๘๘๖. ชีวิตเริ่มแรกของการเรียนรู้


ชีวิตเริ่มแรกของการเรียนรู้

ชีวิต เริ่มแรกของการใช้ชีวิต คือ การเกิด...การเกิดมาของมนุษย์ อาจเกิดจากครอบครัวที่หลากหลาย เพราะชีวิตของมนุษย์ในแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกัน อาจมีทั้งเหมือนและแตกต่างกันในเรื่องของการใช้ชีวิต...สิ่งที่แตกต่างอาจมาจากสภาพแวดล้อมมีความแตกต่างกัน ฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน สภาพสังคม สภาพการเงิน สภาพการใช้ชีวิต การสั่งสอน อบรมที่มีความแตกต่างกัน เพราะนี่คือ สังคมครอบครัว

เริ่มแรกของการมีชีวิต ในวัยเยาว์ จะเริ่มต้นจากการได้ศึกษาเล่าเรียนจากพ่อ-แม่ ตา-ยาย ปู่-ย่า มาก่อน บางคนเกิดมาไม่มีพ่อ-แม่ ซึ่งเรียกว่า กำพร้ามาตั้งแต่ต้น...บางคนได้อยู่กับพ่อ-แม่ พร้อมหน้าพร้อมตา...แต่บางคนเกิดมาอาศัยอยู่กับปู่-ย่า,ตา-ยาย หรือแม้แต่อาศัยอยู่กับคนอื่นที่มิใช่ญาติตนเอง...การอบรมสั่งสอน การเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน...สภาพที่แตกต่างแบบนี้ จะเรียกว่า มนุษย์มีต้นทุนชีวิตที่เกิดมาไม่เหมือนกัน...สิ่งที่แตกต่าง จะมีผลทำให้มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่สามารถบรรยายได้ว่า สิ่งที่เหมือนกัน และแตกต่างกันนั้น มีอะไรบ้าง เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นถึงมนุษย์มีพื้นฐานของการมีชีวิตที่แตกต่างกันไป มีเหมือนบ้างหากพื้นฐานของครอบครัวนั้นมีเหมือนกัน...สิ่งที่กล่าวมานี้ อาจสะสมขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้มนุษย์มีความเหลื่อมล้ำในสังคมที่แตกต่างกัน...ซึ่งถ้าความจริงแล้ว หากมองให้เท่าเทียมกันนั้น คงไม่สามารถทำให้เท่าเทียมกันได้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งทำให้เห็นว่า มนุษย์เกิดมาบนความหลากหลายของการเกิดมามีชีวิต ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี

ในความดีและไม่ดีของในแต่ละเรื่อง จะมีทั้งข้อดี และข้อเสียในตัวเองเช่นกัน ถ้าเราพิจารณากันอย่างจริงจัง...ซึ่งมนุษย์ควรฝึกมองให้เห็นในทั้งสองด้านของข้อดี และข้อเสียของแต่ละเรื่อง...เพราะนี่คือ พื้นฐานของการฝึกตนเองให้เป็นคนที่มีเหตุผล ซึ่งในอนาคตจะเป็นคนที่เข้าใจชีวิต และยอมรับความเป็นจริงของชีวิต

เมื่อถึงวัยเข้าเรียน...มนุษย์จะต้องได้รับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้และนำมาปรับใช้กับตนเองในการที่จะต้องเรียนรู้...หลักสูตร วิชาการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นพื้นฐานของชีวิต เพื่อให้นำความรู้นั้นมาใช้กับชีวิตที่ดำรงอยู่ในแต่ละวัน...การศึกษาจึงมีตั้งแต่ปฐมวัย...ชั้นประถมศึกษา...มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งต่อมาก็จำแนกออกเป็นระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก...หากพิจารณาดู การศึกษาได้แบ่งเป็นระดับชั้นของความรู้เอาไว้...นี่คือ ความรู้ที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ตามสถานะทางการเงินของตนเอง และการมีโอกาสได้รับการศึกษา...ในความเป็นจริงเมื่อได้รับการศึกษาแล้ว คนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาต้องนำความรู้นั้นมาปรับ และประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น การเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่ได้รับโอกาส ได้รับความรู้ ไม่ว่าทางใด แม้แต่คนที่มิได้เข้าเรียนตามชั้นเรียน ก็สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของตนเอง...ว่าแต่ใครจะสามารถเรียนรู้ในแบบใด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การนำความรู้ที่ได้รับนั้น มาปรับ ประยุกต์ใช้กับตนเองให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดในสังคมได้

สำหรับการทำงานที่ผ่านมา จะใช้การให้ค่าตอบแทนจากฐานของการจบวุฒิการศึกษามาให้เป็นค่าตอบแทน คือ เมื่อมนุษย์ได้รับความรู้ในระดับใด ก็จะได้รับเงินเดือนในระดับนั้น ซึ่งทางสำนักงาน ก.พ. (การบริหารงานบุคคลภาครัฐ) ได้เคยจำแนกเป็นค่าตอบแทนให้กับบุคคลที่จบวุฒิการศึกษาใด จะได้รับค่าตอบแทนจำนวนเท่าใด นี่คือ ในสมัยก่อน...แต่มา ณ ปัจจุบัน เริ่มมีการปรับเปลี่ยน ที่จะให้ค่าตอบแทนจากประสบการณ์ของการทำงานที่เคยมีประสบการณ์ ซึ่งคำว่า "ประสบการณ์" ต้องให้คำนิยามที่ชัดเจนในการที่จะให้ค่าตอบแทนตามประสบการณ์...หากไม่ชัดเจนจะเป็นปัญหาต่อระบบของการจ่ายค่าตอบแทนขององค์กรนั้น ๆ ได้

ที่ผ่านมาสิ่งที่เริ่มต้นของชีวิตเริ่มแรก คือ การได้รับความรู้ การได้ศึกษาตามวุฒิต่าง ๆ...แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ยังขาดให้ความสนใจ คือ เรื่องของทักษะต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต เช่น ความซื่อสัตย์ ความอดกลั้น ความอดทน ความเพียร ความขยัน ความคิดสร้างสรรค์ ความมีคุณธรรมในตนเอง การมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การรู้จักหน้าที่ที่ต้องกระทำ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความสำคัญมากกับชีวิตการทำงาน เพราะจะทำให้เห็นถึงความมีคุณค่า และคุณภาพของคนที่มีความแตกต่างกัน...หากให้คิดถึงว่า ส่วนไหนระหว่างความรู้กับทักษะดังกล่าวข้างต้น ควรมีอย่างละเท่าไร...สำหรับผู้เขียนเองคิดว่า ควรมีอย่างละเท่ากัน คือ ความรู้ : ทักษะ...๕๐ : ๕๐ ถามเหตุผลว่า ทำไมต้องอย่างละ ๕๐ เท่ากัน...ในฐานะที่เคยทำงานบุคคลมาร่วม ๓๓ ปี ความรู้ จริง ๆ แล้วสามารถเรียนรู้ได้ เรียกว่าตลอดชีวิต แต่ให้เพียงครึ่งหนึ่ง...แต่ทักษะชีวิตที่กล่าวข้างต้น ควรมีด้วย คือให้อย่างละ ๕๐...หากไม่มีทักษะดังกล่าวเลย จะไม่สามารถสร้างคุณค่า...คุณภาพของงาน และของคน ๆ นั้นได้เลย (อาจเป็นความคิดเห็นส่วนตัว)...แต่ในฐานะที่ทำงานบุคคลมานาน มีความเห็นเป็นเช่นนั้น และให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่า ยิ่งเป็นทักษะในการใช้ชีวิตด้วยแล้ว เห็นว่าปัจจุบันสำคัญมาก...ว่าแต่จะสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้เกิดขึ้นในคน ๆ นั้นให้มีคุณค่า และเกิดคุณภาพจริง ๆ นั้นได้อย่างไร

********************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔

หมายเลขบันทึก: 690602เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2021 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2021 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท