Facebook แบบประเมินผลการฝึกอบรมที่ทรงคุณค่า...


หลาย ๆ ครั้งที่ได้เห็นคณะที่มาอบรมในวันสุดท้ายก่อนที่จะกลับบ้านจะมีการแจกแบบสอบถาม แบบประเมินโครงการ เพื่อที่จะวัดระดับความพึงพอใจ และเพื่อให้ได้ข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไขในการจัดโครงการครั้งต่อไป...

แต่ทว่า สำหรับโครงการ “การพัฒนาคุณลักษณะด้านคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพพยาบาล สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 " วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๕ เมษายน ที่ผ่านมานี้ ข้าพเจ้าใช้วิธี "สะกดรอยตาม" ดูสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เขียน ได้ถ่ายทอดผ่านทาง Facebook ของเด็ก ๆ แต่ละคน

ไม่ได้บอกก่อน และไม่ได้ขอเป็นเพื่อนกับทุกคน (Add friend)

ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งก่อนที่จะกลับกันนั้น ข้าพเจ้าก็ขอชื่อเฟซเด็ก ๆ 3-4 คน จากอาจารย์ผู้ที่ควบคุมมาในครั้งนี้ แล้วค่อย ๆ ย่อง ค่อย ๆ แอบเข้าไปดู เจอบ้าง และไม่เจอบ้าง เพราะบางครั้งเด็ก ๆ ก็จะตั้งค่าความเป็นส่วนตัว "เฉพาะเพื่อน" เท่านั้น แต่แค่สิ่งที่เปิดเผย ได้สัมผัสนั้น กลับกลายเป็นพลังในการตอบโจทย์ของการทำตอบแบบประเมิน หรือแบบสอบถามเลยทีเดียว...

การกำหนดเวลาให้ตอบแบบสอบถาม หรือแจกกระดาษไปแล้วรอรับ หรือแม้จะใช้เทคโนโลยีตอบผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ไฉนฤาจะได้สัมผัสความจริงเท่ากับที่เด็ก ๆ หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ถ่ายทอดหรือสื่อสารให้เพื่อน ๆ ของเขาได้ฟัง...

----------------

แบบสอบถามที่ใช้เก็บตอนท้ายโครงการนั้นส่งให้ใคร..?

ส่งให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลให้กับ "ผู้บริหาร..." 

แล้วย้อนกลับมาว่า เราจะให้ข้อมูลแบบใดกับผู้บริหาร จริงหรือไม่จริง จริงมาก จริงน้อย เพราะสิ่งที่ตอบไปนั้น บางทีมีการลงชื่อด้วย ธรรมชาติของทุก ๆ คนก็ย่อมที่จะต้องปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

------------------

แต่เพื่อน ก็คือเพื่อน... การคุยกับเพื่อนนั้นคือการใช้ใจคุยกัน

และในเฟซบุ๊คของเด็ก ๆ ที่มีเพื่อน ๆ ของเขาติดตามอยู่ สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาหลายเดือนหลายปีจากไทม์ไลน์ที่เพื่อนของเขาได้รับรู้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นนำไปสู่ "ความจริง..."

การใช้ภาษาง่าย ๆ สบาย ๆ ที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองนั้น สามารถตีความออกมาได้จากความรู้สึกที่เป็นพลังอันฝังอยู่ภายในจิตใจของผู้เขียน...

ภาษาที่อาจจะไม่ถูกต้องตามอักขระ พยัญชนะ แต่เป็นสิ่งที่ล้ำค่าและทรงพลัง ในการถอดบทเรียนของโครงการ การเข้าค่ายต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างแท้จริง...

ภาษาคือเครื่องมือสื่อสารที่มีคุณค่ามากกว่าตัวหนังสือ ภาษานั้นคือเครื่องมือ ที่จะเปิดประตูสู่หัวใจ...

เราจะเอาอะไรมากมายกับแบบสอบถาม เราจะเอาอะไรมากมายกับโครงการปฏิบัติธรรม นอกจากการที่เราสามารถนำความสุขให้ฝังลึกเข้าสู่จิตใจของผู้เข้าร่วมโครงการได้ทั้งในระหว่างปฏิบัติ ระหว่างกลับไปบ้าน ระหว่างทำงาน ซึ่งสามารถใช้สร้างความสุขได้ตลอดชีวิต...

ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ... ธรรมชาติคือความบริสุทธิ์ ปราศจากความเห็นแก่ตัว

การมาที่นี่เราจึงฝึกเด็ก ๆ ให้ได้อยู่กับธรรมชาติ ก็คือ การให้ การเสียสละ

เด็ก ๆ ทุก ๆ คนร่วมแรงร่วมใจกันด้วยความเสียสละ ขยัน อดทน ร่วมทำงานกันแบบหัวชนฝา โดยสิ่งที่ได้มาก็คือ ความรัก ความเมตตา ความสามัคคี

การทำบุญ การทำทาน การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม... สามารถสร้างความสุขให้เราได้ตั้งแต่ก่อนที่ลงมือทำ ระหว่างที่ลงมือทำ และเมื่อจบกิจกรรมไปแล้ว คิดเมื่อใดเราก็มีความสุข...

ดังนั้นจึงเน้นย้ำคำว่า "ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง อันจะนำพาไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง"

-----------------------------

หลาย ๆ คนเกิดอคติกับการปฏิบัติธรรม มันทุกข์เหลือหลาย ต่อให้ตายก็จะไม่เข้าโครงการปฏิบัติธรรมอีก สิ่งเหล่านี้ต้องพึงระวังไม่ให้เกิด...

จึงต้องย้อนกลับมาถึงบันทึกของท่านคุณหมอวิจารณ์ ที่กล่าวถึงเรื่อง "คุณค่าของความยากลำบาก" ซึ่งเราจะต้องสร้างความทุกข์ ความยากลำบากให้เกิดเป็นคุณค่าและทรงพลังมากที่สุด 

ดังเช่น สิ่งที่เด็กคนนึงได้ถ่ายทอดออกมาดังนี้

การเข้ามาใน Gotoknow ก็เพราะข้าพเจ้าศรัทธาในความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) กับกระบวนการจัดการของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้...

สิ่งที่เด็กเขียนนี้แหละ คือสิ่งที่ฝังลึกเข้าไปในจิตใจของเขา และเขาได้ถ่ายทอดออกมาให้เราได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง คำพูดง่าย ๆ เหล่านี้จึงเป็นพลังที่สำคัญในการประมวลผลหรือการจัดการความรู้ให้ยั่งยืนต่อไป



ดีที่สุด สนุกที่สุด คุ้มค่าที่สุด...

ชีวิตเด็กคนหนึ่งที่เข้าเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม จนกระทั่งใกล้สำเร็จระดับอุดมศึกษา เพื่อออกมาเป็นพลังสำคัญของวงการสาธารณสุขไทย ได้ถ่ายทอดคำพูดสั้น ๆ แต่เต็มไว้ด้วยความหมายของการเข้าค่ายปฏิบัติธรรม...

-----------------------

ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ไม่สมควรที่จะมีความทุกข์ ถ้าจะทุกข์ก็ให้ทุกข์แต่เพียงร่างกาย แต่จิตใจไม่ให้มีทุกข์

ทำไมมาปฏิบัติธรรมแล้วจะมีความสุขไม่ได้เหรอ..? 

ได้สิ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง และนำพาเด็ก ๆ ให้มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วเขานำสิ่งที่ได้รู้ ได้สัมผัสเหล่านั้นไปใช้ได้อย่างถูกต้องทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงานเป็นพยาบาลสืบต่อไป...

อาชีพหมอ อาชีพพยาบาล เป็นอาชีพที่ประเสริฐ เพราะได้ทำบุญทำกุศลไปในตัว

สิ่งที่จะทำให้เกิดบุญเกิดกุศลมากที่สุดนั้นก็คือ เราต้องมีฉันทะ มีความพอใจในการทำงานที่ประกอบด้วยปัญญา

ปัญญาในการทำงานนี้ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ก็คือ เรามีปัญญาคือรู้ว่า เราต้องมีความสุขกับการทำงาน การที่ได้ทำงานรักษาผู้ป่วย รักษาคนไข้ คือเราได้ทำความดี เราได้เสียสละ เพราะการทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติควบคุมกับการทำงานไปในตัว

ถ้าเราคิดถูกต้อง เราก็มีความสุขทุก ๆ วัน มีความเมตตา มีความกรุณ มีความุฑิตา ต่อผู้ป่วย รวมถึงญาติผู้ป่วยทุก ๆ คน ครั้นเมื่อเราปฏิบัติหน้าที่พยาบาลอย่างเต็มที่แล้ว สุดวิสัยแห่งกฏธรรมชาติ เมื่อคนไข้จากไป เราก็มีหลักของอุเบกขาไว้ในใจ เพื่อมิให้เก็บความทุกข์กลับไปบ้าน ไปหาครอบครัว

----------------------------

การปฏิบัติธรรมคือความสุข การได้ให้การรักษาพยาบาลดูแลผู้ป่วยคือความสุข แม้แต่โดนแตนต่อยก็ยังมีความสุข...

ความคิดง่าย ๆ ที่สามารถใช้ได้ไปตลอดชีวิต

เพราะอะไรล่ะ..? เพราะถึงแม้จะเจ็บ จะร้องไห้ เขาก็ยังมี "เพื่อนแท้" อยู่ด้วยตลอดเวลา...

ถึงแม้นน้ำตาจะไหล แต่ก็มีเพื่อนโอบไหล่ คอยประคอง...

ในโลกนี้ทุกอย่างไม่มีปัญหา ถ้าใจของเราไม่มีปัญหา

เพียงเราคิดว่าการโดนแตนต่อยไม่ใช่ความทุกข์ โดนแตนต่อยก็แค่กรุบๆ แค่นี้เอง ความทุกข์มันก็ไม่มี...

----------------

การตัดเกรดให้คะแนนแบบจะแบบเช็คลิสต์ หรือแบบเรทติ้งสเกล ก็เห็นได้ง่าย ๆ จากการให้คะแนนของเด็กๆ

หลาย ๆ ครั้งที่เราโทรศัพท์ไป Call Center ที่นั่นที่นี่ ตอนท้ายพนักงานที่ช่วยเหลือให้บริการเราก็จะขอความร่วมมือเพื่อตอบแบบประเมิน อันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ของเขา สำหรับครั้งนี้ข้าพเจ้าและทุก ๆ คนที่นี่ก็ได้รับการประเมินเหมือนกัน แต่เป็นการประเมินผ่านจิตใจของเด็ก ๆ บอกกล่าวให้เพื่อน ๆ รุ่นพี่ รุ่นน้องเขาได้ยิน ได้ฟัง

ไม่มีสิ่งใดที่ทำไม่ได้ หากเราตั้งใจและพยายาม...

ขอบคุณท่านคณบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ และเด็ก ๆ ทุกคนที่ได้เดินทางมาพวกเราทั้งหลายที่อยู่ที่นี่ได้มีโอกาสทำความดี

ขอบคุณพี่ ๆ จากกรมปศุสัตว์ที่ช่วยทำอาหารและดูแลน้อง ๆ 

ขอบคุณพี่ ๆ จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ลาการ ลางาน ใช้วันหยุดพักผ่อนส่วนตัวมาดูแลน้อง ๆ ลูก ๆ หลานให้ได้ปฏิบัติธรรมอย่างมีความสุข

ขอบคุณคุณแม่ที่เสียสละหยาดเหงื่อและแรงกายช่วยเด็ก ๆ ทำอาหารทำขนมกันอย่างชุลมุน

ที่ลืมไม่ได้คือต้องขอบคุณจิตใจของทุก ๆ คนที่ได้มาร่วมกันเสียสละกันด้วยความเต็มใจ...

หมายเลขบันทึก: 689917เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2021 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2021 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท