เป็นศาสตราจารย์ด้วยการสั่งสมผลงาน


 

ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๔    มีการอนุมัติศาสตราจารย์ ๓ ท่าน ด้วยเกณฑ์ ของวิธีที่ ๓ ตามประกาศ กพอ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์  รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๓  ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการเข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์   

เกณฑ์ของวิธีที่ ๓   คือ 

วิธีที่ ๓ สำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสาขาวิชา ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ผู้ขอต้องเสนอเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้ (๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง ที่ได้รับการเผยแพร่ ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Quartile 1 และ Quartile 2 ของ Scopus หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก (First author) หรือเป็นผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding author) และ (๒) มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงจาก Scopus โดยรวม (Life -time Citation) อย่างน้อย ๕๐๐ รายการ โดยไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง และ (๓) มีค่า Life -time h -index (Scopus) ไม่น้อยกว่า ๘ และ (๔) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย (Principal investigator) ที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกสถาบัน อย่างน้อย ๕ โครงการ (Life -time)

โปรดสังเกตว่า ต้องเข้าเกณฑ์ทั้ง ๔ ข้อ จึงจะผ่าน   

ศาสตราจารย์ใหม่ทั้ง ๓ ท่าน ได้แก่ ศ. ดร. ปณต ถาวรังกูร คณะวิทยาศาสตร์    มีผลงานวิจัย ๒๒ เรื่องใน Q1 ของฐานข้อมูล Scopus (เกณฑ์ อย่างน้อย ๑๐ เรื่อง)    มี total citation ในฐานข้อมูล Scopus ๒,๘๖๒ ครั้ง  (เกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ครั้ง)     มี lifetime h index (Scopus) ๓๑ (เกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า ๑๘)    และ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากแหล่งภายนอก ๑๑ โครงการ (เกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า ๑๐)   

ท่านที่สอง ศ. ดร. วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มีผลงาน ๔ ข้อเรียงตามลำดับดังนี้ ๑๕,  ๑,๐๒๖,  ๒๐, และ ๑๕ ตามลำดับ

ท่านที่สาม ศ. ดร. เจริญ นาคะสรรค์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม   มีผลงาน ๔ ข้อเรียงตามลำดับดังนี้  ๒๒, ๒,๐๘๕,  ๒๔,  และ ๑๐ ตามลำดับ    ท่านผู้นี้ในปัจจุบันทำหน้าที่รองอธิการบดีวิทยาเขตสุราษฎร์ธานีด้วย    จึงเป็นผู้มีความสามารถทั้งด้านวิชาการและด้านการบริหาร    น่าชื่นชมมาก   โดยด้านการวิจัยท่านเก่งด้านเทคโนโลยียาง       

นำมาเล่าเพื่อสะท้อนว่า ระบบวิชาการของอุดมศึกษาไทยได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง    ที่มีการยอมรับผลงานวิชาการที่สั่งสมตลอดชีวิต    ผมเชื่อว่า เกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์วิธีที่ ๓ นี้   สะท้อนคคุณค่าของผลงานวิจัยสูงกว่าวิธีที่ ๑ และวิธีที่ ๒   

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๖๔

  

หมายเลขบันทึก: 692971เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2021 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2021 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท