ของเล่น..ที่มีชีวิต


ของเล่น…ที่มีชีวิต    

          เรื่อง ของเล่น เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้นของหนังสือเรื่อง ใน โลกเล่า โดยเป็นผลงานของ วัฒน์ ยวงแก้ว ที่รวบรวมเรื่องสั้นที่ได้รางวัลมาผสมกับเรื่องที่แต่งใหม่ที่มีเนื้อหานำเสนอสังคมในแง่มุมที่ต่างกันออกไป เรื่องสั้นอย่าง ของเล่น ก็มีการนำเสนอสังคมในอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

      ของเล่น เป็นเรื่องราวความรักของชายหญิงคู่หนึ่งที่ไม่เหมือนคนทั่วไป โดย เธอ เป็นผู้ที่มีโลกส่วนตัวสูง จะพูดคุยและสบตากับผู้ทรงภูมิปัญญาเท่านั้น รวมไปถึงเหล่านักเขียนซึ่งเธอชื่นชอบเป็นพิเศษ บ้านของเธอจึงเต็มไปด้วยหนังสือมากมาย และเธอสามารถมองเห็นนักเขียนเหล่านั้นมีตัวตนที่เธอสามารถพูดคุยด้วยได้เธอมีความสัมพันธ์กับ ผม โดยทุกครั้งที่เธอจะร่วมรัก เธอจะจินตนาการถึงนักเขียนแต่ละคนที่เธอชื่นชอบ ซึ่งมีนักเขียนคนหนึ่งที่เธอชื่นชอบมากเป็นพิเศษ และเธอมีโอกาสได้เจอเขาพร้อมกับสานสัมพันธ์กับนักเขียนคนนั้นอย่างลึกซึ้ง แต่ท้ายที่สุดเธอก็ต้องเสียใจเมื่อเธอได้รู้ความจริงว่าเธอถูกนักเขียนคนนั้นหลอกมาโดยตลอด

          เรื่อง ของเล่น เป็นการเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร ผม ผู้เขียนมีการใช้ท่อนสุดท้ายของบทกวีที่ชื่อว่า ของเล่น ที่แต่งโดย รพิณทรนาถ ฐากูร มาใช้ในการเปิดเรื่อง เป็นการกระตุ้นความสนใจที่ทำให้มีความอยากอ่านเนื้อเรื่องต่อไป โดยการลำดับเนื้อเรื่องผู้เขียนใช้จุดสุดยอดของเรื่องมาใช้เริ่มเรื่อง จากนั้นจึงเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเวลา ซึ่งเนื้อหาก็มีการผูกปมไว้ส่วนของ เธอ ที่ชอบนักเขียนคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ และเธอก็ได้มีความสุข โดยผมไม่อาจเรียกร้องได้ เรื่องดำเนินไปจนถึงจุดสุดยอดที่เธอได้รู้ความจริงว่าแท้จริงแล้วนักเขียนคนนั้นมองเธอเป็นแค่วัตถุทางเพศหรือมองเป็นแค่ของเล่นในยามว่าง จนทำให้เธอเสียใจมาก ไม่สนใจผม รวมไปถึงไม่สนใจที่อ่านหนังสือของนักเขียนคนใด จนนักเขียนเหล่านั้นเริ่มจางหายไป

          ผู้เขียนสร้างเรื่องราวให้ผู้อ่านเชื่อว่า ผม นั้นเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่รักกับผู้หญิง แต่ผู้เขียนก็ได้เฉลยในตอนคลายปมว่า ผมที่ถูกละเลยกำลังจะสูญสลายไป เส้นขอบเริ่มเจือจาง เป็นการที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถมองได้ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่ามนุษย์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนเองรัก จะกระทำสิ่งก็ย่อมจะคิดถึงความรู้สึกของคนรักเสมอ เพราะเขาก็มีตัวตนเช่นเดียวกัน แต่ถ้าไร้ซึ่งความรู้สึกรักหรือผูกพัน การกระทำที่เกิดขึ้นก็ย่อมแตกต่างกันไป แม้ยืนอยู่ตรงหน้าก็มิอาจมองเห็น โดยเมื่อถ้าเปรียบเทียบกับตัวละครผม ถ้าจะมองว่า ผม มีตัวตนก็สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เพราะถ้าหาก เธอ มีความรักความศรัทธา เธอก็จะมองเห็นผม หรือแม้แต่นักเขียนคนอื่น ๆ แต่ถ้าตรงกันข้ามเธอก็จะไม่สามารถรับรู้ หรือรู้สึกถึงการมีตัวตนของผมและนักเขียนเหล่านั้นเลย

          นอกจากนั้นแล้วก็ยังทำให้ผู้อ่านย้อนกลับไปดูเนื้อหาในช่วงต้น ๆ จะเห็นได้ว่ามีบทสนทนาที่เป็นของฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าเธอใช้จินตนาการสร้าง ผม ขึ้นมา ซึ่ง ผม ในที่นี้อาจหมายถึงนักเขียนคนหนึ่ง หรืออาจหมายถึง วัฒน์ ยวงแก้ว ก็เป็นได้ เพราะเป็นเสมือนหนังสือเล่มใหม่ที่ เธอ ได้นำไปอ่านและชื่นชอบจนสามารถมองเห็น พูดคุย หรือแม้กระทั่งมีความสัมพันธ์กับนักเขียนได้

          ในส่วนของการตั้งชื่อเรื่องว่า ของเล่น เรียกได้ว่าเป็นการแฝงทัศนะคติของผู้เขียนอย่างหนึ่ง โดยถ้าตีความหมายจากคำว่า ของเล่น ก็จะหมายถึง ของสําหรับเด็กเล่นเพื่อให้สนุกหรือเพลิดเพลิน แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต แล้วถ้าของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีชีวิตล่ะ ? ซึ่งอาจตีความได้ว่าผู้เขียนต้องการจะสะท้อนสังคมในเรื่องการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นโดยการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือความสุขส่วนตนเป็นหลัก ซึ่งปรากฏได้อย่างเด่นชัดจากตัวละครเธอ ที่มีความสัมพันธ์กับผมโดยที่ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เธอ ก็จะนึกถึงนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ผม ในตอนนี้เลย เป็นการแสดงให้เห็นว่าเธอให้ความสำคัญกับความสุขของตนเองมากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

          นอกจากนั้นนักเขียนที่เธอชื่นชอบก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างไปจากเธอ เพราะนักเขียนที่เธอได้ไปมีความสัมพันธ์ด้วยนั้น ก็มองเห็นเธอเป็นแค่วัตถุทางเพศ เพราะนักเขียนคนนั้นมีภรรยาและลูกอยู่แล้ว  โดยเรียกได้ว่าพฤติกรรมทั้งของเธอและนักเขียนที่เธอชื่นชอบต่างก็มองคนอื่นเป็นของเล่น ซึ่งอาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพียงแค่มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน หรืออาจจะมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า นักเขียนที่เธอชื่นชอบ ถึงแม้ว่าเธอมองเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา แต่แท้จริงแล้วนักเขียนคนนั้นก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับเธอ โดยทั่วไปแล้วถ้าหากเรามองสิ่งใดเป็นของเล่น คุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ก็จะลดลงมาหรือแทบจะไม่มีเลย เพราะเป็นเพียงแค่ของเล่น ซึ่งหากเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิดก็อาจจะส่งผลร้ายต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็นของเล่น โดยผู้ที่เล่นก็จะสามารถทำอะไรกับของเล่นก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงผู้ความรู้สึก แค่ให้ของเล่นนั้นตอบสนองต่อความรู้สึกผู้เล่นเท่านั้นก็เพียงพอแล้วผู้เขียนจงใจใช้ตัวละครที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้สะท้อนสังคมในมุมมองที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่ลึก ๆ แล้วสันดานของมนุษย์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดคือ ความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุดเป็นที่มาที่ก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว ซึ่งความเห็นแก่ตัวนั้นอาจไปทำร้ายผู้อื่นโดยที่ไม่ได้คาดคิดก็ได้

          สำหรับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน หรืออาจเรียกได้ว่าแก่นของเรื่อง ของเล่น นี้ เนื่องจากผู้เขียนได้ดำเนินเนื้อเรื่องโดยให้เธอเป็นผู้ที่มองเห็นนักเขียนว่ามีตัวตนและสามารถพูดคุยกับเธอที่บ้านได้ตัวต่อตัว โดยที่ผู้อื่นแม้แต่ตัวผู้อ่านเองก็คงมองว่าเธอนั้นเป็นบ้า ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนที่มีศรัทธาและมองเห็นนักเขียนเหล่านั้นด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ โดยในเรื่องก็มีการเน้นย้ำเสมอว่าการกระทำของเธอมีความเป็นธรรมชาติ ไร้การเสแสร้งใด ๆ และเธอมีความสุขมากที่ได้พูดคุยกับเหล่านักเขียนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

          แก่นแท้ของเรื่อง ของเล่น ผู้เขียนมุ่งเน้นสะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เมื่อมนุษย์มีความเชื่อและศรัทธาสิ่งใด สิ่งนั้นจะมีตัวตนหรือไม่มิใช่เรื่องที่ควรจะนำมาพิจารณา แต่ควรพินิจพิเคราะห์ไปถึงคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร หากแต่พิจารณาเพียงเพียงผิวเผิน เช่นเดียวกับการอ่านเรื่อง ของเล่น เป็นครั้งแรกก็อาจจะก่อให้เกิดอคติที่มองว่าตัวละคร เธอ เป็นคนบ้า หรือสติฟั่นเฟือนคนหนึ่ง แต่เมื่อหากใช้ความคิดพิเคราะห์อย่างจัดเจนก็จะเห็นได้ว่า มิได้เป็นอย่างที่คิดเสมอไป เพราะคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามองเห็นสิ่งนั้นหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการมองเห็นสิ่งนั้นว่ามีคุณค่าอย่างไร

          เรื่อง ของเล่น นอกจากจะสะท้อนสังคมในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านเห็นความสามารถของตัวผู้เขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างมีมิติ ที่แม้ว่าเรื่องราวอาจจะดูเป็นเรื่องราวที่เหนือจริงไปบ้าง แต่ก็มิได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวไปเลยสักทีเดียว โดยลึก ๆ แล้วเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังช่วยตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ต่างก็มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง เช่นเดียวกับเรื่องสั้นนี้ที่ให้ตระหนักถึงคุณค่าของเนื้อแท้ของวรรณกรรม ที่มอบทั้งความรู้ ความสุข และเป็นเรื่องเตือนใจในเรื่องราวชีวิตของมนุษย์ เพราะถึงแม้ว่าจะหมดศรัทธาในตัวผู้เขียน คุณค่าของวรรณกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาก็จะคงอยู่ต่อไป ดังนั้น การพิจารณาคุณค่าของสิ่งใดจะมิได้อยู่ที่ตัวบุคคล

แต่อยู่ที่ผลงานของผู้นั้น”

หมายเลขบันทึก: 688505เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท