ประเด็นเร่งด่วน ๑๐๐ มหาวิทยาลัยจะพาชาติออกจากวิกฤตได้อย่างไร โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


๓ นโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรทำ

ประเด็นเร่งด่วน

๑๐๐ มหาวิทยาลัยจะพาชาติออกจากวิกฤตได้อย่างไร

 

ประเวศ วะสี

 

การเมืองตกสภาวะ “Locked in”

 

      การเมืองตกสภาพเขยื้อนก็ไม่ได้ สมรรถนะในการแก้วิกฤตก็ไม่มี   สภาพ “Locked in” เกิดจากโครงสร้างอำนาจแบบที่มีมาในประวัติศาสตร์เป็นพันๆ ปี ที่เขาเรียกว่า The Power that be บ้าง The Establishment ที่ประกอบด้วย ๓ องค์ประกอบ คือ

  1. ชนชั้นสูง หรือผู้ดีเก่า
  2. กองทัพ
  3. พ่อค้า หรือนายทุนบางส่วน

โครงสร้างอำนาจสามเส้านี้ กำหนดผู้บริหารประเทศ ต่อต้านคนรุ่นใหม่ และการเปลี่ยนแปลง เป็นโครงสร้างที่ขัดแย้งกับธรรมชาติความเป็นจริง คือ คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า และเก่าจะต้องเปลี่ยนเป็นใหม่ ตามธรรมชาติของความเป็นอนิจจัง

เมื่อโครงสร้างอำนาจทำให้เปลี่ยนไม่ได้ แต่ตัวเองก็ทำงานไม่ได้ผล นำไปสู่ความระส่ำระสาย ปั่นป่วน รุนแรง เช่นนี้เสมอมาในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน 

การเมืองไทยในปัจจุบันก็ตกอยู่ในสภาพล็อคอินเพราะเหตุดังกล่าว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ก็ทำงานไม่ได้ผล ความระส่ำระสายและความรุนแรงจะตามมาถ้าปลดล็อคไม่ได้

๑๐๐ มหาวิทยาลัย ๑ ล้านนิสิต

ขุมกำลังปัญญาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนกว่า ๑๐๐ แห่ง มีนิสิตนักศึกษารวมกันกว่า ๑ ล้านคน มีคณาจารย์นักวิชาการหลายแสนคน เป็นขุมกำลังทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุด ทำอย่างไรขุมกำลัง ๑๐๐ มหาวิทยาลัย จะเป็นพลังทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องตีโจทย์ให้แตกและลงมือปฏิบัติโดยเร็ว

 

สาเหตุใหญ่ ๒ ประการ ที่มหาวิทยาลัยไม่เป็นพลังทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

 

มีสาเหตุใหญ่ ๒ ประการคือ 

  1. มหาวิทยาลัยมุ่งสอนแต่ไม่ลงมือทำ ผลคือบัณฑิตตกงาน และบัณฑิตที่ทำไม่เป็น กลายเป็นภาระของประเทศ อย่างที่พูดกันว่าแทนที่จะเป็นแบตเตอรี่กลับเป็นตุ้มถ่วงหรือ load
  2. มหาวิทยาลัยขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ ได้แต่คิดเชิงพฤติกรรมส่วนบุคคล และคิดเชิงเทคนิค จึงได้แต่ทำอะไรเล็กๆ ไปตามเทคนิคที่แต่ละคนมี ที่เรียกว่า Technic – driven ไม่สามารถทำประโยชน์ใหญ่ได้ และทะเลาะกันสูง เพราะคิดเชิงพฤติกรรมส่วนบุคคลจึงขาดพลังสร้างสรรค์

 

เพราะเหตุใหญ่ ๒ ประการนี้ มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต แม้ ๑๐๐ มหาวิทยาลัย ๑ ล้านนิสิต จะเป็นขุมกำลังทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

๓ นโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรทำ

 

  1. หลักสูตรการเรียนรู้ในฐานการทำงาน (Work - Based Learning) เพื่อสร้างคนไทยที่ทำเป็น คิดเป็น จัดการเป็น และเป็นพลังทางเศรษฐกิจ หลักสูตรต่างๆ ทุกระดับ ควรเปลี่ยนฐานการเรียนรู้จาก “ท่อง” เป็น “ทำ” นั่นคือเรียนรู้จากการทำงาน หรือ WBL หรือ สหกิจศึกษา ให้มากที่สุด ที่จะไม่เกิดปัญหาบัณฑิตตกงาน / บัณฑิตทำงานไม่เป็น เพราะเรียนรู้ในฐานการทำงาน ซึ่งมีรายได้ตั้งแต่ยังเรียน และไม่มีการตกงานเพราะสามารถปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา 

        การเรียนรู้ในฐานการทำงานยังสร้างพฤติกรรมที่ดีเพราะมีแรงจูงใจ กล่าวคือ ใครขยันและรับผิดชอบจะมีรายได้มากขึ้น ใครหาความรู้เพิ่มเติมที่ทำงานให้ดีขึ้นจะมีรายได้มากขึ้น สถานศึกษาก็ต้องขวนขวายหาความรู้ที่ตรงกันที่จะทำให้งานได้ผลดีขึ้น สถานศึกษาก็จะมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นจึงเห็นว่า WBL เป็นจุดคานงัดที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

  1. มหาวิทยาลัยกับการทำงานในพื้นที่ ๑ มหาวิทยาลัย : ๑ จังหวัด ประเทศไทยมี ๗๗ จังหวัดก็ใกล้เคียงกับจำนวนมหาวิทยาลัย แต่ละจังหวัดควรมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย ๑ แห่ง ที่ร่วมพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการโดยเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ในการนี้จะปรับมหาวิทยาลัย จากการ “ท่อง” เป็นการ “ทำ” พร้อมๆ กับสร้างสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง การที่มหาวิทยาลัยไปทำงานกับพื้นที่จะทำลายอุปสรรคที่ขวางกั้นการพัฒนาประเทศ อุปสรรคที่ว่านั้นคือ การที่คนไทยไม่รู้ความจริงของประเทศไทย เพราะระบบการศึกษาที่เอาตำราเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาความจริง หรือเอาชีวิตจริงปฏิบัติจริงของคนฐานล่างเป็นตัวตั้ง ทำให้ชนชั้นนำไม่รู้จักสังคมข้างล่างทำให้ทำอะไรไม่ถูก วิกฤตโควิดคราวนี้แสดงประเด็นนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ๑ มหาวิทยาลัย ๑ จังหวัด จึงเป็นจุดคานงัดที่ส่งผลกว้างลึกยาวไกลต่อประเทศไทย
  2. ฝึกอบรมรองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีที่มีทั้งหมดประมาณ ๒,๕๐๐ คน ให้เป็นนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลต่อทุกองคาพยพของประเทศทั้งทางดีหรือทางร้าย[1] การที่ประเทศไทยทำอะไรไม่สำเร็จเพราะขาดการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นระบบครบวงจร เพราะประเทศขาดสมรรถนะการคิดเชิงระบบและการจัดการ รวมทั้งในวงการมหาวิทยาลัยด้วย หากมีการขับเคลื่อนระบบนโยบายครบ ๑๒ ขั้นตอน ไม่มีทางไม่สำเร็จ ถึงเป็นเรื่องยากอย่างไรก็สำเร็จ ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า สัมฤทธิศาสตร์

        มหาวิทยาลัยหนึ่งๆ มีรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี ประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน รวมทั้งประเทศคงมีประมาณ ๒,๕๐๐ คน ถ้ากองทัพรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี ๒,๕๐๐ คนนี้ ได้รับการอบรมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนระบบนโยบายสาธารณะครบวงจร หรือสัมฤทธิศาสตร์ กองทัพนักสัมฤทธิศาสตร์ ๒,๕๐๐ คนนี้จะเป็นกำลังมหาศาลที่ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การลงตัว เพราะเมื่อนโยบายสาธารณะที่สำคัญๆ ประสบผลสำเร็จประเทศไทยก็จะหลุดจากสภาวะวิกฤตเรื้อรังที่เป็นมาเกือบ ๑๐๐ ปี และยกระดับไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริง 

      หวังว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะเห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของนโยบายทั้ง ๓ และถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ขุมกำลังทางปัญญาของอุดมศึกษากลายเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เรื่องนี้ไม่ยากนักที่จะเข้าใจและขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะทั้งรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง อว. ในปัจจุบันก็เป็นคนเก่ง และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างยาวไกลทั้งคู่

 

_______________________________________________


 

[1] ดู บทความ ทางออกจากความตีบตันทางการเมือง คือ P4 “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”(Participatory Public Policy Process) และหนังสือ คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร ๑๒ ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ (คู่มือสัมฤทธิศาสตร์พาชาติออกจากวิกฤต)

หมายเลขบันทึก: 691805เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2021 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2021 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท