พุทธเศรษฐศาสตร์ : สังคมแห่งการเปิดโอกาส


คนเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ คนเราจะประเสริฐได้ก็เพราะพัฒนาตน และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำความดี

"การผลิตเพื่อให้" ถือว่าเป็นหัวใจของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ การให้ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ "การให้โอกาส" ซึ่งต้องตัดคำว่า "ผิดพลาด" จากกระบวนการทั้งหมด เพราะถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่เรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกต้อง

หากเราทำเพื่อ "ให้" จิตใจของเราจะอยู่บนฐานของความถูกต้องเสมอ เมื่อใดที่เราทำเพื่อ "เอา" จิตใจของเราก็ก้าวขาข้างหนึ่งไปในหนทางแห่ง "อบาย" 

อบายนี้ก็ได้แก่ภพภูมิของเปรต ของอสุรกายที่มีแต่อยากได้ อยากมี อยากเป็น มีความหิวกระหายที่อยากได้มาซึ่งวัตถุ สิ่งของ เงินตรา ที่เราแทนคำว่า "ผลตอบแทน"

หากเราต้องการผลตอบแทนไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ก็ถือว่าเราเดินตามสายของ "นายทุน" ที่ต้องมีคำว่า "กำไร" และ "ขาดทุน" อยู่ในทุก ๆ ลมหายใจ

จุดเริ่มต้น เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองในการที่จะให้ จะเสียสละ เปิดโอกาสในการกวาดกิเลส อวิชชา เครื่องเศร้าหมองที่มาบดบังและจำจองจิตใจของเราอยู่นานแสนนาน

เราต้องใช้โอกาสในทำความดีนี้เป็นเครื่องชำระล้างเมฆหมอกที่ปกคลุมจิตใจของเรา กวาดไปเรื่อย ๆ ล้างไปทุก ๆ วัน แล้วฝุ่นควันที่บดบังจิตใจของเรานั้นก็จะจางคลายลง

เราต้องไม่ปิดกั้นตัวเอง หรือบล็อคตัวเองไว้ว่า เราทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ถ้าเราให้ เราเสียสละ แล้วเราจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร เราอย่าไปคิดอย่างนั้น..!

ผู้ให้ ผู้เสียสละนี้แหละจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสบาย ถือว่าเป็นคนที่ "ทันสมัย" แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบทุนนิยมที่ทำให้เราต้อง "ตามสมัย" อยู่ร่ำไป

เราต้องทันสมัย โดยต้องนำหน้ากิเลส ตัณหา และอวิชชาให้ได้สักก้าวหนึ่ง ไม่อย่างนั้น เราเห็นรถสวย ๆ ก็ตามไปเรื่อย เห็นบ้านสวย ๆ คอนโดหรู ๆ ก็ตามไปเรื่อย เห็นโทรศัพท์มือถือออกมาใหม่ เทคโนโลยีใด ๆ ออกมา เราก็มีแต่ตามไปเรื่อย ตามไปอย่างไม่มีที่จบ ไม่มีที่สิ้น เหมือนกับคนที่วิ่งตามตะครุบเงา

เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองก้าวพ้นจากความอยากในวัตถุเหล่านั้น ให้ใจของเรามีอิสระในการที่ก้าวให้ทันสมัย และนำสมัยให้ได้ ด้วยจิตใจของผู้ให้ ผู้เสียสละ เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อระบบล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบภายนอก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทุนนิยม โดยเฉพาะระบบภายในก็คือร่างกายของเรานี้ที่ต้องแก่ เจ็บ และตาย เมื่อนั้นไซร้ เราต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้อย่างแท้จริง

เปิดโอกาสให้ตนเองหลุดจากการบำรุงบำเรอตนด้วยข้าวของ เงินทอง ทรัพย์สมบัติอันไม่จีรังยั่งยืน

เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้หลุดพ้นจากคำนินทา สรรเสริญ และเยินยอ

เปิดโอกาสให้ครอบครัวอยู่จักคำว่า "พอ" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เปิดโอกาสให้คนข้างเคียง รู้จักให้แก่กันและกัน...

หมายเลขบันทึก: 688510เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท