โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

วิสัยทัศน์ของแม่


วิสัยทัศน์ของแม่

โสภณ เปียสนิท

.....................................................

            โลกหมุนเวียนตามวันเวลาที่ผ่านเลย ความเปลี่ยนแปลงของโลกถือว่าเป็นธรรมดา เพราะโลกเป็นไปตามหลักของไตรลักษณ์ ลักษณะสามประการ ไม่เที่ยงคือไม่คงเดิม เป็นทุกข์ ยึดถือมิได้ ไม่ใช่ตัวตน ชีวิตของคนก็เปลี่ยนแปรไปตามโลกด้วยเช่นกัน มิมีสิ่งใดเที่ยงแท้ เป็นสุขอย่างเดียว เป็นตัวตนชัดเจน ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นหลัก ต้องการคำอธิบายมากมาย ใช่ครับ ต้องเรียนรู้และยอมรับ 

เขียนถึงเรื่องนี้ผมนึกถึงแม่ เมื่อตอนผมเป็นเถรน้อย เพราะโยมพาไปบวชเณรเพื่อศึกษาเล่าเรียนที่วัดใกล้ตัวเมือง แรกคิดถึงบ้านมาก แต่ต้องทนเพราะไม่มีใครพากลับไปเยี่ยมบ้านปีหนึ่งได้กลับบ้านแค่ครั้งสองครั้ง ครั้งหนึ่งไปเยี่ยมบ้าน โยมทั้งสองบอกให้ขึ้นไปนอนค้างข้างบนบ้านชั้นสอง ตอนหัวค่ำเห็นโยมแม่นั่งแกะเม็ดละหุ่ง เพื่อเอาไปขายที่ตลาดห่างจากบ้านราวสิบห้ากิโลเมตร 

แม่นั่งข้างตะเกียงน้ำมันก๊าด ควันดำลอยโอนเอนไปมาตามแรงลมหัวค่ำ เบื้องหน้ามีกระด้งเต็มด้วยเม็ดละหุ่งตากแห้ง พร้อมเหล็กแหลมสำหรับแกะเม็ดละหุ่ง โยมแม่มักสอนเสมอว่า “ตั้งใจเรียนนะลูกเณร ชีวิตเกษตรกรทำไร่ไถนาอย่างพ่อกับแม่ลำบากแค่ไหนก็รู้อยู่ เห็นอยู่มาตั้งแต่เด็กแล้ว หากไม่เล่าเรียน ลูกกลับมาบ้านก็ต้องทำงานแบบที่พ่อแม่ทำนี่แหละ” คำพูดเหล่านี้ อยู่ในความทรงจำคอยกระตุ้นเตือนให้เณรน้อยสมัยนั้นว่าต้องเล่าเรียน ทั้งที่ยังไม่ค่อยจะรู้ว่า ต้องเรียนอะไร เรียนอย่างไร

โยมแม่ถามว่า “เณรเรียนรู้อะไรมาบ้างละบวชมาสองสามปีแล้ว” ผมนั่งงงอยู่พักหนึ่ง “มันก็หลายเรื่องเทียวนาโยมแม่” โยมกับยิ้มๆ พูดเรื่อยๆ ระหว่างทำงานเพื่อหาเงินแม้ยามค่ำคืน “ก็แค่นั้นแหละที่โยมแม่อยากรู้” โถ โยมแม่ ผมก็นึกว่าโยมต้องการคำตอบอะไรลึกซึ้งมากมาย

ตั้งหลักได้ผมตอบท่านไปตามที่นึกได้ “ผมเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอกไงแม่” โยมแม่หยุดแกะละหุ่งหันมองหน้าหน่อย แล้วแกะเอาเปลือกออกต่อ ปากก็ถามต่อเหมือนชวนคุย “เป็นไงละเณร เหมือนที่เรียนในโรงเรียนไหม” แม่จบประถมสาม รุ่นสงครามโลก “ไม่เหมือนหรอกโยม ผมเรียนวิชากระทู้ แต่งความธรรมะ เรียนธรรมะ พุทธประวัติ วินัยของพระเณรเถรชี นักธรรมตรีก็ง่ายหน่อย นักธรรมโทก็ยากขึ้นหน่อย นักธรรมเอกค่อยยากขึ้นอีกนิด”

“แล้วเอามาใช้อะไรได้เหมือนที่เรียนในโรงเรียนไหม”ท่านถามต่อ “ใช้คนละอย่างนะโยมเรียนที่โรงเรียนใช้สมัครงานได้ เรียนที่วัดใช้นำมาสอนญาติโยมได้” ผมเกิดความรู้สึกทะแม่งบ้างเหมือนกันว่า ทำไมไม่จัดหลักสูตรทางพระศาสนาที่สามารถนำไปสมัครงานได้ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ คนต่างแย่งกันเข้ามาศึกษาพระศาสนาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงวันนี้จึงรู้ว่ามีการจำกัดสิทธิการเรียนรู้ของพระเณรอยู่ข้างบน อ้างว่า เพื่อความเหมาะสม ทั้งที่การศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในด้านโลกและธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกเพศทุกวัย

แม่แกะละหุ่งสักครู่ จึงพูดต่อ “อ่อ เรียนเพื่อเอาไปเทศน์สอนชาวบ้าน” ผมพยักหน้าในความมืด เพราะห่างออกมาจากแสงสว่างจากตะเกียง “น่าจะเป็นไปตามนั้น”แล้วแม่ก็พูดต่อ “น่าจะเปิดให้ใช้ประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่การงานด้วย เพราะพระเณรบวชได้สึกได้” แม่พูดราวกับว่า ผ่านการศึกษาขั้นระดับปริญญาเอกมาแล้ว

คนข้างบนเหล่านั้น ตั้งตัวเองขึ้นว่า เป็นผู้มีสิทธิในการตัดสิน โดยไม่ถามว่า พระหนุ่มเณรน้อยเหล่านั้น ต้องการให้เป็นผู้ตัดสินหรือไม่ เรียกว่าคิดเอง เออเอง แต่ไปตัดสิทธิขั้นพื้นฐานผู้อื่นทั้งที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า คนที่เป็นคนไทยมีสิทธิในการเรียนรู้ ลืมไปว่า พระเณรก็คือลูกชาวบ้าน เป็นคนไทยมีสิทธิเหมือนคนอื่นทุกประการ

แม่นิ่งคิดอยู่สักครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า “เวลาที่ลูกหมดบุญผ้าเหลืองแล้วจะได้นำความรู้เหล่านั้นไปใช้ในหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปได้ด้วย ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมน่าจะดีกว่าเดิมนี่นะ” ผมไม่เข้าใจว่า แม่ผมแค่จบประถมศึกษาปีสาม ประถมชั้นปีที่สี่แม่ไม่ได้เข้าสอบเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียก่อน แต่ได้ความคิดเหล่านี้มาจากการศึกษาทางใด หรือว่า ความเป็นแม่ย่อมต้องคิดเพื่อให้ลูกได้มีความก้าวหน้าในชีวิตทุกทาง

อีกประการหนึ่ง การศึกษานั้นเป็นสิ่งที่คนมีปัญญาย่อมมองเห็นคุณค่าโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ผู้ปกครองที่ดี มีวิสัยทัศน์ในการมองโลกด้วยดวงตาอันสดใสย่อมมองเห็นได้ว่า การศึกษามีประโยชน์ปานใด เป็นเหมือนดวงตาของโลก แล้วเหตุไฉนอ้างโน่นนี่นั่นเพื่อมิให้คนภายใต้อาณัติของตัวเองได้ศึกษาเล่าเรียน อ้างความเป็นพระเป็นเณรแล้วไม่ให้เรียนทางโลก เมื่อรู้ไม่ทันโลก แล้วพระเณรเหล่านั้นจะเผยแพร่ธรรมได้อย่างไรกัน ทั้งที่รู้ว่า พระพุทธองค์ให้พระเณรบวชได้สึกได้ ส่งเสริมให้เรียนแล้ว เมื่อสึกหาลาเพศไปจักได้นำไปใช้ เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาสืบไป

ผมนิ่งคิดมองหน้าแม่ที่ง่วนอยู่กับการแกะเม็ดละหุ่งในกระด้ง มดฝูงหนึ่งชักแถวเดินผ่านมาทางของกระด้งเพื่อผ่านไปสู่แหล่งหากินที่ใดสักแห่งแถวในบ้าน แม่เอาฝ่ามือลูบไปบนปูนขัดมันพื้นบ้าน มดทั้งแถวในระยะวงแขนของแม่หายวับไปกับตา ส่วนที่เหลือกำลังเดินมา กระจัดกระจายหาแถวไม่ถูกว่าจะเดินต่อไปทางไหนดี ประสาเณรน้อย เอ่ยถามแม่ว่า “อ้าว โยมแม่ไปฆ่าพวกมันทำไมเล่า” แม่หันมาทำหน้างง “แม่ไม่ได้ฆ่านะ แม่ปัดพวกมันให้พ้นทาง ให้ไปอยู่ข้างนอกเป็นที่เป็นทาง” แหนะ อย่างนี้ก็มีด้วย หน้าตาเฉย แล้วแกะเม็ดละหุ่งต่อไป

แล้วแม่ก็พูดต่อ “เณรยังเล็กเด็กน้อยอยู่ ต้องตั้งใจเรียนให้ดี” ผมรู้สึกว่าเหตุใด แม่จึงต้องการให้ผมเรียนหนังสือ ทั้งที่อาชีพของเราก็คือเกษตรกร แม่ไม่ต้องการให้ลูกเดินตามแนวทางของพ่อแม่ “แล้วโยมแม่ไม่ต้องการให้ผมมาช่วยทำไรไถนาปลูกอ้อยดอกหรือ” แม่นิ่งสักครู่ คงกำลังคิดหาหนทางที่จะตอบสักครู่ “มันลำบากมากนะลูก เกษตรกรมิใช่ง่าย เหนื่อยยากสารพัด จำไม่ได้หรือตอนก่อนไปบวชเณร เคยไปดูพ่อแม่ทำงานกันในไร่อ้อย เหนื่อยสายตัวแทบขาด” ผมจำคำว่า “เหนื่อยสายตัวแทบขาด” ได้มาแต่นั้น

แม่คิดหาคำตอบได้แล้ว “ไม่มีแม่คนไหนต้องการให้ลูกลำบากเท่าที่พ่อกับแม่ลำบากอยู่ทุกวันนี้หรอกลูกเณร” โยมแม่มองว่าการทำไร่อ้อยเลี้ยงชีพนี้ลำบากยากแค้นแสนเข็ญนักหนา แต่ภาพเหล่านี้ก็ยังไม่ชัดในใจของเณรน้อยตัวเล็กเช่นผมสมัยนั้น “ลำบากอย่างไรบ้างแม่ ผมยังมองไม่ชัด” 

แม่ทำปากมุบมิบเหมือนจะตำหนิ “ก็แม่ลำบากให้เห็นอยู่นี่ไง ต้องไถที่เตรียมไว้ ต้องซื้อพันธุ์อ้อย ต้องรอฝน หรือไม่ก็สูบน้ำจากท่ามารด บางปีแล้งจัด อ้อยแคระแกรนตาย บางปีฝนฟ้าดีก็งาม แต่อ้อยราคาไม่ดี อ้อยมีมากแต่ได้เงินน้อย ทำงานเช้าจรดเย็น บางทีเลยเย็น ข้าวปลาได้กินไม่ตรงตามเวลา ใช้แรงงานเยอะ ต้องจ้างเขามาช่วยทำเสียค่าแรง บางปีพอมีกำไร หลายปีขาดทุน รวมหลายปีแล้วส่วนมากจะขาดทุน เรียกว่างานหนักแต่ไม่มีเงินเหลือ แค่ทรงๆ ผู้อยู่พอกินไปเรื่อยๆแบบนี้” โยมแม่สาธยายให้ฟัง

ฟังแม่พูดถึงความยากลำบากในการทำงานเพื่อดำรงชีพ ภาพที่เคยเห็นอยู่ประจำตอนยังไม่ได้บวชก็ชัดเจนขึ้น โยมพ่อแม่ทำไร่ลำบากจริงดั่งว่า “แล้วโยมแม่ไม่เลิกทำไร่อ้อย แล้วหันไปทำอย่างอื่น” ความเป็นเณรน้อยไม่ประสีประสากับงานอาชีพ “โยมจะพากันไปทำอะไรได้เล่า ก็ทำกันมาอย่างนี้จนค่อนชีวิตแล้ว คงต้องทนกันต่อไป จนกว่าจะทำไม่ไหว แต่ไม่อยากให้ลูกเณรต้องมาลำบากเหมือนดั่งที่โยมเป็นอยู่”

แม้ว่าโยมแม่จะพูดเตือนอย่างง่าย แต่ความเข้าใจก็ยังไม่ลึกซึ้งพอ มองไปทางความก้าวหน้าด้านการเรียนก็ยังมองไม่เห็นหนทางสักเท่าใด เสียงโยมแม่ลอยมาอีก “ตั้งใจเรียนไปเถอะ อีกหน่อยจะเข้าใจได้เอง” แม่พูดเหมือนมองเห็นความก้าวหน้าของชีวิตของเณรน้อยเหลือทางเลือกแค่สองทาง ทางดีคือเรียนไปเรื่อยๆ อีกทางคือกลับมาทำไร่ทำนาเหมือนที่พ่อแม่กำลังทำงานกันอยู่ในทุกวันนี้

“ทางวัดเขาไม่ค่อยส่งเสริมให้เรียนเรื่องอื่น ให้เรียนนักธรรมบาลีเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นวิชาทางวัด” ผมตั้งข้อสังเกตให้แม่เข้าใจ แม่ทำงานงง “พระเณรบวชได้สึกได้ แล้วจะให้เรียนแต่เฉพาะทางวัดทำไม อะไรที่เรียนได้ก็ต้องส่งเสริมให้เรียนตามที่ถนัด สมัครใจจะเรียน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย พระเณรก็เป็นคนเหมือนกัน เป็นชาวไทยเหมือนกัน” แม่พูดราวกับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของประเทศไทย

ผมยังคิดที่แม่พูดไม่ค่อยได้ จึงนิ่งตามคติ “พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง” สักครู่เหมือนจะคิดอะไรได้ “เขาว่าเป็นหน้าที่ของพระเณรนะโยมแม่” “นั่นก็ถูก เราก็ต้องเรียนอยู่แล้ว แต่อย่างอื่นก็ต้องเรียนด้วย พระเณรก็คนในสังคม มิใช่บวชแล้วกลายเป็นคนนอกสังคม พูดกับคนในสังคมเขาไม่รู้เรื่อง เก่งแต่ทางวัด ออกไปข้างนอกแล้วคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โทเอกมาเขาจะพากันถามว่า พระจบอะไร ไปบอกเขาว่า จบนักธรรมตรีนักธรรมโทนักธรรมเอก จบบาลีประโยคนั้นนี้ แล้วจะคุยกับเขาได้ไหม ถ้าเขาดูถูกเอาแล้วจะเทศน์ให้เขาฟังอย่างไร บวชแล้วมิใช่ให้เข้านิพพานทุกองค์ในวันที่บวชเลยหรือ” 

คำของแม่ทำให้ผมรู้สึกว่า แม่ลึกซึ้งในการบวชและสึกของคนได้ดีกว่าผู้มีการศึกษาที่คอยแต่จำกัดขอบเขตของการศึกษาในปัจจุบัน ตรองดูแล้วก็เห็นจริง หากพระเณรบวชแล้วปิดประตูทางโลกไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องเข้าใจโลก ไม่มีการศึกษาทางโลก แล้วจะไปสอนใครได้ บวชแล้วทำให้ตัวเองด้อยการศึกษาใครจะบวช หรือว่านี่เป็นแผนของคนนอกที่วางแผนมิให้พระศาสนาได้รับการสืบต่อไปในภายภาคหน้า

แม่สรุปตอนท้ายว่า “เอาน่าลูกเณรตั้งใจเรียนเท่าที่มีช่องทางไปก่อนก็แล้ว คนเราต้องมีการศึกษาไม่ว่าจะพระเณรหรือญาติโยม มีการศึกษาแล้วชีวิตก็ย่อมมีค่า เรียนรู้โลกเอาไว้เป็นอาชีพก็ได้ หากสึกออกมา เรียนรู้ธรรมเณรก็อย่าไปทิ้ง เพราะจะได้ไว้เลี้ยงจิตใจให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป” กล่าวแล้วแม่ก็เอากระด้งเม็ดละหุ่งไปวางไว้ข้างฝาบ้าน แล้วบอกให้ลูกเณรไปจำวัด

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692980เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2021 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2021 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for sharing this story. A definite food for thought! Well written in a constrained manner - not to “bare’ all but to rouse thinking. ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท