เรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์



หนังสือแปล นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตจากฟินแลนด์(๑)แปลจาก Phenomenal Learning from Finland  เขียนโดย ศาสตราจารย์ Kirsti Lonka ผู้มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัย เฮลซิงกิ    เป็นเรื่องของ การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ (Phenomenal-Based Learning)   ใช้เป็นคู่มือคิดออกแบบชั้นเรียนได้    โดยจับ ๗ ประเด็นหลัก เรียกว่า ๗ สมรรถนะคือ

สมรรถนะที่หนึ่ง  การคิดและการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้                                                                         

  1. 1. การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
  2. 2. การเรียนรู้ที่จะเรียนรู้
  3. 3. ชุมชนการเรียนรู้

สมรรถนะที่สอง  สมรรถนะทางวัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ และการแสดงตัวตน

  1. 1. การเผชิญหน้าทางวัฒนธรรม
  2. 2. ทักษะด้านอารมณ์
  3. 3. การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม

สมรรถนะที่สาม  การดูแลตนเอง และการจัดการชีวิตประจำวัน

  1. 1. การจัดการชีวิตประจำวัน
  2. 2. การเป็นสมาชิกของสังคมที่ทำงานได้ดี
  3. 3. ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

สมรรถนะที่สี่  ทักษะการสื่อสารรอบด้าน

  1. 1. การสื่อสาร
  2. 2. มัลติมีเดียและการสื่อสาร
  3. 3. ทักษะด้านบริบท

สมรรถนะที่ห้า   ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร

  1. 1. การศึกษาแบบสืบเสาะหาความรู้และสร้างสรรค์
  2. 2. ทักษะที่ใช้ได้จริงและการเขียนโปรแกรม
  3. 3. ความรับผิดชอบและความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี
  4. 4. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสร้างเครือข่ายในโลกดิจิตัล

สมรรถนะที่หก  ทักษะชีวิตการทำงานและทักษะผู้ประกอบการ

  1. 1. ความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน
  2. 2. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในที่ทำงาน
  3. 3. ชีวิตการทำงานในทางปฏิบัติ

สมรรถนะที่เจ็ด  การมีส่วนร่วม การมีบทบาทผลักดัน และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

  1. 1. วิธีการสร้างบทบาทผลักดัน
  2. 2. โครงสร้างและกฎเกณฑ์ของสังคม
  3. 3. การสร้างอนาคต

การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

ทั้ง ๗ สมรรถนะข้างบน เรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ (phenomenon-based learning)    ที่ผมคิดว่าเป็นสาระหลักของหนังสือเล่มนี้    ซึ่งก็คือการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม  หรือการเรียนรู้บูรณาการ    ที่จัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยให้นักเรียนเรียนผ่านการปฏิบัติในสถานการณ์จริงหรือใกล้จริง    ซึ่งก็คือการทำโครงงานนั่นเอง   เพื่อตอบโจทย์ที่ตนสนใจร่วมกัน    โดยครูทำหน้าที่เป็นโค้ช  

ในการเรียนรู้แบบนี้ นักเรียนได้เรียนสาระวิชาไปพร้อมๆ กันด้วย    ภายใต้การดูแลช่วยเหลือยุยงของครู นักเรียนจะได้เรียนรู้สาระวิชาหรือทฤษฎีในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    ตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่ควรนำไปให้นักเรียนช่วยกันคิดโจทย์ได้แก่ ความยากจน  การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือระบบนิเวศน์  เศรษฐกิจโลก   สุขภาพและสุขภาวะ 

เท่ากับนักเรียนได้เรียนตรรกะของปรากฏการณ์ (ชีวิตจริง) กับตรรกะของสาขาวิชาไปพร้อมๆ กัน    เห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิชาการกับชีวิตจริง    ซึ่งสำหรับนักเรียนไม่ใช่เรื่องยาก หากครูจัดกระบวนการเป็น    ความยากอยู่ที่ครูที่จะต้องเปลี่ยนใจและพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่นี้

ผมมีความเห็นว่า การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นี้ไม่ใหม่นักสำหรับโรงเรียนไทยกระแสก้าวหน้า    ที่เปลี่ยนไปจัดการเรียนรู้เชิงรุกอยู่แล้ว    แต่ในหนังสือมีแง่มุมรายละเอียดวิธีคิดที่น่าจะก้าวหน้าขึ้นไปอีก    สมควรที่ครูและนักศึกษาหัวก้าวหน้าของไทยจะได้อ่านและพิเคราะห์พิจารณาอย่างละเอียด    หนังสือเล่มนี้หนา ๓๙๙ หน้า     มีการตีความ active learning (การเรียนรู้เชิงรุก)  และ socio-emotional learning (การเรียนรู้ในมิติสังคมและอารมณ์) ที่น่าสนใจยิ่ง    เชื่อมสู่มิติของการศึกษาเพื่อสร้างคนดี พลเมืองดี    วิชาหน้าที่พลเมืองที่วงการศึกษาไทยกำลังถกเถียงกันว่ายกเลิกดีไหม    หากมาอ่านและทำความเข้าใจมิติของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ จะเห็นว่า ครูต้องจัดการให้มันบูรณาการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้น   เพราะส่วนหนึ่งมันคือ “ทักษะชีวิต”   

มองจากมุมของสมรรถนะ วิชาหน้าที่พลเมืองบูรณาการอยู่ในทุกสมรรถนะที่ระบุข้างบน    แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือสมรรถนะที่สอง    โดยผมขอย้ำสมรรถนะที่เจ็ดด้วย    พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีสมรรถนะผลักดันขับเคลื่อนอนาคตของสังคมที่ดีกว่าเดิม ต้องไม่เป็นคนนิ่งดูดาย

ในการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นี้    เมื่อทีมนักเรียนร่วมกันกำหนดโจทย์ที่คมชัดแล้ว (เน้นโจทย์จากความจริงนอกห้องเรียน)    นักเรียนต้องร่วมกันตั้งคำถามจำนวนมากต่อโจทย์นั้น เพื่อให้ตนเองเข้าใจโจทย์อย่างแท้จริง    แล้วร่วมกันค้นหาข้อมูลและความรู้เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น   เพื่อตีกรอบโจทย์ที่จำดำเนินการแก้ไขให้โฟกัสและเป็นไปได้ที่จะ ดำเนินการให้สำเร็จ    สำหรับนำมาร่วมกันวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหา     แล้วจึงร่วมกันดำเนินการแก้ไข  เก็บข้อมูลผลที่เกิดขึ้น  สำหรับนำมาสะท้อนคิดเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน  

การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ จึงเป็นการฝึก “บทบาทนอกโรงเรียน” ให้แก่นักเรียน สำหรับปูพื้นฐานสู่ชีวิตผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงด้าน สมรรถนะเพื่อการเป็นผู้ร่วมนำ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมและแก่โลกในอนาคต  

ตอนท้ายของหนังสือ ว่าด้วยเรื่องความท้าทายที่ไม่สิ้นสุดของเรื่องการศึกษา    ที่จะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง ไม่หยุดอยู่ที่ทฤษฎีหรือรูปแบบใด

ขอขอบคุณ กสศ. ที่มอบหนังสือเล่มนี้

วิจารณ์ พานิช

๑ พ.ค. ๖๔

    

หมายเลขบันทึก: 690760เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2021 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2021 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท