สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งคนดี (9) สักการะพระบรมธาตุไชยา คู่บ้านคู่เมืองสุราษฎร์ธานี


สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งคนดี (9) สักการะพระบรมธาตุไชยา คู่บ้านคู่เมืองสุราษฎร์ธานี

วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของช่างศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยได้อย่างสมบูรณ์ งานช่างในภาคใต้ของประเทศไทยเรียกว่า "ศิลปะศรีวิชัย" โดยนำมาจากชื่อเมืองสำคัญที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก เจดีย์ของศรีวิชัยมีลักษณะเชื่อมโยงกับจันทิ (Chandi) ซึ่งเป็นศาสนสถานของชวาในภาคกลางประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหารจะเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในสามของโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของภาคใต้ ซึ่งได้แก่ เจดีย์พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพระพุทธไสยาสน์ ถ้ำคูหาภิมุข จังหวัดยะลา

ตำนานเกี่ยวกับพระบรมธาตุไชยา 

เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งมีพี่น้องอินเดียสองคนชื่อ ปะหมอ กับ ประหมัน ทั้งสองคนเดินทางโดยทางเรือใบมาถึงเมืองไชยา เมื่อมาถึงก็ได้พาบริวารขึ้นบกที่บ้านนาค่าย ตรงวัดหน้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองได้มอบหมายให้ปะหมอซึ่งเป็นนายช่างที่มีความเชี่ยวชาญลงมือก่อสร้างเจดีย์พระบรมธาตุไชยา และเมื่อสร้างแล้วเสร็จก็ตัดมือตัดเท้าของปะหมอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ไปสร้างเจดีย์ที่งดงามเช่นนี้ให้กับผู้อื่นได้อีก ปะหมอทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงถึงแก่ความตาย ต่อมาเจ้าเมืองจึงได้หล่อรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนตัวปะหมอ

องค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็กๆ 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่างๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน พระบรมธาตุไชยานับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ไม่ปรากฏประวัติการสร้างและผู้สร้าง แต่เข้าใจว่าสร้างในขณะที่เมืองไชยา สมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุด แม้จะผ่านกาลเวลามานานหลายยุคหลายสมัย แต่ร่องรอยทางโบราณสถานยังปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ได้แก่


พระพุทธรูปทรายแดง 3องค์ หรือ พระพุทธรูป 3 พี่น้องประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้ว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยฝีมือสกุลช่างไชยา อาสนะเป็นของทำใหม่โดยยกให้สูงขึ้น

พระวิหารหลวง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยาสร้างยื่นล้ำเข้าไปในพระวิหารคด ในพระวิหารหลวงมีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายองค์ การบูรณะพระวิหารหลวงครั้งใหญ่ในสมัยท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2444 โดยได้เปลี่ยนเครื่องไม้ต่างๆทั้งหมด หลังคา 2 ชั้น มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่หน้าบันสลักลายดอกไม้เทศ พื้นประดับด้วยกระจกสีตามลวดลายปิดทองคำเปลว ฝาผนังใช้โบกปูนใหม่ทั้งหมด ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 พระราชชัยกวี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นประธาน ในการบูรณะพระวิหารหลวง โดยรื้อพระวิหารหลังเก่าที่ชำรุดออก ต่อมาพ.ศ. 2541 ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง

พระวิหารคด
โดยรอบเจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นพระระเบียงหรือพระวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปสกุลช่างไชยา ขนาดและปางต่างๆรวมทั้งสิ้น 180 องค์และมีพระเจดีย์ หอระฆัง รูปปั้นพระชยาภิวัฒน์

พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุ นอกกำแพงพระวิหารคด แต่เดิมมีใบพัทธสีมาเพียงใบเดียวเรียงรายรอบพระอุโบสถ จนถึงสมัยพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 1800 พระสงฆ์ลังกาได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาซ้ำลงในที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์มั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้วัดพระบรมธาตุไชยาจึงมีใบพัทธสีมา 2 ใบ

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ใช้สำหรับทำน้ำอภิเษก หรือ น้ำสรงมุรธาภิเษก เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย

คำบูชาพระบรมธาตุไชยา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (สวด 3 ครั้ง)

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

อะหัง วันทามิ อิระ ปะติฎฐิตา
พัทธะธาตุโย โยโสโท โมหะจิตเต
นะ วัตถุตตะเย กะโต มะยา โหสัง
ขะมะถะ เม ภันเต สัพพะปาปัง วินัส
สะตุ ตัสสานุภาเวนะ สะทา โสตถิ
ภะวันตุเม

ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมจิตอธิษฐาน น้อมบูชาพระพึทธคุณองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสียสละบำเพ็ญบารมีนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณ ประกาศธรรมนำเวนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และปัญญาธิคุณ กราบพระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์เจ้า ขอกุศลผลบุญนี้ พึงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพานในอนาคตกาลอันควรด้วยเทอญ

นอกจากการท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆในจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว นับเป็นโอกาสดี เป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสสักการะพระบรมธาตุไชยา สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และได้ร่วมทำบุญบูรณะวัดพระบรมธาตุไชยาอีกด้วย

ขอขอบคุณ

  • การบริการที่ดีเยี่ยมจากบริษัททัวร์ฟ้าใสและทีมงาน
  • ภาพและข้อมูลจากคุณสนั่น เจริญวงษา แห่งรัตนาบราลีทัวร์
  • น้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

หมายเลขบันทึก: 702345เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2022 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2022 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท