ข้อสะท้อนคิดจากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการเรียนการสอน ปี ๒๕๖๕


 

ผมเล่าเรื่องอาจารย์ต้นแบบด้านการเรียนการสอน ปี ๒๕๖๔ ที่ ควอท. ดำเนินการยกย่องไว้ที่ (๑)   ท่านที่อยากรู้ว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกเป็นอย่างไร และในปีก่อนๆ มีการมอบรางวัลอย่างไรบ้าง ดูได้ที่ (๑)     ปีที่แล้วผมขยันมาก เล่าเรื่องผู้ได้รับรางวัลทั้ง ๗ ท่านเป็นรายคน ไว้ที่ (๒)   

ปีนี้ขอเล่าแบบ AAR หรือ reflection การประชุมตัดสินรางวัลในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ตลอดวัน    โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเสนอชื่อมา ๔๐ สถาบัน    แต่มีสถาบันหนึ่งเสนอ ๒ คน ซึ่งผิดกติกา    แจ้งให้ส่งคนเดียวเขาก็ยืนยันส่ง ๒ คน    คณะกรรมการจึงตัดออกไป    เหลือ ๓๙ สถาบัน    ก่อนหน้านั้นคณะกรรมการคัดเฉพาะรายที่ผลงานเด่นตามเกณฑ์ ๑๓ ราย    เชิญมาสัมภาษณ์ในวันที่ ๑๕ มีนาคม    ผลสุดท้ายมอบรางวัลแก่ ๖ ท่าน    ที่ ควอท. ประกาศไปแล้วที่ (๓)    

ที่จริงทั้ง ๑๓ ท่านที่มาให้ข้อมูลและตอบคำถาม มีผลงานด้านการพัฒนาการเรียนการสอนดีเด่นทั้งสิ้น    นักศึกษาได้ประโยชน์มากอย่างน่าชื่นชม    แต่ ๗ ท่านผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่ ควอท. ประกาศไว้     ข้อด้อยที่พบบ่อยคือ อาจารยสอนเก่งเหล่านี้มักมีผลงานด้านการพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ดีมาก    แต่ไปไม่ถึงการวิจัย หรืองานวิจัยไม่เด่นถึงขนาด   ข้อด้อยอีกประการหนึ่งคือ บทบาทพัฒนาการเรียนการสอนในหน่วยงาน และสถาบันที่ตนสังกัด   รวมทั้งข้ามไปยังวิชาชีพอื่นหรือศาสตร์ด้านอื่นๆ   และสถาบันอื่นๆ ในประเทศ (และต่างประเทศ) 

ข้อสะกิดใจข้อแรกจากการเสนอผลงานและสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม    คือความใส่ใจของสถาบัน หรือฝ่ายบริหารของสถาบัน ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถาบัน   มีเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน   จากการสัมภาษณ์ทำให้ผมพอจะจับความได้ว่า   อาจารย์ท่านนั้นทำงานพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนแบบร่วมมือกับหลายฝ่ายแบบใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว   ไม่มีมาตรการที่เป็นทางการของการบริหารมหาวิทยาลัยสนับสนุน    ขอย้ำว่ามีสถาบันแบบนี้  แต่มีน้อย    แต่ผมไม่คิดว่าจะมี จึงรู้สึกตกใจ   ที่ยังมีมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารไม่มีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการและจริงจัง   

ข้อสะกิดใจที่สอง คือเรื่อง มาตรฐานวิชาชีพด้านการเรียนการสอน (PSF – Professional Standards Framework)    ดังตัวอย่างข่าวของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (๔)  มหิดล (๕)     ผมตกใจมากที่ผู้มารับการสัมภาษณ์ที่ผลงานดีเยี่ยม ไม่รู้จัก PSF   สะท้อนว่า เครื่องมือนี้แพร่เข้าไปยังสถาบันอุดมศึกษาไทยอย่างไม่ทั่วถึง    รศ. ดร. บัณฑิต ทิพากร อดีตรองเลขาธิการ กกอ. และอดีตนายกสมาคม ควอท. ผู้นำด้านการพัฒนาเรื่องนี้     บอกว่า PSF เข้าไม่ถึงบางกลุ่มสถาบัน    ผมจึงเสนอให้ ควอท. รื้อฟื้นการจัด workshop เรื่อง PSF ขึ้นอีก    และเชิญชวนให้ผู้ที่อยู่ใน shortlist และได้รับรางวัลในปีก่อนๆ ที่ยังไม่ qualify PSF เข้าร่วม    เพื่อทำหน้าที่เป็น change agent ของสถาบันของตนต่อไป

ข้อสะท้อนคิดเรื่องที่สาม คือสไตล์การเสนอผลงานเพื่อขอรับรางวัล    ผมสังเกตว่ามี ๒ แบบ   คือแบบเสนอผลลัพธ์หรือผลกระทบของงานที่ตนทำหรือริเริ่ม    กับแบบเสนอแนวโปรโมทตนเอง    ซึ่งถ้าไม่สังเกตจริงๆ จะไม่รู้สึก    ผมมีความเห็นว่า วงการศึกษาไทยเน้นโชว์เกินไป   เน้นคุณค่าแท้จริงของกิจกรรมน้อยไป   เสนอแต่ว่าทำอะไรเพื่อหวังผลอะไรตามทฤษฎีหรือนโยบายที่หน่วยเหนือกำหนด    แต่เสนอผลลัพธ์และผลกระทบไม่ชัดเจน หรือไม่ได้เสนอเลย     หากพูดกันด้วยภาษาตลาดก็จะสงสัยได้ว่าเป็นราคาคุยหรือเปล่า   จะให้ไม่เป็นราคาคุยก็ต้องเขียนตีพิมพ์เผยแพราเพื่อให้ผ่านการตรวจสอบของวิทยสหาย (peer review)    หากมีหลักฐานนี้ข้อสงสัยเรื่องราคาคุยก็จะตกไป

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๖๕     

 

 

หมายเลขบันทึก: 702189เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2022 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2022 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท