"บ้าน กศน." ในฝันของผม


ระยะเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นั้น มีเพียงเวลาน้อยนิดที่อยู่ในระบบโรงเรียนจริงๆ ลองนับชั่วโมงดูก็ได้ครับ เวลาส่วนใหญ่เราอยู่นอกโรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียนจึงน่าจะเป็นระบบการปิดช่องว่างของการเรียนในโรงเรียน ในทางอุดมคติเลยนะครับ ก็คือ ตั้งแต่เมื่อมีคนไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน เมื่อมีนักเรียนออกจากโรงเรียน และเวลาที่เหลืออยู่ของทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน ซึ่งน่าจะเป็นเวลาแห่งความรับผิดชอบของการศึกษานอกโรงเรียน

จากการหารือกับครูนง เมืองคอน เรื่องการเปลี่ยนแปลงของ กศน.ตามนโยบายเบื้องบน และเรามีความเห็นกันว่าทางเจ้าหน้าที่ กศน.ควรจะมาทบทวนว่าตัวเองได้ทำอะไรไปบ้าง โดยเฉพาะในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพื่อการปรับเปลี่ยนหรือกำหนดทางเลือกในการทำงานให้ดีกว่าเดิม

และ ผมได้รับปากครูนงว่า ผมจะลองมานั่งพิจารณาดูว่า กศน.ในฝัน (ในฝันของผมนะครับ) นั้นควรจะเป็นอย่างไร โดยอาศัยข้อมูลที่ผมมีที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ระบบความต้องการของชุมชน ขีดจำกัดและปัญหาของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่างๆ ของประเทศไทย

ผมมามองดูแล้ว พบว่า ระยะเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นั้น มีเพียงเวลาน้อยนิดที่อยู่ในระบบโรงเรียนจริงๆ ลองนับชั่วโมงดูก็ได้ครับ เวลาส่วนใหญ่เราอยู่นอกโรงเรียน

เพราะฉะนั้น การศึกษานอกโรงเรียนจึงน่าจะเป็นระบบการปิดช่องว่างของการเรียนในโรงเรียน ในทางอุดมคติเลยนะครับ ก็คือ ตั้งแต่เมื่อมีคนไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน เมื่อมีนักเรียนออกจากโรงเรียน และเวลาที่เหลืออยู่ของทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน ซึ่งน่าจะเป็นเวลาแห่งความรับผิดชอบของการศึกษานอกโรงเรียน

ในมุมมองนี้จะเห็นได้ว่า กศน. มีงานมากกมาย โดยไม่จำเป็นต้องไปคิดแข่งกับระบบโรงเรียน

แต่ควรจะมีระบบการเรียนรู้และการศึกษาที่ไม่อยู่ในโรงเรียน และควรจะหลบเลี่ยงงานที่มีโอกาสซ้อนทับกับระบบโรงเรียน หรืออาจจะมีกิจกรรมการเรียนที่แตกต่างไปจากการเรียนในโรงเรียน

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ของ กศน.อาจจะเคยเรียนรู้ และชินกับการทำงานในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน

ตั้งแต่สมัยเรียนและก่อนที่จะมาทำงานใน กศน. เสมือนหนึ่งจะให้ปลาที่ชินอยู่กับการว่ายอยู่ในน้ำ มาเป็นผู้สอนให้ลูกนกหัดบิน ซึ่งอย่างมากก็แค่สอนให้หัดว่ายน้ำ ก็เก่งแล้ว

ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องเริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนว่า งาน กศน.แตกต่างจากงานในระบบโรงเรียนอย่างไร

เพื่อให้มองเห็นช่องว่างของระบบการศึกษาโดยรวมของประเทศ ว่า กี่ส่วนเป็นระบบในโรงเรียน และกี่ส่วนเป็นระบบนอกโรงเรียน

ระบบในโรงเรียนก็ปล่อยเขาให้ว่ากันไปเลยครับ

แต่นอกโรงเรียนต้องมานั่งไล่เรียงกันใหม่ว่า มีประเด็นใดบ้าง ตั้งแต่กลุ่มคนเป้าหมาย กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มความรู้ กลุ่มกิจกรรม และกระบวนการพัฒนาความรู้เพื่อการพัฒนาชีวิตที่จำเป็นจะต้องแตกต่าง แต่สอดประสานกับการศึกษาในโรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่น่าจะเป็นห่วงว่า การศึกษานอกโรงเรียนจะไปทับซ้อนกับการศึกษาในโรงเรียน

เพราะจะเห็นได้ว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย

  • ทั้งกลุ่มคน
  • กลุ่มความรู้
  • ลักษณะของกิจกรรมที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ยกเว้นงานบางส่วนที่ กศน. ทำตัวเป็นสะพานเชื่อมให้คนที่ด้อยโอกาส มีโอกาสเลื่อนไหลตัวเองเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน ทั้งการเรียนลัด และสอบเทียบ

แต่ปัญหาที่ผ่านมา เท่าที่ทราบก็คือ บุคลากรบางส่วนไม่เคยชินกับการทำงานแบบ “นอกโรงเรียน” แต่ชินกับการทำงาน “ในโรงเรียน” แต่มาทำงาน “นอกโรงเรียน”

จึงเกิดประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงมองไม่ออกว่าจะเลี้ยงไว้ หรือจะต้มกินดี

เพราะเท่าที่ทราบก็ยังเป็นระบบในโรงเรียนของ กศน. อีกนั่นแหล่ะ ไม่เห็นจะเป็น “นอกโรงเรียน” ตรงไหน

แล้วตกลงว่า เราจะทำการศึกษานอกโรงเรียนหรือในโรงเรียนกันแน่ หรือจะเป็นการศึกษานอกโรงเรียนหนึ่ง แต่อยู่ในอีกโรงเรียนหนึ่งเท่านั้นเอง ยังงี้วุ่นวายตายเลยครับ ใครก็ไม่เข้าใจหรอกครับ

เห็นไหมครับ แค่นี้ก็เริ่มเห็นทางออกแล้ว

คราวนี้จะต้องมาดูว่า ถ้าจะทำการศึกษานอกโรงเรียนนั้น

  • เราจะต้องพัฒนาความสามารถของบุคลากรอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับความต้องการของการศึกษานอกโรงเรียน

อันนี้เรื่องใหญ่พอสมควรครับ เพราะไม่มีใครกินเนื้อตัวเองแล้วโตได้ครับ

แปลว่า เราจะต้องระดมความรู้และความเข้าใจจากภายนอกเข้ามา ยอมรับความเห็นและแนวทางที่มีผู้เสนอแนะอย่างเหมาะสม

หรืออย่างน้อยก็ต้องลองดูว่าเราจะพัฒนาความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่อย่างไร ไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ แบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ ยังไงรสชาติก็เหมือนเดิมแหล่ะครับ คนที่เขารู้แล้วว่าไม่อร่อย เขาไม่ซื้อหรอกครับ

  • ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องมีการพัฒนาระบบการทำงาน การเรียน การศึกษา เพื่อพัฒนาวิชาการให้เป็นวิชาชีพให้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการศึกษานอกโรงเรียน ที่แตกต่างจากการศึกษาในโรงเรียนโดยสิ้นเชิง
  • อันนี้ต้องขอย้ำครับ ว่าเป็นแกนสำคัญของงาน กศน. ครับ ไม่งั้น กศน. จะไม่มีเอกลักษณ์และไปไม่ได้ครับ
  • ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอเสนอ ก็คือการบริหารจัดการทั้งระบบของ กศน. และระบบประสานงานกับชุมชน ระบบเชื่อมโยงความรู้ ระบบการสร้างความรู้ ระบบการจัดการความรู้ เพื่อจะนำชุดความรู้ต่างๆ ทั้งในระดับภูมิปัญญา ระดับวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศมาเชื่อมโยงให้เป็นชุดความรู้ที่เหมาะกับชุมชน
  • ในรูปแบบของการเรียนรู้เพื่อชีวิต และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะปิดช่องว่างของระบบการศึกษาในโรงเรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
    •  วิธีการแบบนี้ จึงต้องกลับมาคิดกันใน
      • เชิงยุทธศาสตร์
      • กลยุทธ์
      • ยุทธวิธี และ
      • เทคนิควิธีการในการทำงานในพื้นที่และลำดับชั้นต่างๆ ของสังคม
    • ตั้งแต่ชุมชนพื้นล่างจนถึงระดับพื้นที่หรือระดับประเทศ

ผมขออวยพรและตั้งความหวังว่า ขอให้ท่านดำเนินงานอย่างประสบผลสำเร็จ ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม เพื่อบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยากที่ไม่มีโอกาสจะพัฒนาตัวเองในระบบการศึกษาในโรงเรียน

และ คนส่วนใหญ่ของชาติที่อยู่นอกระบบการศึกษาปกติ กำลังรอความหวังจากท่าน ทุกเพศ ทุกวัย

ถ้าท่านทำสำเร็จ ประเทศชาติไปรอดแน่นอนครับ

ผมขอเป็นกำลังใจหนึ่งครับ

ถ้าท่านไม่ทำ ก็ไม่รู้ว่าใครจะทำ

เพราะทั้งวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยชุมชนก็ยังมีกรอบงานที่ยังจำกัดอยู่มาก

 “กศน.” นี่แหละ เหมาะสมที่สุดในโลกแล้วครับ

ขอบคุณมากครับ และถ้าใครมีประเด็นเพิ่มเติมอะไร ช่วยแจ้งมาเพิ่มเลยครับ

ผมเชื่อว่าครูนง ยินดีรับฟังครับ

หมายเลขบันทึก: 68993เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2006 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)
  •  กศน.ที่แท้ ก็ต้องไม่ไปทำ เรื่องที่เขาทำอยู่ในโรงเรียน   ชัดเจน .. เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
  • ผลผลิตจากสถานศึกษา ในระบบ ยังต้องอาศัยการต่อยอดเติมเต็ม ความรู้แท้ ด้วยกระบวนการที่เหมาะสม โดย กศน. เพราะส่วนมากเขาหอบปริญญาออกมาพร้อมด้วย ความรู้ที่ใช้การไม่ได้   มากเหลือเกิน

อาจารย์พินิจ

วันนี้มาเร็วแบบสายฟ้าแลบเลยนะครับ

เราจะหาความรู้ที่ใช้การได้ และใช้มันอย่างไรดีครับ

กศน.กับภารกิจการเชื่อมโยงให้เกิดชุดความรู้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เป็นสิ่งท้าทาย   เห็นด้วยที่อาจารย์บอกว่าคนทำงานนอกโรงเรียน(บางส่วน)ชินกับการทำงานแบบในระบบโรงเรียน  กศน.กับชุมชนอยู่ใกล้กันมาก ใกล้จนไม่รู้ว่าจะทำอะไร ใกล้จนเหมือนไม่มีความสำคัญต่อกัน คำถามวันนี้จึงอยู่ที่ กศน คิดอย่างไรกับการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์              

สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

 

  ผมเสียดายประวัติศาสตร์ กศน.

 เสียดายบทเรียน ประสบการณ์ ศักยภาพเฉพาะทางขององค์กร บังเอิญว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลง แทนที่เขาจะเลือกชุบชีวิต กศน. เขากลับไปปั้นดินให้เป็นดาว  จึงเกิดคำถาม

1 ทำไมเขาไม่เลือกฟื้นฟู กศน.

2 ทำไมบทบาท กศน. ไม่โดนใจ

3 ทำไมผลงาน กศน.ขายไม่ออก

4 กศน.อธิบายตัวอย่าง ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อ

  ระบบการศึกษา

5 พลังความคิด พลังความสามารถ อยู่ในระดับใด

6 กระแสหลัก เอาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง กศน.อยู่ตรง

 จุดไหนของเรื่องนี้

7 ชาวบ้านทุกคนเป็นเป้าหมายของ กศน.ได้ทั้งนั้น

  เพราะเราต้องเข้าไปปรับการรับรู้มาเป็นการเรียนรู้

 ชาวบ้านไม่มีที่เรียน ไม่มีที่พัฒนาวิชาชีพของตนเอง

 ต้องทิ้งถิ่น เปลี่ยนจากเกษตรกรไปเป็นกรรมกร

 ทำไม กศน.ไม่เข้าไปสอดรับตรงจุดนี้

8. รัฐบาลมีโครงการแก้ไขความยากจน กศน.มีชุดวิชา

 ที่จะช่วยแก้จนได้หรือไม่ ถ้ามีทำไมไม่รับอาสา

 ทดลองทำนำร่อง

9. รัฐบาลต้องการเห็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โจทย์ข้อนี้

  กศน.มีแผนแม่บทไปขายรัฐบาลหรือไม่ ถ้ากศน.เป็น

  ส่วนหนึ่ง หรืออาสาเข้าไปเป็นฐานเป็นเจ้าภาพของ

  เรื่อง เชื่อว่าเขาคงเห็นความสำคัญ

10. เป็นไปได้ไหมว่า อัตราครูในระดับการศึกษาขั้น

  พื้นฐานขาดแคลน  เขาถึงมองมาที่กศน. ยุบแล้วเอา

 ไปรวมกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อัตราครูที่ขาดก็จะได้

  มาจากบุคลากรของกศน.

11. ถ้าข้อ 10 เป็นไปได้ ชาวกศน. จะว่าอย่างไร

12. กศน.มีคำอธิบาย บทบาท หน้าที่ ที่สำคัญต่อการ

   ดูแลการศึกษานอกระบบ มีน้ำหนัก มีความสำคัญ

  และมีความจริงพอที่จะเรียกความสนใจ แค่ไหน

13.  เรื่องนี้ ผู้บริหาร กศน.ล็อปบี้ใคร เข้าทางไหน

    ซ้ายหัน หรือขวาหัน

14. เตรียมกลยุทธเผชิญชะตากรรมอย่างไร

15. ในฐานะที่เป็นสถาบันที่อยู่มายาวนาน มีศิษย์เก่า

  ไหม อดีตผู้บริหารสำนัก ผู้ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน

  ไม่ดูดำดูดี มาถามข่าวกันบ้างเลยเชียวหรือ 

16. ชาว กศน. มีเรื่อง มีเหตุผล อะไรจะบอกสังคม

  บอกคนไทย บ้างไหม อย่างไร? 

อ่านบทความอาจารย์มานานแล้วเพิ่งมาลงความเห็นครับ เพราะรอบรู้ด้านนี้น้อยเหลือเกิน

อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่า อาจารย์อยากให้คนใน กศน.ปรับการทำงานใหม่เป็นเชิงรุกใช่ไหมครับ

ถ้าไม่ใช่ผมก็จบลงตรงนี้ก่อนครับ

แต่ถ้าใช่!! ผมขอเสนอความเห็นครับ

ผมเคยได้ฟังจากโรงเรียนอาชีวะที่มีการปรับปรุงการป้อนนักศึกษาเข้าไปทำงานหลังเรียนจบ เป็นอันว่าได้ใช่แน่ จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ รู้ว่า ตอนนี้ประเทศ(โลก) จะก้าวไปอย่างไร ต้องการคนทำงานแบบไหน แล้วป้อนตลาดได้ถูก (ทั้งในและนอกประเทศ)

กศน.เองต้องทำการบ้านหนักครับ ว่า คนที่มาเรียนเพื่อไปทำงานอะไร เราอาจต้องตั้งเป้าให้พวกคนที่จะมาเรียนครับ ว่าถ้าคุณจบหลักสูตรนี้ๆ นะแล้วคุณจะสามารถทำงานตรงนี้ได้

ผมเชื่อว่า ถ้าเรามัวไปถามคนเรียนแต่ละคนว่าอยากเรียนอะไร มันอาจไม่จบครับ เพราะมันกว้างและหลากหลายมาก การกำหนดมาตรฐานให้คนเรียนรู้ก่อนน่าจะทำให้เรื่องเดินเร็วกว่าครับ

 

เห็นด้วยกับท่านขุนพล "เม็กดำ" ครับ

ผมว่า กศน. ไม่ควรทำตัวแปลกแยกกับชุมชน แต่ควรฝังตัวอยู่ในชุมชนครับ

ไม่ทราบครูนงจะว่าอย่างไร

โอ้ย....ตอบกันเร็วจนผมอ่านไม่ทันครับ

ขอดูสรุปทีเดียวนะครับ

สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

 

  กศน. กศน. กศน.

 ค่ำคืนนี้จะนอนไหน

 รุ่งรางฟ้าสางจะไปทางใด

เหนื่อยยากมากไหม กศน.

สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

   

  ไม่มีบ้านจะนอนฝัน

  ไม่มีขวัญมาปลอบจิต

  แสนสะท้านบำนาญชีวิต

  อนาคตเป็นพิษแล้วหรือไร

ครูบาครับ

ผมขอให้ครูนงตอบแทนนะครับ

ดร.แสวง ครับ

             สวัสดีครับอาจารย์ วันนี้ผมเฝ้าเช็คดูบันทึกที่อาจารย์รับปากว่าจะเขียนเกี่ยวกับชะตากรรมของ กศน.เป็นระยะๆครับ ด้วยใจระทึกตลอดทั้งวันครับ ขอบอกอาจารย์ว่าดีใจมากๆ ครับ ที่ได้อ่านความคิดที่แหลมคม ลำดับให้เห็นถึงความเป็นมา ที่เป็นอยู่ และความหวังที่อยากเห็น...อาจารย์คือจอมยุทธ KM อาจารย์คือนัก KM หัวเด็ด อย่างที่ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ยกย่องเอาไว้จริงๆครับ ขอบคุณที่เมตตาความรู้ความคิดและแสดงออกมาให้ประจักษ์ ตลอดถึงความคิดของ อ.พินิจ คุณเม็กดำ 1 และท่านอื่นๆที่ผมคิดว่าคงจะทะยอยเข้ามาฝากประเด็นไว้เป็นลำดับไป...เท่าที่ผมทำได้ ณ ขณะนี้ คือต่อสายพรรคพวกให้เข้ามาอ่านบันทึกนี้กันครับ ให้มาดูของจริงครับ....ผมจะติดตามบันทึกนี้อย่างใกล้ชิดครับเพื่อดูว่าใครจะฝันถึงอนาคต กศน.ร่วมกับอาจารย์ว่าอย่างไร

              ในชั้นนี้ผมหยุดไว้แค่นี้ก่อนนะครับอาจารย์ ขอบคุณครับ

  • การศึกษานอกระบบเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
  • มีเรื่องราวมากมายที่ชุมชนยังขาดทักษะชีวิตอยู่
  • กศน.  จึงแตกต่างจาก  ในระบบอย่างแน่นอน  เพียงแต่มีการเรียนเทียบเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยหรือพลาดโอกาสไม่สามารถอยู่ในระบบของโรงเรียนได้กลับเข้ามีโอกาสที่จะมาสานฝันให้ต่อเข้าในระบบอุดมศึกษาได้

ดร.แสวงครับ

          อ่านแทบจะไม่ทันแล้วละครับ ต้องเก็บทุกเม็ด ทุกประเด็น

มองในอีกมุมหนึ่งการคุ้นชินกับระบบโรงเรียน ซึ่งเคยคลุกวงใน เปลี่ยนมาอยู่นอกวง น่าจะเห็นปัญหา ส่วนขาดของระบบได้ดี เป็นความท้าทายในการทำงานนอกระบบโรงเรียน ซึ่งคนในระบบอาจทำไม่ได้ (โดยข้อจำกัด หรือชินกับกรอบก็ตามแต่) ภารกิจช่วยเติมเต็มและวางรากฐานการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แก่คนในชาติที่ยิ่งใหญ่และท้าทายจริงๆค่ะ ขอเป็นกำลังใจกับทีม กศน.ค่ะ

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.แสวง กับบ้านในฝันกศน. ที่ตั้งประเด็นแหลมคม เป็นข้อเสนอแนะที่มีคุณค่ายิ่ง ผสมผสานกับความห่วงใยของอาจารย์ ครูบาสุทธินันท์ ที่กลั่นเป็นบทกวี อันมีความความหมาย กอร์ปกับอาจารย์จันทร์เมามาย และอาจารย์แม๊กดำมาร่วมปันความรู้สึก
  • ผมและครูนง ที่มีโอกาสได้มาเรียนรู้ ในนามของชาว กศน.ขอขอบพระคุณทุกท่าน และพร้อมน้อมรับข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าไปปฏิบัติภายใต้อำนาจหน้าที่ ที่พึงมีพึงกระทำได้ในส่วนตน สำหรับส่วนที่เกินศักยภาพตัวเองจะทำได้ก็จะขายไอเดียให้ผู้มีอำนาจ และเพื่อนพ้องน้องพี่สร้างบ้านในฝันนี้ต่อไป ครับ
  • ขอโทษครับพิมพ์ชื่ออาจารย์เม็กดำ1 ผิด
  • ขอบคุณอาจารย์พัชรา และอาจารย์กัลปังหาด้วยครับ

       จริง ๆ แล้ว กศน.รับบทหนักมาก เพราะบุคคลที่เข้าเรียนในระบบของ กศน. เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส และขาดความพร้อมในการเรียนในระบบ จึงควรที่จะปูพื้นฐานวิชาการให้บ้างเพื่อไปต่อยอดในระดับที่สูงขึ้น แต่ควรเน้นวิชาชีวิต ทักษะชีวิตให้มากขึ้นและน่าจะจัดกระบวนการเรียนรู้ในวิชาเหล่านี้ได้ดีกว่าการเรียนในระบบ เพราะมีอิสระมากกว่า และผู้เรียนก็มีความพร้อมในการเรียนที่จะรับทักษะชีวิตได้ดีกว่า มากกว่าผู้เรียนในระบบ จึงน่าจะมีประสิทธิภาพตามมาในที่สุด

ครูนงครับ

คงได้ประเด็นนะครับ

ผมคิดว่า กศน. ต้องปรับตัวมากพอสมควร ตาม comment ที่ผ่านมา

ในเรื่องอื่นๆ ผมจะหนุนเสริมให้อีกครับ

กศน มีภาระงานมาก ปัญหามาก คนน้อย งบน้อย ความรู้ไม่ค่อยพอใช้

จึงต้องหาวิธีการทำงานทีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ได้

ต้องมากำหนดยุทธศาสตร์การทำงานให้ชัดเจน จึงจะไปไหว

ขอเอาใจช่วย จริงๆนะครับ

ดร.แสวง ที่เคารพครับ

            ขอบคุณอาจารย์ที่เมตตาเขียนบทความดีๆให้หลายบทความเกี่ยวกับ กศน. ต่อด้วยความเห็นที่มีคุณค่าของเหล่าบล็อกเกอร์ที่อยากเห็น กศน.เป็นเครื่องมือให้กับชาวบ้านให้กับผู้คนในประเทศนี้ ตั้งอยู่ใกล้ตัวชาวบ้าน สามารถหยิบใช้หยิบใช้ได้ทันท่วงที เหมือนมียาสามัญประจำบ้านอย่างไรอย่างนั้น อยากรู้อยากเรียนอยากพัฒนาอะไรก็มีเครื่องมือ มีกลไกเชิงระบบเอื้ออำนวยหนุนเสริมการเรียนรู้ของชาวบ้านได้ทันท่วงที

            ผมเองในฐานะที่รบเร้าอาจารย์เขียนบทความนี้ก็ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับที่เมตตาให้ตามขอ ถ้าให้ผมสรุปสิ่งที่ได้รับก็ขอยกคำกล่าวของอาจารย์ที่ว่า กศน. ต้องปรับตัวมากพอสมควร ตาม comment  กศน มีภาระงานมาก ปัญหามาก คนน้อย งบน้อย ความรู้ไม่ค่อยพอใช้ จึงต้องหาวิธีการทำงานทีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ได้ ต้องมากำหนดยุทธศาสตร์การทำงานให้ชัดเจน จึงจะไปไหว

          ผมจะพยายามสื่อสารกับพรรคพวกให้นำความเห็นนี้ไปประมวล เข้ากับความเห็นอื่นๆ ส่งต่อไปยังผู้มีอำนาจต่อไป ถือว่าคือเสียงของพวกเราชาว gotoKnow ครับ

          ขอบคุณมากครับอาจารย์

อ.ดร.แสวง ครับ

         ผมเช็คไปที่สำนักบริหาร กศน. ทราบจาก ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญฯว่าเขานำไปประมวลแล้วครับ ขอบคุณมากครับ
 

เป็นอีกก้าวหนึ่งของเรานะครับครูนง (ลืมอ้างถึงตระกูลภรรยาผมว่า "หนูบุตร" บ้านอยู่ติดชายแดนชะอวด ป่าพะยอมครับ ใกล้ๆกับ "หนูนิล" หรืเปล่าไม่ทราบนะครับ
และก็มีญาติชื่อ จำนงค์ หนูบุตร หุ่นเดียวกับอาจารย์เลย เห็นครั้งแรกนึกว่าเขาพิมพ์ชื่อสกุลผิด

ดร.แสวง ครับ

           ใกล้กันครับ ปู่ผมอยู่ชะอวด พ่อผมอยู่พัทลุง ผมเป็นเขยเมืองนคร ญาติกันแหงๆเลย ผมดูผิวอาจารย์แล้วก็นึกว่าคนใต้เหมือนอย่างผม แต่ก็ไม่ผิดนัก เพราะก็เป็นเขยใต้......ดีใจที่ gotoknow ทำให้ได้ใกล้ชิดกัน กลับใต้วันไหน ทำบุญเดือนสิบ สงกรานต์ ก็บอกนะครับ จะได้เตรียมสำหรับ

ผมไปทำบุญที่วัดแถวๆป่าพะยอม-ควนเถี๊ยะ ทุกวันที่ ๑๒ เมย. และไปไหว้พระศรีมหาธาตุ เกือบทุกครั้งครับ แต่จะไปก่อนนั้นอยู่ครับ ยังไงจะแจ้งครับ

ยินดีครับ ที่ทำงานผม กศน.อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ตรงข้ามกับวัดพระมหาธาตุ อยู่ในวัดหน้าพระบรมธาตุ พบได้สะดวกครับ...........แหม..ดีใจจริงๆ ครับบบบบบบบ

ผมชอบแวะร้านเงินนโม ตรงประตูวัด เขามีของเก่าให้ดูเยอะดีครับ

ผมชอบสะสมของเหรียญ และของเก่าครับ

แต่ช่วงผมไปจะเป็นวันหยุดครับ อจต้องนัดกันก่อนครับ

สวัสดีครับอาจารย์ทุกๆ ท่าน ทั้งท่านที่ทำงาน กศน. และไม่ได้ทำงาน กศน. ผมเองเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับงานกศน. ได้ 2 ปี เป็นทหารแนวหน้าครับ ตอนแรกเป็นวิทยากรวิชาชีพ จากนั้นสอบเข้าเป็นครู ศรช. ตอนผมเรียน มัธยมผมรู้แค่เพียงว่า กศน. มีเรียนเทียบ ม.6 เพื่อจะได้มีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยก่อนคนอื่นๆ ในห้องหากเราจบ ม. 6 ก่อน แต่เมื่อมาทำงานกับ กศน. ก็รู้ว่างานหลักๆ ที่ทำมี 5 ด้าน การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเพียงแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น ในใจผมคิดว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ กศน. จัดไม่น่าจะนำมาพิจารณาว่า กศน. จะอยู่หรือไป เพราะข้อนี้ทุกคนทราบดีว่า กศน. ทำงานกับคนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา กลุ่มที่ออกจากในระบบระหว่างเรียนอยู่เพราะผิดพลาด ผิดเวลา และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่หลายๆ คนบอกว่าไม่เอาไหน และจริงๆ แล้วเราก็มีกฎหมายบังคับให้เรียนจนจบ ม. 3 นานแล้ว กลุ่มเป้าหมายในหัวข้องานของ กศน. ข้อที่ 1 จึงไม่น่าพิจารณาว่าต้องการผลสัมฤทธิ์มากนัก แต่คงไว้เพื่อคนพลาดโอกาสซึ่งสำคัญมากๆ งานการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ งานการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต งานการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชมุชน และงานการศึกษาตามอัธยาศัย 4 งานนี้เป็นงานที่มีเสน่ห์ในสายตาของผม เพราะเราทำให้กับคนทุกๆ กลุ่มเป้าหมายได้ เรามีกิจกรรมที่เข้าแต่ละงานและกลุ่มเป้าหมาย ผมยังมองไม่ออกว่าหากห้องสมุดประชาชนไปอยู่ในระบบ เสาร์-อาทิตย์ ใครจะเปิดให้บริการประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่เด็กในระบบ ช่วงชีวิตคนแสนสั้น เราอยู่ในโรงเรียนกับนอกโรงเรียนอันไหนยาวนานกว่ากัน จริงที่ว่าเด็กวันนี้จะต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า แล้วกลุ่มที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นส่วนมากของสังคม และอาจจะมีอำนาจควบคุมหรือให้การศึกษาแก่เด็ก หรือผู้ที่เป็นพ่อแม่ เขาจะเรียนรู้จากไหน 1 เทอมในโรงเรียนผู้ปกครองบ้างท่านไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน แต่ 1 เทอมของเด็กนักเรียน มีหลายครั้งหรือแทบทุกวัน ที่ผู้ปกครอง จะมาที่ห้องสมุดประชาชน งาน กศน. จะมีครูในระบบตามไปถึงร้านเกมส์ในวันเสาร์-อาทิตย์กี่คน แต่หากมีห้องสมุดที่บริการอินเตอร์เน็ตที่ไม่ติดตั้งเกมส์ไว้ในเครื่อง หรือไม่สนับสนุน การเล่นเกมส์อันไหนจะเป็นไปได้กว่ากัน จริงๆ มีเรื่องราวมากมาย แต่ผมคงต้องเก็บไว้ก่อน ทุกๆ วันที่ทำงาน กศน. ผมได้แนวคิดใหม่ๆ เรื่อยๆ หากไม่มีซึ่ง กศน. หรืองานกศน. เปลี่ยนแนวมากๆ ผมก็มองไม่ออกเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร สุดท้ายนี้ผมยังมีความสุขกับการทำงานกับ กศน. มีความสุขที่ได้บอกความต้องการของผู้เป็นพ่อแม่ว่าทำไมไม่อยากให้ลูกผู้ชายติดเกมส์ ลูกผู้หญิงติดแชท ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กก็ภูมิใจ กศน. วันหนึ่งทำอะไรจริงๆ บ้าง ท่านใดอยากรู้งานที่เราทำเมลล์มาสอบถามได้ครับ

ท่านครู กศน "คนหนึ่ง"

ขอบคุณครับ

เสียดายท่านไม่ได้เข้าระบบให้ผมได้ทราบว่าท่านทำงานที่ไหน ที่ผมจะติดต่อท่านได้

ถ้าจะกรุณากลับมาฝากไว้อีก ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง ครับ

วันนี้ผมมาอยู่เวรห้องสมุดครับอาจารย์ ก็แวะเข้ามาเยี่ยม จริงๆ แล้วผมก็ยังไม่รู้จักกับอาจารย์แสวงเจ้าของบทความเท่าไร ใน 2 ปีที่ผ่านมาผมได้รับความกรุณาจาก กศน. อย่างยิ่งในการทำงาน จากผู้เป็นนาย ที่บังคับบัญชา สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ผมและเพื่อนร่วมงานคิดและทำขึ้นเพื่อ นศ. กศน. และที่ไม่ใช่ นศ. กศน. ชมกิจกรรมและผลงานของพวกเราได้ที่ www.nfephiboon.com ครับ วันนี้มีคนมาใช้ห้องสมุดอำเภอเราตอนนี้นับได้ 503 คนครับ อีก 1 ชั่วโมงก็จะปิดบริการแล้วครับ อาจารย์ครับทำไม กศน. ไม่มีงบประมาณสำหรับงานอีก 4 ด้านที่เหลือเลย คิดเล่นจะเจ็บตัวไม่เนี่ยครับ

ขอขอบคุณในข้อมูลที่ให้

แต่ที่ผมสนใจ ก็คือ ชื่อและที่อยู่จริงที่ผมจะติดต่อได้ และถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้เข้าระบบ แล้วส่งความเห็นมาให้ผม

ผมก็จะได้รับทราบได้โดยตรง โดยไม่ต้องถามต่อ

ตอนนี้ เป็นการให้ comment นอกระบบ ซึ่งผมไม่สามารถจะเชื่อมโยงเข้าระบบได้

ขอให้เข้าระบบก่อน แล้ว comment อีกครั้งนะครับ

อาจารย์ครับผมได้สมัครเป็นสมัครชิกแล้วครับ โอกาสหน้าจะแวะมาอ่านบทความจากอาจารย์อีกครับ

อ.ดร.แสวง ครับ

                เข้ามาอ่านเฉยๆครับ นึกว่าเรื่องนี้หยุดไปเสียแล้วอีก ยังกรุ่นอยู่ในใจผู้คนอีกมากมาย กลับมาอีกรอบ โดยเฉพาะที่อาจารย์ตามหา ขุนนางต่ำศักดิ์...นักฝันครับ อาจารย์ใช้ความพยายามจนเขาเข้าระบบมาจนได้นะครับ เยี่ยมจริงๆครับอาจารย์....อิอิอิ....ขอยกนิ้ว 2 แม่โป้ง ครับ

ขอบคุณครับ คุณนิรันดร์

เราคงเป็นพันธมิตรใน gotoknow อีกนานนะครับ

ยินดีต้อนรับครับ

เรียน...ท่านผู้อาวุโส

        ยอมรับครับว่าวิทยายุทธในการหาพันธมิตรของ ท่านอาวุโส เล่นเอาคุณนิรันดร์  นั้นอยู่ไม่ติดเข้า ระบบมาจนได้  ผมติดตามอ่านบันทึกที่ท่านอาวุโส เขียนถึง กศน. ด้วยความเป็นห่วง รู้สึกซาบซึ้ง น้ำใจของท่านผู้อาวุโสมาก...ๆๆๆ ผมเคยเล่าฝัน การทำงาน กศน. แนวใหม่เพื่อให้งาน  กศน. เกิดความเป็นรูปธรรมสามารถสัมผัสได้ ในบันทึก ...ลิ้งค์... อย่างไรท่านผู้อาวุโสช่วย  ลปรร  ด้วยครับ

                             ด้วยความเคารพ

                                   ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ
 

ครูราญครับ

ผมก็มองจากภายนอกอย่างที่เห็นนั่นแหละครับว่า กศน น่าจะเล่นเกมส์รุกเข้าไปในชุมชน ทั้งเนื้อหาและกิจกรรมครับ

ทำให้มีงานทีต้องทำมากมายจริงๆ

ในรายละเอียดคงต้องเป็นไปตามท้องถิ่นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท