ชีวิตที่พอเพียง ๓๘๙๙. PMAC 2021 : 3. PL 1 โลกเรียนรู้อะไรจากโควิด ๑๙



 ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔     ๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. เวลาไทย    เป็นรายการสรุป What has the world learned from Covid-19 จาก Webinar ที่ได้จัดมาก่อน ๔ ครั้ง ๔ เรื่อง คือ (๑) มองผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากแว่นความเท่าเทียม  (๒) การจัดการ infodemic  (๓) การเตรียมพร้อม (preparedness)   (๔) ระบบกำกับดูแล (governance)     เป็นหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ประเทืองปัญญาสุดๆ (๑)   

ผมเขียนบันทึกนี้แบบสรุปสุดๆ    เอา ๔ ประเด็นข้างบนมายำกัน    โดยสวมแว่นโลก   

บทเรียนข้อแรกที่โควิดช่วยเผยคือ การที่ประชาชนของประเทศผู้นำอันดับหนึ่งของโลกทำผิดพลาด เลือกคนกึ่งบ้ากึ่งดีมาเป็นประธานาธิบดีอยู่ ๔ ปี    และช่วงปีสุดท้ายกำกับการเผชิญโควิด ๑๙ อย่างผิดพลาด    ไม่ใช่แค่สร้างความเสียหายต่อประเทศของตนเท่านั้น ยังก่อความปั่นป่วนแก่โลกด้วย    เพราะในเรื่องการระบาดใหญ่ของโควิด โลกเชื่อมถึงกันหมด (hyper-connectedness)    ความปั่นป่วนนั้นไม่ใช่แค่ด้านโรคระบาดและเศรษฐกิจเท่านั้น    ยังมีผลด้านอื่นๆ อย่างซับซ้อน    เป็นบาดแผลลึกของโลก    ที่กว่าจะเยียวยาได้ก็จะอีกหลายปี    ชี้ว่าประชาธิปไตยตะวันตกมีจุดอ่อนชัดเจน    อาจถึงคราวต้องปรับใหม่

ทำให้ผมระลึกถึงข้อเตือนสติของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ว่าระเบียบโลกตามแนวตะวันตกถึงทางตัน    เราต้องคิดสร้างระบบใหม่ของเราเอง    รวมทั้งช่วยโลกด้วย เรียกว่าแนวทางพุทธพัฒนา (๑) 

ระเบียบโลก ที่พัฒนามาถึงยุคปัจจุบัน และใช้อยู่ในปัจจุบัน    ใช้การไม่ได้เสียแล้ว  

บทเรียนข้อที่ ๒   เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารล้นเกิน (infodemic)   ทั้งข่าวสารดี และข่าวสารลวง เราต้องรู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อ  รู้จักเลือกรับสารอย่างพอเหมาะ    และรัฐต้องมีมาตรการจัดการอย่างได้ผล    ตัวเราอย่าไว้ใจว่าข่าวจากคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต หรือน่านับถือ จะเชื่อถือได้เสมอไป    เราต้องมีวิจารณญาณของเราเอง     ต้องรู้จักตรวจสอบ     รัฐต้องจัดแหล่งอ้างอิงให้ตรวจสอบได้สะดวก ทันเหตุการณ์ และทันกาล  

บทเรียนข้อที่ ๓   คุณค่าของความไว้วางใจ (trust)    ที่ช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ฟันฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน    น่าเสียดายที่ยุคนี้สังคมขาดแคลนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน    ทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก     คนที่สร้างตัวให้เป็นคนน่าเชื่อถือ    และระมัดระวังไม่เผลอหรือผิดพลาด ทำให้ผู้คนเชื่อถือลดลง     เป็น “คนรวย” คือรวยความไว้วางใจจากผู้คน   

หากคนไทยช่วยกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าเชื่อถือ     และได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก  เราจะทำธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์ในโลกนี้ได้อย่างสะดวก

ขอแถมประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว     ที่ผมเรียนรู้เรื่องนี้จากพ่อ    ที่พ่อผมสร้างฐานะขึ้นได้จากทุนความเชื่อถือจากผู้คนในพื้นที่    สามารถลงทุนทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องใช้เงิน  

บทเรียนข้อที่ ๔   ความเสมอภาค (equity) เป็น “สินทรัพย์” (assets) ของสังคม    สังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงเป็นสังคมที่มีความอ่อนแอซ่อนอยู่ภายใน   เมื่อถึงคราววิกฤติจะเผชิญวิกฤติได้ไม่ดี    โควิด ๑๙ ได้ช่วยเผยความเหลื่อมล้ำมากมายหลากหลายด้าน 

บทเรียนข้อที่ ๕   มนุษย์ได้สร้างระบบโลกแบบ multilateral   หรือแบบที่มีกลไกให้ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบโลก และร่วมกันแก้ปัญหาของโลก    ที่ให้ชื่อว่า สหประชาชาติ (United Nations)    ที่มีองค์การชำนัญพิเศษดูแลเฉพาะด้าน    เช่นองค์การอนามัยโลกดูแลด้านสุขภาพ     ในที่ประชุมไม่มีคนเอ่ยคำว่า United Nations เลย    เพราะมันกลายเป็นคำที่เฝือ    หันมาใช้คำว่า multilateral แทน   

จะต้องมีการฟื้นพลังของกลไกรวมพลังของโลก    เพื่อการอยู่ร่วมกัน เผชิญชตากรรมร่วมกัน

บทเรียนข้อที่ ๖    ชตากรรมของมนุษย์ และของโลก เปราะบางกว่าที่เราคิด     เราถูกชักจูงให้เชื่อว่า มนุษย์เราใช้ความฉลาดสร้างความก้าวหน้าด้านต่างๆ อย่างมากมาย    เราคิดว่าเรามีความเข้มแข็งมาก    ซึ่งก็เป็นความจริง     แต่ความก้าวหน้าที่มนุษยชาติสร้างขึ้นนั้น ไม่สมดุล    นอกจากก้าวหน้าแล้ว เรายังสร้างปัญหาซ่อนเร้นไปพร้อมๆ กัน    เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก  

พัฒนาการของมนุษย์และสังคมโลก มีความซับซ้อนสุดคณา     เราต้องระมัดระวัง  ให้แน่ใจว่าเป็นพัฒนาการที่สมดุล  

บทเรียนข้อที่ ๗   ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage),    ระบบสุขภาพที่ถูกต้อง,   และระบบสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) มีความสำคัญมาก 

เข้าใจง่าย หากเปรียบเทียบ ๓ ระบบนี้ของสหรัฐอเมริกา กับของไทย    สหรัฐอเมริกาไม่มีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า  ไม่มีระบบสาธารณสุขมูลฐาน    ในขณะที่ไทยมี และได้พยายามพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ    ส่วนระบบสุขภาพอเมริกันเป็นระบบธุรกิจนำ     ในขณะที่ของไทยเป็นระบบรัฐนำ     การระบาดของโควิด ๑๙ ช่วยพิสูจน์ว่า ระบบไหนดีกว่า   

นี่คือระบบการเตรียมพร้อม (preparedness) ที่ต้องพัฒนาอยู่ในระบบตามปกติ  

บทเรียนข้อที่ ๘   สุขภาพเป็นเรื่องของทุกระดับชั้นในสังคม    และทุกภาคส่วน (sector)  

ทุกระดับชั้น คือ โลก  ประเทศ  ภูมิภาคในประเทศ  ชุมชน ต้องร่วมกันทำให้สุขภาพเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาในภาวะปกติ    และร่วมกันดำเนินการเผชิญภาวะวิกฤติยามมีโรคระบาดใหญ่     และทุกภาคส่วน คือรัฐ  ธุรกิจเอกชน  ภาควิชาการ  ภาคประชาสังคม  และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันดำเนินการด้านสุขภาพทั้งยามสงบและยามวิกฤติ   

บทเรียนข้อที่ ๙   ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม    มีความสำคัญยิ่ง    ทั้งต่อความก้าวหน้า และต่อการเผชิญวิกฤติ    ในกรณีของโควิด ๑๙   วิทยาศาสตร์ช่วยมาก   เพราะเราสามารถทำความรู้จักเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้อย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของชีววิทยา    เรา ทำ sequencing เชื้อไวรัส (เป็น RNA virus) และเข้าใจธรรมชาติของไวรัส    และตอนนี้ก็รู้ว่ามีสายพันธุ์ใหม่จากการกลายพันธุ์ที่ติดต่อง่ายขึ้น   เป็นต้น  

ท่านที่สนใจว่า วิทยาศาสตร์ได้สร้างความรู้เรื่องเชื้อ SARS-CoV-2 ไปไกลแค่ไหน อ่านได้ที่ (๒)    ตัวอย่างข้อเสนอในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในประเทศไทยอ่านได้ที่ (๓)  (๔)  (๕)

ที่เป็นมหัศจรรย์ของความสำเร็จของวิทยาศาสตร์คือการพัฒนาวัคซีน   เร่งให้เร็วขึ้นสำเร็จได้ในเวลาเพียง ๑๑ เดือน      

แต่เราก็ได้บทเรียนว่า วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ    ต้องใช้สังคมศาสตร์ร่วมด้วย    ที่ประชุมบอกว่า เมื่อเห็นสภาพ vaccine politics, vaccine inequities แล้ว    ก็เห็นว่าตอนเริ่มพัฒนาวัคซีน ควรมีข้อตกลงเรื่องกติกาการเข้าถึงหรือการกระจายวัคซีนล่วงหน้า   

เรื่องกระจายวัคซีนโควิด องค์การอนามัยโลก และ Gavi หาทางแก้ด้วยกลไก Covax    ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาได้จริง      

สาระในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งมีสาระมาก    ผมสังเคราะห์เอามาเผยแพร่ต่ออย่างย่อ     

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689155เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท