ตราชูชีวิต



หนังสือ Lifescale : How to Live a More Creative, Productive, and Happy Life(2019) เขียนโดย Brian Solis แนะนำวิธีมีชีวิตที่ดีในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวนสมาธิ  

เทคโนโลยีก้าวหน้า ให้ความสะดวกมากมายในชีวิต    และในขณะเดียวกัน ก็รบกวนชีวิตที่ดีด้วย    มนุษย์ยุคนี้จึงต้องรู้วิธีเลี่ยงหรือผจญเทคโนโลยี    ให้ไม่ถูกกระทบทางลบ    ซึ่งหลายส่วนเราไม่รู้ตัว  

ทำให้ผมสะท้อนคิดว่า ชีวิต ๗๙ ปีของผม เริ่มด้วยการเผชิญความแร้นแค้น ยากไร้ ในชีวิตชนบท ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒    ลงท้ายด้วยการเผชิญความอุดมครบครันมากล้น    ที่เห็นชัดว่าทั้งสองสภาพมีทั้งคุณและโทษ   

คนเราจึงต้องเรียนรู้ทักษะในการมีชีวิตที่ดี ในแต่ละยุคสมัย     

Brian Solis ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นนักวิเคราะห์ด้านดิจิทัล ว่าเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร    คำแนะนำสุดท้ายคือ เราต้องเป็นผู้กำกับสภาพแวดล้อมของตัวเราเอง    อย่าปล่อยให้เทคโนโลยีเข้ามากำกับ หรือครอบงำ    เราต้องรู้วิธีปลดปล่อย หรือป้องกันตัวเราเอง จากการครอบงำโดยเทคโนโลยี   

อ่านแล้วผมคิดต่อว่า    การครอบงำอีกมุมหนึ่ง มาจากภายในตัวเราเอง    คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย    หากเราปลดปล่อยตัวเองออกจากมันได้    ชีวิตเราก็จะเป็นอิสระ เบาสบาย     

หนังสือแนะนำวิธีมีชีวิตที่พอดี มีสมดุล ดั่งตราชู    ไม่ถูกถ่วงน้ำหนักไปข้างเทคโนโลยีที่เข้ามาเร่งเร้าครอบงำ     เริ่มด้วยการมีเป้าหมายยิ่งใหญ่(purpose) ในชีวิต   ที่จะช่วยเตือนสติให้เรามุ่งมั่นอยู่กับเรื่องที่เป็นสาระเท่านั้น    ไม่ถูกดึงดูดไปสนใจหรือทำสิ่งที่ไร้สาระ   โดยต้องเข้าใจว่า เทคโนโลยีดิจิทัล ได้รับการออกแบบให้มาล่อใจเราโดยเฉพาะ    มัน มีฤทธิ์วิ่งมาชนเรา มาเรียกร้องความสนใจของเรา    ทำลายสมาธิจดจ่อต่อเรื่องที่เรากำลังทำ โดยเราไม่รู้ตัว     ยิ่งโซเชี่ยลมีเดีย ยิ่งร้าย   

เราจึงต้องมีทักษะปกป้องตนเอง จากการดึงดูดความสนใจนี้     

เทคนิคแรกคือ ขจัดการผัดวันประกันพรุ่ง(procrastination)    ด้วยการจัดทำรายการกิจกรรมประจำวัน (to-do list) และบอกตัวเองว่า นี่คือตัวช่วยสู่ชีวิตที่ดี    จินตนาการให้เห็นว่า การทำงานเหล่านั้นให้เสร็จจะก่อผลดีแก่ชีวิตอย่างไร   โดยรายการของแต่ละวันเริ่มด้วยเรื่องสำคัญที่สุดก่อน    เพราะช่วงเช้าเป็นช่วงที่สมองโปร่งที่สุด    และระหว่างปฏิบัติงานปิดโทรศัพท์ จนกว่างานจะเสร็จ   

หากงานชิ้นใหญ่ ให้ใช้ Promodoro Technique ในการทำงาน    ผมใช้เทคนิคนี้ตั้งแต่อายุ ๑๓ - ๑๔ ปี และใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน   

ชีวิตแต่ละวันต้องมีสีสัน    เพื่อความสดชื่นของจิตใจ    ทำให้การทำงานหรือการเรียนเป็นเรื่องที่มีสีสัน ด้วยการใส่ความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) เข้าไป    หาวิธีทำงานใหม่ๆ  หรือการบรรลุผลที่ไม่ธรรมดา     เอามาท้าทาย ที่เมื่อสำเร็จก็เกิดปิติสุข    ไม่สำเร็จก็เกิดการเรียนรู้ และเป็นการบ้านสำหรับโอกาสต่อไป        

หาเป้าหมายในชีวิต เพื่อทำให้ทุกขั้นตอน ทุกกิจกรรมในชีวิต มีความหมาย  หรือมีคุณค่า     เพื่อให้ชีวิตอบอวลไปด้วยความรู้สึกดีๆ เช่นสนุก  ภาคภูมิใจ  รัก    เป็นความสุขในมิติที่ลึกและยั่งยืนถาวร   

ฝึกเจริญสติ เพื่อให้จิตระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ    เป็นจิตที่เข้มแข็ง ไม่วอกแว่กง่ายจากแรงดึงดูดจากภายนอก    และไม่ฟุ้งซ่าน จากเสียงภายในตนเอง

เมื่อมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เลยผลประโยชน์ส่วนตน    พลังสู่การบรรลุเป้าหมายนั้น คือความมานะพยายมอดทนขยันหมั่นเพียร    ที่เติมพลังด้วยการคิดบวก (positive mindset)  และทำตามความคิดนั้น    โดยทำในลักษณะ deep work พุ่งพลังใจพลังสมองไปที่สิ่งนั้น    หรือกล่าวว่า ทำงานด้วยใจจดจ่อ  

ผมขอเพิ่มเติมจากประสบการณ์ชีวิตของตนเองด้วย    ว่า ต้องให้รางวัลตนเองเป็นระยะๆ    เมื่อบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายรายทาง    เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ม.ค. ๖๔

       

หมายเลขบันทึก: 688735เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2021 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2021 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป้าหมายที่แก้วทำตอนนี้ 2564 คือ ทำให้คนอื่นโดยไม่หวังผลกับตนเอง แต่ต้องตอบแทนตนเองเป็นระยะโดยทำสิ่งที่ชอบ ออกกำลังกายเพื่อให้ตนเองแข็งแรงไม่เป็นภาระกับใคร

การผัดวันประกันพรุ่ง(procrastination) กำลังขจัดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท