การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศญี่ปุ่น


การปฏิรูปอุดมศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมีสาเหตุจากความไม่สามารถปรับตัวทันกับความก้าวหน้าของสังคมโลก.................

 

การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศญี่ปุ่นโดย รศ.ดร.ฉันทนา  จันทร์บรรจง 

          การปฏิรูปอุดมศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมีสาเหตุจากความไม่สามารถปรับตัวทันกับความก้าวหน้าของสังคมโลก อันเนื่องจากความไม่เพียงพอของงบประมาณสนับสนุนการอุดมศึกษา การวางแผนอุดมศึกษาที่ไม่รัดกุม ความอ่อนแอของการควบคุมคุณภาพการสอนและการวิจัย

          นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากความต้องการเรียนต่ออุดมศึกษาที่มีมากขึ้นและหลากหลายขึ้น ความต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความคาดหวังของสังคมต่ออุดมศึกษามีมากขึ้น ทั้งในส่วนความต้องการของนายจ้าง ความต้องการพัฒนากําลังคนและการฝึกอบรมเพื่อเข้าสู่ตําแหน่งงาน           แนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษา
  1. การปฏิรูประบบอุดมศึกษา เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาระยะสั้น หรือ junior college ไม่สามารถสนองความต้องการได้เท่าที่ควร จึงมีการปฏิรูปจูเนียร์คอลเลจ วิทยาลัยเทคโนโลยี และวิทยาลัยฝึกอบรมวิชาชีพพิเศษ โดยทบทวนบทบาท พัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับให้ง่ายต่อการปรับตัวยิ่งขึ้น ขยายสาขาวิชาวิชาเพิ่มขึ้น ให้เปิดสอนระดับสูงกว่าอนุปริญญา ปรับปรุงกลไกการประเมินผล และกลไกการบริหาร ขยายขอบเขตคุณสมบัติอาจารย์พิเศษ เป็นต้น
  2. การปฏิรูประบบรับเข้าและปฏิรูปมหาวิทยาลัยสู่ระบบเปิด จากแนวคิดเดิมที่เน้นอุดมศึกษาเพื่อชนชั้นสูง มหาวิทยาลัยที่เป็นระบบปิด และวิธีการคัดเลือกใช้การสอบวัดความรู้วิชาสามัญเป็นหลัก ทําให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูงก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจแก่ผู้สอน จึงมีการปฏิรูประบบการรับเข้าเพื่อเปิดโอกาสการ เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยให้กว้างขึ้น มีระบบโควต้าเพื่อรับเข้าจากจูเนียร์คอลเลจและวิทยาลัยเทคโนโลยี มีการนําระบบคัดเลือกแบบพิเศษมาใช้กับผู้ทํางานแล้ว อนุญาตให้เปิดภาคคํ่าในระดับบัณฑิตศึกษา นำระบบลงทะเบียนแบบพิเศษมาใช้ นําวิธีวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้แบบใหม่มาใช้จัดตั้งสถาบันแห่ง ชาติเพื่อรับรองปริญญาจาก จูเนียร์คอลเลจหรือวิทยาลัยเทคโนโลยีและสถาบันอุดม ศึกษาประเภทอื่น และส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ใหญ่
  3. การปฏิรูประบบควบคุมคุณภาพอุดมศึกษา เนื่องจากคุณภาพอุดมศึกษามีระดับแตกต่างกันมากระหว่างแต่ละสถาบัน  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพผู้สอนและระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษาซึ่งให้อิสระในการบริหารจัดการแก่สถาบัน จึงมีการปฏิรูปโดยนําระบบตรวจสอบและประเมินตนเองมาใช่ในมหาวิทยาลัย มีการเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบและประเมินตนเอง และให้มีการปรับปรุงสถาบัน โดยอาศัยผลของการประเมินตนเองเป็นพื้นฐาน การประเมินสถาบันอุดมศึกษาจากภายนอกของญี่ปุ่นเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2539
  4. การปฏิรูปความสัมพันธ์กับภาคเอกชนและชุมชน เนื่องจากภาคเอกชน ชุมชน และสถาบันอุดมศึกษาในญี่ปุ่นไม่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สาเหตุจากความเป็น ระบบปิดของสถาบันอุดมศึกษา และรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงมีการปรับปรุงโดยให้สถาบันอุดมศึกษาเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบมากขึ้น สนับสนุนให้ ภาคอุตสาหกรรมตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา และให้สถาบันอุดม ศึกษาจัดการศึกษาอบรมบุคคลทั่วไปโดยเปิดสอนหลักสูตรต่อเนื่องสําหรับคนในชุมชน ให้หลากหลายมากขึ้น
  5. การปฏิรูปการเงินและงบประมาณ จากการที่รัฐจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาลดลง สาเหตุจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ประกอบกับ สถาบันอุดมศึกษามีความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมน้อย งบประมาณค่าใช้จ่าย ในการดําเนินการจึงไม่เพียงพอ แนวทางการปฏิรูปคือให้สถาบันอุดมศึกษาค้นคว้าวิจัย โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยจัดสรรเงินอุดหนุนวิจัยเพิ่มขึ้น ส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาสังกัดรัฐบาลท้องถิ่น และเอกชนมากขึ้น
  6. การปฏิรูปการบริหารงานบุคลากร จากปัญหาคุณภาพการสอนของ บุคลากรสายผู้สอนในระดับอุดมศึกษาที่ยังไม่น่าพอใจ เนื่องจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ถือว่า ครูเป็นศูนย์กลางไม่มีการประเมินการสอนโดยผู้เรียน ระบบการจ้างงาน  จ้างจนเกษียณอายุราชการ จึงมีการปฏิรูปโดยเน้นให้มีการพัฒนาอาจารย์ ประเมินการสอนโดยผู้เรียน และนําระบบเทียบคุณสมบัติอาจารย์พิเศษและผู้ช่วยอาจารย์มาใช้
  7. การปฏิรูปการเรียนการสอน เนื่องจากขอบเขตเนื้อหาการศึกษาใน ระดับอุดมศึกษากว้างขวางขึ้นและยุ่งยากซับซ้อนขึ้น  ประกอบกับหลักสูตรอุดมศึกษา ของญี่ปุ่นไม่ยืดหยุ่น และมีการปรับเปลี่ยนหรือเปิดสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ ตามความก้าวหน้าทางวิทยาการ  จึงมีการยกเลิกกฎเกณฑ์ของโครงสร้างหลักสูตรในลักษณะเดิม ปรับเป็นโครงสร้างแบบเปิดและพัฒนาหลักสูตรเป็นแบบบูรณาการ ให้ผู้สอนทำแผนการสอนอย่างละเอียดและส่งเสริมให้เปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ เช่น วิชาสารสนเทศ การต่างประเทศ เป็นต้น จากการปฏิรูปการเรียนการสอนมีจํานวนมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนราย วิชาแบบสหวิทยาการเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า
  8. การปฏิรูปบัณฑิตศึกษา งานวิชาการ และงานวิจัย เนื่องจากอัตราการ เรียนต่อบัณฑิตศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมีไม่สูง ผลงานทางวิชาการและผลการวิจัยมีไม่มาก เท่าที่ควร สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการจ้างงานที่ไม่เปิดโอกาสให้บุคลากรลาศึกษาต่อแบบมีค่าตอบแทน และระบบบัณฑิตศึกษาแบบดั้งเดิมเน้นการฝึกฝนอย่างเข้มข้นและ ผลิตในจํานวนจํากัด ใช้ระยะเวลานาน จึงมีการปรับปรุงระบบการศึกษาในระดับนี้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น มีการให้ทุนการศึกษาและการวิจัยเพิ่มขึ้นแก่นักศึกษา มีเงินกู้ยืมเรียน รับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนระดับนี้มากขึ้น และจัดการศึกษาต่อเนื่องระดับบัณฑิตศึกษา สําหรับผู้ที่ทํางานแล้ว
  9. การปฏิรูปสู่ความเป็นนานาชาติ การศึกษาญี่ปุ่นในอดีตมุ่งสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมและตะวันตกนิยมอย่างมาก  รวมทั้งเน้นการใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจําวัน ทําให้นักศึกษาญี่ปุ่นมีทักษะภาษาต่างประเทศค่อนข้างตํ่า แนวทางการปฏิรูปคือการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการศึกษาและการวิจัยมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา พัฒนาระบบการรับนักศึกษาต่างชาติ และให้ทุนการศึกษาแก่นัก ศึกษาดังกล่าว และปรับปรุงการสอนภาษาต่างประเทศโดยเพิ่มจํานวนชั่วโมงสอน และ เปิดสอนภาษาต่างประเทศที่หลากหลายขึ้น
  10. การปฏิรูปความสอดคล้องกับการจ้างงานและการพัฒนาประเทศ เนื่องจากความต้องการด้านการจ้างงานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาครัฐเปลี่ยน แปลงไปจากเดิม อันมีสาเหตุจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ขณะเดียวกันแรงงานของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถจํากัด เมื่อเทียบกับความต้องการของนายจ้าง ซึ่งต้องแข่งขันกับคู่ต่อสู่ทางเศรษฐกิจ จึงมีการปฏิรูปโดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้กับกําลังแรงงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเรียนการสอนพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งเสริมให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ทางปัญญา และพัฒนาโครงสร้างระบบสารสนเทศทางการศึกษา ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งสถาบัน การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่เน้นทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหลายสาขาวิชา
หมายเลขบันทึก: 69971เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2006 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท