การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์


ความสำเร็จในการปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์ มีส่วนมาจากความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาระดับต่างๆ ก่อนถึงระดับอุดมศึกษา

การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์โดย รศ.ดร.วราภรณ์  บวรศิริ 

แนวคิดพื้นฐาน

 

            การปฎิรูปการศึกษาและการปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์ มีพื้นฐานความคิดมาจาก IT 2000 หรือ Singapore's Vision of an Intelligent Island ซึ่งเป็นแผนหลักเพื่อเปลี่ยนแปลงศักยภาพของประเทศสิงคโปร์ให้เป็นเกาะอัจฉริยะ (Intellignet Island) โดยเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ให้เข้ามามีบทบาทในภารกิจทุกด้านของสังคม ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และแม้แต่การพักผ่อน

          ความสำเร็จในการปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์  มีส่วนมาจากความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาระดับต่างๆ ก่อนถึงระดับอุดมศึกษา โดยได้มีแนวทางและการปฏิบัติที่ได้ผลชัดเจน เช่น นโยบายการรู้สองภาษา(bilingualism) คือ ภาษาอังกฤษและภาษาแม่ (mother tongue) ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อช่วยให้เด็กมีความสามารถทางภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสําหรับการพาณิชย์ เทคโนโลยี การบริหารและภาษาแม่ซึ่งเป็นภาษาที่สืบทอดทางวัฒนธรรม

          นอกจากนี้ยังเน้นทางด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์การใช้คอมพิวเตอร์และวิชาอื่น ๆ รวมทั้งเน้นเรื่องอุปกรณ์ การศึกษาและห้องสมุดที่เอื้อต่อการใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายว่าทุกโรงเรียนจะติดต่อเครือข่ายถึงกันได้ภายในปี ค.ศ. 2002

          ครูอาจารย์และนักเรียนจะเข้าถึงแหล่ง มัลติมีเดีย คอมพิวเตอร์ ให้มีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียนทุกสองคนจากระดับ ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึง Junior College และใช้เวลากับ IT ถึงร้อยละ 30 ของหลักสูตรทั้งหมด

         

เป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์

             การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์นั้น มีเป้าหมายและแนวทาง สรุปได้ดังนี้
  • เป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําของโลก (world-class university) ดังที่ระบุไว้ทั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และ มหาวิทยาลัยแห่งที่สามที่กําลังจัดตั้งขึ้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University)
  • การมุ่งเน้นทางด้านเทคโนโลยีข่าวสารต่าง ๆ ตามวิสัยทัศน์ IT 2000 เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจัดการด้านการเรียนการสอน การบริการต่าง ๆ รวมถึง ห้องสมุด อีเลคทรอนิคส์ เป็นต้น
  • การมุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ เช่น การมี International Panel แนะนํา ทางด้านการเรียนการสอน หลักสูตรและการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ เป็นต้น การมีโครงการของหลักสูตรต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการศึกษาที่ต่างประเทศระยะเวลาหนึ่งด้วย การให้นักศึกษามี global knowledge  with Asian wisdom
  • การให้ความสําคัญแก่งานวิจัยต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้งานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มุ่งไปในด้านการพาณิชย์ (commercialize)
  • มีการจัดตั้งบริษัทของสถาบันอุดมศึกษาเอง เพื่อความสะดวกในการ ดําเนินกิจการทางการพาณิชย์ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และเกิดรายได้ ในกรณีของมหาวิทยาลัยนันยางยังได้จัดให้มีพื้นที่ ๆ บริษัทธุรกิจต่าง ๆ ข้างนอกมาจัดตั้งใน เขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วย
  • มีการจัดระบบการเรียนการสอนที่คล่องตัว และเตรียมนักศึกษาให้มีคุณลักษณะของผู้ประกอบการ มีลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีการเตรียมการสําหรับอาชีพที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
  • มีการมุ่งเน้นทางด้านการจัดการ  โดยได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งที่สามของประเทศขึ้น คือมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore Management University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุนในการจัดตั้ง
          สถาบันอุดมศึกษาของประเทศสิงคโปร์มีความคล่องตัวอย่างมาก และมีทิศทางที่ชัดเจน ดังตัวอย่างมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง คือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันทาง และมหาวิทยาลัยการ

จัดการแห่งสิงคโปร์ มีจุดมุ่งหมาย ที่ชัดเจน ที่เน้นการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําของโลก (world-class-university) เน้นการจัดการเรียนการสอนที่คล่องตัว มีการนํานวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ ๆ มาใช้

          การพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตให้มีลักษณะของผู้นำ ผู้ประกอบการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นการให้การดําเนินกิจการทางการพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งบริษัทจํากัดของสภามหาวิทยาลัย การพัฒนาด้านสถานที่ อุปกรณ์การศึกษา งานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เพื่อการพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนมุ่งเน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนําของโลก และ ความเป็นนานาชาติ

 

            มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ยังมีโครงการ The Talent Development Programme สําหรับนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นได้รับคําปรึกษา ตลอดจนได้รับการฝึกฝนอบรมที่ดีที่สุด เพื่อเตรียมให้มีบทบาทเป็นผู้นําในอนาคต มีการจัดทําแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ที่เน้นการเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

          การให้บริการที่มีคุณภาพแก่ชุมชน และเป็นศูนย์การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างความรู้และเทคโนโลยีใหม่ เน้นความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญ สําหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางเน้นรูปแบบการวิจัยและพัฒนา และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีต่าง ๆ และเน้นการเป็นผู้นําของธุรกิจอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

 

            ประเทศสิงคโปร์นับว่าเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีเศรษฐกิจรุ่งเรือง ตลอดเวลา และให้ความสําคัญกับการศึกษาต่อ และฝึกอบรมผู้ที่มีงานทําอยู่แล้วให้ได้ พัฒนาฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างของ Institute of Technical Education ซึ่งจัด โปรแกรมฝึกอบรมทั้งเต็มเวลาและบางเวลาในลักษณะ On-the-Job Training, Off-the Job Training และApprenticeship ในหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายมาก และเอื้ออํานวยต่อการศึกษาและฝึกอบรมอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 69939เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2006 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี...

  • ก่อนอื่นขอแสดงความเคารพอาจารย์เนื่องในโอกาสปีใหม่สากล

บันทึกชุดนี้ทรงคุณค่ามากทั้งสาระ ข้อคิด ประเด็น และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม... สาธุ สาธุ สาธุ

  • ขอยกย่องให้เป็นชุดบันทึกแห่งปี 2549 (series of the year 2006) ครับ...
  • ถ้ามีรูปประกอบจะน่าอ่านเพิ่มขึ้นอีกมากเลย

ขอคุณพระศรีรัตนตรัย และคุณงามความดีที่อาจารย์ ตลอดจนบุคลากร นิสิต นักศึกษาได้ทำมา...

  • โปรดคุ้มครอง ปกป้อง รักษา สนับสนุน เกื้อกูลให้อาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษา มน.ทุกท่านมีความสุข ความเจริญ มีสุขภาพดี มีแรง มีกำลังที่จะทำอะไรดีๆ ต่อไปนานๆ ครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท