วันนี้โชคดี


เมื่อดูในบัตรประจำตัวประชาชน มีคำว่า "ศาสนาพุทธ" ปรากฏอยู่ แต่เมื่อพิจารณาการดำเนินชีวิตของตัวเอง ผมไม่มั่นใจว่า "ศาสนาพุทธ" มีอยู่ในใจมากน้อยแค่ไหน และถ้าบอกว่า "การนับถือ" ไม่ได้หมายความว่าฉันจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศาสนาหรือไม่? หากแต่ยอมรับว่าศาสนาไม่ได้เลวร้ายอะไร อันนี้มีความเป็นไปได้

ผมอาจแตกต่างจากเพื่อนหลายๆคน เพื่อนบางคนยังคงทำหน้าที่ในการถวายความรู้กับพระภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา เพื่อนบางคนได้ทำบุญเลี้ยงพระ/ใส่บาตรพระทุกสัปดาห์ และเพื่อนบางคนได้ปฏิบัติธรรมที่วัดทุกวันโกนวันพระ แต่ผม "เปล่าเลย" ยังคงยึดติดอยู่กับนักบวชในอุดมคติ ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือว่าเป็นความโชคดีสำหรับผม เพราะสิ่งที่ปรากฏกับนักบวชในอุดมคติมีความสอดคล้องกัน และวันนี้ถ้าผมตายในทันที ไม่แน่ผมอาจได้ขึ้นสวรรค์ แต่ที่รู้ๆเช้านี้ที่ทำให้ผมได้มาบันทึกอีกครั้งหนึ่งเพื่อเก็บไว้อ่านทบทวนคือ สวรรค์และ/หรือความโชคดีเกิดกับผม แม้มันจะเป็นสิ่งเล็กน้อยที่หลายๆคนทำกันเกร่อแต่มันทำให้หัวใจพองโตในช่วงเวลาหนึ่ง

๓ วันมานี้ผมไปซื้ออาหารที่โรงพยาบาลเพื่อเก็บ (คดห่อ) ไว้กินในช่วงเที่ยง เช้าวันนี้ก็เช่นกัน เมื่อเดินลงไปลานร้านค้า เห็นพระภิกษุตัวเล็กๆ หน้าตาสูงอายุ ห่มผ้าเป็นปริมณฑลยืนนิ่งที่ข้างโต๊ะ "สำหรับพระภิกษุ" คล้ายกับว่าต้องการอะไรสักอย่างภาพที่เห็นนี้เชื่อมโยงไปถึงภาพของอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวเล็ก แข็งแรง ผิวคล้ำ การยื่นบ่งชี้ถึงความสำรวมและความมักน้อย (เดี๋ยวจะกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง)

ปกติผมจะเป็นคนบาป รีบซื้ออาหารแล้วรีบไป ด้วยความคิดว่า "อย่าอยู่นาน ต้องรีบไปทำงาน" แต่วันนี้รับรู้ว่า พระภิกษุรูปนี้ต้องการอะไรบางอย่าง จึงเดินเข้าไปสอบถาม พร้อมกับประนมมือด้วยใจอ่อนน้อม "ท่าน (คำว่าท่านเป็นคำเรียกด้วยความเคารพในภาคใต้ชนบท บางแห่งเรียกอาจารย์ บางแห่งอย่างนครเรียกต้นฯลฯ) จะฉันอาหารเช้าใช่ไหมครับ" พระภิกษุรูปนี้นำมือออกจากชายผ้าระหว่างพุง มือที่ยื่นออกมาประมาณ คืบหนึ่ง พร้อมกับแบงค์ร้อยจำนวน ๑ ใบ (การยื่นเงินออกมา ผมรับรู้ว่า เหมือนไม่อยากแตะเงินแต่มันจำเป็น) ขณะที่สายตาบ่งถึงจะฉันอาหารซึ่งผมรับรู้ด้วยใจและบริบทลานอาหารและโต๊ะที่ท่านยืนสงบอยู่ ผมตอบท่านว่า "ผมขอปวารณาตัว หากท่านต้องการฉันสิ่งใดขอให้นิมนต์บอกได้ครับ" การพูดแบบนี้มาจากการเรียนวัฒนธรรมทางศาสนา การที่พระภิกษุจะระบุว่าต้องการอะไรได้ก็ต่อเมื่อมีคนปวารณา คำว่าปวารณามีความหมายคร่าวๆว่าการยินดีทำให้... แต่ท่านไม่บอกว่าฉันอะไร และผมก็บอกว่า "เดี๋ยวผมถวายเองครับ ท่านฉันอะไรไม่ได้บ้างหรือไม่ครับ" คำนี้มาจากความคิดว่า พระที่มาโรงพยาบาล แสดงว่าต้องมีโรคบางอย่าง พระบางรูป หมอห้ามฉันอาหารรสจัด พระบางรูปหมอสั่งให้ฉันเฉพาะอาหารย่อยง่าย เป็นต้น ท่านบอกให้ทราบว่า ไม่มี (ในความหมายว่า โรคที่ท่านเป็นอยู่ หมอไม่ได้ห้ามอะไร) "ถ้าอย่างนั้น ขอนิมนต์ท่านนั่งนะครับ เดี๋ยวผมจะไปเตรียมอาหารถวาย" 

ผมเดินไปที่ร้านอาหารพร้อมกับสั่งข้าวผัด ๑ จาน และกับข้าวแยกกันจำนวน ๒ อย่าง พร้อมกับนำมาวางที่โต๊ะท่านและประเคน (ยกสองมือให้ท่านรับ หากเป็นหญิงต้องวางบนผ้าที่ท่านวาง อันนี้เป็นวินัย/กฎหมายของพระจากพุทธบัญญัติ) ข้าวผัดเป็นอันดับแรก แต่เมื่อผมยกกับข้าวจะถวายท่่าน ท่านบอกว่า "เท่านี้พอแล้วโยม" สายตาและน้ำเสียงสอดคล้องกัน สิ่งนี้คือสิ่งแรกที่บอกถึง "ความมักน้อย" คือ การรับแต่พอประมาณ (โภชเน มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภค) แต่ผมก็บอกว่า "ไม่เป็นไรครับท่าน เหลือไม่เป็นไรครับ" (ความคิดคือ ชาวบ้านเขากินกันแบบเหลือกันเป็นปกติ การอยู่กับวิถีแบบบ้านๆแบบนี้ ทำให้เราลืมวัฒนธรรมแบบพุทธเพราะเราอ่อนแอ) เมื่อผมประเคนเสร็จ ท่านบอกว่า "เดี๋ยวโยมรับพรนะ" ผมบอกท่านว่า "ท่านฉันไปพลางนะครับ เดี๋ยวผมไปหาของหวานและน้ำก่อนครับ" ท่านไม่พูดอะไร (มาตอนนี้ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ ทำให้ผมรับรู้ตัวเองว่า ผมเริ่มเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ การเจ้ากี้เจ้าการเพราะเราอยากทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุด ขณะที่พระคุณเจ้าอยู่แบบง่าย ไม่รบกวน ไม่ยุ่งยาก) ผมไปต่อแถวเพื่อซื้อของหวาน แต่รอหลายคนจึงไปเตรียมผลไม้ พร้อมกับน้ำดื่ม มาถวายท่าน สิ่งที่พบคือ "ท่านยังไม่ฉัน" ท่านรอให้ผมเตรียมให้เสร็จ และสิ่งที่ผมพบบนโต๊ะคือ ท่านตักกับข้าวผมลงในจานข้าวผัดแล้ว แต่ยังไม่ฉัน หลังจากท่านรับประเคนน้ำและผลไม้เสร็จ ท่านบอกว่า "ในจานกับข้าวนี้ อาตมาแบ่งมาแล้วโดยช้อนกลาง ขอให้โยมเอาไปเถอะ" ผมตอบท่านว่า "ได้ครับ" แต่สิ่งที่ผุดในใจของผมคือ พระคุณเจ้าไม่ทำศรัทธาเทยย์ให้ตก (ศรัทธาเทยฺยะ  = สิ่งที่ชาวบ้านถวายด้วยความศรัทธา / ศรัทธา = ความเชื่อในพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์) ท่านชี้ให้ผมนั่งที่เก้าอี้ตรงข้ามท่าน "โยมรับพรด้วย" แต่ผมไม่นั่ง ผมนั่งบนส้นเท้าบนพื้นและประนมมือรับพร เมื่อท่านรับพรเสร็จ ผมถามท่านว่า "อาจารย์อยู่ที่ไหน" ท่านตอบว่า "อยู่วัดท่ามิหรำ" ผมคิดในใจ "ท่ามิหรำ น่าจะพัทลุง" จึงถามว่า "พัทลุงใช่ไหมครับ" "วัดท่ามิหรำ ห่างตัวเมืองพัทลุงไม่ไกล" "ท่านมาโรงพยาบาลด้วยโรคอะไร" "โรคความดัน หมอนัด แต่วันนี้มาเร็วหน่อยหนึ่ง" ระหว่างที่คุยนั้น ผมสังเกตว่า ท่านั่งของท่านสำรวมมาก จีวรไม่สะบัด รวบเป็นระเบียบ นั่งนิ่ง พูดจาสำรวม สวมใส่รองเท้าเก่าๆ หัวเข่าหนีบชายผ้าแบบเรียบร้อย ฯลฯ ระหว่างที่คุย ท่านยังไม่ฉันข้าว มีระเบียบของพระสงฆ์อย่างหนึ่งคือ ไม่คุยขณะฉันข้าว แต่ดูเหมือนท่านอยากบอกอะไร เท่าที่รับรู้ท่านอยู่วัดท่ามิหรำ พัทลุง ท่านบวชไม่นานเท่าไร (บวชไม่นานเท่าไร บวชตอนแก่แต่สำรวมแบบนี้คือว่า โอเค) ก่อนบวชท่านได้สร้างวัด สร้างศาลา หลังจากบวช เวลานี้กำลังสร้างเจดีย์อยู่ ผมสังเกตว่า สิ่งที่ท่านบอกท่านกำลังภาคภูมิใจ (แต่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจอย่างที่จิตวิทยาบอก ไม่ใช่ความภาคภูมิใจแบบตาวาว หากแต่ความอิ่มบุญ อันนี้คิดเอง) ในใจอยากสนับสนุนเงินสัก ๕๐๐ (เท่าที่มี) แต่อีกใจคิดว่า อาจไม่เหมาะกับการทำแบบนี้ในเวลาและสถานที่แบบนี้และพระคุณเจ้าแบบนี้ จึงบอกท่านว่า หากมีโอกาสผมจะไปที่วัดครับ "เจริญพรโยม" เมื่อเห็นว่าท่านยังไม่ยอมฉันข้าว ผมก็เลยตัดบทว่า "ผมต้องขอตัวก่อนนะครับ ผมต้องไปสะสางงานแล้ว" "เจริญพรโยม" ผมเดินออกมาพร้อมกับความรู้สึกหัวใจพองโต และอยากบันทึกความโชคดีเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของผมไว้ ผมทบทวนความคิด วันนี้โชคดีเจอพระสำรวมและมักน้อย ทำให้คิดถึงอดีตเจ้าคณะจังหวัด ๒ รูปคือ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช (ภากร ฐิตธมฺโม) ท่านมรณภาพแล้ว และอดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร (องอาจ ฐิตธมฺโม) ยังมีชีวิตอยู่

๒๕๖๔๐๒๐๔

๐๙.๔๕ น.

หมายเหตุ "การพยาบาลภิกษุไข้เท่ากับการอุปัฏฐากพระตถาคต" (พุทธพจน์)

หมายเลขบันทึก: 688741เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2021 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2021 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท