หลงทางเสียเวลา หลงเลือกการศึกษาเสียอะไร?


ครูเคยแต่ตรวจการบ้านเด็ก มาวันนี้ครูจะต้องถูกตรวจการบ้านบ้าง.. “ครูเขินนะ” เพราะเกรงคนจะรู้ว่าครูก็ขี้เกียจบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ใช่ไหมละ..

หลงทางเสียเวลา หลงเลือกการศึกษาเสียอะไร?

   ในการประชุมกรรมการสภาการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้  มีประเด็นน่าฉุกคิดเกี่ยวกับค่านิยมการเลือกเรียนของลูกหลานเรา  ส่วนใหญ่มุ่งหน้าเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเพื่อรับปริญญา  ถามว่าผิดไหมที่คิดเช่นนี้ 

ไม่ผิดหรอก
แต่เด็กหัวดีมีความพร้อมมีอยู่ประมาณ 30%
ตัวเลขนี้ได้มาจากไหน
เขาว่ามา !!

   นั่นแสดงว่าเด็กหัวดีและหัวขี้เลื่อยต่างมุ่งหน้าเข้ามหาวิทยาลัย ไปแล้วก็เรียนกันถูลู่ถูกัง  ได้ความรู้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ส่วนมากอาจารย์จะช่วยประคับประคองให้ผ่านๆไป  ขืนกั๊กไว้มีหวังป่วนกันทั้งเมือง ไม่เดินขบวนก็หาเรื่องเผาอาคาร อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงเรียนขั้นพื้นฐาน 

สถานการณ์จึงเข้าทำนองขนมผสมน้ำยา
มาแล้วต้องจบ
จ่ายครบจบแน่

   ปัญหาอยู่ที่จบไปแล้วทำอะไรบ้าง  การงานเป็นยังไง  คนล้นงาน ปริญญาเพ่นพ่าน อบต.รับพนักงาน 4 ตำแหน่ง มาสมัครกัน 4,000 คน
ระดับนโยบายมองปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

DSCF2259.JPG

   มีผู้ทรงคุณวุฒิเสนอว่า  อัตราการเรียนระหว่างอุดมศึกษากับอาชีวะศึกษา ไม่สมดุลกัน หมายความว่า เด็กไทยสนใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาถึง70% กลุ่มนี้ภาษาผู้ใช้ผลพวงของการศึกษาเรียนว่า “นายร้อย” มีเด็กสนใจเรียนด้านอาชีวะเพียง30% เรียกกลุ่มนี้ว่า “นายสิบ”  ถ้ากองทัพไหนมีนายร้อยมากกว่านายสิบนึกภาพออกไหมครับ

เอ้อ! มีข้อมูลเพิ่มเข้ามาว่า ประเทศไทยมีนายพลมากที่สุดในโลก  ที่แท้มีที่ไปที่มาเช่นนี้เอง 

    ตลาดแรงงานต้องการนายสิบ70% แต่ค่านิยมไทยได้จูงมือเด็กไปเรียนเป็นนายร้อยเสียหมด ถ้าเป็นการจัดทัพรับศึกเราแพ้ยับแน่ ท่านอมเรศ ศิลาอ่อน ให้ตัวเลขเพื่อการพิจารณาว่า เด็กไทยเรียนอาชีวะเพียง 200,000 คน แต่สนใจเรียนมหาวิทยาลัย 2,000,000 คน ตัวเลขก็จะเป็นสัดส่วนแตกต่างกันอยู่อย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่? 

    ทั้งๆที่รัฐฯพยายามหามาตรการต่างๆมาแก้ไข คณะกรรมการสภาการศึกษาในการประชุมครั้งที่3/2549 เห็นชอบให้ขยายการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยร่วมมือกับสถานประกอบการ รัฐฯได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนสถานศึกษา 10.000 บาทต่อนักศึกษาสหกิจ 1 คน  มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการรวมจำนวน 62 แห่ง นักศึกษาจำนวน 12,516 คน  จะเห็นว่าแม้เราจะมองเห็นปัญหาและลงมือแก้ไข เราก็ทำได้ในระดับยี่หยักยี่หย่อน  เด็กไทยก็เมินไม่สนใจดูดำดูดี  ครูแนะแนวเองไม่สนองนโยบายเรื่องนี้  พยายามชี้นำให้เด็กเรียนต่อเพื่อจะได้คงจำนวนนักเรียนไปรับค่าหัว  โดยไม่นึกถึงหัวอกประเทศชาติเลยนี่นะ

   ถ้าเราคิดกันได้แค่นี้ก็สมควรแล้วละ  ที่อนาคตเด็กไทยจะตกอยู่ในอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง   เรื่องนี้มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิเสนอกรณีตัวอย่างประเทศสิงคโปร ประเทศนี้มีนโยบายชัดเจนว่า  เขาเตรียมที่เรียนให้เด็กสายมหาวิทยาลัยไว้ 30% แล้วมาเตรียมที่เรียนสายอาชีวะ70% เห็นไหมครับว่าประเทศที่เป็นมวยนั้นเขามีนโยบายชัดเจน ลงทุนไปแล้วไม่สูญเปล่า  ทุกคนมีงานทำแน่นอน  เขาไม่ลงทุนการศึกษาทิ้งๆขว้างๆ  (ถึงขว้าง ก็ขว้างงูไม่พ้นคออยู่ดี)
มาวันนี้เราได้ยินคำว่า.. 


 คุณธรรมนำวิชาการ  จะนำไปทางไหนขอรับ

วิชาการจะได้ตามไปถูก

   หรือจะเข้าทำนองมากับพระ เดินตามพระ อาศัยพระ นี่ไม่ใช่ตั้งใจมาป่วนนะครับ  เพราะคุณธรรมในหลักสูตร คุณธรรมในโรงเรียน คุณธรรมในระบบการเรียนการสอนยังไม่เป็นที่ปรากฏชัด วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมสอนกันกี่หน่วยกิจ  มีคะแนนให้ไหม ถ้าไม่มีคะแนนไม่มีผลต่อการสอบ รับรองเรียนร้อยโรงเรียนจีน เงียบๆหงิมๆกันต่อไป  ไม่มีอะไรในกอไผ่หร๊อก พูดให้ตาย สั่งให้ตาย ตั้งความหวังไว้ให้ตายก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ  ..จะต้องมีอะไรมากกว่านั้น สังคมไทยวันนี้  มีคำถามว่าทำแล้วตัวอีฉันจะได้อะไร  ไม่ง่ายเลยสักนิด ที่จะปกป้องไม่ให้ใบสั่งเป็นใบสั่งเสีย..

   ทำอย่างไรเด็กไทยจะหันมาสนใจเรียนอาชีวะ
ชาวอาชีวะมีการเตรียมการเรื่องนี้อย่างไร
จะแต่งองค์ทรงเครื่องทันสมัยไหม
ภาพรวมโดนใจหนุ่มห้าวสาวเฮ๊วแค่ไหน
จุดขายเปลี่ยนไปจากเดิมแล้วหรือยัง


   โจทย์ทะลุกลางปล้องนี้  ง่ายๆสั้นๆ แต่นักพัฒนานโยบายตกม้าตายมานักต่อนักแล้ว  เอาแค่จะให้เด็กเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือ ท่านเลขาธิการเขตพื้นที่การศึกษา  เสนอว่าจะสั่งการให้โรงเรียนทุกแห่งปรับหางเสือให้เหไปตามนโยบายดังกล่าว   แต่ครูไทยหัวใจช้ำชอก  เหนื่อยหน่ายกับคำสั่ง  เบื่อและเอือมกับการรับคำสั่งจนไม่เป็นอันทำงาน  มีคนพูดว่า  การใดก็ตามถ้าสั่งด้วยใจ จะได้ผลกว่าใบสั่ง  ทำได้ไหมนะ..ที่ระบบราชการจะสั่งงานด้วยน้ำใจแทรกไว้ในใบสั่ง 

   ท่านเลขาธิการ สมศ.บอกว่าครูไทยเบื่อคำว่า “รูปแบบ”

แต่มีผู้สันทัดกรณีแย้งว่า ไม่จริงหรอก

แท้ที่จริงแล้วครูไทยเบื่อ“การประเมิน”  เพราะมันไม่ค่อยจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมครู  ครูเคยแต่ตรวจการบ้านเด็ก มาวันนี้ครูจะต้องถูกตรวจการบ้านบ้าง.. “ครูเขินนะ” เพราะเกรงคนจะรู้ว่าครูก็ขี้เกียจบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ใช่ไหมละ..

เรื่องนี้คงต้องหาทางออกที่เข้าท่าเข้าที 

ท่านใด รู้วิธีทำให้ครูชอบการประเมินยกมือขึ้น!

   แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษามานานแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกิจกรรมการเรียนรู้กันขนานใหญ่ที่ปรากฏผลอยู่บ้าง แต่ที่ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ การเน้นเนื้อหาทั้งที่เป็น text และ content ซึ่งผู้เรียนต้องยึดถืออย่างแน่วแน่ กอบโกย และละเมิด “บท” ที่กำหนดไว้มิได้
อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนเหลิงเกิดความประมาท คือกลุ่มคนที่แวดล้อม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแฟนคลับ  ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมกินร่วมเที่ยว  ซึ่งพร้อมที่จะสรรเสริญเพื่อฉกฉวยประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องของตน อาการลักษณะนี้มีให้เห็นอยู่บ้างในผู้บริหารสถานศึกษา พอได้รับการกระจายอำนาจ ก็นึกว่าเขายกอำนาจให้ทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ อาจารย์ใหญ่ผมอธิบายไว้ว่า ความประมาทจึงทำให้เราตกอยู่ในสภาพของนนทุก ..เมื่อนนทุกมีนิ้วเพชร ชี้ตรงใครก็ตายหมด เกิดความลำพองใจ กำเริบ เสิบสาน หลงอำนาจ ในที่สุดก็ประมาท ร่ายรำชี้อกตนเองตาย
 
   จึงมีคำถามว่า..

   หลงชี้หลงทางหลงทิศเสียเวลา

  หลงการศึกษาเสียอะไร?     

หมายเลขบันทึก: 68894เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
ก็เห็นด้วยนะครับว่าปัญหานี้ปัญหาใหญ่เหมือนกัน คนหันไปเรียนสายอุดมศึกษา สายสามัญกันมากทำให้เกิดปัญหาเรื่องแรงงานคุณภาพสูงหรือช่างเทคนิคที่มีความชำนาญการ อาจจะด้วยภาพลักษณ์ของ อาชีวะที่ไม่ดีพอ ทำให้พ่อแม่หรือตัวเด็กเองแหย่ง ๆไม่อยากไปเรียน จึงไปเรียนในระดับอุดมศึกษาแทน และก็หลาย ๆ คนไม่ได้คณะดั่งที่ใจหวัง ทำให้บัณฑิตหลาย ๆ ท่านที่จบมามีปริมาณเกินความจำเป็น กลายเป็นพีรามิดหัวทิ้มคือมีคนบริหารมาก แต่มีคนสร้างน้อย นั้นเอง

ขอบคุณ ครูบาสุทธินันท์ ครับ ชัดเจนและให้โจทย์ที่โดนใจมากครับ เป็นเรื่องของชาติบ้านเมืองที่จะทำกันเล่น ๆ เหมือนการเมืองไม่ได้ ถ้าไม่คิดการณ์ไกลอนาคตบัณฑิตไทยน่าเป็นห่วง การจบไม่สัมพันธ์กับความต้องการกำลังพลของประเทศ หลงทางเสียเวลา หลงการศึกษา.....เสียอนาคต (ทั้งตัวผู้จบการศึกษา และชาติบ้านเมือง) ครับ

เรียน อาจารย์ พิเศศ, อ.ดิศกุล เมื่ออ่านแล้ว ควรช่วยกันคิดต่อ คิดดังๆ!!! คิดให้เป็นพลังไปสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
อาชีวศึกษา กับอุดมศึกษา มีทั้งความเหมือนและความต่าง  เหมือนตรงที่สร้างชีวิตให้ผู้คน ต่างตรงสร้างเส้นทางให้คนเดิน เอาคนเมืองหนาวมาอยู่เมืองร้อน จึงเกิดการนอนอาบแดด การศึกษาคงจะเป็นเช่นนี้อีกนาน ยกเว้นทุกคนร่วมคิด ร่วมทำอย่างจริงจัง (เสียที)
จะให้คนไทยร่วมคิดร่วมทำ อย่างจริงจัง ยังหาวิธีไม่ค่อยได้ เว้นแต่จะเอาลาบเลือดมาตั้งให้โจ้กัน ไม่ยังงั้นมารวมกันยาก แต่ถ้าให้คิดเรื่องไปคนละทิศละทางเพื่อที่จะไม่ทำอะไร หาตัวจับยากเหมือนกัน ผ.อ. ต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นโอกาส ที่จะทำ เม็กกะโปรเจ็คที่เม็กดำ
  •  ตรงประเด็น และตำตา เลยครับ
  • เห็นด้วยกับคุณพิเศศ ที่เปรียบการศึกษาของไทย เป็นพีรามิตหัวทิ่ม ครับ 
  • เมืองไทยนักวิชาการเยอะ จึงพูดกันไม่ค่อยลงตัว (กลัวเสียเชิง) จึงไม่ค่อยเกิดร่วมมือในการทำงานครับ เพราะคนคิดมีมาก แต่คนทำงานมีน้อย ครับ
อ.ศักพงศ์ ครับ จัดอาบแดดทางการศึกษาสักวันดีไหม? จัดตอนหนาวๆนี่แหละ อาบกันให้ล่อนจ้อนไปข้างหนึ่ง จะได้เปิดรูขุมขนให้ความรู้แทรกเข้าไปได้บ้าง

ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากครอบคร้วด้วยนะครับ อย่าว่าแต่นับไปขั้นอาชีวะ อุดมศึกษา เลยครับ  ระดับอนุบาล ประถม  ก็เป็นการกำหนดเส้นทางเดินชีวิตของเด็กแล้ว ว่าจะเลือกอย่างไร?  อันนี้พ่อแม่(ที่หวังดีเกินเหตุ) กำหนดให้ป้าบบบบ!!!  มันถึงหลงทางบ้างถูกทางบ้าง  

ผมคนหนึ่งที่เรียนมาทางสาย อาชีพครับ ผมบอกได้เลยว่าเด็กที่จบในระดับ ปวช ในสาขาที่ผมเรียนนี้สามารถทำงานได้ในระดับที่เด็กจบจากปริญญาตรีเลยทีเดียว แต่สิงที่ศุนย์เสียไปคือความรู้พื้นฐานทางด้านสายสามัญที่ไม่แน่นมาก ซึ่งผมเห็นว่าถ้าเด็กที่เรียนสายอาชีพ เก่งเรียนเรื่องอาชีพแล้ว เสริมวิชาทางด้านเป็นวิชาการหลัก ที่เป็นแกนหลักโดยให้เขาเลือกเรียน อาจจะไม่ต้องมีคะแนน หรือเกรด คือเป็นวิชาเลือกแบบเสรีจริง ๆ ไม่ใช่ บังคับเลือกและเลือกบังคับ ไม่แน่วัยรุ่นอาจจะชอบก็ได้ คราวนี้ก็ทำให้ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของสาขอาชีวะว่าไม่เก่งเท่าสายสามัญอาจลดลงก็ได้
ผมกับพิเศศ เดินมาทางสายเดียวกัน เรียน ปวช ปวส และปริญญาตรีที่ลาดกระบัง ผ่านการเรียนจากการปฏิบัติจริง สอบจริงคือต้องทำได้จริง ถึงไม่เก่งวิชาสามัญ แต่ทุกคนก็ยิ่งใหญ่บนเส้นทางของตัวเอง เผื่อแผ่ถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ได้อย่างภาคภูมิ กระบวนการจัดการศึกษาในปัจจุบันก้าวข้ามสิ่งดีๆในสังคมไทยไปเอาสิ่งที่คิดว่าดีกว่ามาใช้ ลูกหลานไทยวันนี้จึงเป็นเช่นนี้

 

  ถ้าคนแต่ละคน ค้น ตัวตนให้เจอ

  เหมือนในรายการทีวี."คนค้นคน"

  คนนั้นๆ  คนไหนๆ ก็เป็นคนที่มีความหมาย

 ความสำคัญไม่แพ้กันหรอก

 ไม่ว่าจะมาจากสายไหน

  ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าตรงกับสาย เหมาะกับศักยภาพ

  ของแต่ละคน คนก็จะไม่หลงคน หลงโลก หลงอนาคต

          ตอนนี้กำลงัเกิดมหกรรมแย่งเด็ก  เพราะผู้บริหารมัธยมไม่ยอมให้เด็กไปสมัครเรียนอาชีวะ เพราะกลัวค่าหัวลด

          แล้วเมืองไทยจะไปไหนได้ ในเมื่อคิดได้แค่นี้

          สงสารเด็กตาดำ ๆ

  • ดีนะที่รีบลาออกจากมัธยมศึกษา
  • ว่าจะกลับไปทำนาดีไหมครับ
ชอบใจข้อเขียนท่านมากครับ ประสบการณ์ตรงของผม ตอนนี้ลูกกำลังเรียนจบ ม. 6 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สงสารลูก เพราะเป็นเดือนแล้วที่ต้องตระเวนไปสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ถ้าเรียนเก่งหน่อยก็ดีไป เพราะสอบที่ไหนก็ติด แต่ถ้าเรียนแย่ เด็กแทนจะฆ่าตัวตาย สอบที่ไหนก็ไม่ติด ยังไม่ได้พูดถึงผู้ปกครองนะครับ เตรียมเงินไว้ให้ลูกไปสอบ ทั้งค่าสมัคร ค่าใช้จ่ายในการไปสอบ มากมาย  ยังไม่จบแค่นั้นครับ มีการสอบกับหลายรอบ ทั้งโควต้า ทั้งสอบตรง ทั้งอะไรต่อมิอะไร และยังมีรอบสุดท้าย คือเก็บตกอีกครับ อาจจะมองว่าดี แต่ไม่สนุกเลยครับ สำหรับพ่อแม่ที่หาเช้ากินค่ำ ทุกวันนี้ การศึกษาต้องซื้อด้วยเงินครับ แล้วรัฐบาลจะพัฒนาประเทศได้อย่างไรครับ ต้องการให้คนฉลาด แต่ต้องแลกด้วยเงิน ที่จ่ายโดยใช่เหตุ เนื่องจากระบบที่สับสน นี่ยังไม่รวมค่าเรียนพิเศษอีกนะครับ เข้าทำนอง ยิ่งจนยิ่งโง่
    พยายามบอกลูกว่า อย่าไปคิดอะไรมาก อย่าเลือกมาก เรียนที่ไหนก็ได้ อนาคตไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยดีๆ หรือต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็มี เรานะ คิดได้ครับ แต่เด็กเขาไม่ได้คิดอย่างเรา ผมว่า อยากจะให้ผู้บริหาร ลองย้อนกลับมามีชีวิตเด็กมัธยมในสมัยนี้อีกสักครั้งคงจะดีเหมือนกันครับ จะได้พบกับปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่รายงานในห้องประชุม

ผมคิดว่า ประเทศเรายังขาดนโยบายการศึกษาที่ทุกคนเข้าไม่ถึง ขาดการมีส่วนร่วมทั้งผู้เรียน ผู้ปกครอง แม้แต่ผู้สอน มีนโยบายมาแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร(ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ก็ให้หากินเอาเอง)พอได้เค้าลางจะเข้าท่าเข้าทาง ก็เปลี่ยนอีกแล้วและอีกเรื่องผู้สอนยังขาดความหลงไหลในวิชาชีพ ยึดติดผลประโยชน์ไม่เหมือนครูโบราณ ที่ยึดถือเอาความเจริญงอกงามของศิษย์เป็นที่ตั้ง ตัวแปรเดียวของสมการนี้ ก็คือ ครู ละครับ

เพราะต้องยอมรับว่า ผู้เรียนจะสนใจวิชาชีพหรือไม่ เกิดจากคำแนะนำของครูมากกว่าผู้ปกครอง ในสังคมครอบครัวทำงานตัวเป็นเกลียวตัวหนอน

เพราะค่านิยม และความเป็นจริงทางสังคมไทยครับ ผมจบอาชีวะ อยากต่อวิศวใจจะขาดแต่พ่อไม่มีเงิน แต่ความสามารถกินขาดวิศวกรแต่ไม่ก้าวหน้าทางการงานเพราะเค้าวัดกันตรงวุฒิ ถ้าวัดกันตรงความสามารถจะมีคนเรียนอาชีวะอีกแยะ เมืองไทยทำตรงนี้ได้ไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท