การเตรียมงานของ สคส. จะว่ายุ่งยาก ก็ยุ่งยาก หรือจะว่าไม่ยาก ก็เป็นไปได้เช่นกัน หลายแห่งมาติดต่อเพื่อให้ สคส. ไปช่วยทำ workshop KM หลายครั้งที่ต้องคุยกันนานพอสมควรเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า "จะลองเดินแนวทางนี้ดู" ดังนั้น ขั้นตอนการเตรียมการ การออกแบบ การค้นหาตัวคนมาเข้าร่วมจึงค่อนข้างต้องพิถีพิถัน แค่หัวเรื่อง (Theme) หรือที่ภาษา สคส. เรียกว่า "หัวปลา" นั้น บางครั้งเล่นเอาคุยหลายรอบเหมือนกัน แต่ต้องชมบุคคลที่ผ่านมาได้ (เช่น คณะทำงาน สอศ. ซึ่งจะจัดตลาดนัดในวันที่ 20-22 พ.ย. นี้) เหล่านั้นนะครับ ว่าเขาได้พิสูจน์ความอดทน ทำแล้วทำอีก คุยแล้วคุยอีก ถ้าหากว่าไม่ตั้งใจจริง ก็คงจะ แอ่น..แอ๋น ไปแล้ว
ส่วนใหญ่ที่ say goodbye ไปก่อน เพราะว่าต้องการรีบทำให้เสร็จตามปีงบประมาณบ้าง ตามระยะเวลาของโครงการบ้าง หากพูดแบบแรงๆไม่เกรงใจธรรมเนียม คงจะประมาณว่า "ทำให้เสร็จๆกันไป" ขอแค่ input ส่วน output จะออกมาแบบไหนไม่จริงจัง หาก สคส. คุยแล้วได้กลิ่นนี้ (จมูกเร็วมากครับ ขอบอก) เราก็จะขอออกตัวโดยไม่ลังเลว่าเรา "ไม่มีฝีมือ" ที่จะทำให้ได้ตามที่ท่านร้องขอ
การเลือกคนมาเข้าร่วม "ตลาดนัดความรู้" เช่นกัน ตามความเชื่อของเรา ไม่ใช่ว่าใครก็ให้เข้าได้หมด หลายแห่ง หลายที่ใช้วิธีการส่งหนังสือเชิญ ซึ่งบางทีก็ได้ตัวจริง บางทีก็ได้ตัวปลอม ผสมปนเปกันมา บางคนไม่ได้มาเรียนรู้อะไรเลย แต่ด้วยคำสั่งจำต้องมา บางกรณีเห็นสถานที่น่าสนใจผู้บริหารก็มาเอง คนทำงานตัวจริงถูกปิดโอกาสซะ นี่คือ เหตุหนึ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างการทำงาน ดังนั้น สคส. จะพิถีพิถันจุดนี้มาก เราเคยเจอและพบว่า "คนที่ไม่พร้อมจะเรียนรู้ ควรจะถูกคัดออกไปก่อน ให้สิทธ์กับคนที่เขามีใจก่อน" ตรงนี้ แหละครับ ที่ Training มักจะพลาดได้ง่าย Training จะดีได้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว Training ที่ถูกออกแบบให้เกิด learning อยู่ข้างในวิธีการ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และท้าทายเราอยู่เสมอ เพราะในโลกของความเป็นจริง คน แต่ละคน มี learning culture ไม่เหมือนกัน มีมากน้อยไม่เท่ากัน ตรงจุดนี้ว่าไปแล้วคนนอกอย่างเช่น ที่ปรึกษา หรือ สคส. เองก็ตามต้องใช้เวลาศึกษา ซึ่งนานโขอยู่เหมือนกัน เส้นทางลัดที่เร็วกว่า คือ "คนใน" ด้วยกันเอง เลือกมาเอง อยู่ใกล้กันนานกว่า จะรู้นิสัยใจคอดีกว่า ดังนั้น จริง หรือ ปลอม ย่อมรู้ได้ดีกว่า
แต่ที่ท้าทายคือ วิธีการดึง "ตัวจริง" ออกมา ตัวอย่างล่าสุดเร็วๆนี้ ทาง สอศ. ใช้วิธีกำหนดเกณฑ์ และส่งหนังสือให้ผู้สนใจสมัครเข้ามา โดยเขียนเรื่องเล่าแนบมาด้วย คณะกรรมการ KM ที่ส่วนกลางก็จะคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง แต่มีจุดต้องระวังเรื่อง คำอธิบายเกณฑ์ และเรื่องเล่า เพราะไม่เช่นนั้นคนจะเข้าใจผิดได้ง่าย คิดว่าให้ส่ง ใบประวัติการทำงานที่คล้ายๆ Resume หรือ Curriculum Vitae ที่ใช้คุ้นเคยกันอยู่ แต่เรื่องเล่าประสบการณ์ที่ว่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ผ่านมาแล้ว เป็นเรื่องราวของการทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจจะเป็นกรณีเล็กๆ เป็นเรื่องที่คนทำเคยภาคภูมิใจกับมันมาแล้ว คนที่มีเรื่องเล่าแบบนี้แหละครับ ที่เราอยากแนะนำให้หน่วยงานเจ้าภาพไปเสาะหามา เชิญเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เป็นการให้รางวัลคนที่ตั้งใจทำงานไปในตัวกระบวนการทำงานปกติ
ส่วนเรื่องเล่า นั้นเตรียมประมาณไหนอย่างไร ลองอ่าน blog ต่อไปดูนะครับ