วิธีฝึกการรู้เท่าทันการสื่อสาร


การฝึกทั้งนิสัยและทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร สองสิ่งนี้ต้องฝึกพร้อมกันไปให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกออกจากกัน

(4) 

มีวิธีการฝึก "ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร" อย่างไร
 

ในการฝึก ดิฉันได้พยายาม(แบบลองผิดลองถูก) ที่จะฝึกทั้งนิสัยและทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร สองสิ่งนี้พร้อมกันไปให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกออกจากกัน โดยวิธีการฝึกตามความถนัดเฉพาะของตัวเอง


(หมายความว่าจริงๆแล้วมีครูอาจารย์ที่เก่งๆจำนวนมาก มีวิธีการฝึกที่ดีและเป็นระบบครบกระบวนการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมอีกหลายวิธี แต่ดิฉันถนัดอยู่เพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการธรรมดาทั่วไป ที่ครูทุกท่านเข้าใจและหลายท่านก็ใช้วิธีเหล่านี้มานานแสนนานแล้ว) ดังต่อไปนี้

1. การใช้การทำงานเป็นสื่อ ให้ฝึกการคิดและการตัดสินใจ ฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร และได้งานไปพร้อมๆกัน


การทำงานเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การลงมือทำจริงจะทำให้เรามีโอกาสรู้จริงในสิ่งที่เราลงมือทำ จึงต้องฝึกให้เด็กทำงานได้ด้วยตนเอง(ทำงานคนเดียว) และฝึกการทำงานเป็นทีม(ทำงานร่วมกับผู้อื่น) โดยเฉพาะทักษะการทำงานเป็นทีม จะให้ผลลัพธ์เป็นคุณธรรมขั้นละเอียด หากได้ฝึกเป็นความถี่ซ้ำๆ ครูจึงต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

ในการทำงานเป็นทีม ซึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ จะช่วยให้ผู้นั้นได้ฝึกทักษะการสื่อสาร และทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ไปพร้อมๆกัน
 

และผู้ใดที่สามารถเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ในทุกสภาวะ(รู้เขา) ก็จะส่งผลให้บุคคลผู้นั้นเรียนรู้ที่จะพัฒนาวุฒิภาวะของตนได้ (รู้เรา) ในระดับสูงยิ่งๆขึ้นไป


 

2. การยกเรื่อง ยกสถานการณ์ ที่ครูเตรียมการมาล่วงหน้า หรือสร้างสถานการณ์ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางจิตใจ แล้วตั้งคำถาม และฝึกให้ตัดสินใจตอบด้วยเหตุผลอย่างมีวิจารณญาณ (เน้นที่ความรู้สึกขัดแย้งทางจิตใจ ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางจริยธรรมในชีวิตประจำวัน)


 

ทั้งนี้ ..โดยใช้วิธีการบีบทางเลือกให้เหลือสองขั้วตรงกันข้าม เช่น ทำหรือไม่ทำ เอาหรือไม่เอา เลือกหรือไม่เลือก เป็นต้น ความขัดแย้งที่ว่านี้ มักเป็นความขัดแย้งทางจริยธรรม ที่บางครั้งต้องเลือกระหว่างความถูกต้องกับผลประโยชน์ มโนธรรมกับการเอาตัวรอด เป็นต้น


การฝึกให้เด็กๆบอกเหตุผลอย่างชัดเจนว่า เราเลือกทำ หรือเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะเหตุใด ช่วยให้เด็กๆได้ฝึกคิด และช่วยให้ฉุกใจคิดว่าการตัดสินใจของเราในครั้งนั้นๆ เหมาะสมหรือไม่ และควรใช้อะไรเป็นหลักคิด

3. การยกเอาเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ณ ขณะนั้น หรือมีผู้ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นในขณะนั้น มาตั้งประเด็นหรือมาพูดให้ได้คิด (ครูต้องนึกให้ทันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ จะนำมาใช้เพื่อฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารได้หรือไม่ จะสื่อสารอย่างไร ให้กระทบใจ จับใจ และทำให้ฉุกใจคิดได้)


อาจทำได้โดยการตั้งคำถาม ถามตอบแย้งกันไปมาจนเกิดความคิดจากเรื่องที่ได้เห็นพร้อมกัน ณ ขณะนั้น โดยการฝึกให้คิด และอาจจะให้ลงมือทำเพื่อให้ได้คิด และให้ได้ข้อคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในวันหน้า 
 

การตั้งคำถามให้นักศึกษาเกิดการคิด เกิดความคิด และเกิดวิจารณญาณ
สามารถใช้คำถามอย่างง่าย ตามสามัญสำนึกธรรมดา เช่น

  • สิ่งนี้คืออะไร
  • เอาไว้ทำอะไร 
  • ถ้าเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ เราจะต้องทำอย่างไร
  • ที่เราตัดสินใจทำไปนั้น ก่อให้เกิดผลโดยตรงอย่างไร
  • และจะก่อให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องอย่างไรเป็นต้น

       "คำถามขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่มีคำถามที่ สำเร็จรูปตายตัว สามารถปรับไปตามสภาพความเป็นไปในขณะนั้น"


 

การฝึกให้เด็กฟัง ถาม แย้ง ตอบ คิด และตัดสินใจ เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ที่ช่วยให้นักศึกษาเกิดการคิดทบทวนไตร่ตรอง ตรวจสอบซ้ำ อย่างรอบคอบ และคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างรู้เท่าทัน ก่อนจะตัดสินใจ การตัดสินใจโดยรอบคอบแยบคาย และโดยรู้เท่าทันการสื่อสารนั้น น่าจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตนักศึกษา


 

ในการเล่าเรื่อง หรือยกสถานการณ์ที่บังเอิญเกิดขึ้นในขณะนั้น และในการตั้งคำถาม ครูต้องสื่อสาร(นำเสนอ)อย่างปราณีต ละเอียดอ่อน แนบเนียนและระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ฟังอย่างมาก และจะส่งผลต่อการปลูกฝังบ่มเพาะคุณธรรมของเด็กด้วย

 ถ้าเด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ หรือถูกชี้นำ เขาก็จะปฏิเสธข้อสรุปของครู ในหลายๆครั้งครูจึงอาจต้องขอให้เพื่อนๆในห้องช่วยกันลงข้อสรุป และต้องเปิดใจกว้างๆและมีความอดทนอย่างยิ่ง หากข้อสรุปของเด็กไม่ตรงกับใจครู

ทั้งนี้ ครูจะต้องให้เกียรตินักศึกษาและเปิดใจกว้างเพื่อรับฟังทุกมุมมอง ไม่ด่วนตัดสิน และสามารถอธิบายให้นักศึกษามองเห็นที่มาที่ไป เห็นสิ่งที่เป็นอยู่ และเกิดวิธีคิด รู้เท่าทัน สามารถมองเห็นด้วยปัญญาว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร

และแม้ว่าความรู้เรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร อาจมีผู้รู้และผู้สนใจอีกเป็นจำนวนมาก    สามารถบูรณาการ โดยใช้สหวิทยาการสร้างให้เป็นวิชา แล้วเขียนเป็นตำราวิชาการ ซึ่งผู้สอนและผู้เรียนจะสามารถหาอ่านได้ในทั่วไปสักวันหนึ่ง

แต่ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารนั้น ไม่อาจสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ด้วยวิธีการสอนเนื้อหาตามตำราสำเร็จรูปเป็นอันขาด เพราะ ชีวิต....ไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป !

การสอนและฝึกให้คนรู้เท่าทันการสื่อสาร รู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันทั้งจิตใจของผู้อื่น และจิตใจของตนเอง รวมถึงการฝึกให้เป็นผู้มีคุณธรรม มีจริยธรรม และมีมโนธรรมอย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน และต้องแลกด้วยจิตวิญญาณแท้ๆของความเป็นพ่อแม่ และครู ที่รักและห่วงใยทุกชีวิตที่อยู่ในความดูแลของเราด้วยใจจริงเท่านั้น

  

หมายเลขบันทึก: 70461เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สิ่งนี้คืออะไร
  • เอาไว้ทำอะไร 
  • ถ้าเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ เราจะต้องทำอย่างไร
  • ที่เราตัดสินใจทำไปนั้น ก่อให้เกิดผลโดยตรงอย่างไร
  • และจะก่อให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องอย่างไรเป็นต้น****************************** 

คนไข้คนนี้เป็นอะไร(โดยประมวลจากประวัติ การตรวจร่างกาย ผลเลือด ผลการตรวจทางแล็บต่าง ๆ)

เราควรทำอะไรต่อเขา รักษาอย่างไร ให้ยาตัวไหน ผ่าตัด..ฯลฯ

ถ้าเราเป็นหมอเวร หรือ หมอที่ดูแลเขา เราทำอย่างไร หรือถ้าเรารักษาต่อจากหมออีกท่าน เราทำอย่างไรต่อ

ที่เราตัดสินใจทำไปนั้น ก่อให้เกิดผลโดยตรงอย่างไร ต่อคนไข้

และจะก่อให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องอย่างไร
-----   ***   -----   ***   -----  ***   -----  
หลักสูตรเดียวกัน
ไม่สงวนลิขสิทธิ์  เอาไปใช้ได้เลย..แฮ่ม

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

โอ้โห..  แทนค่าได้ครบทุกสมการเลยอะค่ะ : )  
 
คำถามพื้นฐานชุดนี้เป็นขั้นบันไดที่ง่ายและชัดเจนเป็นธรรมชาติดี  พี่แอมป์จึงชอบมาก
(คือมันง่ายกว่าคำถามวิจัยตั้งเยอะ) : ) 

หลักสูตรนี้(คุณหมอเล็กเรียกแบบนี้ดูเท่ชะมัด) เป็นหลักสูตร "ความรู้ is in the air " น่ะค่ะ คือมันมีของมันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะพบ   ( พบ  แปลว่านึกขึ้นมาได้ จากประสบการณ์และกระบวนการหาความรู้ความเข้าใจในความจริงของชีวิต) และเลือกนำไปใช้ให้เหมาะแก่ปริบทของตนเท่านั้น 

พี่แอมป์คิดขำๆว่าเป็นหลักสูตรแบบ"ฝันเอา" และไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ใดๆ 
เพราะขืนยอมให้สงวนลิขสิทธิ์ได้กระทั่งความฝันละก็  พี่ต้องอดมีแควนแหๆ 

                  ...เพราะเราจะหมดสิทธิ์ฝันเห็นฮูกันอีกต่อไป...  

                       ซึ่งอันนี้พี่ยอมไม่ได้จริงๆอะค่ะ     อิๆๆๆๆ   : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท