จริยธรรมครู



เช้าวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๔ CU Radio Plus สัมภาษณ์เลขาธิการ กคศ. เรื่องร่าง ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(๑)  (๒)ที่ผมมีความเห็นว่า    ที่สำคัญกว่าข้อความในกระดาษคือการบังคับใช้ต่อผู้ละเมิด    ผมจึงชื่นชมผู้ดำเนินรายการ (ดร. ธีรารัตน์ พันทวี)   ที่ซักขึ้นไปถึงการบังคับใช้    และชื่นชมท่านเลขาธิการ กคศ. (รศ. ดร. ประวิต เอราวัณ) ที่กล่าวว่า ประมวลจริยธรรมนี้จะเป็นเครื่องมือไม่ให้คนชั่วอยู่ในวงการข้าราชการครู     

ผมจึงขอสะท้อนคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์  นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้    ด้วยความเคารพต่อผู้เกี่ยวข้องกับงานนี้  

โปรดสังเกตว่าที่กำลังฮือฮาเป็นเรื่อง “จริยธรรมข้าราชการครู” บังคับใช้เฉพาะข้าราชการ    ครูที่ไม่เป็นข้าราชการไม่เกี่ยว    และในสายตาผม ไม่ได้เน้นผลประโยชน์ของเด็กหรือนักเรียน    เพราะหากเน้นที่นักเรียนคนที่เป็น “ครู” สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ผู้ปกครอง    เพราะใกล้ชิดเด็กที่สุด    มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้สำคัญของเด็กมากที่สุด

ผมขอตั้งข้อสงสัยว่า เรากำลังอยู่ใต้การครอบงำของมิจฉาทิฏฐิ ว่าด้วย “การศึกษา” หรือไม่ โดยหลงคิดว่าการเรียนรู้ของเด็กอยู่ใต้บทบาทครูเท่านั้น  อยู่ใต้โรงเรียนเท่านั้น  และเน้นที่การเรียนวิชาเท่านั้น    รวมทั้งมองว่าการทำหน้าที่ครูที่ถูกต้องเป็นการทำตามวิชาการที่คงที่  

ความครอบงำนี้ ส่วนหนึ่งนำไปสู่ร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการครู ที่ไม่ระบุจริยธรรมต่อการเรียนรู้และปรับตัวต่อเนื่องของครู    ตามร่างจริยธรรมนี้ ครูไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ต่อเนื่อง     หรือการเรียนรู้ต่อเนื่องไม่รวมอยู่ในข้อพึงปฏิบัติสำหรับข้าราชการครู    หรือประเด็นดังกล่าวซ่อนอยู่ในประเด็นอื่นของ ๙ ประเด็นในร่าง   

ข้อสนใจ หรือคำถาม ของผมคือ ประมวลจริยธรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิมหรือไม่    โดยต้องไม่ลืมความจริงว่า คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำต่อเนื่องในช่วง ๒๐ ปี   

กล่าวใหม่ ผมสนใจว่า ประมวลจริยธรรมนี้ จะช่วยให้การศึกษาไทยสร้างพลเมืองไทยที่มีคุณภาพสูงได้หรือไม่     ท่านเลขาธิการ กคศ. บอกว่า มันจะเป็นฐานให้ดำเนินการทางวินัยต่อครูที่มีพฤติกรรมไม่ดี    ช่วยให้ไม่ยอมให้คนชั่วอยู่ในวงการครู   

ผมลองเถียงตัวเองว่า ข้อความที่ผมเขียนข้างบนนั้นเองที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ    เขาไม่ได้ออกมาตรฐานจริยธรรมเพื่อเด็ก    แต่ออกเพื่อข้าราชการครู    เพื่อทำให้ข้าราชการครูมีแนวทางทำหน้าที่    เพื่อทำให้การเป็นข้าราชการครูเป็นที่เชื่อถือหรือเคารพนับถือในสังคม     เรื่องผลประโยชน์ของเด็กหรือนักเรียนไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้   

หัวข้อของบันทึกนี้ กับสาระในร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงไม่ตรงกัน     สะท้อนความซับซ้อนของเรื่องการศึกษา    ที่หากไม่ระวัง คนที่เข้าไปทำงานในเรื่องนี้จะถูกความซับซ้อนหลอก    ให้หลง  “ทำมาก ได้ผลน้อย”    หากมุ่งทำงานเพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไทย  

นำไปสู่คำถามว่า การทำงานขององคาพยพต่างๆ ของระบบการศึกษาไทย มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพเด็กไทยอย่างแท้จริงหรือไม่    หรือหลงทำเพื่อเป้าหมายซ่อนเร้น ตามที่ระบุใน WDR 2018 (๓)

วิจารณ์ พานิช

๕ มี.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689911เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2021 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2021 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท