เชื้อไวรัสเอชไอวี


เชื้อไวรัสเอชไอวีและสถานการณ์ในประเทศไทย
เชื้อไวรัสเอชไอวี

เชื้อไวรัสเอชไอวี ตรวจพบครั้งแรกในเลือดของผู้ป่วยชาวคองโกในปี 1959 ปัจจุบันพบว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีที่สำคัญ มีเพียงสองชนิด คือ HIV type 1 (HIV-1) และ HIV type 2 (HIV-2) จากการศึกษาจีโนมของไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิด ย้อนหลังไปหลายสิบปี พบว่า HIV-1 เริ่มติดต่อสู่คนครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1930 ส่วน HIV-2 เริ่มติดต่อสู่คนครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1940-1950 เชื้อไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิด มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับไวรัสก่อโรคในลิง ที่มีชื่อเรียกว่าไวรัสเอสไอวี (SIV) ย่อมาจาก simian immunodeficiency virus; simian หมายถึงสัตว์จำพวกลิง (=ape, monkey) เชื้อไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิด มีที่มาแตกต่างกัน โดยเชื้อไวรัส HIV-1 มาจากลิง chimpanzee ที่อาศัยอยู่ในแถบแอฟริกากลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pan troglodytes ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเชื้อไวรัส HIV-1 กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัสเอสไอวีในลิง ที่เรียกว่า SIVcpz ส่วนไวรัส HIV-2 มาจากลิงคนละชนิดกัน โดยเป็นลิงท้องถิ่นที่เรียกว่า sooty mangabey ซึ่งอาศัยอยู่ตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกจาก Senegal ถึง Ivory Coast ต่อมาพบว่าเชื้อ HIV-2 กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัส SIVsm สำหรับลิง sooty mangabey มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cercocebus atys ทั้งนี้และทั้งนั้นพบว่าเชื้อไวรัส HIV-1 และ HIV-2 มีชิ้นส่วนดีเอ็นเอเหมือนกันร้อยละ 40-60 ในระยะแรกๆ พบว่า มีปัญหาในการตรวจแยกเชื้อไวรัสเอชไอวี เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อจะตายทุกวัน จนกระทั่งในปี 1984 Montagnier และ Gallo สามารถแยกเชื้อไวรัสเอชไอวีได้เป็นครั้งแรก และอีกสองปีต่อมา ในปี 1986 พบว่า เชื้อ HIV-2 สามารถตรวจพบได้เลือดของผู้ป่วยที่มาจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก

สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันเมืองไทย จำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวมลดลง แต่เมื่อดูในรายละเอียด กลุ่มเยาวชน นิสิตนักศึกษาติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอาการ 374,827 ราย เป็นเยาวชน อายุ 15-24 ปี กว่า 3 หมื่นคน ผู้ติดเชื้อต่างก็มีปัญหาคล้ายๆ กันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพกาย กำลังใจ อาชีพการงาน โดยเฉพาะเรื่องความเข้าอกเข้าใจ และการยอมรับจากสังคมทั่วไป จึงมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันและกันในเรื่องต่างๆ เช่น พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนปัญหา และประสบการณ์ที่ได้เจอะเจอเมื่อติดเชื้อเอดส์ ตลอดจนแนวทางแก้ไขที่แต่ละคนเคยใช้ เมื่อคนในกลุ่มมีปัญหา ให้กำลังใจกันและกัน และช่วยหาทางแก้ปัญหา ช่วยกันคิดค้น และหาทางเลือกอาชีพที่เหมาะกับสภาพร่างกายเมื่อเจ็บป่วย หรืออ่อนแอลงจนไม่สามารถทำงานเดิมที่เคยทำได้ จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อ เช่น อบรมเรื่องการรับยา การทำสมาธิ การเยี่ยม เพื่อเป็นกำลังใจและให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ จัดเตรียมกองทุนที่ช่วยอุดหนุนผู้ติดเชื้อที่เดือดร้อน เรื่องเจ็บป่วยหรืออาชีพ ช่วยกันหาทางทำให้คนทั่วไปในสังคมเข้าใจ และยอมรับผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์ เช่น จัดกิจกรรมที่น่าสนใจ หาโอกาสบรรยายเผยแพร่ความรู้เรื่องเอดส์ตามที่ต่างๆ การเข้าร่วมกลุ่มผู้ติดเชื้อ ช่วยให้ผู้ติดเชื้อหลายคนรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีทางออก และมีคุณค่ามากขึ้น ความไม่รู้ ความหวาดระแวง และความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราในเรื่องเอดส์ ส่งผลให้มีการบังคับตรวจเลือดเอดส์ในหลายกรณี ทั้งการสมัครงาน เข้าเรียน การทำประกันชีวิต หรือแม้แต่การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ธกส. และเมื่อพบว่าติดเชื้อหลายคนถูกให้ออกจากงาน ขาดโอกาสที่จะเข้าเรียน แม้แต่เด็กเล็กก็ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโรงพยาบาลยังมีการโน้มน้าวเชิงบังคับ ให้ผู้ติดเชื้อที่ท้องทำหมัน การเปิดเผยความลับของผู้ติดเชื้อ ยังคงเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ติดเชื้อ และครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ปัญหาความไม่เป็นธรรมด้วยการละเมิด และลิดรอนสิทธิในเรื่องเอดส์ ควรที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่ง และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ทั้งโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยแนวทางที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน หยุดการใช้ภาพอาการที่น่ารังเกียจ และถ้อยคำกล่าวโทษ หรือที่น่ากลัวในการรณรงค์การสร้าง กระบวนการบังคับใช้กฏหมาย ในการเอาผิดแก่ผู้ทำการละเมิดให้เกิดขึ้นจริง แต่สิงที่สำคัญ คือ การสร้างความตระหนักในสิทธิให้แก่ผู้ติดเชื้อ และประชาชนทั่วไป ในการที่จะส่งเสียงเรียกร้องกระตุ้น เมื่อมีการละเมิดหรือลิดรอน เพื่อยุติความไม่เป็นธรรมในสังคมอันเนื่องมาจากเอดส์ร่วมกันโรคเอดส์เป็นภาระของสังคม รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ เฉพาะยาต้านไวรัสขั้นพื้นฐานและโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ 8.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ถ้าต้องดูแลรักษาตลอดชีวิตเฉลี่ยคนละ 2 ล้านบาท หากเชื้อดื้อยาก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 4 ล้านบาท ในปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าว่าจะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 1.6 หมื่นคน และในปี 2551 จะต้องมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 7,500 คน 
หมายเลขบันทึก: 69481เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2006 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับคุณอาทิตย์ที่ช่วยนำประวัติการค้นพบเชื้อเอชไอวีมาให้ทราบกันครับ

ขอขยายความเล็กน้อยครับว่า จริงๆแล้วผู้ค้นพบทั้งสองท่านที่กล่าวถึงนั้น อยู่คนละสถาบันกัน โดย Dr.Montagnier อยู่ที่สถาบัน Pasteur Institute ที่ฝรั่งเศส ส่วน Dr.Robert Gallo อยู่ที่ Institute of Human Virology ที่ Maryland, U.S.A.

ในช่วงเวลานั้นทั้งสองท่านต่างอ้างว่าตนเป็นผู้ที่แยกเชื้อได้เป็นคนแรก แต่สุดท้ายไม่สามารถบอกได้ว่าใครแยกเชื้อได้ก่อน วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงตกลงให้ทั้งสองท่านเป็นคนแยกเชื้อได้พร้อมกัน :)

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท