เนรเทศ : ทางเลือกที่เลือกไม่ได้ของคนชายขอบ


“มนุษย์เป็นสัตว์พิการซ้ำซ้อน

ทั้งด้วยความยินยอมและความจำนน

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของคนไทย ทั้งด้านการศึกษา ความเจริญทางเทคโนโลยี และการคมนาคมต่าง ๆ มองเพียงผิวเผินอาจเห็นว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยทั่วไปสมบูรณ์ครบถ้วนดีแล้ว แต่เบื้องหลังภาพเหล่านี้กลับยังมีผู้คนอีกมากที่ประสบกับความอดอยากและทุกข์ยากในชีวิต หนึ่งในนั้นคือคนอีสาน ที่ยังคงประสบปัญหาความยากจน ขาดแคลนทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก จำต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพและครอบครัวโดยเข้าไปเป็นแรงงานยังเมืองใหญ่ที่กว้างขวางพื้นที่แต่คับแคบใจคน

นวนิยาย “เนรเทศ” ของ ภู กระดาษ ได้สะท้อนชีวิตของสังคมอีสานที่ดูเหมือนเป็นการใช้ชีวิตปกติธรรมดาทั่วไปแต่กลับมีที่มาที่ไปที่เป็นวังวน หมุนเวียนจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของชนชั้นทางสังคมและการเมือง บีบบังคับให้คนอีสานต้อง “เนรเทศ” ตนเองจากถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานต่างถิ่นอันห่างไกลอย่างไม่มีทางเลือก

“สายชน ไซยปัญญา” จากบ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษมาทำงานยังโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี หลังจากผ่านพ้นช่วงที่แม่ ลูกสาว และหลานคนสนิทของเขามาอาศัยอยู่ด้วยแล้ว เขาจึงเดินทางไปส่ง ทุกคนกลับจังหวัดศรีสะเกษแต่การเดินทางประสบปัญหาการขนส่งสาธารณะที่ไม่แน่นอนและล่าช้า ทำให้ขณะรอรถเขาได้นึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตต่าง ๆ ทั้งความรักของเขากับภรรยาหรือการเผชิญปัญหาในชีวิตการทำงานและการเดินทางกลับบ้านของเขา เขานึกย้อนถึงความหลังตลอดการเดินทางที่ยาวนานทั้งวัน การเดินทางของเขาและครอบครัวเพื่อกลับไปยังบ้านเกิดนั้นใช้เวลานานเกินกว่าที่ควรจะเป็นมาก ในการรอคอยให้ได้รถที่มีที่ว่างเพียงพอเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ

“เนรเทศ” สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับชนชั้นทางสังคมที่เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นสูงและชั้นกลาง ด้วยโครงสร้างพีระมิดที่บิดเบี้ยว ทำให้ชีวิตของคนอีสานในชนชั้นรากหญ้า เกิดปัญหาเป็นโดมิโน่ที่ล้มทับต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว ความเจริญที่เข้าไม่ถึง ทำให้ขาดสาธารณูปโภคที่จำเป็น สถานพยาบาลไม่เพียงพอและห่างไกล ความยากจนทำให้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ทำให้ความรู้น้อยและไม่เท่าทันโลก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเร่ร่อนไปทำงานต่างถิ่น แต่การขนส่งสาธารณะกลับไม่เอื้ออำนวยและมีไม่เพียงพอ ทั้งยังขาดระบบระเบียบ ความตรงต่อเวลา และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันบ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองขึ้น คนไทยมีถนนหนทางตัดผ่านทั่วถึง แต่ถนนเหล่านั้นกลับเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นที่มีทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการทำธุรกิจหรือขนส่งสินค้ามากกว่าคนชายขอบที่ใช้เพื่อทำมาหากินและกลับบ้านในแต่ละวัน

“เรื่องราวทั้งหมดจบลงแต่เพียงเท่านี้ เรื่องราวต่อจากนี้ไม่ปรากฏต่อไปว่าเป็นเช่นไร ฉะนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่าต่อ จะเป็นคนจินตนาการเติมต่อ และโดยมุมมองของใคร แบบไหน คิดอย่างไรกับผู้ที่จะฟังต่อจากนี้ นับจากนี้ผู้ฟังเป็นแบบไหนและยึดตรงไหนเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องในส่วนเรื่องราวที่ไม่ปรากฏนับจากนี้” (หน้า 19, 156, 237)


นวนิยาย “เนรเทศ” ของ ภู กระดาษ ถือเป็นนวนิยายที่ไม่ได้เน้นโครงเรื่องมีความสนุกสนาน ตื้นเต้น สะเทือนอารมณ์ของผู้อ่าน แต่มุ่งเน้นการสะท้อนสภาพทางสังคม ค้นหา วิเคราะห์ และตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่จำเจของคนอีสาน ผ่านตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งหากผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองเป็นพื้นฐานก็จะทำให้สามารถตีความและเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมีการอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมและวิถีชีวิตของคนอีสาน แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาอีสาน ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับสารที่ต่อเนื่องและไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเนื้อหาได้

แม้ว่าจะไม่ใช่หนังสือที่เน้นอ่านเพื่อความบันเทิง แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้มีการสอดแทรกความตลกขบขันให้กับผู้อ่านบ้างทำให้เนื้อหาไม่หนักและเครียดจนเกินไป นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจในการอ่านเพื่อแสวงหาความรู้ ร่วมกับการแสวงหาคำตอบให้กับข้อสงสัยเกี่ยวกับวัฏจักรที่วนเวียนไม่รู้จบสิ้นโดยไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง สะท้อนเบื้องหลังของโครงสร้างทางสังคมที่ผุพังและถูกมองข้ามหรือมองเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้นวนิยาย “เนรเทศ” เป็นส่วนหนึ่งในการเนรเทศความบิดเบี้ยวของสังคมให้หมดไป

ที่มาภาพ: https://www.goodreads.com/book...


<p></p>

หมายเลขบันทึก: 688996เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท