๑,๒๘๓ พระทำ...นำสู่โรงเรียน


    ท่านบอกให้อดทน...สู้..อย่าท้อถอย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา จะสร้างศรัทธาให้ญาติโยมหรือผู้ปกครองเห็น..ต้องลงมือทำ การลงมือทำย่อมดีกว่าพูดอย่างแน่นอน...

          ตั้งแต่เป็นเด็กจำความได้ จนเติบใหญ่จนถึงวัยใกล้เกษียณ พูดได้อย่างมั่นใจว่า..ชีวิตนี้ได้ดีเพราะวัดวาอาราม ทำสิ่งใดก็ถูกโฉลกโชคดี มีพระสงฆ์อุปถัมภ์ค้ำชูเรื่อยมา

          หรือจะพูดแบบตรงไปตรงมา ก็คือถูกโฉลกกับพระนั่นเอง อาจเป็นเพราะบารมีที่เคยเป็นลูกศิษย์วัด เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นประถมตอนปลาย ที่โรงเรียนวัดท่าเกวียน

          ตอนนั้นการเรียนก็ธรรมดาๆ แต่ว่าลายมือสวยมาก จึงได้รางวัลอย่างน้อยก็ปีละ ๒ ครั้ง ทุกครั้งก็จะได้เหรียญรุ่นแรกจากหลวงปู่หลุยส์ พุทธญาโณ ผมได้กับมือหลวงปู่..ตัวจริงเสียงจริง

          พอเรียนจบนักธรรมตรี ก็ไปต่อโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดชลประทานฯปากเกร็ด เรียนกับพระต้องตั้งใจเรียนเพราะกลัวบาป พระอาจารย์ก็เลยเสนอชื่อให้รับทุนการศึกษา 

          ทุนละ ๕๐๐ บาท ในสมัยนั้น ถือว่าเยอะมากๆ และที่สำคัญเป็นเงินทุนการศึกษาที่ผมได้รับจาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ โห...เป็นอะไรที่ปลื้มมาก

          เรียนจบแล้ว..ได้มาเป็นครูและผู้บริหาร มีโอกาสได้วนเวียนอยู่ในวัดตลอด ทั้งไปทำบุญและนำนักเรียนไปพัฒนา หลายครั้งหลายคราก็ได้นำ “กลองยาว”ไปช่วยงานที่วัด

          แต่ที่น่าประทับใจสุดๆ จนอยากถอดบทเรียนไว้ในความทรงจำของการเป็นผู้บริหารโรงเรียน กับความผูกพันที่ผมมีต่อวัด ซึ่งก็คือ “วัดโบสถ์สระจิกด่าน” หรือวัดโบสถ์เก่า นั่นเอง

          หลายปีแล้ว..ที่ผมถือว่าเป็นวัดประจำโรงเรียน ที่จะต้องนำต้นเทียนพรรษามาถวาย และไม่เคยพลาดงานทอดผ้าป่าหรืองานกฐินประจำปีของวัดแห่งนี้เลย ตลอดระยะเวลาที่อยู่บ้านหนองผือ

          ความศรัทธาในวัดเล็กๆ ที่กำลังพัฒนา ไม่แตกต่างกับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่จะหยุดพัฒนาไม่ได้เลย..ผมเคยบอกเล่าปัญหาฯ ให้ท่านเจ้าอาวาสวัดโบสถ์เก่าทราบ

          ท่านบอกให้อดทน...สู้..อย่าท้อถอย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา จะสร้างศรัทธาให้ญาติโยมหรือผู้ปกครองเห็น..ต้องลงมือทำ การลงมือทำย่อมดีกว่าพูดอย่างแน่นอน...

          พูดแล้ว..ท่านก็มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไปมอบแก่เด็กที่จบป.๖ และมอบข้าวสารอาหารแห้งให้ครัว”หนองผือ”ทุกปี ปีละหลายกระสอบ

          วันนี้.ท่านเจ้าอาวาสโทรมา บอกให้ผมไปรับมอบข้าวเปลือกที่วัด ผมไม่ทันได้ถามว่ากี่กระสอบ แต่คิดในใจว่าไม่น่าจะมากมาย เพราะก่อนหน้านี้ ท่านคงได้แบ่งปันใครต่อใครไปบ้างแล้ว

          ผมมอบหมายให้ครูธุรการไปดำเนินการ เดินทางไปวัดในทันใด อย่าให้พระรอนาน และที่สำคัญ ข้าวสารที่โรงอาหารก็จะหมดแล้วด้วย…รีบไปให้ไวเลย โดยให้ชวนครูผู้ชายไปด้วย ๑ คน

          ครูธุรการกลับมาด้วยใบหน้าที่อิดโรย ที่ต้องช่วยครูแบกข้าวเปลือก ๒๒ กระสอบ จากศาลาการเปรียญ เพื่อยกขึ้นรถปิคอัพ..บรรทุกกลับมายังโรงเรียน

          ผมเห็นแล้วรู้สึกสงสาร แต่ทำไงได้ ตีเหล็กก็ต้องตีตอนที่มันยังร้อนๆ ว่าแล้วก็ชวนครูธุรการเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อแสวงหาข้อมูลเรื่องของรถสีข้าว เพื่อแปรข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร...ในวันนี้

          คุณพระช่วย...อีกแล้ว รถสีข้าวว่างพอดี ก็เลยขับตามผมมาติดๆ จากนั้น..บ่ายสองโมงก็ลงมือสีข้าวเปลือก ผมรู้สึกตื่นเต้นที่มีโอกาสได้เห็นความทันสมัยของรถสีข้าวในระยะใกล้ๆแบบนี้

          อีกทั้ง...ต้องคอยลุ้นเล็กน้อย ว่าข้าวเปลือก ๒๒ กระสอบ จะกลับกลายเป็นข้าวสารกี่กระสอบ หรือกี่ท่อน ตามที่ชาวบ้านเขาเรียกกัน

          งานสีข้าวในโรงเรียน ที่เกิดก่อนฤดูทำนา ช่วยนำพาให้โรงเรียนได้แกลบไว้ทำปุ๋ย ได้ปลายข้าวไว้ใช้ประโยชน์และได้รำไว้เป็นอาหารไก่และปลา ส่วนข้าวสารสำหรับอาหารกลางวันนักเรียนจำนวน ๑๐๐ คน

          ครูที่ยืนดูเครื่องสีข้าว ออกอาการแปลกใจ พึมพำให้ผมได้ยินว่า วัดเล็กๆได้ข้าวเปลือกมาจากไหนกัน ใครกันนะที่ถวายข้าวเปลือกให้วัดอย่างมากมายเช่นนี้.....

          ผมต้องอธิบาย ครูถึงได้เข้าใจ..”เจ้าอาวาสท่านปลูกข้าวเอง ท่านหว่านข้าวบริเวณด้านหลังวัด เก็บเกี่ยวแล้ว ท่านก็นำเก็บไว้จ่ายแจก....งานนี้..เชื่อว่านักเรียนจะได้ซาบซึ้งในรสชาติของข้าวหอมมะลิ ที่พระทำ(ปลูก)เองกับมือเลยนะ”

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๙  มิถุนายน  ๒๕๖๕

          

     

    

          

หมายเลขบันทึก: 703304เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2022 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2022 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท