อุดมศึกษาข้ามพรมแดนยุคหลังโควิด : ข้อเรียนรู้สำหรับมหาวิทยาลัยไทยกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก


 

บทความเรื่อง International higher education at a crossroads post-COVID  เขียนโดย Philip G Altbach and Hans de Wit  ใน เว็บไซต์ University World News บอกว่าหลังยุคโควิด International Higher Education จะไม่เหมือนเดิม   เป็นโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาไทยกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกได้เตรียมหาวิธีดึงดูดนักศึกษานานาชาติเข้ามาเรียน   

หากเราทำให้การระบาดของโควิดสงบลงได้เร็ว    พลังดึงดูดก็สูงขึ้น   

ผู้เขียน (Altbach) ให้มุมมอง (ตามวิธีคิดแบบอเมริกัน) เรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ๕ ประการที่ขึ้นต้นด้วยอักษร C  

  1. Covid-19   การระบาดใหญ่ของโควิด ๑๙ บอกเราว่า   มหาวิทยาลัยในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม   จะต้องใช้พลังของ ไอที เพื่อการเรียนรู้เพิ่มจากเดิมอย่างมากมาย    และเนื่องจากสถานการณ์โควิดสอนเราว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีความสำคัญมากต่อการเรียนมหาวิทยาลัย    สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องพัฒนาวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อการเรียนรู้ในหลากหลายมิติ  ทั้งที่เป็นปฏิสัมพันธ์จริง และปฏิสัมพันธ์เสมือน   

 โควิดสอนเราเช่นกันว่า ความร่วมมือข้ามพรมแดนประเทศด้านการวิจัยมีความสำคัญมาก     มหาวิทยาลัยวิจัยของไทยต้องร่วมกันสร้าง “ชาลาทำงาน” (working platform) ระดับประเทศเพื่อการนี้ 

  1. Climate   การระบาดของโควิด ช่วยให้ธรรมชาติฟื้นตัว   ส่วนหนึ่งจากการเดินทางระหว่างประเทศทางอากาศลดลงมากมาย    รวมทั้งการเดินทางเพื่อศึกษาต่อด้านอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักศึกษาในประเทศร่ำรวย   การทดแทนการเดินทางด้วยการติดต่อสื่อสารทางไกลในการเรียนและความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา    จะทำให้ระบบอุดมศึกษามีส่วนร่วมลดปัญหาด้านภูมิอากาศของโลก
  2. Collaboration in Research and Teaching   เขาเน้นความร่วมมือวิจัยเพื่อปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก    ผมมองว่า กิจกรรมพัฒนาประเทศไทยเพื่อยกระดับสู่สังคมนวัตกรรม จะมีโจทย์และแผนงานวิจัยที่ดึงดูดคนเก่งเข้ามา    มหาวิทยาลัยไทยกลุ่มวิจัยระดับโลกพึงร่วมกันสร้าง “ชาลางานวิจัย” (research platform) ในแนวนี้ 
  3. China    หัวข้อนี้บอกเราว่าสหรัฐอเมริกากลัวจีนมาก    (ผมรู้สึกว่า คล้ายๆ เขากลัวญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 และหาวิธีลดความแรงของญี่ปุ่นลงได้อย่างสันติ)    ผมมีความเห็นว่า เราต้องหาทางร่วมมือกับจีน ในเรื่องการร่วมมือแลกเปลี่ยนนักศึกษา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาปริญญาเอก และ postdoc   เน้นความร่วมมือวิจัยในเรื่องสำคัญที่มีความสนใจร่วมกัน         
  4. Commercialization of Internalization    อุดมศึกษาก้าวสู่ธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนโควิดระบาดเป็นเวลานานมาก   ประเทศที่หารายได้จากนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด ๒ ประเทศคืออเมริกา (ปีละ ๔๕ พันล้านเหรียญ)  กับออเตรเลีย (ปีละ ๒๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ)   ในระยะสั้นรายได้นี้จะลดลง    ในระยะยาวธุรกิจ edtech จะเฟื่องฟูขึ้น    ทั้งการให้บริการ ออนไลน์คอร์ส    การให้บริการเครื่องมือเรียนรู้ฝึกฝนทักษะรวมทั้งการให้คำปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงนักศึกษาแบบทางไกลหรือแบบผสม    การเป็นเครื่องมือทดสอบความรู้ ทักษะ และเจตคติ     อุดมศึกษาไทยต้องพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างชาญฉลาด    และมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองพอสมควร         

ควรมีฟอรั่ม ให้มหาวิทยาลัยไทยแต่ละกลุ่มได้มาแชร์ประสบการณ์สร้างสรรค์ด้านต่างๆ ในช่วงวิกฤติโควิด    เพื่อหน่วยงานกลาง (สป. อว.) นำมาเป็นข้อมูลคิดระบบสนับสนุนการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยขึ้นไป    โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ ๑  คือกลุ่มวิจัยระดับโลก

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มิ.ย. ๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 691715เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2021 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2021 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท