ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๒๘. คุณค่าของความยากลำบาก



ชีวิตที่ลำบาก เป็นชีวิตที่เจริญ

                    ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว

 นั่นคือถ้อยคำที่ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้วสอนผมที่หาดใหญ่ ราวๆ ปี ๒๕๑๙    และผมไม่เข้าใจ

ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๔ ผมเข้าสังเกตการณ์ การประชุมปฏิบัติการ “ชุมชนเรียนรู้ครูมัธยม” ที่ กสศ. จัดให้แก่ครูมัธยม และ ศน. จาก ๘ สพม. ทั่วประเทศ     โดยมีคุณ Paul Collard จาก CCE เป็นวิทยากร    จับความได้ว่า จุดอ่อนสำคัญของการศึกษาไทยคือ    ครูไม่มีจริตและทักษะในการฝึกให้นักเรียน “สู้สิ่งยาก”   

สภาพนี้น่าจะดำเนินมากว่าเจ็ดสิบปี    เพราะเมื่อผมเข้าเรียนหนังสือ    ผมไม่รู้สึกว่าครูสนใจเรื่องนี้เลย    ผมได้รับการฝึกนิสัยและสมรรถนะนี้จากครอบครัว     และจากความซุกซนของตนเอง    

ความยากลำบากคือโอกาสและโจทย์เรียนรู้ที่ดีที่สุด    ยิ่งเป็นโจทย์ในชีวิตจริง การเรียนรู้ยิ่งสูง    แต่เราต้องมีทักษะในการเปลี่ยนความยากลำบาก จากบ่อเกิดความทุกข์ ไปเป็นบ่อเกิดการเรียนรู้    นั่นคือต้องมีจิตใจที่เห็นคุณค่าของความยากลำบาก    รู้จักเปลี่ยนความยากลำบากไปเป็น “โจทย์เรียนรู้” (learning material)

เรื่องอย่างนี้ต้องฝึก    คุณ Paul แนะนำว่า ครูไทยต้องฝึกจริตและทักษะในการตั้งโจทย์ยากๆ ให้นักเรียนทำ     เพื่อพัฒนา grit  หรืออิทธิบาท ๔ ให้แก่นักเรียนทุกคน    ให้โตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ “สู้สิ่งยาก”     

ความสนุกในการเรียนต้องอยู่ที่การเอาชนะโจทย์ยากๆ    ไม่ใช่แค่ทำโจทย์ง่ายๆ ได้    ทำโจทย์ได้แล้วต้องใคร่ครวญไตร่ตรองว่าเผชิญความยากลำบากอย่างไร    เพื่อทำความเข้าใจกลไกของ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสา     หรือการเรียนรู้ metacognition ว่าด้วยการใช้ความยากลำบากสร้างคุณค่าแก่ตนเอง  

เมื่อนักเรียนทำโจทย์ได้สำเร็จ    ต้องให้นักเรียนทำ reflection ว่าบรรลุความสำเร็จนั้นได้อย่างไร    ผลงานนั้นมีคุณภาพในระดับไหน    มีผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูงกว่าหรือไม่    หากมีโอกาสทำงานเพื่อเป้าหมายผลที่คุณภาพสูงเช่นนั้น จะทำแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร    การใคร่ครวญสะท้อนคิดในทำนองนี้จะช่วยสร้างนิสัยที่มีคุณค่ายิ่งต่อชีวิต ที่เรียกว่า growth mindset    เป็นเข็มทิศชี้ทางแห่งชีวิตที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง  

เมื่อใคร่ครวญคุณค่าของความยากลำบากแล้ว ก็ควรเอ่ยถึงพิษภัยของความรู้สึกอิ่มเอมในความสำเร็จ    ที่หากอิ่มเอมแล้วเกิดพลังที่จะมานะพยายามพัฒนาต่อให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นอีก    ก็เป็นผลกระทบด้านรบวกของความสำเร็จ     แต่หากความสำเร็จนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราเก่ง มีความสามารถดีแล้ว    ก็จะนำไปสู่ความประมาท (complacency)     เกิดนิสัยไม่ขวนขวายเรียนรู้พัฒนาเพิ่มเติม ที่เรียกว่า fixed mindset    ปิดกั้นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ต่อเนื่อง    

ครูและพ่อแม่ จึงต้องมีหลักการและทักษะในการให้ feedback ต่อผลงานของศิษย์หรือลูก     ที่จะต้องไม่ให้ feedback เฉพาะผลสำเร็จ    ต้องให้ feedback ในลักษณะของความท้าทายต่อเนื่องไปด้วย    เท่ากับเป็น feedback ที่เปิดแสงสว่างสู่ความท้าทายชิ้นใหม่ ที่ยกระดับไปจากเดิม         

วิจารณ์ พานิช

๑๙ มี.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689910เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2021 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2021 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท