ชีวิตที่พอเพียง  4195. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๓๙) โจทย์วิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย


 

          ในบันทึกชุดทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บันทึกที่แล้ว (๑๓๘) ผมเล่าเรื่องโจทย์ “การวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบ"    ที่ทำให้ผมคิดต่อว่า โจทย์ดังกล่าวจะนำสู่การแก้ปัญหาโรคการศึกษาไทยคุณภาพต่ำเรื้อรังหรือไม่   

พอดีมีคนแนะนำเอกสาร ปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด ซึ่งน่าจะออกมาราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓    เอกสารนี้สะกิดผมว่า โรคป่วยเรื้อรังของการศึกษาไทยนี้ น่าจะเห็นอาการชัดเจนมาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี   และในช่วง ๓๐ ปี มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย   ด้วยความประสงค์ดีที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยยกระดับขึ้น    แต่ผลที่ได้รับกลับตรงกันข้าม 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ผมได้รับหนังสือ ขี่ม้าเลียบค่าย บทเรียนการทำงานกับภาคีของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เขียนโดย รศ. ดร. กาญจนา แก้วเทพ ที่ตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔  ทำให้คิดโจทย์วิจัยเพื่อหาทางนำพาการศึกษาไทย ออกจากปัญหาด้อยคุณภาพเรื้อรังนี้ให้จงได้      

หนังสือที่เอ่ยถึงทั้งสองเล่มนี้ ดาวน์โหลดได้ฟรีนะครับ    น่าอ่านมาก    ให้ความรู้มาก 

ข้อเรียนรู้คือ โจทย์วิจัย วิธีการวิจัยแบบเดิมๆ ไม่สามารถแก้ได้    เพราะเป็นโจทย์ภายใต้กระบวนทัศน์ reductionism   ในขณะที่ปัญหาการศึกษาเป็น complexity    การวิจัยเฉพาะในประเด็นเทคนิคการศึกษาหรือการเรียนรู้ จะไม่สามารถแก้ได้    เพราะไม่ช่วยให้มองเห็น “ความเป็นทั้งหมด” (the whole) ของระบบการศึกษา   

ผมมองว่าในสภาพความเป็นจริง (อันลี้ลับ) ของระบบบริหารการศึกษาไทยในส่วนกลางของประเทศ    (ท่านที่อยากเข้าใจความลี้ลับนี้ โปรดอ่าน (๑))     การเปลี่ยนแปลง (transform) ระบบต้องทำหลายแบบ  หลายแนวรบ    โดยทุกแนวรบมีการประสานงานกัน    แนวรบจู่โจมเข้าไปที่ศูนย์กลางของปัญหา ก็ต้องทำ   แต่ที่น่าจะเป็นแนวรบที่แข็งแรงที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงจากหน่วยปฏิบัติ หรือพื้นที่

เพราะระบบการศึกษาไทยที่รับผิดชอบโดยส่วนกลางเป็นระบบที่ไม่มีการรับผิดรับชอบ (accountability)    การดำเนินการเพื่อให้ระบบส่วนกลางเปลี่ยนแปลงจึงยาก    แต่การดำเนินกลางในระดับชุมชน คนในระบบการศึกษาต้องรับผิดรับชอบต่อพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน   และสามารถดึงเอาพ่อแม่ผู้ปกครองมาเป็นพลังดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของลูกหลานตน   

การดำเนินการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงมีความหวังมากกว่าการดำเนินการที่ส่วนกลาง    ยิ่งเมื่อบ่ายวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ ผมได้ฟังการนำเสนอของทีมงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสุโขทัย    เพื่อขอเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     ที่เมื่อถามว่าอยากเป็นพื้นที่นวัตกรรมเพื่ออะไร    ได้คำตอบว่า เพื่อความเป็นอิสระในการใช้เงิน และในการบริหารบุคลากร  เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาโรงเรียนและนักเรียน   ฟังรายละเอียดที่ท่านเสนอและตอบคำถามแล้วผมใจชื้น    ว่ายังมีความหวัง   

สรุปว่าผมมีข้อเสนอโจทย์วิจัยดังต่อไปนี้

  1. สภาพที่ระบบบริหารการศึกษาไทยไม่มี accountability มีที่มาที่ไปอย่างไร    ที่สำคัญคือ หา root cause ให้พบ    เป็นการวิจัยทำความเข้าใจและหาวิธีบำบัดโรค unaccountable education system
  2. มาตรการสำคัญๆ ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ ที่ดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบัน     ก่อผลต่อ core learning outcome (CLO) ของนักเรียนอย่างไรบ้าง    เป็นการวิจัยหา evidence ที่แม่นยำน่าเชื่อถือ    เพื่อหามาตรการที่ได้ผลจริง    นำมายกระดับและขยายผล    ย้ำว่า CLO ต้องวัดที่ ๔ ส่วนคือ VASK – Values, Attitude, Skills, Knowledge 
  3. ระบบผลประโยชน์ที่เข้าไปหากินกับระบบการศึกษามีอะไรบ้าง  มีขนาดของผลประโยชน์เป็นตัวเงินเท่าไร    มีกลุ่มไหนบ้าง    มีทางทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไร    คือเกิดประโยชน์ต่อ CLO ของนักเรียน  และต่อระบบการศึกษาที่ครูมีความแข็งแรง เป็น agentic teacher (ครูผู้ก่อการ)   โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีการเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา  คือมีการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ตามแนวทาง Kolb’s Experiential Learning Cycle   กล่าวคือ ปัจจัยที่ทำลายพัฒนาการครบด้านของนักเรียน   ทำลายศักดิ์ศรีครู  ทำลายความเป็นผู้ก่อการของครู  ทำลายความเป็นองค์กรเรียนรู้ของโรงเรียน ต้องถูกขจัดออกไป 
  4. ความสำเร็จสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นการจัดการศึกษาที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมีคุณภาพสูง มีอยู่ที่ใดบ้าง    เกิดขึ้นอย่างไร    มีแนวทางนำมาใช้ยกระดับและขยายผลทั่วประเทศได้อย่างไร   
  5. โปรดดูกราฟข้างล่าง    โจทย์วิจัยคือ ให้หาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยในช่วง ๕ ปีก่อนและหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๘   ว่าน่าจะมีปัจจัยหลักอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของความตกต่ำของคุณภาพการศึกษาไทยช่วงหลังจากนั้น (ของคุณ นพ. สุภกร บัวสาย ที่ส่งภาพนี้มาให้)              

 

Chart, line chartDescription automatically generated

ย้ำนะครับ ว่าโจทย์วิจัยต้องเป็นโจทย์ที่ complex   เข้าไปศึกษาหลายมิติของปัจจัยที่สงสัยว่าจะเป็นตัวการแท้จริงของปัญหาพร้อมๆ กัน    ต้องใช้นักสังคมศาสตร์  สังคมศาสตร์การเมือง  เศรษฐศาสตร์การเมือง  ฯลฯ ที่เป็นนักเจาะลึกสภาพของ socio-political factors ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา   โดยที่ตัวอย่างโจทย์ที่ผมให้ไว้อาจยังไม่ลึกพอ   ควรมีการประชุมหารือโจทย์ร่วมกันในกลุ่มนักวิชาการด้านต่างๆ ที่เอ่ยแล้ว           

วิจารณ์พานิช   

๖ เม.ย. ๖๕ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 702348เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2022 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2022 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

May I add a link to an article on ‘Thailand in the 1990s’ ?

https://factsanddetails.com/southeast-asia/Thailand/sub5_8a/entry-3193.html

It tells about political scenes (–corruption is not covered–) that impact government policies and many government services have not recovered (30 years on).

ดร. กฤษณะพงศ์ กีรติกร ให้คำอธิบายว่า น่าจะเกิดจากช่วงนั้นเกิดโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนประถมในชนบทขยายออกไปสอน ม. ต้นด้วย นักเรียนเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกทดสอบ PISA และให้ผลคะแนนต่ำ

วิจารณ์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท