พื้นที่สร้างสรรค์ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย


 

ผมปิ๊งแว้บชื่อบันทึกนี้ระหว่างร่วมประชุมสภา มช. เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔   เพราะเห็นภาพวาระประชุมสภามหาวิทยาลัยที่เริ่มด้วยวาระแจ้งเพื่อทราบ เน้นเรื่องงานสร้างสรรค์ ที่จะมีคุณค่าต่อบ้านเมืองสูงมากในอนาคต     แล้วกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิก็ช่วยกันระดมความคิดเสนอแนะ    เพื่อต่อยอดความสร้างสรรค์ขึ้นไปอีก   

ทำให้คิดว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยที่ผมเคยร่วมเป็นกรรมการในอดีตกว่าสี่สิบห้าปีที่ผ่านมา  ในกว่าสิบมหาวิทยาลัย  ต่างก็จัดวารการประชุมเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด    เรื่องที่เอาเข้าประชุมเน้นเพื่อทราบ กับเพื่ออนุมัติ   ผมเรียกวิธีจัดวาระการประชุมแบบนี้ว่า   เป็นการใช้การประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็น “พื้นที่ราชการ”    ใช้ทำพิธีกรรมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หรืองานประจำ 

แต่สภามหาวิทยาลัย มช. ในยุคนี้ดีวันดีคืน ภายใต้ภาวะผู้นำของท่านนายกสภา (ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย), ท่านอธิการบดี (ศ. คลินิก นพ. นิเวศน์ นันทจิต), และรองอธิการบดีเลขานุการสภามหาวิทยาลัย (ผศ. ทพ. พิริยะ เชิดสถิรกุล)    จัดการประชุมสภามหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และสร้างสรรค์ ไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่งานประจำ   ผมประมาณว่า เวลานี้สภา มช. ใช้เวลาประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์   ใช้เวลาเพียงร้อยละ ๓๐ กับงานประจำ   

การเข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัย มช. จึงสนุกและประเทืองปัญญามาก   

เอกสารแจกกรรมการชิ้นหนึ่งคือ รีฟอร์ม ข่าวสารวิจัย มช. ฉบับแรก ที่จับเรื่อง ทางรถไฟคู่ เส้นทางสู่อนาคต    ข่าวสารวิจัยนี้ จัดทำโดยสำนักงานบริหารงานวิจัย (๑) ที่ดูในเว็บไซต์แล้ว   มีการทำงานส่งเสริมการวิจัยอย่างคึกคักมาก    มี รศ. ดร. นพพล เล็กสวัสดิ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย   

สาระใน รีฟอร์ม ข่าวสารวิจัย มช. ฉบับแรกนี้ จับเรื่อง เดียวคือ ทางรถไฟรางคู่     ที่ มช. มี ศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง – CMU RailCFC)  ก่อตั้งโดย รศ. ดร. พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม    สาระในข่าวสารวิจัยเล่มนี้ เสนอภาพใหญ่ของการ transform ระบบคมนาคมหรือระบบโลจิสติกส์ ของประเทศ  จากเดิมใช้ระบบถนนเป็นหลัก   มาสร้างความเข้มแข็งของระบบรางขึ้นมาทำให้ระบบมีคุณภาพสูงขึ้น โดยต้นทุนต่ำ     โดยประเทศไทยมีแผนใช้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อการนี้        

ผมกังวลอยู่อย่างเดียวว่า มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้   จะทำได้สำเร็จหรือ   ในเมื่อการรถไฟเองมีระบบบริหารงานที่อ่อนแอมาก    บริหารรถไฟ Airport Rail Link ก็ล้มเหลว 

 ศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง เน้นทำวิจัยและพัฒนาในส่วนล่างของระบบราง พัฒนา substructure technology   ที่เมื่อเสนอต่อที่ประชุมก็ได้รับความชื่นชมมาก   

กลับมาที่พื้นที่สร้างสรรค์ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย    ผมมองว่าทำได้ไม่ยากหากเห็นคุณค่า ว่าสมัยนี้คุณค่าสำคัญของสภามหาวิทยาลัยคือ เป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมในการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษา    แต่ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ      

ดำเนินการอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการสรรหากรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมี connection เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทำงานสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ  ในหลากหลายด้าน ตามภารกิจของมหาวิทยาลัย    ซึ่งทาง มช. ทำได้ดีมาก    

ส่วนสำคัญของระบบคือการปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัยเอง    เอามาเสนอแผนยุทธศาสตร์ และผลการปฏิบัติ เพื่อใช้สภาฯ เป็นพื้นที่เรียนรู้ และเสนอแนะให้ยกระดับคุณค่าของการดำเนินการขึ้นไปอีก    เท่ากับใช้การปฏิบัติและข้อมูลจากการปฏิบัติ กระตุ้นพื้นที่เรียนรู้ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย     ตรงนี้ผมมองว่า หากผู้บริหารและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยสมาทานกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง (fixed mindset) และปกป้อง status quo    บรรยากาศสร้างสรรค์ในสภามหาวิทยาลัยจะเกิดได้ยากมาก   

นอกจากปฏิบัติ ต้องมีการ เก็บข้อมูล และตีความข้อมูล สำหรับนำมาเสนอต้อสภามหาวิทยาลัย    เพื่อการตีความให้ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    รวมทั้งมีการแนะนำและช่วยเชื่อมโยงภาคีร่วมมือดำเนินการ     โดยเฉพาะภาคีในภาคชีวิตจริง (real sector)   

ท้ายที่สุด การจัดวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัย ที่เน้นคุณค่าด้านการกระตุ้นการยกระดับการทำงานเชิงสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัย  และการทำงานอย่างเป็นเครือข่ายภาคีร่วมมือ   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ค. ๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 691251เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2021 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2021 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท