การวัดและประเมินผลทางภาษา(6)


ยิ่งเขียนก็ยิ่งรู้สึกว่าชอบ ชอบการเขียนเรื่อง การวัดและประเมินผลเสียแล้ว สงสัยครูอ้อยต้องเรียนรู้อย่างจริงจังด้วย ตามมานะคะ เผื่อว่าเราจะมีความรู้ไปด้วยกัน
ความหมายและแนวทางการปฏิบัติในการวัดและประเมินผล  เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ก่อน  มีอะไรตั้งหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้ก่อน  ซึ่งความจริงแล้ว  เรารู้มาตั้งนานแล้วล่ะ  แต่เราไม่รู้จักชื่อของมันนั่นเอง  หากยังงงอยู่  เรียนเชิญอ่าน 2 บันทึกนี้ก่อนการวัดและประเมินผลทางภาษา(4)  และ  การวัดและประเมินผลทางภาษา(5)
ครูอ้อยสังเกตว่า   คำว่า  การวัดและประเมินผล นี้ จะต้องควบคู่กันไปตลอด
แต่ทั้ง 2 คำนี้ มีความหมาย ที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านความหมายและแนวทางการปฏิบัติทีเดียว...ลองมาทำความเข้าใจดูกันนะคะ
การวัดผล...เป็นการหาพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้เรียนรู้
การวัดผลการศึกษา....เป็นการตรวจสอบการพัฒนาทางสมอง ร่างกาย จิตใจ และสังคมของนักเรียน
การวัดผลต้องวัดให้ครอบคลุมทั้ง  3ด้านคือ  สติปัญญา  ความรู้สึก  และทักษะกลไก
ด้านสติปัญญา  เป็นการรู้คิด  ผิดถูก  พฤติกรรมที่สำคัญคือ...ความจำ  ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์  และการประเมินค่า  ..แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กัน
ด้านความรู้สึก  วัดสภาพการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ  มีสิ่งใดมากระทบทำให้จิตใจซึมซับว่า ดี หรือไม่ดี  เกิดเจตคติ  การวัดด้านนี้เริ่มจากการรับ  การสนองตาม  การรู้คุณค่า  การจัดระบบคุณค่า  และการสร้างลักษณะนิสัย
ด้านทักษะกลไก  ให้ร่างกายสัมพันธ์กับความคิด  จะเกิดทักษะ  การปฏิบัติจะคล่องแคล่ว  แม่นยำ  และรวดเร็วมากขึ้น 
ส่วนการประเมินผล....เป็นกระบวนการต่างๆมากมาย  ที่จะใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน  ทดสอบการทำงานของนักเรียน  สังเกต  ตัดสินคุณค่า  แบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
การประเมินผลย่อย  และการประเมินผลรวม
การประเมินผลย่อย  เป็นการประเมินก่อนการเรียน  ทำต่อเนื่องเป็นระยะ  ไปจนจบการสอน  มุ่งให้ข้อมูลแก่นักเรียน  ประเมินความรู้สึกที่ได้รับ  ครูผู้สอนจัดการเรียนการสอนไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้  ผลที่เกิดขึ้น  ครูผู้สอนสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ทันที
การประเมินผลรวม  เป็นการประเมินเมื่อจบสิ้นการสอน  มีเป้าหมายเพื่อจัดลำดับ  เพื่อตัดสินความสามารถของนักเรียน  เป็นการวัดเพื่อสรุปผลรวมการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน
การประเมินผลทั้งสองประเภท  ครูผู้สอนสามารถสร้างเครื่องมือวัดหรือวิธีการวัดและกำหนดเวลาได้ด้วย 
การสร้างเครื่องมือที่ดี  และเหมาะสมนั้นต้องมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของเครื่องมือที่จะใช้วัด  เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาความรู้ความสามารถหรือพฤติกรรมที่ต้องการวัด  ต้องสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
หมายเลขบันทึก: 69590เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 01:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท