มีเป็ดบนหลังคา


มีเป็ดบนหลังคา : เมื่อเปิดใจให้เป็ดบนหลังคา

                  คำว่า ครอบครัวจึงกลับมา

          มีเป็ดบนหลังคาเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดรวมเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ ของ ‘จเด็จ กำจรเดช’ ซึ่งคืนปีเสือเป็นหนังสือเล่มล่าสุด ที่ได้การพิจารณาให้รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์  ประจำปี 2563 โดยรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ‘จเด็จ กำจรเดช’ ได้เรียงร้อยอักษรผ่านเรื่องราวของสัตว์ต่าง ๆ อีกทั้งยังใช้สัตว์เป็นสัญญะในการสื่อความหมาย มีการใช้ความร่วมสมัยเข้ามาเสริมสร้างงานเขียนไม่ให้ล้าสมัยจนเกินไป รวมทั้งรูปแบบวิธีการด้านการเล่าเรื่อง การผูกโครงเรื่อง จำนวนตัวละคร และขนาดความยาวของเรื่องที่ผู้เขียนปรับประยุกต์การเล่าเรื่องแบบนิยาย นิทานพื้นบ้าน และมุขปาฐะมาใช้ร่วมสมัยและบริบทของโลกดิจิทัล เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดและตีโจทย์ว่าเหตุใดในเรื่องสั้นนั้น ๆ จึงใช้สัตว์ชนิดนั้นเป็นสัญญะ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตอนนั้นอย่างไร มีความสำคัญเช่นไรกับตัวละครเหล่านั้น เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เปิดโลกกว้างให้กับวงการนักอ่านซึ่ง ‘จเด็จ กำจรเดช’ เป็นนักเขียนที่หลายคนรู้จักมักคุ้นกันดีจากการได้รับรางวัลซีไรต์ เมื่อปี 2554 คือรวมเรื่องสั้น แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ ถือว่าเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลดับเบิลซีไรต์คนที่ 5 ของวงการนักเขียนไทย

          แม่บอกว่าเป็ดขึ้นสวรรค์ไปแล้วแต่ความจริงมันอยู่บนหลังคา (หน้า 23) เป็นการเปิดเรื่องด้วยประโยคขัดแย้งที่ทำให้ผู้อ่านต้องสงสัยว่าที่จริงแล้วเป็ดขึ้นสวรรค์หรือว่ามันอยู่บนหลังคา เมื่อผู้อ่านเห็นแล้วยิ่งอยากรู้ว่าความจริงเนื้อเรื่องจะเป็นไปเช่นไร ซึ่ง ผู้เขียนได้ใช้เป็ดเป็นสัญญะของเรื่อง ถึงแม้ว่า มีเป็ดบนหลังคา เป็นชื่อเรื่องที่ใครหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเป็ดก็เป็นเพียงสัตว์ธรรมดาทั่วไป แต่นั่นเป็นการตัดสินใจอะไรที่ผิด จะเห็นว่าผู้เขียนได้ถ่ายทอดเป็นเรื่องที่เล่าผ่านเด็กก็จริง แต่ก็ทำเอาผู้อ่านน้ำตาไหลตาม สะท้อนให้เห็นความหดหู่ของชีวิตที่ถูกมองข้าม บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดหวังแน่นอนสำหรับใครที่อ่านเรื่องนี้

          มีเป็ดบนหลังคา เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร ‘ผม’ ซึ่งยังเป็นเด็กแต่ก็มีหัวใจและมีความรู้สึก อยากรู้อยากเห็นและกำลังสับสนอะไรบางอย่างที่ทำให้ ‘ผม’ ต้องค้นหาความจริงระหว่างที่ “แม่บอกว่าเป็ดขึ้นสวรรค์ไปแล้ว” แต่พ่อกลับบอกว่า “เป็ดมันบินเข้าไปในช่องหน้าจั่วที่พ่อเคยปีนขึ้นไปทุบระบายความร้อน” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนที่น้องจากพ่อแม่และ ‘ผม’ ไปโดยที่ไม่ลาสักคำ หลังจากที่พ่อหาเป็ดมาให้น้องเป็นของขวัญวันเกิดเพื่อให้น้องมีกิจกรรมทำมากขึ้นนอกจากจะช่วยพ่อเขียนนิทานประกอบภาพก็ยังให้อาหารเป็ดเก็บไข่เป็ด แต่หลังจากที่เลี้ยงเป็ดนาน ๆ ไป ทำให้น้ำขังและยุงชุมจนไข้เลือดออกระบาด ซึ่งน้องคือผู้โชคร้ายที่เป็นโรคไข้เลือดออกขั้นรุนแรงจนไม่สามารถทนพิษไข้ได้สุดท้ายน้องก็จากไปโดยที่ ‘ผม’ ยังไม่ทันบอกว่าเดินทางปลอดภัยนะ การจากไปของน้องทำให้หลายอย่างในบ้านเปลี่ยนไป เช่น พ่อกับแม่ไม่มีใครเปิดทีวีปล่อยทิ้งไว้จนเครื่องเสีย พ่อหยุดเขียนงาน บรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยความเศร้าและเงียบงัน ทุกครั้งที่ ‘ผม’ พูดถึงน้องแม่จะเดินหนีทันที หรือแม้แต่พูดถึงเป็ดที่อยู่บนหลังคาแม่ก็จะหาว่าเพ้อเจ้อ พ่อก็จะเปลี่ยนเรื่องสนทนาขณะนั้นเป็นเรื่องอื่นโดยที่จะไม่พูดถึงน้องหรือพูดถึงเป็ดเลย แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือพ่อพูดน้อยลงกว่าเดิมมาก จากที่เคยตอบคำถาม ‘ผม’ เป็นประโยคหรือนิทานยาว ๆ ก็ตอบเพียงไม่กี่คำ จน ‘ผม’ มีความรู้สึกว่า ‘ผม’ ถูกมองข้ามและไม่มีสำคัญ จึงหาทางปีนขึ้นไปหาเป็ดบนหลังคาจนกระทั่ง ‘ผม’ เก็บไปฝัน แต่ความฝันมันก็ทำให้ ‘ผม’ ได้ปีนขึ้นไปจริง ๆ จนกระทั่งเจอไข่ทองคำบนหลังคาที่เป็ดไข่ทิ้งไว้ส่วนเป็ดนั้นแม่ได้ให้คนอื่นไปแล้ว

          หากสังเกตจะเห็นว่าการวางโครงเรื่อง ผู้เขียนได้วางโครงเรื่องไว้ให้ผู้อ่านนึกคิดอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าจะเห็นเพียงการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่าน ‘ผม’ ซึ่งเป็นลูกชายคนโต ที่อยู่บ้านกับพ่อแม่แต่ไม่ได้รับความรักความอบอุ่นเท่าไรนัก เพราะพ่อกับแม่หวนนึกถึงแต่ลูกชายคนเล็กที่เสียชีวิตไป ซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อและแม่ จนทำให้พ่อกับแม่ไม่มีกำลังใจที่จะทำอะไร พ่อหยุดเขียนงานนานพอสมควร แม่ก็ไม่ดูทีวีเลย บทสนทนาในบ้านดูน้อยลงไปจากเดิม เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับตอนที่น้องชายยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เรื่องราวเหล่านี้อาจจะมาจากภูมิหลังของผู้เขียน หรือภายในห้วงกระแสสำนึกของ ‘จเด็จ กำจรเดช’ ที่เขามีต่อลูกชายเขา ไม่ว่าจะด้วยความรัก หรือความอาลัยก็ตาม ที่กระทบกระทำต่อจิตใจของเขาจนลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจ ทำให้เขาแสดงความรักความคิดถึงโดยการใช้ความรู้สึกผสมกับตัวอักษรจนถักทอเป็นเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับนักอ่านหลายคน แต่ทว่า ‘จเด็จ กำจรเดช’ จะเขียนด้วยรู้สึกอย่างเดียวก็มิใช่ เนื่องจากได้ใช้จินตนาการความคิดเข้าไปด้วย เป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครเด็กที่เป็นตัวแทนของผู้เขียน ถึงแม้ว่าจะเป็นการวางโครงเรื่องในรูปแบบธรรมดาไม่มีอะไรซับซ้อนนัก ใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่ในความธรรมดาบนความเรียบง่ายนั้นก็เต็มไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ ล้วนแต่สร้างความเพลิดเพลินและตื่นเต้นไปกับ ผม ที่กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง ลำดับเหตุการณ์สัมพันธ์เชื่อมโยงกับห้วงเวลาอย่างเหมาะสมและลงตัว มีความพอดีไม่ลึกและไม่ตื้นจนเกินไป มีการใช้เป็ดเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ในการดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจใคร่รู้ว่ามีนัยอะไรแฝงอยู่ในเรื่อง

          มีเป็ดบนหลังคา ใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยให้ตัวละคร ‘ผม’ หรือลูกชายคนโต เป็นตัวแทนของผู้เขียน ที่เล่าเรื่องในทุกมุมมองที่เขารู้สึกและจินตนาการ และมอบอำนาจให้ ‘ผม’ ควบคุมการทำงานหรือบทบาทหน้าที่ของตัวละครทุกตัว การทำเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจตัวละคร ‘ผม’ มากขึ้น เมื่อใช้ตัวละครเป็นเด็กในด้านการใช้ภาษาจึงค่อนข้างกระชับชัดเจนและตรงไปตรงมาอ่านแล้วเข้าใจง่าย ผู้เขียนใช้กลวิธีการเขียนแบบเล่าเรื่องราวย้อนจากอดีตจนถึงปัจจุบันสลับกันไปมาทำให้ผู้อ่านคล้อยตามและเกิดมโนภาพตามขณะอ่าน หรือโลกแห่งจินตนาการความเพ้อฝันที่ ‘ผม’ ได้ถ่ายทอดให้เห็นในเรื่อง ทั้งยังมีการนำความฝันกับความจริงมาสลับกันจนผู้อ่านอาจจะแยกไม่ออกว่าอันไหนความฝันอันไหนความจริง รวมทั้งฉากและบรรยากาศที่ ‘ผม’ ถ่ายทอดก็สร้างความอัศจรรย์ใจให้ผู้อ่านไม่น้อยทีเดียว

          จะเห็นได้ว่าเรื่องราวข้างต้นที่กล่าวมานั้นล้วนนำไปสู่ความขัดแย้งภายในใจของมนุษย์ นั่นก็คือความขัดแย้งภายในใจของพ่อกับแม่ ที่ทำให้รู้สึกผิดที่คิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่นำเป็ดมาเลี้ยงทำให้มีน้ำขังแล้วมียุงชุม จนลูกชายคนเล็กเป็นโรคไข้เลือดออกจนเสียชีวิต พ่อกับแม่หัวใจสลายยิ่งนักที่สูญเสียลูกชายคนเล็กไป จนพ่อไม่มีกะจิตกะใจในการเขียนงาน ขณะที่ลูกชายคนโตพยายามหาประเด็นมาพูดเพื่อให้พ่อมีไฟในการเขียนงานอีกแต่พ่อก็ไม่สนใจ

          ความขัดแย้งภายในใจของ ‘ผม’ ซึ่งเกิดจากการน้อยเนื้อต่ำใจที่พ่อแม่ไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร อาลัยอาวรณ์แต่ลูกชายคนเล็กที่เสียชีวิตไปจนทุกคนลืมว่ายังมี ‘ผม’ อยู่ และ ‘ผม’ ได้สร้างความเวทนาให้ผู้อ่านเห็นปมภายในใจ คือเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ ‘ผม’ ต้องเสียใจหรือผิดหวัง เช่น ถามพ่อ แต่พ่อไม่ค่อยอยากตอบ พูดเรื่องน้องแม่ก็ชอบเดินหนี จนทำให้ผมครุ่นคิดว่าทำไมพ่อกับแม่ไม่สนใจ ‘ผม’ เลยเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้กระทำกระทำใจของ ‘ผม’ คนเดียว แต่สร้างความหดหู่ใจให้กับผู้อ่านด้วย

          และอีกปมขัดแย้งหนึ่งก็คือปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ นั่นก็คือลูกชายคนเล็กที่เสียชีวิตเพราะไข้เลือดออก แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนกับธรรมชาติที่ใช้ชีวิตมักง่ายเกินไปจนลืมคำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาและไม่มีวิธีป้องกัน ชี้ให้เห็นว่าไข้เลือดออกเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคม ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจตัวละครพ่อแม่และพี่ชายคนโตมากขึ้น หรือแม้แต่ผู้อ่านเข้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนที่แฝงไว้ในเรื่อง

          ปมต่าง ๆ ที่ผู้เขียนผูกขึ้นนั้นอาจจะมาจากภายใต้กระแสสำนึกที่ฝังอยู่ในห้วงลึก ๆ ของผู้เขียนเองก็มิอาจทราบได้ ไม่ว่าจะเป็นปมขัดยังภายในใจ หรือปมขัดยังระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แต่ผู้เขียนได้นำปมขัดยังผูกเรื่องให้มีความสอดคล้องด้วยถ้อยคำธรรมดา หรือด้วยความไร้เดียงสาของตัวละครที่เป็นเด็กก็ตาม ผู้เขียนกระตุ้นให้ผู้อ่านเห็นบทบาทหน้าที่และความสำคัญของตัวละครทุกตัว ที่มีความผูกพันกันและทำให้เรื่องราวดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ

          จนนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง คือ ตอนที่ลูกชายคนโตพยายามเล่าจินตนาการ หรือสิ่งที่ตนเห็นให้พ่อฟัง เพื่อที่พ่อจะได้กลับมาเขียนงานอีกครั้ง แต่พ่อก็ไม่สนใจเขาเลย เมื่อเขาพูดถึงเป็ดหรือเลโก้หุ่นยนต์ของน้องทีไรพ่อกับแม่จะเปลี่ยนเรื่องไปพูดเรื่องอื่นตลอด ทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยว่าเรื่องจะดำเนินไปในแนวทางไหน หรือจะจบอย่างไร จนเกิดการหน่วงเรื่องโดยที่ ‘ผม’ เล่าเหตุการณ์ที่ประหลาดใจให้พ่อฟัง ว่าเห็นเป็ดตัวใหญ่เท่าวัวควายบนหลังของมันมีคนนั่งอยู่ด้วย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้อ่านยิ่งนัก อีกทั้งยังฝันเห็นเป็ดออกไข่ทองคำ มีความเชื่อมโยงกับการนำเป็ดมาเป็นสัญญะหรือสื่อคามหมายที่มีการนำเป็ดมามีส่วนช่วยให้ครอบครัวเริ่มกลับมามีความสุขอีกครั้ง

          การคลายปมของเรื่อง มีเป็ดบนหลังคามีการนำเสนอในรูปแบบที่ลูกชายคนโตได้พยายามพิสูจน์ให้พ่อกับแม่เห็นวาความฝันของเขามันเป็นเรื่องจริง และมันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แต่ก็ถูกละเลย จน ‘ผม’ พูดขึ้นว่า “พ่อคงลืมไปแล้วว่าผมยังอยู่ น้องไม่อยู่แล้วแต่ผมยังอยู่” (หน้า 36) ซึ่งเป็นคำพูดที่เศร้าสำหรับผู้พูดพอสมควรและสะเทือนใจคนเป็นพ่อไม่น้อย จนทำให้พ่อได้ฉุกคิดได้จากคำพูดของลูกชายและเขียนอะไรบางอย่าง ส่วน ‘ผม’ ก็ปีนขึ้นไปบนหลังคาจนพบกับไข่ทองคำที่เป็ดไข่ไว้ แล้วแม่ก็ยกเป็ดตัวนั้นให้คนอื่นไป พอเห็นไข่ทองคำของเป็ดก็คิดที่จะไปขอเป็นตัวนั้นคืนมา

          ‘จเด็จ กำจรเดช’ ได้เลือกวิธีการปิดเรื่องโดยใช้ไข่เป็ดเป็นสัญลักษณ์ ด้วยประโยคที่ว่า “ไข่เป็ดทั้งแปดฟองสีทองอร่าม สะท้อนแสงมลังเมลืองแวววาวในดวงตาของแม่” (หน้า 39) ทำให้คิดต่อว่าเหตุใดผู้เขียนจึงใช้ไข่เป็นทองคำในการปิดเรื่องและสะท้องแสงในสายตาของแม่ด้วยยิ่งเพิ่มความเข้มข้น แต่ในทางกลับกันประโยคข้างต้นเปรียบเสมือนสิ่งมีค่าที่อยู่ใกล้ตัวแต่กลับถูกมองข้าม หากว่าเปิดใจรับมันก็จะเป็นผลดี ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราได้เปิดโลกกว้างขึ้นและได้รับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาด้วย

          ซึ่งแก่นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ความรักความผูกพันที่พ่อกับแม่ลูกชายคนเล็กที่เสียชีวิตไป จนลืมสิ่งที่มีค่าอีกชิ้นหนึ่งก็คือลูกชายคนโต เหมือนเป็ดที่พ่อกับแม่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำขังมียุงชุมจนลูกชายคนเล็กเป็นไข้เลือดออก พ่อกับแม่ก็พยายามที่จะปิดกั้นไม่เปิดใจรับเป็ดตัวนั้นจนกระทั่งเห็นไข่ทองคำ การกระทำของ ‘ผม’ ก็เช่นกันพยามยามจะทำให้พ่อแม่เปิดใจรับ ‘ผม’ เปิดใจรับเป็ดตัวนั้นก็จะทำให้ครอบครัวของเรากลับมามีความสุขอีกครั้งส่วนน้องก็ไม่ได้หายไปไหนน้องแค่ย้ายมาอยู่ในความทรงจำของเราแทน

          กล่าวถึง ตัวละครในเรื่อง มีเป็ดบนหลังคาซึ่งประกอบด้วย ‘ผม’ ‘พ่อ’ ‘แม่’ ซึ่งแต่ละตัวก็ต่างมีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ช่วยให้เรื่องดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับตัวละครเอกของเรื่อง คือ ‘ผม’ ผมเป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะ จะเห็นได้ว่า ‘ผม’ เป็นตัวละครเด็กก็จริงแต่ผมก็เริ่มที่จะเรียนรู้และรับรู้ได้แล้วว่าเรื่องไหนที่กระทำต่อความรู้สึกของเขา แต่ทว่า ‘ผม’เป็นเด็กที่ไร้เดียงสาก็มิอาจว่าได้ เพราะ ‘ผม’ มีความคิดและจินตนาการ ที่เขาอยากให้พ่อกลับมาเขียนงานอีกครั้ง เช่น ตอนที่เขาเล่าความฝันให้พ่อฟังเขารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก แต่พอเขาถูกพ่อเมินเฉยเขาก็มีอาการเศร้าและน้อยใจที่พ่อไม่สนใจเขา จะเห็นว่าผมนั้นมีทั้งความสุขและความเศร้าจึงเป็นตัวละครหลายลักษณะ ต่อไปคือ ‘พ่อ’ จากการสังเกตพ่อไม่ค่อยแสดงบทบาทให้เห็นเท่าไรนัก จะเห็นก็แต่อาการเคร่งขรึมก็จะแสดงให้เห็นถึงอารมณ์เศร้าอาลัยอาวรณ์ที่ยังคงคิดถึงลูกชายคนเล็กอยู่ และตัวละคร ‘แม่’ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นแต่บทบาทของความเศร้าที่ยังยอมรับความจริงไม่ได้ สังเกตได้จากเหตุการณ์เมื่อเวลาลูกชายคนเล็กพูดอะไรเกี่ยงกับน้องแม่ก็จะเดินหนีตลอดหรือไม่ก็เปลี่ยนเรื่องสนทนาทันที พ่อกับแม่ก็จะมีอาการตื่นเต้นบ้างในช่วงท้ายของเรื่องตอนที่จะเปิดถุงผ้าดูไข่ทองคำ

          เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เขียนได้กำหนดให้ ‘ผม’ มีพื้นที่ในการแสดงบทบาทมากกว่าตัวละครอื่น ถึงแม้จะเป็นตัวละครเด็ก แต่ชี้ให้เห็นในมุมของความเป็นเด็ก อีกทั้งยังให้ ‘ผม’ มีอำนาจในการควบคุมตัวละครอื่นโดยที่ ‘ผม’ เป็นผู้รู้กระจ่างแจ้งทุกอย่าง และกำหนดทิศทางให้ตัวละครอื่นด้วย ถือว่าตัวละครทุกตัวล้วนมีส่วนที่ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างลงตัว มีการเอาน้องที่เสียชีวิตแล้วเข้ามาช่วยให้ตัวละคร ‘ผม’ มีความสมจริง สมเหตุสมผลน่า

สงสารจริง ๆ ทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความรู้สึกการถูกมองข้ามทั้ง ๆ ที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งอ่านแล้วหดหู่ใจถึงน้ำตาไหลตามก็ว่าได้

          มีเป็ดบนหลังคา ก็เหมือนมีอยู่แต่ไม่ใส่ใจทั้งที่พ่อกับแม่ก็ได้ยินเสียงกุกกักทุกคืนแต่พ่อกับแม่ก็เลือกที่จะมองข้าม ก็เหมือน ‘ผม’ ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยู่บ้านกับพ่อแม่ แต่กลับเหมือนไม่มีตัวตน พ่อแม่เอาแต่เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ถึงแต่น้อง เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นสังคมที่ยังขาดการใส่ใจดูแลหรือความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั่นเองซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคำว่า มีหัวใจแต่ไร้ความรู้สึก ทั้งนี้จึงถือว่า เรื่องนี้เป็นชีวิตที่หดหู่ก็จริง แต่ก็ยังมีความอบอุ่นเข้ามาปลอบประโลมมิทำให้เรื่องเศร้าจนเกินเหตุ ในความเหงาก็ยังมีความนุ่มนวล และทำให้เห็นการเกิด การตาย ความสุขและความทุกข์นั้นเป็นสิ่งคู่กันเสมอ

บรรณานุกรม

จเด็จ กำจรเดช. (2563). คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพฯ:ผจญภัย

หมายเลขบันทึก: 689194เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท