ทำนายมหาวิทยาลัยในอนาคต



เว็บไซต์ University World News  ลงเรื่อง Prediction for higher education worldwide for 2021 เขียนโดย Marguerite J Dennis  (1)  น่าอ่านมาก    เขาเอ่ยถึงการทำนายย้อนหลัง ๑๖ ปีของเขา ว่าทำนายไว้อย่างไร เพื่อให้เราตัดสินเอง ว่าเขาทำนายได้แม่นแค่ไหน    แล้วทำนายสภาพมหาวิทยาลัยในปี 2021 และในอนาคต   

ผมเขียนบันทึกนี้เพื่อเถียง หรือตั้งคำถามว่า ประเด็นไหนที่สำคัญต่ออุดมศึกษาไทย    เพราะเรื่องการศึกษามีความซับซ้อนสูงมาก    ฝรั่งเขาเขียนจากประสบการณ์และมุมมองของเขา    บางเรื่องก็ใช้ได้ต่อเรา    แต่บางเรื่องก็ไม่ตรงบริบทของเรา    เราต้องไม่เผลอเชื่อตามเขาโดยไม่คิดให้รอบคอบ   

เรื่องทำนายมหาวิทยาลัยในอนาคต ประเทศไทยเราก็ทำนะครับ    โดยโครงการวิจัย คนไทย ๔.๐ (๒)    ที่นำโดย ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด สนับสนุนให้ ๓ มหาวิทยาลัยหลักในภูมิภาคดำเนินการ    และมีการนำเสนอผลงานเบื้องต้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ที่เชียงใหม่ (๓)

จะเห็นว่า คำทำนายใน (1)  มี โควิด ๑๙  และไอที เป็นพระเอก    ที่น่าสนใจมากคือเขาทำนายว่า ต่อไป vision planning   จะเกิดขึ้นตีคู่กับ strategic planning อันนี้ตรงกับความเชื่อของผมว่า    ในการทำหน้าที่ management  และ    governance ต่อองค์กรหรือระบบของประเทศ     ต้องกำหนดให้มี double loop learning  หรือ triple loop learning เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารและการกำกับดูแล    คือต้องจัดให้มีกลไก M&E เพื่อสร้างสารสนเทศป้อนกลับสู่การปรับวิธีทำงาน (first loop)  และปรับเป้าหมาย (second loop)   รวมทั้งปรับวิธีคิด (third loop)  

ผมมองว่า องค์กรในปัจจุบัน รวมทั้งมหาวิทยาลัย    ต้องมีกลไกบริหารและกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลง (change management  และ change governance)  เป็นกลไกสำคัญยิ่งในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์     ซึ่งหมายความว่า เราเชื่อว่า อนาคตไม่แน่นอน    ต้องมีกลไกตรวจจับสัญญาณที่บอกทิศทางการเปลี่ยนแปลง    เอามาบอกตัวเองว่า พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่    ต้องปรับตัวเตรียมพร้อมอย่างไร       

เครื่องมือที่น่าจะมีประโยชน์มากอย่างหนึ่งคือ Developmental Evaluation (๔)    ซึ่งในหลักการ มันคือเครื่องมือสร้างการเรียนรู้จากการทำงาน    และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย     

ข้อเสนอใน (1)  เรื่องการจัดให้มี career counseling ในระดับก่อนมหาวิทยาลัย น่าจะสำคัญมาก    เพราะจะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้นักศึกษาที่มีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายในชีวิตการงานเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย     โดยผมคิดว่า ในสถานการณ์ของความอ่อนแอในระบบการศึกษาภาคบังคับของไทย    มหาวิทยาลัยต้องยื่นมือเข้าไปช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาตัวตนตามแนวคิดของ Chickering (๕)     ก็จะช่วยให้เด็กมองเห็นแนวทางอาชีพในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น    

นำไปสู่อนาคตของวิธีการรับนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย     ผมมองว่า มหาวิทยาลัยไทยควรร่วมกัน reform   หรือ transform กระบวนทัศน์ ว่าด้วยนักศึกษา    และว่าด้วยวิธีสรรหานักศึกษาเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย    รวมทั้งกระบวนทัศน์ใหม่ของการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย   

ผมมองว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยต้องเป็นที่เรียนผ่านการปฏิบัติ    เรียนทฤษฎีในมิติที่ลึกจากการปฏิบัติ     โดยที่ทฤษฎีในมิติธรรมดาๆ หาจากพื้นที่ไซเบอร์ได้    มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เรียนในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    เรียนรอบด้านหรือครบด้าน    รวมทั้งได้ฝึก “ทักษะอ่อน” (soft skills) ที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตที่ดีในอนาคต

นักศึกษาในอนาคตจะกลายเป็น “ผู้ฝึกฝนปัญญาจากการปฏิบัติ”    ไม่ใช้ “ผู้มารับถ่ายทอดความรู้” อย่างในปัจจุบัน     นักศึกษาจึงจะเปลี่ยนจากเป็น consumer    กลายเป็น “co-producer”    และมหาวิทยาลัยต้องแสวงหาและสร้าง “learning platform” ใหม่ ให้แก่นักศึกษา

ผมทำนายว่า learning platform   จะไปซ้อนทับกับ “working platform”     ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องแสวงหาภาคีหุ้นส่วนในภาคประกอบการ สำหรับเป็น learning platform ให้แก่นักศึกษา    รวมทั้งเป็น creating platform ให้แก่อาจารย์และนักศึกษา     

ดังนั้นมหาวิทยาลัยในอนาคต ต้องพัฒนา “Social engagement capacity”    สำหรับเป็นพลังสร้าง learning platform ใหม่ ไว้รองรับนักศึกษา   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 688734เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2021 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2021 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท