พุทธเศรษฐศาสตร์ : Ecotourism Part I


วันนี้มีคนส่งแบบสอบถามเรื่อง Ecotourism มาให้ช่วยกรอกข้อมูลเพื่อใช้ในการวิจัย จึงเป็นโอกาสได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

Ecotourism คืออะไร..?

แปลง่าย ๆ จากที่ข้าพเจ้ารู้มาก็คือ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ"

การท่องเที่ยวคือการเดินทางออกไปเพื่อหาความสุขในรูปแบบหนึ่งที่สังคมได้บอกเราว่า เป็นส่วนหนึ่งของ "วิถีชีวิต"

เราทำงานเก็บเงินมาทั้งปีเพื่อใช้เงินนั้นในการท่องเที่ยวสักหนึ่งครั้งสำหรับช่วงวันหยุดพักร้อน

ความทุกข์ในการทำงานสิบเอ็ดเดือนกว่า ๆ สามารถปลดเปลื้องได้ด้วยการท่องเที่ยวหนึ่งสัปดาห์

ดังนั้นมนุษย์เงินเดือน หรือแม้กระทั่งนักเรียนนักศึกษา จึงตั้งหน้าตั้งตารอวันที่จะได้ไปท่องเที่ยว โดยหวังว่าการท่องเที่ยวนั้นจะมอบ "ความสุข" ให้แก่ชีวิต

"มินิท่องเที่ยว" คือการท่องเที่ยวแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามวันหยุดสุดสัปดาห์ ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าบ้าง หรือขับรถเดินทางไปตามอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียงบ้าง

สิ่งเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่าเป็นการ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" เพื่อเร้าให้ทุกคนออกมา "ใช้เงิน" เพื่อการเดินทางและการจับจ่ายซื้อของกิน รวมถึงของฝากต่าง ๆ

ถ้าคนอยู่บ้านเฉย ๆ เงินก็จะไม่หมุนเวียน ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจก็จะตกลงไม่ได้ถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ดังนั้นมนุษย์ในสังคมจึงถูกสร้างค่านิยมให้ออกมานอกบ้านเพื่อใช้เงินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

โดยการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่นิยมกันมากในปัจจุบัน คือการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจำเป็น ที่สูง ที่ราบ หรือผืนน้ำ...

ที่สูง ก็คือสถานที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป อาทิเช่น ภูเขา น้ำหนัก อุทยานแห่งชาติทั้งทางภาคเหนือและภาคอีสาน

ที่ราบ ก็ได้แก่สถานที่ที่อยู่ในระดับน้ำทะเล อาทิเช่น อุทยานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ผืนน้ำ ก็คือ ทะเล เกาะแก่ง แม่น้ำ ลำธาร...

เมื่อคนโยกย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ขึ้นใจในระหว่างเรียนเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์กับท่าน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ก็คือ "ของเสีย (WASTE)"

ตามความเข้าใจของข้าพเจ้านั้น... ของเสียจะเกิดขึ้นทุกขณะเมื่อเรา "ขยับ"

การขยับนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เราขยับปอดเพื่อหายใจเข้า เราก็มีการถ่ายเทของเสียตอนหายใจออก

เมื่อเราขยับเขยื้อนร่างกายไปถูกสิ่งใด สิ่งนั้นที่สักว่าเป็นธาตุทางธรรมชาติ นับตั้งแต่เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย แต่ก่อนสิ่งเหล่านั้นก็อยู่เป็นปกติมิได้เป็นของน่าเกลียดมาแต่เดิม ครั้นมาถูกเข้ากับกายอันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว ย่อมกลายเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งไปด้วยกัน (ส่วนหนึ่งในบทสวด ธาตุปัจจเวกขณปาฐะ)

อาหารก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี ยารักษาโรคก็ดี เขาก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น ถ้าคนไม่ได้ไปใช้ ไม่ได้ไปถูกต้อง เขาก็ดำเนินไปตามเหตุตามปัจจัยของเขา แต่ด้วยมนุษย์ที่เข้าไปถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่เข้าไปเร่งเร้าให้เกิด WASTE หรือของเสียขึ้นมาได้ในบัดดล

ดังนั้น เมื่อเราคิดจะก้าวขาออกจากบ้านเพื่อไปหาความสุขจากการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะถูกอุปโลกน์ทางคำพูดขึ้นมาให้เป็น "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)" ก็ตาม ย่อมเกิดของเสียขึ้นในทุก ๆ กระบวนการที่เราก้าวเดิน...

ถ้าบอกว่าเราอยู่บ้านเราก็มีความสุขได้ ก็จะไปขัดกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อสร้างการไหลเชี่ยวของเงินตราในระบบ

คนเราในสังคมทุกวันนี้จึงถึงกล่อมให้ต้องเสาะแสวงหาความสุข แล้วมองว่าทุก ๆ วันที่มีชีวิตอยู่นี้คือความทุกข์...

"ตอนทำงานทุกข์เหลือเกิน เมื่อไหร่จะเลิกงาน จะได้ไปเดินห้าง ไป Fitness"

เราต้องมีความสุขในการทำงาน เพราะงานนั้นทำให้เราได้เสียสละ

หากเรามีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราก็จะได้ปฏิบัติในทุก ๆ วันอย่างถูกต้อง

เราไปทำงานก็มีความสุข อยู่บ้านเราก็มีความสุข ทำให้สวรรค์เกิดขึ้นในบ้านของเรา ทำให้ที่ทำงานนั้นเป็นสวรรค์ คือ สถานที่ที่เหยียบย่างเข้าไปแล้วเต็มไปด้วย "ศานติสุข"

นำกายมาทำความดี มาเสียสละ น้ำเสียงที่เปล่งออกจากริมฝีปากของเรานี้ต้องเป็นดอกไม้ เป็นของหอม นำใจนี้มาสร้างสรรค์เพื่อความสามัคคีและปรองดอง มนุษย์ทั่วทั้งผองจะสามารถพบสุขได้ในปัจจุบัน

ดังนั้น เราต้องพัฒนาระบบนิเวศในบ้านและที่ทำงานของเราให้เต็มไปด้วยความสุข 

ดูแลบ้านให้น่าอยู่ ทำความสะอาด อากาศโปร่งโล่งสบาย โดยเฉพาะระบบนิเวศน์ทางจิตใจที่เราต้องเอาใจใส่ มีความรัก มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

หากเรารู้จักระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างแท้จริง เราจะเห็นระบบที่เอื้ออาทรกันระหว่างน้ำ ดิน ฟ้า และอากาศ

ธรรมชาติปรับทุกอย่างเข้าสู่ความสมดุลที่ควรจะเป็น

เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง ใบไม้ก็ผลัดทิ้งซึ่งใบเพื่อรักษาไว้ซึ่งลำต้น เปรียบเสมือนกับบุคคล ต้องเสียสละความสุขทางกายเพื่อพัฒนาซึ่งจิตใจ

จิตใจที่เร่าร้อนเพื่อเสาะแสวงหาซึ่งความสุข ก็มิต่างอะไรกับแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ ที่มีแต่ต้องร้อนเร่า ดิ้นรน กระเสือกระสน เพียงหวังแค่วันนึงว่า อนาคตฉันจะมีความสุข...

เราทุกคนควรจะต้องมีความสุขในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การหายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุข อันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ในทุกขณะ โดยมิต้องแลกมาซึ่งเงินทอง

เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เล่าเรียนศึกษา ก็เพื่อมีปัญญา เราต้องนำทุกสิ่งทุกอย่างมาพินิจพิจารณาให้เกิดปัญญา

สิ่งที่มากระทบกับเราทุกอย่างนั้นมีคุณ มีประโยชน์หากเรานำมาใช้ภาวนา คือ การนำมาคิด วิเคราะห์ให้เห็นความเป็นจริงตามธรรมชาติ

ระบบนิเวศทางจิตใจสามารถเกิดขึ้นได้ หากเรารู้จักประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ ที่ผันแปรเปลี่ยนไปรอบ ๆ ตัว

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะได้ประโยชน์ได้ หากเรานำหลักการพึ่งพิงกันทางธรรมชาติมาพัฒนาตนและครอบครัว ให้เกิดความสุขได้อย่างยั่งยืน...

หมายเลขบันทึก: 688736เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2021 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2021 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท