เรียนรู้สู่ผลมหัศจรรย์



หนังสือ Ultralearning : Master Hard Tasks, Outsmart the Competition, and Accelerate Your Career (2019)  เขียนโดย  Scott H. Young เป็นหนังสือดีระดับ Wall Street Journal Bestseller    เอ่ยทั้งคำว่า ultralearning และ metalearning  

Ultralearning หมายถึงการเรียนเองให้ได้ผลในระดับที่ลึกและเรียนได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ  โดยที่ใครๆ ก็ทำได้    ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีสมองชั้นเลิศ    ส่วน metalearning หมายถึงเรียนรู้วิธีเรียน    

ผู้เขียนเป็นนักเขียน นักเขียนโปรแกรม และผู้ประกอบการ ที่ฝึกตัวเองด้วยการทดลอง จนมีสมรรถนะ ultralearning    เห็นผลต่อชีวิตของตนเอง    แล้วนำมาเขียนหนังสือเผยแพร่    ฟังการบรรยายเรื่องนี้ของเขาได้ที่ (๑)   

ย้ำว่า คนเราสามารถเป็น ultralearner ได้ทุกคน (หรือแทบทุกคน) หากมีความตั้งใจจริงจัง    หนังสือเล่มนี้บอกวิธีการ    ซึ่งหมายความว่า ขยันอย่างเดียวไม่พอ    ต้องมีวิธีเรียนที่ถูกต้อง จึงจะเกิดผลการเรียนรู้เองในระดับมหัศจรรย์ได้   

ผมขอใช้คำไทยว่า เรียนรู้สู่ผลมหัศจรรย์    คือเห็นผลมหัศจรรย์ ทั้งด้านความลุ่มลึกเชื่อมโยงและความเร็ว    จากการสอนตัวเอง (self-learning)    จึงเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะต่อผู้ใหญ่    โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอาชีพครู    เพราะจะได้ผลสองต่อ  คือผลต่อตนเอง และเอาไปสอนศิษย์ให้รู้วิธีเรียนได้ด้วย

ในโลกยุคนี้ นี่คือ ทักษะชีวิต    เป็นทักษะที่จะช่วยให้มีชีวิตที่ดี    สามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป   

เรียนรู้วิธีเรียนเริ่มจากการฝึกมองภาพใหญ่ของเรื่องที่จะเรียน    เพื่อวางยุทธศาสตร์และแผนการเรียนอย่างมีชั้นเชิงหรือมีขั้นตอน    ไม่ใช่เรียนแบบบุกตลุยไม่ต้องคิด    วิธีที่เขาแนะนำคือให้ทำ “แผนที่วิธีเรียน” (meta-learning map)    โดยแบ่งสาระในวิชาหรือเรื่องนั้นออกเป็น ๓ กลุ่มคือ (๑) หลักการ (concepts) หมายถึงสิ่งที่ต้องเข้าใจ,  (๒) ข้อเท็จจริง (facts) หมายถึงสิ่งที่ต้องจำ,  และ (๓) วิธีการ (procedures) หมายถึงสิ่งที่ต้องฝึก       

แล้วจึงพิจารณาว่าในเรื่องที่จะเรียนนั้น ส่วนใดที่จะต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ  และหาตัวช่วย    เช่นหากเป็นเรื่องที่ต้องจำมาก อาจหา spaced-repetition software  มาช่วยการฝึกความจำ   

ขั้นตอนต่อไป ใช้ “ตัวเทียบ” (benchmarking) ช่วย    คือศึกษาว่าคนที่เคยเรียนเรื่องนั้นได้มหัศจรรย์เขาทำอย่างไร และทำได้ดีแค่ไหน   เลียนวิธีการและเครื่องมือของเขา เอามาปรับใช้ให้เหมาะต่อบริบทของเรา     เขาแนะนำให้จัดเวลาร้อยละ ๑๐ ของเวลาในโครงการเรียนรู้นี้ สำหรับใช้ในการเรียนรู้และทดลองวิธีเรียน    โดยจัดทำ roadmap ของการเรียน เพื่อช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับการเรียนนี้    ไม่เฉไฉไปเสียเวลาและสมองกับเรื่องอื่น 

สำหรับหลายๆ คน การบังคับใจตนเองให้จดจ่ออยู่กับเรื่องเดียวไม่ง่าย    เขาแนะนำให้ตั้งนาฬิกาจับเวลาเพื่อดูว่าตนเองจดจ่อได้นานตามที่ตั้งใจไหม เริ่มจาก ๓ นาที    บอกตัวเองว่า จะยังอยู่กับเรื่องนั้นต่อเนื่องจนกว่านาฬิกาจะบอกหมดเวลา     เคล็ดลับคือ เมื่อนาฬิกาบอกเวลา สมองของเรามีสมาธิจดจ่อและเรียนต่อเนื่องไปได้อีกระยะหนึ่ง

เทคนิคจดจ่อสมองที่ใช้กันโดยทั่วไปเรียกว่า Pomodoro Technique   คือเรียนหรือทำงาน ๒๐ นาที พัก ๕ นาที  แล้วเรียนต่อ    ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ    เป็นการเรียนทีละช่วง ไม่ตะลุยทีเดียว ๑ หรือ ๒ ชั่วโมง    ซึ่งจะได้ผลน้อยกว่า     นี่เป็นผลจากการวิจัยครับ    อย่าลืมตั้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่ airplane mode  และปิด wifi เสียด้วย    มุ่งจดจ่ออยู่กับเรื่องเรียนนี้เรื่องเดียวในช่วงเวลานั้น   

อีกเทคนิคหนึ่งคือ จัดเรื่องเรียนให้เหมาะต่อช่วงสมองตื่นตัวของตนเอง     บางคนสมองตื่นตัวตอนเช้ามืด (คนประเภทไก่)     บางคนสมองตื่นตัวตอนดึก (คนประเภทนกฮูก)     ช่วงสมองตื่นตัวใช้เรียนสิ่งที่ต้องทำซ้ำๆ    ส่วนช่วงสมองล้าใช้เรียนเชื่อมโยงเรื่องราวหรือคิดแหวกแนว  

เขาแนะนำให้การเรียนทฤษฎีกับการฝึกปฏิบัติเข้ามาใกล้ชิดกันที่สุด    และหาทางทำให้บริบทของการเรียนใกล้เคียงกับเป้าหมายการใช้งานให้มากที่สุด    เช่นเรียนภาษาจีนโดยฝึกพูดอ่านเขียนกับครูที่เป็นคนจีน    ซึ่งจะมีผลให้เมื่อไปเมืองจีน (ต่างบริบท) ก็สามารถใช้งานความรู้ที่เรียนได้    ที่เรียกว่าบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer)    และเป็นเทคนิคการเรียนแบบตรงเป้า (directness)   

การเรียนแบบตรงเป้าที่ดีที่สุดเรียกว่า เรียนโดยทำโครงงาน (project-based learning)   เป็นการเรียนในสถานการณ์จริงโดยตรง    ไม่ต้องการการเชื่อมโยง (transfer) สู่บริบทอื่นเลย    การเรียนโดยตรงแบบนี้ที่ทรงพลังที่สุดคือ การเรียนแบบฝังตัว (immersive learning)   เช่นเรียนภาษาจีนโดยไปเรียนที่ประเทศจีนโดยตรง    

วิธีที่ดีรองลงมาคือเรียนจากสถานการณ์จำลอง  เช่นเรียนขับเครื่องบินจาก flight simulator  

ใช้การฝึกซ้อมยิ่งยวด (drill) เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างชำนาญไร้ที่ติ (perfection)     โดยเขาแนะนำว่า ต้องฝึกซ้อมเข้มข้นอย่างมีเป้าหมาย  คือใช้เทคนิค direct-then-drill    คือเริ่มด้วยการฝึกซ้อมปกติเพื่อหาจุดที่ต้องแก้ไข    นำไปสู่เป้าหมายของการฝึกซ้อมยิ่งยวดเฉพาะจุด    อาจต้องฝึกซ้อมปกติสลับกับฝึกซ้อมยิ่งยวดหลายรอบ     

หากต้องการฝึกซ้อมสร้างผลงานสร้างสรรค์ เช่นการวาดรูป    เขาแนะให้ใช้วิธีลอกผลงานชั้นยอดของศิลปินที่มีชื่อเสียง    และฝึกวาดให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้   

ในกรณีที่ต้องจำ มีสองวิธีคือ ทบทวนหรืออ่านซ้ำ (review)  กับฝึกซ้อมดึงข้อมูลออกมาจากความจำ (retrieve)    เขาแนะนำว่าวิธีหลังจะช่วยให้จำได้ดีกว่า     โดยควรทำซ้ำแบบทิ้งช่วง  

หากต้องการพัฒนาสมรรถนะ (performance) ในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    สิ่งที่ต้องการคือ คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)    โดยต้องรู้จักใช้คำแนะนำป้อนกลับ ๓ แบบ คือ    คำแนะนำเพื่อแก้ไข (correctional feedback),   คำแนะนำเชิงให้ข้อมูล (informational feedback)    และคำแนะนำเกี่ยวกับผลลัพธ์ (outcome feedback)    โดยที่ประโยชน์มากน้อยต่อการพัฒนาสมรรถนะเรียงตามลำดับ    คือคำแนะนำเพื่อแก้ไขมีผลดีที่สุด

Feedback อีกแบบที่ควรนำมาใช้คือ meta-feedback    ซึ่งหมายถึงข้อมูลป้อนกลับว่าวิธีเรียนของเราเหมาะสมเพียงไร    ทำได้ง่ายๆ โดยจับเวลาในการทำโจทย์ หากไม่สามารถทำเวลาได้ดีขึ้นในการทำโจทย์ครั้งหลังๆ    ให้สงสัยว่าวิธีเรียนที่ใช้อาจยังไม่ใช่วิธีที่ดี   

หากต้องการสร้างความจำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีเครื่องมือช่วย เช่น spaced repetition system ซึ่งอาจใช้ flashcard หรือใช้เป็น software ก็ได้   หรืออาจใช้วิธีฝึกซ้อมเป็นระยะๆ    หรือวิธีฝึกทำโจทย์ที่เลยเรื่องที่กำลังเรียน (overlearning) จะช่วยให้เรียนเรื่องที่กำลังเรียนได้ดีขึ้น    เขาสรุปว่าตัวช่วยจำได้ดีที่สุดคือปฏิบัติกระบวนการนั้นซ้ำๆ จนทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ ที่ผมเรียกว่าเป็น mastery learning  

สุดยอดของการเรียนรู้คือการบรรลุ “ปัญญาญาณ” (intuition)    ซึ่งฝึกได้ผ่านการตั้งคำถามโง่ๆ  ตั้งคำถามเชิงถกเถียง    ตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบวิธีคิดลึกๆ ที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วๆป    หรือหาวิธีการแก้ปัญหาแนวทางใหม่ที่ต่างไปจากวิธีมาตรฐาน    จะช่วย “ลับปัญญา” สู่การพัฒนา  “ปัญญาญาณ”    คือการคิดแบบไม่คิดตามตรรกะโดยทั่วไป

เพื่อบรรลุสมรรถนะขั้นสูง การทดลองอย่างมีกลยุทธ (strategic experimentation)    ลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยปรับตามผลที่ออกมา    ในที่สุดจะบรรลุผลงานระดับนวัตกรรม    วิธีที่ง่ายคือ “ลอกเลียนแล้วสร้างสรรค์” (copy and create)

ประการสุดท้ายของการเรียนรู้มหัศจรรย์คือการผสมผเสระหว่างวิธีการ วัสดุ และทักษะ เพื่อการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วยพลังมหัศจรรย์ที่สั่งสมไว้ภายในตน         

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.พ. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689156เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท