฑ์ เพราะตัวเขาเป็นคนเคารพหลักการและกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ห้ามใช้อารมณ์อำนาจบาตรใหญ่ไปบีบบังคับเขาให้ทำโน่นทำนี้ เพราะถ้าไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เขาก็ไม่ทำ หากไปบีบเขา เขาจะเป็นคนประเภทยอมหักแต่ไม่ยอมงอ ต้องมีความจริงใจ มีความซื่อตรงเป็นอารมณ์ คนจริตนี้มีความตรงไปตรงมาสูง บางครั้งก็ตรงเสียจนน่าตกใจ เวลาคุยกับลูกน้องเราที่เป็นจริตนี้ต้องพูดตรงไปตรงมา ถ้าไม่ ต้องไม่ควบคุมเขาทุกขั้นตอน เพราะเขามีความรับผิดชอบสูง มิฉะนั้น หากจะจู้จี้ จะนำไปสู่การทะเลาะความขัดแย้ง

                    6) ถ้ามีหัวหน้าเป็นโทสจริตจะรับมืออย่างไร หากมีหัวหน้าที่เป็นโทสะจริต เราจะต้องให้ความเคารพนอบน้อม ระวังกริยา ระวังคำพูดเป็นพิเศษ เพราะพูดผิดหรือทำผิดเล็กน้อยก็เป็นการจุดชนวนระเบิดได้ ดังนั้น ต้องพูดนิ่มนวล เอาน้ำเย็นเข้าลูบ อย่าทำให้เขาโกรธ และห้ามใช้โทสะเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าเขาจะมีเสียงดังมา เราต้องระงับอารมณ์ของเราไว้ก่อน อาจต้องทำหน้าเศร้าๆ นิดหนึ่ง จะช่วยให้เขาสงบเร็ว เราต้องทราบว่าหัวหน้าที่เป็นโทสะจริตแทบจะควบคุมตัวเองไม่ได้เวลาโกรธ แต่พอเหตุการณ์ผ่านไปแล้วจะเสียใจในสิ่งที่ตัวเองได้พูดหรือได้ทำลงไป คนที่มีลักษณะโทสะจริตจะมีสมาธิแรงอยู่แล้ว และยิ่งอยู่ในอารมณ์โกรธแล้วความรุนแรงจะเพิ่มพูนขึ้น ดังนั้น เราต้องเตรียมสติและเร่งสมาธิให้ดี ที่สำคัญคือ ต้องพูดจาด้วยเหตุด้วยผล ต้องคิดไตร่ตรองมาก่อนให้ละเอียดรอบคอบ มีการคิดอย่างดีก่อนพูดแต่ละคำแต่ละประโยค เจ้านายประเภทนี้จะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติหากมาพูดโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วนล่วงหน้า นอกจากนี้ เราต้องมีการเตรียมประเด็น พูดให้ตรงประเด็นเพราะเขาไม่มีความอดทนพอจะฟังความคิดที่วกวนไม่ตรงประเด็น และมีเหตุผลหนักแน่น มาก่อน มิฉะนั้นจะยิงทันที และห้ามใช้เหตุผลอย่างข้างๆ คูๆ เพราะหัวหน้าที่เป็นโทสะจริตจะดูถูกคนไม่มีเหตุผล และเราจะถูกสับเป็นชิ้นเล็กๆ

                    เวลาคุยกับหัวหน้าประเภทนี้ ห้ามทำท่ากลัวหรือประหม่า เพราะเขาจะมีน้ำเสียงติเตียนอยู่แล้วเป็นนิสัยและมักจะมีความโกรธเป็นควันหลงจากเรื่องอื่นในอดีตอยู่บ้าง แต่ถ้าเรายิ่งไปทำท่าทางกลัวจะทำให้เขาดูถูกมากกว่าสงสาร ต้องทำใจให้เสมือนเป็นน้ำ มีความสงบ พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ยิ้มแย้มแจ่มใส

 

สรุป

                    กล่าวโดยสรุปจากการสังเคราะห์หลักธรรมเกี่ยวกับการบริหารตน ได้แก่ ฆราวาสธรรม ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ปาปณิกธรรม และ สัปปุริสธรรม หลักธรรมทั้ง 4 หมวดนี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการฝึกฝนขัดเกลาตนเองจากภายในสู่ภายนอก คือ มุ่งขัดเกลาจิตใจ อุปนิสัย จริต ความเชื่อให้เป็นไปโดยธรรม มีธรรมเป็นที่ตั้ง มีธรรมเป็นเป้าหมาย อันจะส่งผลให้บุคลิกภาพภายนอกเป็นผู้นำที่ทันยุคทันสมัย เป็นผู้นำที่สร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา ความไว้วางใจหรือความน่าเชื่อถือให้ปรากฏแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในงานธุรกิจ ส่วนผู้ตามที่พัฒนาตนก็จะกลายเป็นผู้ที่สามารถไว้วางใจได้ ทำให้ผู้นำและเพื่อนร่วมงานให้การยอมรับ เป็นปิยบุคคลในองค์กร และสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยงานได้อย่างดีเยี่ยม และสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 710699เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท