เสียงของแผ่นดิน



"อย่าสุไลลืมถิ่มพงศ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อหาย้องผุอื่นดี"


เสียงของแผ่นดิน

            “เสียงของแผ่นดิน” คำกล่าวของ “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ เรียกขานเสียงลำเสียงแคนของอีสาน ผ่านเสียงร้องเสียงลำของราชินีหมอลำคนแรกของภาคอีสาน “ฉวีวรรณ ดำเนิน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) ปีพุทธศักราช ๒๕๓๖

            พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายคำว่า “หมอลำ” หมายถึง (น.) ผู้ชำนาญในการขับร้องแบบอีสาน สอดคล้องกับ ดร. ฉวีวรรณ ดำเนิน ได้ให้ความหมายของหมอลำไว้ เมื่อครั้งมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในงานศิลปินแห่งสัญจร ปี พ.ศ.๒๕๖๑ ว่า “หมอ” หมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญสาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น หมอแคน หมอยา หมอความ เป็นต้น ส่วนคำว่า ลำ หมายถึง การเปล่งเสียง การขับ การร้องโดยใช้ภาษาถิ่นของตัวเอง

            นอกจากนั้น ดร. ฉวีวรรณ ดำเนิน  ได้แบ่งประเภทของหมอลำออกเป็น ๕ ประเภทใหญ่ ๆ  ได้แก่             

            ๑. หมอลำพื้น เป็นต้นกำเนิดของหมอลำประเภทต่าง ๆ ใช้คนลำเพียงคนเดียวแสดงเป็นตัวละครต่าง ๆ มีอุปกรณ์คือ ผ้าขาวม้า เพียงผืนเดียว ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ ใช้ในการเล่านิทานพื้นบ้าน เช่น ผาแดงนางไอ่ เป็นต้น 

            ๒. หมอลำกลอน หมอลำคู่ หรือหมอลำแคน  เหตุเรียกว่าหมอลำคู่ เพราะเป็นการโต้ตอบระหว่างหญิงชาย เกี้ยวพาราสี แก้ปัญหาธรรม หรือทดสอบปฏิภาณ หมอลำกลอนหรือหมอลำคู่ แบ่งออกเป็น ๓ ทาง  คือ ลำทางสั้น ลำทางยาว และลำทางเต้ย เป็นขนบของหมอลำกลอน

            ๓. หมอลำหมู่ หรือหมอลำเรื่องต่อกลอน พัฒนามาจากหมอลำคู่ จะแสดงเป็นเรื่องราวคล้ายกับลิเกภาคกลาง มีนักแสดงหลายคนเป็นหมู่หรือคณะ แสดงเป็นตัวละครต่าง ๆ เรื่องที่แสดงคือนิทานพื้นบ้านหรือชาดกต่าง ๆ เช่น ท้าวก่ำกาดำ  นางแตงอ่อน  ศรีธนมโนราห์ เป็นต้น  ส่วนหมอลำเพลิน รวมอยู่ในประเภทนี้ด้วย เพียงต่างกันในทำนองขับร้อง  

            ๔. หมอลำพิธีกรรม หรือหมอลำผีฟ้า 
มีความพิเศษแตกต่างจากประเภทอื่น เนื่องจากจัดเพื่อพิธีกรรม ความเชื่อ มิได้ใช้เพื่อการรื่นเริงเช่นประเภทอื่น เป็นสื่อติดต่อกับผีฟ้าช่วยรักษาคนป่วยให้หาย หรือเพื่อแก้บนจากผีฟ้า ปัจจุบัน พิธีกรรมนี้ก็ยังมีอยู่มาก เรียกแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น และทำนองขับร้องแตกต่างกันไป เช่น ชาติพันธุลาว เรียก ผีฟ้า, ลำส่อง, ผีเหย้า หรือลงแถน ชาติพันธุ์กูย เรียก แกลมอ  ชาติพันธุ์เยอ เรียก ฉะเองหรือสะเอง  ชาติพันธุ์เขมร  เรียก แม่มด หรือมะม้วด เป็นต้น

            ๕. หมอลำท้องถิ่น หรือกลุ่มเบ็ดเตล็ด คือหมอลำที่มีอยู่ในภูมิภาคท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น  อีสานใต้ก็จะมีกันตรึม เรือมต่าง ๆ นานา  ถ้าขึ้นไปทางอีสานเหนือ เช่น จังหวัดสกลนคร นครพนม ก็จะมี ลำภูไท ถ้าข้ามไปทางฝั่งลาวจะมีทำนองลำ เช่น  ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ลำสาละวัน ลำสีพันดอน เป็นต้น

            ส่วนหมอลำซิ่ง เป็นการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ จากหมอลำที่ใช้แคนเพียงเต้าเดียวบรรเลง มีการพัฒนาโดยนำเครื่องดนตรีสากล เช่น กลอง เบส กีตาร์ คีบอร์ด มาเพิ่มผสมผสานให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้น           

       ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเพียงไร โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไรก็ตาม ตราบใดที่เรายังกินข้าวเหนียว ตราบใดที่เรายังกินน้ำพริกปลาร้า “หมอลำ” อันเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินอีสาน จะยังคงหล่อเลี้ยงหัวใจบันเทิงของคนอีสานให้สุขล้ำเสียงลำเสียงแคน และคงอยู่เป็นสำเนียงเสียงของแผ่นดินสืบไป

เสียงของแผ่นดิน
หมายเลขบันทึก: 689149เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท