หน่วยงานกระแสหลักและกระแสแสวงหา


          วันที่ ๒๖ ธ.ค. ๔๙   สภามหาวิทยาลัยมหิดล  ไปเยี่ยมชื่นชม ๓ หน่วยงาน   คือ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก   วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  และวิทยาลัยราชสุดา   ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ที่ "ชายขอบ" ของวิทยาเขตศาลายา   ๒  ฝั่งถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี

          ไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่  ที่ ๓ หน่วยงานเขาจัดกลุ่มนำเสนอกันเอง   ประกอบกับบรรยากาศในห้อง Music Auditorium ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มันเป็นใจ    ทำให้ผมมองเห็น (ไม่ทราบว่าเห็นถูกหรือเห็นผิด) ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลประกอบด้วยหน่วยงาน ๒ กลุ่ม

          (๑) หน่วยงานกลุ่มกระแสหลัก (conventional)  ของศาสตร์ด้านสุขภาพ  เช่น คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ เภสัชศาสตร์ ฯลฯ   เป็นหน่วยงานที่ตั้งมานาน  มีฐานะมั่นคง มีความเป็นศาสตร์ที่ชัดเจน

          (๒) หน่วยงานกลุ่มกระแสแสวงหา หรือกระแสทางเลือก กระแสทดลอง   เป็นกลุ่มของศาสตร์ใหม่  ศาสตร์ของ  "คนล้นบาท"   (คำพูดของ รศ.ดร.สุกรี   เจริญสุข  ผอ.วิทยาลัยดุริยางคศิลป์)   ต้องการจินตนาการสูง

          มหาวิทยาลัยมหิดลโชคดีที่มีผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล   คิดก่อตั้งหน่วยงานทั้ง ๓ ขึ้นในลักษณะที่น้อยคนนักที่จะเห็นความสำคัญในช่วงก่อตั้ง   แต่ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ๒ หน่วยงานที่มีระยะเวลาทำงานมาเกิน ๑๐ ปี (วิทยาลัยราชสุดา & ดุริยางคศิลป์)   ได้กลายเป็นผู้นำในศาสตร์ใหม่นี้ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ    แต่เป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออก

          และเชื่อว่าศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก   ก็จะพัฒนาขึ้นเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ชี้นำแก่สังคมในด้านการพัฒนาศาสตร์ เช่นเดียวกับที่วิทยาลัยราชสุดาเป็นผู้นำของศาสตร์เกี่ยวกับคนพิการ   และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นผู้นำด้านดนตรี

          รายละเอียดจะได้นำมาลงในบันทึกต่อๆ ไป

          ผมได้เรียนรู้และเห็นช่องทางที่สภามหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการสนธิพลัง (synergy)   ระหว่างหน่วยงานทั้งสองกระแส

วิจารณ์   พานิช
๒๖ ธ.ค. ๔๙

 

 

หมายเลขบันทึก: 70637เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2007 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท