ต่อยอดคุณค่าของความลำบาก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมากสำหรับ "ชีวิต..."


สืบเนื่องจากบันทึกของท่าน Prof. Vicharn Panich เรื่อง ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๒๘. คุณค่าของความยากลำบาก

เมื่ออ่านแล้วก็นับว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนในจิตใจของข้าพเจ้าได้หลาย ๆ ครั้ง ว่าทำไมต้องพาคนที่มาปฏิบัติธรรมไปลำบากตรากตรำขนาดนั้น...

หลาย ๆ คนเข้าใจว่า การมาปฏิบัติธรรมคือการมาปล่อยวาง โดยเข้าใจคำว่าปล่อยวางก็คือ อยู่เฉย ๆ ว่าง ๆ ไม่ทำอะไร...

ครูบาอาจารย์ท่านจึงเน้นย้ำว่า ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราถึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง

เมื่อวานก่อน (๔ เมษายน ๒๕๖๔) ตอนที่ข้าพเจ้าพาเด็ก ๆ นักศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาไปขนต้นไม้เพื่อทำความสะอาดและจัดให้เป็นระเบียบอยู่นั้น ท่านผ่านมาเห็นแล้วเอ่ยขึ้นว่า "เด็กชุดนี้ดี รู้จักทำการทำงาน ไม่เอาแต่นั่งสมาธิเดินจงกรม..."

แต่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานที่ส่งคนมาปฏิบัติธรรม แล้วตัวหัวหน้าไม่ได้มาเองหลาย ๆ คนไม่เข้าใจว่า ขนต้นไม้ทำไม ทำงานทำไม มาแล้วไม่เห็นได้ปฏิบัติธรรมเลย เห็นแต่ทำงานโน่นนี่ทั้งวันไม่หยุด...

และเกือบทุกครั้งก่อนที่คณะปฏิบัติธรรมจะกลับบ้าน ข้าพเจ้าก็จะฝากคำตอบไว้เผื่อจะมีคนมาถามปัญหาดังกล่าวไว้ว่า... 



....................................................

หลวงพ่อชาตอบปัญหาวัยรุ่นไฟเเรง


ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่หลวงพ่อชา สุภัทโท กำลังนำคณะสงฆ์ทำงานวัด ก็มีวัยรุ่นมาเดินชมวัด พอเห็นว่าหลวงพ่อชาทำอะไรอยู่ หมอนั่นก็เลยถามท่านในเชิงตำหนิ

" ทำไมท่านไม่นำพระเณรนั่งสมาธิ ... 
ชอบพาพระเณรทำงานไม่หยุด ? "

หลวงพ่อชาได้ยินดังนั้นก็เลยสวนกลับ
พร้อมกับยกไม้เท้าชี้หน้าคนถาม

" นั่งมากมันขี้ไม่ออกว่ะ !

ที่ถูกนั้น...
นั่งอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เดินอย่างเดียวก็ไม่ใช่ 
ต้องนั่งบ้าง ทำประโยชน์บ้าง 
ทำความรู้ความเห็นให้ถูกต้องอยู่ทุกเวลานาที 
อย่างนี้ถึงจะถูก !

กลับไปเรียนมาใหม่
อย่างนี้ยังอ่อนอยู่มาก ! 
เรื่องการปฏิบัตินั้น ถ้าไม่รู้จริงอย่าพูด 
มันขายขี้หน้าตัวเอง ! “


………………………………

การปฏิบัติธรรม บางคนตั้งใจและเข้าใจว่าคือ "การแก้กรรม" อันนี้ก็ถูก แต่ต้องเข้าใจเรื่อง "กรรม"

กรรม คือ การกระทำ 

แก้กรรมอย่างไร...? ก็คือมาแก้ไขการกระทำของตนเอง

จากเคยที่เป็นคนขี้เกียจ ก็มาแก้ไขให้เป็นคนขยัน จากคนนขยันน้อย ก็ให้ขยันมาก จากรับผิดชอบน้อย ก็ให้รับผิดชอบมาก จากคนที่ไม่เคยใส่ใจใยดีพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ ก็มารู้สึกรู้ซึ้งและกลับไปตอบแทนบุญคุณด้วยความกตัญญูกตเวที... นี่แหละ คือการแก้กรรม

ไม่ใช่มานั่งหลับตาอยู่เฉยๆ แล้วอะไรต่ออะไรมันจะดีขึ้น

ท่านจึงเปรียบไว้ว่า... อย่างเราเป็นหนี้เป็นสินเค้าอยู่ มานั่งหลับตาทำสมาธิ แล้วหนี้มันจะหายมั๊ย..? หนี้มันไม่หาย... หนี้สินจะหายได้ คือ เราต้องกลับไปขวนขวายทำการทำงาน โดยการทำงานเหล่านั้นต้องประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

ทำงานที่สุจริต มีศีล ๕ ประจำใจ...



-------------------------

บางคนก็ถามอีกว่า รักษาศีลมันจะรวยเหรอ ขนาดทุกวันนี้ซิกแซกไป ซิกแซกมา คอร์รัปชั่นโน่นนี่ ก็ดึงหน้าปะจมูก ยังไม่พอจะกิน ให้ไปรักษาศีล ๕ ตรงไปตรงมา มันจะพอกินเหรอ..?

พอกินสิ แล้วจะเจริญรุ่งเรืองด้วยนะ...

เพราะคนมีศีลนั้น คือ คนดี มีความเสียสละ... คนดี ๆ ที่มั่นคงแท้จริง ใคร ๆ ก็อยากช่วยเหลือ อยากสนับสนุน อยากมาซื้อขายกับคนที่ดี ๆ มีความซื่อสัตย์สุจริต ถึงแม้ว่าจะได้กำไรต่อชิ้นน้อย แต่สะสมไปมาก ๆ ก็รวยกว่า รวยเร็ว และรวยอย่างมั่นคง

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่รายรับ แต่อยู่ที่ "รายเหลือ"

ดังนั้นย้อนกลับมาที่เราทุกคนต้องรู้จักคุณค่าของความยากลำบาก... 

ยากลำบากตรงไหน อย่างไร...?

เราต้องรู้ว่าเงินที่เรามีกินมีใช้อยู่นี้ ได้มาด้วยความยากลำบาก 

โดยเฉพาะเด็ก ๆ นักเรียนนักศึกษา ที่ยังแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่ ต้องสร้างโจทย์ให้เขารู้จักคุณค่าของเงิน ว่าเงินที่พ่อแม่มอบให้เรามานั้น ท่านได้มาด้วยความยากลำบากขนาดไหน ดังนั้น "รายรับ จึงไม่สำคัญเท่ารายเหลือ" 

ถ้าเรารู้จักคุณค่าของเงิน เราก็จะไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย

ความยากลำบากทั้งหลายที่เราต้องฝึกก็เริ่มตั้งแต่ความซื่อสัตย์ คือ พอใจในสิ่งที่ตนมี พยายามตัดความโลภทั้งหลายออกมา โดยพุทธศาสนาก็มีสอนอยู่ทั่วไปและเราทั้งหลายก็รู้ได้ง่าย ๆ ก็คือ "การทำทาน"

ตามหลักไตรสิกขา ท่านสอนเรื่องให้ทานเป็นลำดับแรก เพื่อให้เรารู้จักให้ รู้จักเสียสละ คือ เสียสละความตระหนี่ถี่เหนียวที่มีในจิตใจ เพราะให้จิตใจของเราลดลงซึ่งความโลภ ความอยาก ความต้องการทั้งหลายทั้งปวง



-------------------------

แต่ทุกวันนี้ผู้ที่สอนศาสนา กลับสอนให้ทานด้วยความโลภ... คือ การให้ทานเพื่อหวังผลตอบแทน ถ้าเราให้ทานเพื่อหวังผลตอบแทน เราก็ไม่ต่างอะไรกับนายทุน...

หวังผลตอบแทนอย่างไร..? 

เช่น เรานำเงินไปหยอดตู้บริจาค แล้วเราก็อธิษฐานว่าขอให้ถูกหวย รวยเบอร์

หรือจะร่วมสร้างโบสถ์วิหาร ลานเจดีย์ คนที่รับบริจาคก็ออกอุบายให้นำชื่อไปใส่ตามหน้าต่าง ตามประตู ตั้งราคาบานนั้นเท่านั้น บานนี้เท่านี้ คนที่ให้ทานก็กลายเป็นความโลภซ้อนความโลภ ทำอะไรก็หวังสิ่งตอบแทน จะบริจาคทานก็หวังได้หน้าได้ตา ได้ยศ ได้สรรเสริญ ความตระหนี่ถี่เหนียวในจิตใจถึงมิได้ลดลงไปตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนสั่ง

ผู้สอนศาสนานับว่าเป็นบุคคลที่สำคัญ ถ้านำทางไปถูก ญาติโยมประชาชนเขาก็จะมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

มิใช่สอนแต่การรวยทางลัด ให้หวย ใบเบอร์ ตั้งชื่อเพื่อความเป็นมงคล ปีชง แก้กรรมอะไรต่าง ๆ ซึ่งมิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง

การปลูกฝังวิธีทางร่ำรวยแบบทางลัดเหล่านี้ เป็นการย้อนศร การเรียนการสอนที่ถูกต้องตามหลักการที่แท้จริง

เพราะผู้เรียนรู้นั้น เขาจะไม่เห็นหรือไม่ใส่ใจคุณค่าจากความยากลำบากเลย ไม่ทำงานก็อยากได้เงิน อยากทำงานน้อย ๆ แต่ก็อยากได้เงินมาก ๆ  ไม่ประพฤติปฏิบัติก็อยากได้บรรลุธรรม

ดังนั้น ผู้มีโอกาสในการได้อบรมสั่งสอนผู้อื่นจึงจำเป็นที่จะต้องใส่ใจและเห็นคุณค่าแห่งความยากลำบากที่ผู้เรียนรู้จะได้รับ



-------------------------

อย่าไปกลัวเขาจะยากลำบากในตอนนี้ เพราะใฝ่ร้อนจะนอนเย็น...

แต่ทว่า... การตั้งโจทย์ในการสร้างเหตุแห่งการฝึกทั้งหลายเหล่านั้นต้องอยู่บนพื้นฐานแห่ง "เมตตาธรรม" คือ มีจิตใจหวังที่จะให้ผู้เรียนรู้นั้นได้ประโยชน์จากทุก ๆ กิจกรรม ทุก ๆ ลมหายใจ ทุก ๆ เท้าที่ก้าวเดิน

ให้กำลังใจ ให้คติ ให้ข้อคิดในระหว่างทางที่ทุกข์เกิดขึ้น

"เห็นทุกข์ จึงเห็นธรรม" 

ครั้นเมื่อผ่านความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นตามโจทย์ที่ได้ตั้งขึ้นแล้ว ก็พึงยกย่อง ชมเชย เพื่อเป็นตัวอย่างแบบอย่างสำหรับผู้ร่วมทาง หรือผู้ที่กำลังจะเดินตามทางนี้ต่อไป

สรุป มิใช่ชี้นำ...

การปฏิบัติโดยให้เห็นคุณค่าแห่งความทุกข์นั้น ควรจะสรุปหลังจากความทุกข์เกิด ไม่ควรที่จะบอกว่าเขาจะทุกข์อย่างไร ทำแล้วได้อะไร จะต้องแก้ไขอย่างไรใด ๆ บ้าง... ต้องให้เขาประสบและแก้ไขปัญหาเอง เพราะทุกคนมีร่างกาย มีพื้นฐานทางจิตใจที่ต่างกัน 

เช่น บางคนเดินป่าสิบกิโลสบายมาก โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่อายุหกสิบเจ็ดสิบที่ทำไร่ทำสวนมาตลอด แตกต่างกับเด็ก ๆ ที่เอาแต่เรียนหนังสือ นั่งโต๊ะทำงาน เดินนิดหน่อยก็บ่นกันใหญ่แล้ว



-------------------------

เพียงแต่ให้กำลังใจ และพึงระวังการชี้นำ...

คนในปัจจุบันท่านถึงบอกว่า บรรลุธรรมได้ยากกว่าในอดีตครั้งพุทธกาล

เพราะไปอ่านหนังสือมาก่อน ไปเรียนธรรมะ ไปศึกษาพระไตรปิฎกมาก่อน พอมาปฏิบัติก็มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดว่า มันจะไปอย่างหนังสือที่เขียนไว้มั๊ย เห็นแสง เห็นสีรึยัง ได้ฌานขั้นไหนแล้ว การเรียนโดยการอ่านหนังสือมาก่อนนี้ จึงมีแต่ความฟุ้นซ่าน หาความสงบมิได้เลย

เช่นเดียวกันกับการสร้างคนให้เห็นคุณค่าแห่งความยากลำบาก เราเพียงแต่สร้างโจทย์ และเอื้ออำนวยสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำโจทย์นั้น แล้วตั้งตัวเองในฐานะ "ผู้สะกดรอยตาม" คือ แอบดูอยู่ห่าง ๆ คอยสังเกตุการณ์ เมื่อมีโอกาสก็คอยให้กำลังใจ

-------------------------

ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นจากสองมือ สองขา จากดวงตา ที่ส่งผ่านมาจากก้นบึ้งของหัวใจ...

คนเราถ้าทำอะไรด้วยตนเอง โดยเฉพาะถ้าเขาสามารถผ่านความทุกข์ทั้งหลายด้วยตัวเองตัวเอง เขาจะมีกำลังใจ และสามารถนำความรู้ที่ฝังลึกจากความทุกข์ทั้งหลายไปปรับใช้ได้ตลอดชีวิต...

เน้นคำว่า "ปรับใช้" เพราะไม่มีความรู้ใดเป็นความรู้สำเร็จรูป

การสอนให้เห็นคุณค่าแห่งความทุกข์นั้น เขาจะได้รับชุดความรู้สำคัญที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ ความพากเพียร และความอดทน...

ในรายละเอียดแห่งความพากเพียรที่เกิดจากความอดทนนั้น ไม่มีใครสามารถจะอธิบายให้ใครต่อใครรับฟังได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็น "ปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้ด้วยตนเอง..."

สิ่งที่เขาได้พบ ได้สัมผัสนั้นจะถูกบันทึกไว้ที่ก้นบึ้งแห่งจิตใจ เป็นชุดความรู้ที่จะสามารถปรับและนำไปใช้ได้ตลอดระยะเวลาแห่ง "ชีวิต..."

ดังนั้น ความยากลำบากจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ที่คุณครูทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างโจทย์ให้ลูก ๆ ลูกศิษย์ ได้รู้คุณค่าของความลำบากแห่งชีวิต เพื่อเปลี่ยนแปลงความยากลำบากทั้งหลายนี้ให้ทรงคุณค่าด้วยปัญญาของตนเอง...

หมายเลขบันทึก: 689914เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2021 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2021 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท