โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒๐)_๒


นายเดชา  ศิริภัทร  กล่าวว่า  ในอดีตชาวนามักใช้ปุ๋ยเคมีในการทำนาและเพิ่มขึ้นในทุกๆ     ฤดูกาล  ยิ่งใส่มากดินยิ่งแข็ง  เพราะปุ๋ยเคมีจะเป็นตัวดึงธาตุอาหารขึ้นมาใช้แต่ตัวของมันเองไม่ได้มีสารอาหารใดๆ  เมื่อดินถูกดึงธาตุอาหารมาใช้โดยไม่ได้สิ่งทดแทนใดๆ  กลับคืนจึงทำให้ดินขาดสารอาหาร  ยิ่งทำนามากก็ยิ่งได้ผลผลิตน้อยลงจึงต้องเพิ่มการให้ปุ๋ยมากขึ้นในทุกฤดูกาล 
 นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับวิถีการทำนาแบบไม่พึ่งพาสารเคมีแล้ว  โรงเรียนชาวนายังเป็นจุดเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของคนกับคน  และคนกับวัฒนธรรมให้กลับคืนสู่ชุมชนอีกด้วย  โดย   นักเรียนชาวนาทุกคนยอมรับว่า  การเข้ามาร่วมเรียนรู้กับเพื่อนชาวนา  ทำให้ความสัมพันธ์ระดับ  พื้นฐานกลับมา  จากเดิมเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านติดกัน  ทำนาติดกัน  ไม่เคยคุยกัน  ก็ได้รู้จักกัน         แลกเปลี่ยนความรู้กัน  มีเรื่องดีๆ  เคล็ดลับดีๆ  ก็บอกก็สอนกัน  จากที่เคยหมกมุ่นอยู่แต่กับการทำนา ฉีดยา  พ่นยา  ใส่ปุ๋ย  ก็มีเวลาทำงานสังคมมากขึ้น  มีความสุขมากขึ้น  ต้นทุนการผลิตลดลง  ชีวิตมีความสุขกว่าเดิม 
 ลุงสนั่น  เล่าต่อไปว่า  หลังจากตนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนชาวนา  แล้วก็เริ่มเห็นอนาคตข้างหน้าของชาวนาไทยว่า  หากกลับมาพึ่งพาตนเองโดยลด  ละ  และเลิกใช้ปุ๋ยเคมี  และยาฆ่าแมลงได้ชาวนาไทยก็จะสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้  ซึ่งการเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กันใน       โรงเรียนชาวนานี้ตนเห็นว่าได้ผลและเป็นกิจกรรมที่ดี  ตนพยายามชักชวนเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนรู้แต่ส่วนใหญ่ยังกล้าๆ  กลัวๆ  ว่าการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงจะสู้กับปัญหาการทำนาได้หรือไม่ แต่ตนได้ใช้เทคนิคการเผื่อแผ่ความรู้พยายามชักชวนเข้ามาร่วมเรียนกัน  หรือบางรายไม่เชื่อ  ก็ใช้วิธีการให้ตนไปเรียน  และทดลองสมุนไพร  หรือน้ำหมักดีๆ  มาก็จะนำไปเผื่อแผ่ ตนเชื่อว่าวิธีการเผื่อแผ่ความรู้นี้จะสามารถดึงเพื่อนบ้านเข้ามาร่วมเรียนรู้กันในโรงเรียนชาวนาได้ในอนาคต 
 ขณะที่ป้าอุบล  หลังจากที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกนักเรียนโรงเรียนชาวนาและเห็นว่าควรให้   พ่อบ้านได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย  จึงพยายามชักชวน  แต่ไม่ได้ผลเพราะสามีไม่เชื่อ  และยังถูก       ขัดขวาง  จึงใช้วิธีนำน้ำสมุนไพรบรรจุในขวดยาฆ่าแมลงแล้วให้สามีฉีด  แรกๆ  สามีก็ยังไม่สงสัยต่อมาเห็นว่าไม่มีอาการแพ้หรือท้องเสีย  และเข้าใจว่าเป็นยี่ห้อดี  ตนจึงเปิดเผยว่าจริงๆ  แล้วก็คือ   ยาสมุนไพร  สามีจึงเริ่มเชื่อ  และที่สำคัญทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำนาแต่ละฤดูกาลลดลงกว่า  10,000 บาท
 ทั้งนี้  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ผอ.สคส.  กล่าวว่า  โรงเรียนชาวนา  คือ  กระบวนการของ       การจัดการความรู้ที่ดึงความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวคนออกมาแลกกันผ่านการเล่าเรื่อง  และเป็นการเรียนรู้จากผู้มีความรู้หรือตำรา  เพื่อนำความรู้เล่านั้นมาใช้จริงผ่านการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติจริงด้วยตนเอง  ก็จะเกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้น  จะเห็นได้ว่าแม้คนเหล่านี้ไม่จบจากสถาบันการศึกษาใดๆ  แต่มีความรู้อยู่มาก  ในการเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน  จากการทำงานจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในบริบทของชาวนาเอง   สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)

ที่มา  :     http://www.banmuang.co.th/education.asp?id=45788

ฉบับที่  5  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันอาทิตย์ที่ 13  มีนาคม  พ.ศ.2548

         

วิถีชีวิต  :  วิถีชีวิต  :  ‘ปลดแอก’  แม้หลังยังสู้ฟ้า  ‘นักเรียนชาวนา’
หน้าสู้ดินก็ไม่เป็นทาส  ‘สารเคมี’
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์

 แม้เมืองไทยเราจะได้ชื่อว่าเป็น  “อู่ข้าว – อู่น้ำ”  แต่ทุกวันนี้ก็เกิดปัญหา  “น้ำแล้ง”  อย่างแสนสาหัสเป็นประจำ  ทุกๆ  ปี  และกับเรื่อง  “ข้าว”  ก็เช่นกัน...ปัญหาก็เกิดกับเกษตรกร  “ชาวนา”        ผู้ปลูกข้าวมากขึ้นเป็นลำดับ...
 จนถึงวันนี้ถึงกับต้องมีโครงการ  “โรงเรียนชาวนา”
 วันนี้ลองมาดูเรื่องราวของ  “นักเรียนชาวนา”  กัน.....

 ทีมงาน  “วิถีชีวิต”  เดินทางไปสัมผัสกับชีวิตในแง่มุมหนึ่งของชาวนาบ้านวัดดาว  ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ที่รวมกลุ่มกันเป็นนักเรียนใน  “โรงเรียนชาวนา”  “เรียนรู้”  การทำนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน”  โดยมีสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการดำเนินการในเรื่องนี้
 วิถีชีวิตของเกษตรกรชาวนาใน  จ.สุพรรณบุรี  ในสมัยอดีตกาลนั้นจะทำนากันปีละครั้ง  แต่หลังจากที่ทางรัฐบาลเน้นย้ำให้การทำนาเป็นไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น  ชาวนาสุพรรณฯ  ก็ทำนากันปีละ  3  ครั้ง  โดยทางรัฐบาลให้การส่งเสริมเรื่องน้ำ  เรื่องชลประทาน  พัฒนาการเกษตรโดยเน้นการเพิ่มผลผลิตให้ได้สูงสุด
 นอกจากจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ  ใช้เครื่องจักรกลแล้ว  “สารเคมี”  รูปแบบต่างๆ  ก็ถูกซัดใส่เข้าสู่ผืนนา  ซึ่งแม้ว่าระยะแรกๆ  จะทำให้ผลผลิตข้าวสูง  ลดอัตราการเสี่ยงในหลายๆ เรื่อง
 แต่ไม่นานก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ  ตามมา  เช่น  ต้นทุนสูง  ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมี ยากำจัดแมลงศัตรูพืช  ในแหล่งน้ำ  ดิน  อากาศ  มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน  รวมถึงจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งนอกเหนือจากจะทำให้สภาพแวดล้อมเสียแล้ว  ยังทำให้ชาวนาได้รับ  “ผลกระทบทางด้านสุขภาพ”  กันทั่วหน้า
 ณ  วันนี้  “โรงเรียนชาวนา”  กำลังพยายามแก้ปัญหานี้....

 บังอร  สุวรรณสูร  อายุ  53  ปี  หนึ่งในนักเรียนชาวนา  ต.วัดดาว  เล่าถึงชีวิตการทำนาว่า...จริงๆ  แล้วตนเองเกิดและเรียนในตัวเมือง  แต่พ่อและแม่ได้มรดกจากปู่ย่าเป็นที่นาที่อยู่ใน  ต.วัดดาวแห่งนี้  พ่อกับแม่ก็เข้ามาทำนาที่นี่  การทำนาจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่เด็ก  หลังเรียนจบ  ป.4  อายุประมาณ  10  กว่าขวบ  ก็เริ่มทำนาแล้ว
 สมัยก่อนที่บ้านยังทำนากันปีละครั้ง  ที่เรียกกันว่า  “ทำนาปี”  พอมาระยะหลังวิถีชีวิตของ  ชาวนาที่  ต.วัดดาวก็เริ่มเปลี่ยนไป  เมื่อทางภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตมากขึ้นต่อปี  โดยการเข้ามาสร้างชลประทานกักเก็บน้ำให้ชาวนามีน้ำใช้ทั้งปี  ชาวนาก็เริ่มที่จะทำนานอกฤดูที่เรียกว่า  “ทำนาปรัง”
 “มีการสนับสนุนให้ใช้ปุ๋ยเคมี  บริษัทยาฆ่าแมลงก็เข้ามาแนะนำให้ใช้ยา  ชาวนาก็เริ่มใช้    สารเคมีกัน  โดยไม่ได้คำนึงถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้น  พวกเรารู้อย่างเดียวว่ามันทำให้ผลผลิตสูงขึ้น”
 ป้าบังอรเล่าต่อว่า...  “มาระยะหลังร่างกายเริ่มที่จะไม่ไหว  เกิดอาการบวม  คันตามร่างกาย เจ็บป่วย  ไปหาหมอก็พบว่าร่างกายได้รับสารเคมีมากเกินไป”  เพราะที่ผ่านมาใช้สารเคมีและ         ยาฆ่าแมลงมาโดยตลอด
 พอร่างกายเป็นอย่างนี้ขึ้นมาก็เริ่มที่จะมีความคิดที่จะเลิกใช้ยาฆ่าแมลง  จึงเริ่มที่จะคิดหาวิธีกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชด้วยสารที่เป็นธรรมชาติ  โดยเอา  “สะเดา”  มาหมักเพื่อเอาไว้ฉีดฆ่าแมลงศัตรูพืช ก็ได้ผลดี  หลังจากนั้นก็ได้ไปอบรมการทำปุ๋ยหมักที่สระบุรี  กลับมาก็ศึกษาหาวิธีนำวัตถุดิบต่างๆ  มาใช้ทำน้ำหมักและก็ได้ผลเป็นอย่างดี
 ตอนแรกที่เราหันมาใช้สารสะเดาฉีดพ่นฆ่าแมลง  ต้องแอบใช้  เพราะอายที่เราทำไม่เหมือนใคร  หลังจากนั้นทางมูลนิธิขวัญข้าวก็เข้ามาช่วยสอนแนวทางการทำนาใหม่  โดยเปิดเป็น          “โรงเรียนชาวนา”  ก็รวมกลุ่มกับชาวบ้านที่สนใจรักษาสุขภาพเข้ามาเรียนกัน สิ่งที่พวกเราได้เข้ามาเรียน  คือ  เริ่มเข้าใจถึงพิษภัยจากสารเคมีกันมากขึ้น
 “การใช้สารเคมีต่างๆ  ในการทำนานั้น  จะได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ  90  กว่าถัง  ไปจนถึงเกวียนกว่า  แต่เราใช้สารจากธรรมชาติ  ก็ได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ  90  ถัง  ซึ่งถึงจะได้ผลผลิตลดลงแต่ได้สุขภาพที่ดีมันก็คุ้ม  อีกอย่างการที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลง ถึงได้ผลผลิตเยอะแต่ก็ต้องเสีย   ค่าใช้จ่ายไปกับสารเคมีเยอะจนไม่เหลืออะไร  แต่ถ้าเราใช้สารจากธรรมชาติเราสามารถลดต้นทุนลงได้ครึ่งต่อครึ่ง”
 “เดี๋ยวนี้สุขภาพดีขึ้นมาก  ได้ความรู้เพิ่ม  ได้รู้จักชาวบ้านมากขึ้น  มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นมากขึ้น”
 นักเรียนชาวนาวัย  50  กว่าที่ชื่อ  บังอร  สุวรรณสูร  กล่าว

 ด้าน  ยายปิ่นทอง  ศรีสังข์   ปัจจุบันแม้จะอายุ  70  ปีแล้ว  แต่ก็เป็นอีกหนึ่งนักเรียนชาวนา เป็นอีกคนที่หันกลับมาใช้วิธีการปลูกข้าวแบบ  “ปลอดสารเคมี”  โดยยายปิ่นเล่าว่า...  ตั้งแต่จำ    ความได้ก็เห็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายทำนาแล้ว  ยายจึงไม่คิดที่จะไปทำอาชีพอื่น  พออายุได้  11  ขวบ  ก็เริ่มสีข้าว  ตำข้าว  พอจบ  ป.4   มาก็เริ่มลงนาทำนา  และทำมาตลอด  ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านจะทำนากันปีละครั้ง  ในช่วงประมาณเดือน 7 – 8  เดือน  ตอนนั้นได้  50  ถังต่อไร่ก็เก่งแล้ว
 แล้วต่อมาเราก็เปลี่ยนวิธีการของเราเอง  พอมีชลประทานเข้ามาเราก็ทำนาปรังกัน  วิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน  หันไปพึ่งสารเคมีกัน  จนทุกพื้นนาที่ปลูกข้าวนั้นใช้แต่สารเคมีทั้งนั้น  เพราะมันสะดวกสบาย  รวดเร็วในการกำจัดศัตรูข้าว
 “พอร่างกายมันเริ่มรับสารเคมีไม่ไหว  จึงต้องการที่จะเลิกใช้สารเคมี ก็ไปขอน้ำหมักจากบังอรเขามาใช้ หลังจากนั้นก็เริ่มค่อย ๆ เลิกใช้สารเคมี.....”
 ...ยายปิ่นเล่า  และบอกต่อไปว่า  ได้มีโอกาสไปเรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก ก็ใช้วิธีการนั่งฟังและจำอย่างเดียวเพราะเรียนมาน้อย  จะใช้วิธีการจดก็ไม่ได้  จากนั้นก็กลับมาหัดทำ ดัดแปลงดู  ถ้าสูตรไหนได้ผลดีก็จะไปเล่าสู่กันฟังกับนักเรียนชาวนาคนอื่น  “รับรองว่าจะไม่ยอมหันกลับไปใช้สารเคมีอีกแน่นอน  !!”
 “ไม่เคยเบื่ออาชีพชาวนา  ทำมานาน  เป็นอาชีพของบรรพบุรุษ เป็นอาชีพสุจริต  ไม่ได้เอาเปรียบใคร  ถึงอายุ  70  แล้ว  ก็ยังทำ ถึงลูกหลานจะให้หยุดก็ไม่ฟัง  จะทำจนกว่าที่จะทำไม่ไหว  และไม่ยอมให้อาชีพนี้สาบสูญไปอย่างแน่นอน  จะต้องมีทายาทรับช่วงต่อ”  ...นักเรียนชาวนาวัย  70  ปี  กล่าวอย่างเด็ดเดี่ยว

 ต่อกันด้วยนักเรียนชาวนาชายวัย  56  ปี  สุทิน ขุนไม้งาน  นักเรียนชาวนาคนนี้มีประสบการณ์ในอาชีพเกษตรกรรมชาวนามาไม่ต่ำกว่า  40  ปี  โดยเขาเล่าว่า...วิถีชีวิตการเป็นชาวนาเริ่มตั้งแต่อายุได้เพียง  10  ขวบ  เป็นการสืบทอดมาจากรุ่นปู่  ที่บ้านทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะให้ไปทำอาชีพอื่นก็คงจะทำไม่ได้
 “เพราะวิถีชีวิตการทำนามันเข้าไปในสายเลือดแล้ว...”
 ...สุทินกล่าวยิ้มๆ  และเล่าต่อไปว่า...  การทำนาในสมัยที่ตนเองยังเป็นเด็กนั้น  ยังไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีใดๆ  ทั้งสิ้น  อย่างมากก็ใช้แค่ยาเบื่อปู  แต่หลังจากที่เริ่มมีการทำนาปรัง พวกกรมส่งเสริมวิชาการก็เข้ามาส่งเสริมให้ใช้สารเคมีในการปลูกข้าว  ชาวนามีความรู้ไม่มากเห็นว่าใช้แล้วผลผลิตดีก็ใช้กัน  ใช้กันจนเคยชิน  จนถ้าจะให้เลิกใช้กันก็คงจะยาก
 แต่ใช้ไปนาน ๆ เดี๋ยวสารเคมีมันก็ฟ้องตัวมันเอง......
 “สำหรับผมคิดว่า  ถ้ายังคงใช้มันอยู่ก็คงจะเอาตัวไม่รอด  ยิ่งทำยิ่งจน  เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งค่าปุ๋ย  ค่ายาฆ่าแมลง  ที่ยิ่งร้ายคือสุขภาพก็แย่  ดังนั้น  ถึงเราจะเลิกใช้สารเคมีในการปลูกข้าวแล้วพวกที่ยังไม่ยอมเลิกใช้จะมองว่าบ้า  ผมก็ไม่สนใจ”
 สุทินยังกล่าวด้วยว่า...  ก็อยากจะให้เพื่อนชาวนาเลิกการทำนาแบบใช้สารเคมี  ยาฆ่าแมลง เพื่อตัวของพวกเขาเองและลูกหลาน  แต่ก็คงจะไปบังคับกันไม่ได้  ของอย่างนี้มันอยู่ที่จิตใจของใครของมัน  ต้องคิดไตร่ตรองเองว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี  ที่ควรจะทำ  “ส่วนผม...ผมคิดว่าผมเดินทางมาในแนวทางที่ดีที่ถูกแล้ว”

 เพชรรัตน์  สระโจมทอง  นักเรียนชาวนาผู้นี้ก็มีสายเลือดความเป็นชาวนามาตั้งแต่เด็กเช่นกัน แต่นักเรียนชาวนาคนนี้แตกต่างจากนักเรียนชาวนา  3  คนแรก  ก็ตรงที่เป็นนักเรียนที่ชอบเรียนรู้ ชอบอ่านหนังสือ  ความจำดี  เป็นนักเรียนชาวนาที่  “ทดลองเพาะพันธุ์ข้าวเอง”  ซึ่งส่วนใหญ่ชาวนาจะไม่นิยมเพาะเอง  จะใช้วิธีซื้อเมล็ดพันธุ์
 เจ้าตัวบอกว่า...  หลังจากที่ทางสำนักงานของมูลนิธิขวัญข้าวพาไปดูงานที่  ต.ท่าเสด็จ  เห็นเขาทดลองพันธุ์ข้าวกัน  ก็เกิดความคิดที่จะทดลองเองบ้าง  กลับมาก็เลยลองดู  ลองผิดลองถูกไปเรื่อย  ทดลองมาทั้งหมดก็  5  ครั้ง  ที่ทดลองก็มีพันธุ์สุพรรณบุรี  1  กุหลาบแดง  มะลิ  อินโด  ทดลองมา  4  ตัวอย่างก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ทดลองมาไม่เหมาะกับพื้นที่ของ   พื้นนาที่ปลูกอยู่  ตอนนี้กำลังทดลองใหม่  คือ  พันธุ์เหลืองทอง  คิดว่าน่าจะเหมาะที่สุด
 “อยากลองทำดูว่าจะทำได้ไหม  ทำได้ก็ดี  ทำไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้”...เพชรรัตน์กล่าวอย่าง    มุ่งมั่น
 ...ก็เป็นอีกมุมต่างที่น่าสนใจของ  “นักเรียนชาวนา”  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี

 ....เทคโนโลยีใหม่ๆ  สารเคมีต่างๆ  เข้ามามีส่วนใน  “วิถีชีวิตชาวนา”  เข้ามามีผลต่อกลุ่มคนที่เป็น  “กระดูกสันหลังของชาติ”  กลุ่มคนที่ยึดอาชีพ  “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน”  มานาน  และวันนี้ก็เริ่มฉายภาพความร้ายกาจให้ปรากฏชัดเจน  มันกลายเป็นอาวุธร้ายย้อนกลับมาทิ่มแทงชาวนา ทั้งในแง่ของรายได้และสุขภาพ
 ชาวนาส่วนใหญ่อาจยังลังเลที่จะเลิกใช้ – ละเลิกสิ่งที่คิดว่าช่วยให้สะดวกสบาย  แต่ชาวนา กลุ่มหนึ่งได้ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะ  “เลิกตกเป็นทาสสารเคมี”  กันแล้ว...
 “นักเรียนชาวนา”  คือ  ส่วนหนึ่งของผู้ที่  “คิดได้”
 และ  ณ  วันนี้คุณภาพชีวิตที่ดีก็กำลังหวนคืน....

ที่มา  :     http://www.dailynews.co.th/sunday/lifestyle.asp?columnid=8644

ฉบับที่  6  ไทยเอ็นจีโอ  วันเสาร์ที่  26  มีนาคม  พ.ศ.2548

นักเรียนโรงเรียนชาวนา ฝึกนักทำนาอาชีพ
กฤนกรรณ  สุวรรณกาญจน์
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ

                                      

 ถึงแม้ว่าข้าวจะเป็นอาหารหลักในสังคมไทยหาก  “คนปลูกข้าว”  กลับไม่ถูกยกย่องให้ยืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนในวงการอาชีพอื่น  จนเป็นเรื่องที่น่าเชื่อได้ว่า คนรุ่นใหม่วันนี้ไม่ได้มุ่งเรียนเพื่อออกมาเป็นชาวนา  (อย่างพ่อ)  และอย่างถึงที่สุด  สถาบันการศึกษากลับไม่มีหลักสูตรที่ว่าด้วย  “นักเรียนชาวนา”
 มูลนิธิข้าวขวัญ  และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.) (http://www.kmi.or.th)  จึงร่วมจัดอบรมนักเรียนชาวนารุ่นที่สองว่าด้วยเทคนิคการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว  23 – 24  มีนาคม  ที่ผ่านมา  โดยมีนักเรียนชาวนาที่เป็นตัวแทนจากเครือข่ายพันธุกรรมภาคอีสาน  9  ภูมินิเวศน์  เครือข่ายครูบาสุทธินันท์  โครงการฟื้นฟูต้นทุนชีวิตชุมชนท้องถิ่น  เครือข่ายศีรษะอโศกและเครือข่ายค้ำคูณ  เข้าเรียนรู้และปฏิบัติจริงในนาทดลอง
          สุขสรรค์  กันตรี  นักวิชาการมูลนิธิข้าวขวัญ  ผู้เชี่ยวชาญด้าน  การปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการทางธรรมชาติและผู้ร่วมคิดหลักสูตร     โรงเรียนชาวนาพูดคุยผ่านทีมงานไทยเอ็นจีโอว่า  “ข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันของสังคมไทย  และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย  ปัจจุบันการทำนาเปลี่ยนแปลงไปมาก  จากเทคโนโลยีแบบ      พื้นบ้านที่สะสมถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เปลี่ยนมาเป็นการทำนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เน้นการใช้เคมีเกษตรซึ่งสร้างผลกระทบใหญ่หลวง  และการพัฒนาพันธุ์ข้าวเป็นไปเพียงเพื่อตอบสนองต่อระบบการตลาดเท่านั้น”
 “การมุ่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวป้อนตลาดข้าว  ทำให้ชาวนาต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณที่สูงขึ้นขณะที่ปุ๋ยราคาสูงขึ้นทุกๆ  ปี  นอกจากนี้  พันธุ์ข้าวสมัยใหม่มักมีความต้านทานโรคน้อยกว่าพื้นเมือง  ทำให้ชาวนาในระบบเกษตรสมัยใหม่มักจัดการปัญหาด้วยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชควบคู่กันไปด้วยซึ่งภายใต้การพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการนี้กลับทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพิ่มสูงขึ้น”
 ประเด็นใหญ่ของการเร่งใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์  คือ  การมุ่งตอบสนองการตลาดมากกว่าความต้องการที่แท้จริงของชาวนายิ่งไปกว่านั้น  ปัจจุบัน  บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำการตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว  “เป็นการผูกขาดเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์”  อ.สุขสรรค์  กล่าว
 “ชาวนาจะมีทางเลือกมากกว่านี้ได้อย่างไร  ต่อไปชาวนาจะพึ่งตนเองไม่ได้  การเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงพันธุ์จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายโรงเรียนชาวนา  นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่     การคัดเลือกสายพันธุ์  นำไปทดลองปลูก การปรับปรุงพันธุ์ด้วยการผสมละอองเกสรร่วมกันเป็นเครือข่ายชาวนา  เป็นการรื้อความรู้เก่าที่มีอยู่ในสายเลือดชาวนาให้ฟื้นคืน”  อ.สุขสรรค์กล่าวต่อไปว่า  การปรับปรุงพันธุ์ผ่านการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาเป็นการลดต้นทุนตอบและสนองต่อระบบการผลิตของชาวนาโดยตรง
 ข้าวเป็นพืชจำพวกเดียวกันกับหญ้าขึ้นได้ดีทั้งในพื้นที่น้ำท่วมขังและพื้นที่ดอน  และเป็นพืชที่มีประวัติยาวนาน  ปลูกกันมากในภูมิภาคเอเชีย  ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นสองกลุ่ม  คือ  ข้าวปลูกและข้าวป่า  การอบรมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฝึกฝนชาวนาอาชีพครั้งนี้  เดชา  ศิริภัทร         ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ  เล่าถึงความจำเป็นของการมีโรงเรียนชาวนาว่า  “เอาง่ายๆ  ว่า  การปลูกข้าวแบบใหม่ เน้นการใช้เคมีเกษตรใช้ปุ๋ยและสารเคมีเร่งผลผลิต  ซึ่งต่างจากสมัยก่อนชาวนาจะ  เรียนรู้จากฤดูกาลและระบบธรรมชาติไม่พึ่งพิงเงื่อนไขภายนอก การปฏิวัติเขียวได้ปฏิวัติโลก   เกษตรกรรม  การทำนาจึงถูกกระแทกด้วยความรู้ชุดใหม่จากภายนอก  เช่น  สถาบันวิจัยข้าว      นานาชาติ  กรมวิชาการข้าว  สถาบันวิจัยพันธุ์ข้าว  ซึ่งกำหนดให้ทุกอย่าง  ตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์  การไถนา  หรือระบบชลประทานการใช้ยาฆ่าหญ้าหรือเคมีเกษตรแม้แต่การขายยังต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก ขายได้ราคาก็รอด  ปุ๋ยราคาถูกลงก็ค่อยยังชั่วหรือได้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคผลผลิตก็ดีกระบวนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายไม่ได้เกิดจากตัวชาวนาเอง  ทำให้พื้นความรู้เดิมหายไปหมด เลิกใช้ไถเลิกเลี้ยงควาย”
 สำหรับหัวใจกว้างๆ  ของการตั้งโรงเรียนชาวนา  ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญเล่าว่า  “จึงเป็นการรื้อความรู้ชุดเดิมและทำให้นักเรียนชาวนามั่นใจนำความรู้ของตนที่มีอยู่แล้วไปทำนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมวันนี้  เช่น  ดินเสีย  น้ำเสีย  สุขภาพเสีย  เศรษฐกิจ  หรือการสูญเสียศักดิ์ศรีของ  ความเป็นชาวนา  ซึ่งการเป็นชาวนาอาชีพจะไม่ถูกกระทำให้หมดคุณค่า”
 “จะเห็นได้ว่าชาวนาปัจจุบันสนับสนุนให้ลูกหลานยึดอาชีพอื่น  หลุดออกจากวงจรของ       คนทำนา  ชาวนาอยู่อย่างไร้ความหวัง  เพราะฉะนั้น  หากต้องการจะทำให้ชาวนาอาชีพคงอยู่  จำเป็นต้องฟื้นความเป็นชาวนาอาชีพ  ทั้งการทำงาน  ภูมิความรู้  เศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  ชาวนาจำเป็นต้องเป็นเจ้าของชุดความรู้โดยตัวเอง  จัดการความรู้  ใช้ความรู้  พัฒนาความรู้และสามารถแก้ปัญหาของตนเองให้ได้เพราะทุกวันนี้คนที่จัดการแก้ไขปัญหาไม่ได้ทำเพื่อคงอาชีพชาวนาไว้  แต่เลี้ยงชาวนาไว้เพื่อเป็นฐานเสียงหรือลูกค้าบริษัทปุ๋ยและยา”
          ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญให้ข้อมูลต่อมาว่า  “โรงเรียนชาวนาเกิดขึ้นโดยองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ  หรือ  FAO  (FOOD  AND  AGRICULTURE  ORGANIZATION  OF  THE  UNITED  NATIONS)  เป็นผู้ตั้งขึ้นครั้งแรก  เพราะชาวนาใช้เกษตรเคมีมากขึ้น เอฟเอโอเห็นว่าสารเคมีจะก่อผลรุนแรงในระยะยาวซึ่งแนวคิดเริ่มแรกอนุญาตให้ใช้สารเคมีได้เท่าที่จำเป็น หลักการเป็นการใช้เคมีเกษตรด้วยวิธีการที่ถูกต้อง  ใช้เมื่อจำเป็นและเป็นประโยชน์สูงสุดรู้จักกันในชื่อ โรงเรียนเกษตรกร  (Farmer  Field  School)  เน้นการปฏิบัติจริงในไร่นาทดลองเป้าหมายสูงสุด  คือ ลดการใช้เคมีเกษตรหรือใช้อย่างถูกต้อง”
 “สำหรับโรงเรียนชาวนาของเราการไม่ใช้เคมีเกษตรอย่างสิ้นเชิงถือเป็นทางออกสูงสุดเราเชื่อว่าหากไม่มีเคมีเกษตรชาวนาจะแก้ปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ได้โดยสิ้นเชิง  นอกจากนี้  จิตใจของคนจะอ่อนโยนขึ้นทันทีที่เค้ามีพื้นฐานทางความคิดใหม่  จากที่เคยถูกทำให้เชื่อว่า  เคมีเกษตรเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อหันมาใช้เทคนิคเกษตรชีวภาพจะเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ปรับตัว  สร้างสมดุล”
 “จากแต่เดิมที่เห็นแมลงทุกตัวเป็นศัตรูเมื่อเรียนรู้ว่า  มีแมลงจำนวนหนึ่งเป็นแมลงที่มีประโยชน์ช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชเป็นเทคนิควิธีเกษตรอย่างหนึ่ง  คือ  ใช้แมลงควบคุมกันเอง ความรู้สึกเกี่ยวกับแมลงจะเปลี่ยนไป  ปัญหาที่เกิดจากการใช้เคมีเกษตรก็จะหมดไป  เป็นวิธีคิดใหม่ที่ท้าทาย  เมื่อก่อนเห็นแมลงแล้วจะฉีดยาฆ่าอย่างเดียว  ได้ผลเร็วเท่าไรยิ่งดี ต้องทำให้ความคิดเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป  นั่นคือ  เป้าหมายสูงสุดของโรงเรียนชาวนา”
 ไม่ใช้เคมีเกษตรโดยสิ้นเชิงไม่พึ่งพาความรู้จากภายนอกเรียนรู้เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบของชุดความรู้ภายใน  ซึ่งโดยตัวหลักสูตรเรียกว่าเป็นทางเลือกใหม่ ไม่ใช้เคมีเกษตรและเป็น       การเรียนรู้จากการทำงานจริง  ตั้งแต่คัดเลือกพันธุ์  ปลูก  กระทั่งเก็บเกี่ยว  เค้าจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นระบบกลุ่ม
 

นักเรียนชาวนา...คัดเมล็ดพันธุ์ข้าว


 
 

ปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเกสร

 “เรากำลังเรียนรู้เพื่อลดการพึ่งพากลุ่มทุนและบริษัทเอกชนด้านเมล็ดพันธุ์  และเคมีเกษตรหรือนโยบายเกษตรของรัฐที่เน้นการส่งออกผูกพันกับระบบตลาด  เพราะสุดท้ายเราต้องพึ่งตนเองให้ได้ก่อน  พึ่งตนเองได้แล้วจึงปล่อยคนอื่นให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือต่อเติมร่วมมือกันทำ”
 “โรงเรียนชาวนาเน้นองค์ประกอบสำคัญ  คือ  1)  เรื่องหลักสูตรที่จะต้องแก้ไขปัญหาได้จริง เทคนิคที่นำมาใช้ต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่  ไม่ใช่ว่าเป็นหลักสูตรแล้วนำไปใช้เพียงเท่านั้น  ปรับเปลี่ยนไม่ได้  2) โรงเรียนชาวนาเป้าหมายสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคนิควิธีการแต่มุ่งเข้าสู่ระบบสำนึก  เปลี่ยนแปลงและสร้างวิธีคิด  เปลี่ยนจากมุ่งการแข่งขันมาเป็นร่วมมือจากการมองโลกอย่างแยกส่วนมาเป็นการมองโลกอย่างเป็นองค์รวมจากดูถูกชุด  ความรู้ของตัวเองกลับเอาความรู้ของตัวเองมาเป็นฐาน”
 เรากำลังเปลี่ยนวิธีคิดทั้งระบบ  หากเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้อย่างอื่นจะตามมาเอง  วิธีคิดจะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมและการดำเนินชีวิต  เปลี่ยนวิธีคิดได้เมื่อไรกิจกรรมจะตามมา  โรงเรียนชาว นาจึงมุ่งเน้นในสองเรื่อง  คือ  เทคนิค  ทำอย่างไรจึงจะไม่ใช้เคมีเกษตรและวิธีคิดทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนจิตสำนึก  เข้าถึงความสุขและอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของชาวนาอาชีพ  ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ  กล่าวสรุป
 
นักเรียนชาวนารุ่นเดอะ

ที่มา  :     http://www.thaingo.org


ฉบับที่  7  หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่  25  เมษายน  พ.ศ.2548

โรงเรียนชาวนาสุพรรณฯ  “ตาดู  หูฟัง  มือทำ”
ภัคนิจ สรณารักษ์

 วันก่อนได้ไปสังเกตการณ์กลุ่มพี่น้องเกษตรกรชาวสุพรรณเขาไปโรงเรียนกัน  โดยกลุ่ม    ชาวนาร้อยกว่าชีวิตจากทั้ง  ต.บ้านโพธิ์  อ.เมือง  ต.หนองแจง  อ.ดอนเจดีย์  ต.บ้านดอน  อ.อู่ทอง ต.บ้านแหลม  และวัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  พากันมาเข้าห้องเรียนเพื่อเรียนวิชาว่าด้วยการทำนากัน  แต่ละคนอายุอานามก็ไม่ใช่น้อยๆ  มีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ไปจนถึงรุ่นจนคุณตาคุณยายเลยก็มี  ทำให้นึกถึงคำคมหนึ่งที่ว่า  “ไม่มีใครแก่เกินเรียน”
 โรงเรียนที่ว่ามานี้ก็คือ  “โรงเรียนชาวนา”  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืนแก่ชาวนา  จัดโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ร่วมกับ  มูลนิธิข้าวขวัญเปิดโอกาสให้เกษตรกรในสุพรรณฯ  ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำนากัน  เป็นกระบวนการเรียนรู้ภายใต้กรอบแนวคิดว่าให้เกษตรกรได้นำบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานจริงๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชาวนากับชาวนาด้วยกัน  ทั้งนี้เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับ        การทำนาทั้งเรื่องดิน  เรื่องน้ำ  เรื่องปุ๋ย  แมลง  พันธุ์ข้าว  การจัดทำบัญชี  การจัดการหลังเก็บเกี่ยว และการตลาด  เพื่อทดลองและหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น  ลดการขาดทุนและก่อให้เกิดรายได้ที่มากขึ้น  และที่สำคัญที่สุดคือลดการใช้สารเคมีเพื่อส่งเสริมการเป็นเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างแท้จริง
 “แต่ก่อนเคยมีการอบรมเกษตรกรจากองค์กรต่างๆ  อยู่เหมือนกัน  แต่อบรมกันอยู่แค่วันสองวัน  พอเสร็จแล้วก็แล้วกันไปไม่ค่อยสำเร็จ  เพราะพูดกันวันเดียวจบ  ซึ่งถ้าไม่ได้ทำก็จะไม่รู้  ไม่เหมือนกับกิจกรรมของโรงเรียนชาวนา  ที่เขาสอนให้ลงมือทำทุกขั้นตอน  สอนให้จดบันทึกไว้ตลอด  อันไหนดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป สิ่งไหนไม่ดีก็ทดลองสิ่งใหม่ๆ  ทำให้ดีกว่าเดิม  ตาดู  หูฟัง  มือทำ  จึงเป็นคำขวัญที่ได้รับจากหลักสูตรโรงเรียนชาวนา  สอนพี่น้องเกษตรกรเราต้องจำไว้ให้แม่นยำและลงมือปฏิบัติกันให้จริงจัง”  นายบุญมา  ศรีแก้ว  ผู้ใหญ่บ้าน  ต.บ้านบ้านโพธิ์  เล่าถึงความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนแห่งนี้
 ผู้ใหญ่บุญมายังเล่าอีกว่า  วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ที่เรียนรู้มาจากโรงเรียนชาวนา  ชาวบ้านที่เขาไม่เห็นด้วยก็มี  เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ  บางคนก็มีปัญหาเรื่องไม่มีที่นา  ไม่มี     เงินทุน  มีหนี้สิน  คนที่ไม่กล้าทำเกษตรอินทรีย์ก็ยังมีอยู่  แต่ถ้าเราทำให้เป็นตัวอย่างให้เห็น  ต่อไปเดี๋ยวพวกเขาก็เห็นด้วยเอง  ทุกวันนี้ได้ผลผลิตเต็มพื้นที่นา  22  ไร่  ก็ได้ข้าวเต็มๆ  20  เกวียน  และถ้าใครอยากได้ตำราหรือข้อมูลอะไรก็ขอให้บอก  ผมพร้อมจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรด้วยกัน
 ส่วนคุณลุงหงษ์ทอง  สายเพชร  อีกหนึ่งตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรชาวบ้านดอน  อ.อู่ทอง  วัย  76  ทำนามาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี  วันนี้ได้มาเข้าโรงเรียนชาวนากับเขาเหมือนกัน  คุณลุงบอกว่าทำนามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วจนถึงตอนนี้ยังทำอยู่  รุ่นพ่อไปจนถึงรุ่นทวดเท่าที่จำความได้ก็มีอาชีพทำนาด้วยกันทั้งนั้น  แต่ทว่าไม่เคยมีใครมาสอนเลยว่าการทำนาต้องทำอย่างไร  ต้องมีวิธีการปลูกอย่างไร  กำจัดศัตรูพืชอย่างไร  คัดพันธุ์อย่างไร  ฯลฯ  ถึงจะได้ผลดี  เป็นเพียงแค่การทำตามๆ  กันมาเท่านั้นเอง  ปู่เคยทำอย่างไรพ่อก็ทำมาอย่างนั้น  แล้วก็ทำต่อๆ  กันมา
 “ไม่เคยมีใครทำนาแล้วรวยขึ้น  มีแต่ยิ่งจนลง  เพราะค่าใช้จ่ายอะไรต่ออะไรที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  พอมีการเรียนการสอนตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมา  อายุปูนนี้ก็เพิ่งจะได้มาเรียนนี่เองว่าจริงๆ  แล้วการทำนาเขาต้องทำกันอย่างไร  รู้สึกดีใจมากๆ  ที่มีองค์กรที่ให้การ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7092เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท