นกกระยางโง่ ๆ : ภาพแทน สังคมโลกไร้พรมแดน.....


“นกกระยางโง่ ๆ นี่แหละ เขาแต่งภาพด้วยโฟโต้ชอปให้เป็นนกกระยางพันตัวบินขึ้นจากสระ” (หน้า 66)

นกกระยางโง่ ๆ : าพแทน สังคมโลกไร้พรมแดน.....

        รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ ของจเด็จ กำจร-เดช หนึ่งในนักเขียนผู้ได้รางวัลดับเบิ้ลซีไรต์ โดยเรื่องสั้นในปีนี้ ท้าทายขนบการเขียนเรื่องสั้น ทั้งด้านการเล่าเรื่อง ขนาดความยาวของเรื่อง การสร้างสัญญะโดยใช้สัตว์สื่อความหมาย “นกกระยางโง่ ๆ” เปรียบเสมือนการสะท้อนภาพสังคมแค่เปลือกนอก ภาพที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รับการพิจารณาและได้รับคัดเลือกเป็นหนังสือวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2563

 “นกกระยางโง่ ๆ” เป็นเรื่องราวของของตัวละคร “ท็อป” หนุ่มวิศวกรที่ต้องออกจากงานเพื่อกลับมาดูแลพ่อผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านเกิด จนกระทั่งเมื่อพ่อเสียชีวิต “ท็อป” จึงตัดสินใจขายบ้านและสวนทุเรียนที่พ่อเคยทำเพราะที่แห่งนี้เป็นภาพจำของเขากับพ่อ อีกทั้งได้วางแผนชีวิตโดยจะทำกสิกรรมตามรอยพ่อซึ่งอาศัยที่ดินปลายนาของพ่อที่เหลืออยู่ แต่ทว่าเมื่อลงมือทำอะไรเขาก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักอย่าง ทั้งนี้สาเหตุมาจากการไม่ศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับความมักง่าย ความไม่รู้จักเอาใจใส่และรับผิดชอบในตนเอง ใช้ชีวิตผูกเกี่ยวแต่กับโซเชียลเมื่อลงมือกระทำสิ่งใดก็โพสต์เรื่องราวลงในเพจเฟซบุ๊ก หากแต่บางสิ่งที่ทำไม่ได้ประสบผลสำเร็จดังที่โพสต์ กระทั่งท้ายที่สุดแล้วทุกสิ่งที่ลงมือทำก็ไร้ประโยชน์

หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีโครงเรื่องแบบเปิด(Open Plot) ซึ่งโครงเรื่องมีลักษณะที่ไม่เน้นความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ แต่จะเน้นความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของตัวละครเป็นสำคัญ ไม่มีพัฒนาการนำไปสู่จุดสุดยอด(Climax) เพื่อเร้าอารมณ์ของผู้อ่าน

ดังจะเห็นได้จากเรื่องผู้เขียนเปิดเรื่องแบบการเล่าเรื่องแบบเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า(Met fiction) เป็นเรื่องที่แต่งลักษณะซ้อนกัน การเล่าเรื่องในลักษณะนี้มักจะพยายามทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเรื่องที่เล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ หากผู้อ่านไม่ทันสังเกตอาจทำให้สงสัยในการเปิดเรื่องว่าเหตุใดผู้เขียนถึงเปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงเรื่องนก

ท็อปฟังมาบ่อยแล้ว เรื่องเลี้ยงนกกรงให้กลายเป็นวัว(หน้า41) เหมือนหนังฉายซ้ำในช่องโมโน ยังไม่ถึงเรื่องเล่าของคนขายแม่เฒ่า ท็อปก็ชิ่งหนีออกจากร้านน้ำชาเสียก่อน(หน้า43)

หลังจากเปิดเรื่องผู้เขียนใช้การเล่านิทานต่อการเปิดเรื่อง ซึ่งนิทานที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนก ทว่านกในที่นี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชื่อเรื่อง(นกกระยางโง่ ๆ) หากแต่เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวให้ผู้อ่านเกิดความฉงนใจ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องสลับไปสลับมา เพื่อแสดงให้เห็นภูมิหลังของตัวละครเอกเหตุที่ต้องกลับมาอยู่บ้านเกิดและทำกสิกรรมตามรอยพ่อในแบบฉบับของตนเอง หากแต่ว่าไม่ได้ศึกษาสิ่งที่ทำอย่างรอบคอบ ท้ายที่สุดสิ่งที่ทำก็ไร้ซึ่งประโยชน์ใด ๆ

ภายหลังผู้เขียนปิดเรื่องโดยการเล่านิทานเฉกเช่นกับตอนเปิดเรื่องหากว่าเป็นการเล่าผ่าน

เฟซบุ๊กซึ่งตัวละครเอกในเรื่องก็ยังใช้ส่วนหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่ในโลกไร้พรมแดน

      ทั้งนี้เรื่องสั้นมีโครงเรื่องแบบเปิด ไม่มีพัฒนาการไปสู่จุดสุดยอด อาจทำให้เรื่องไม่เร้าใจผู้อ่าน ทว่าผู้เขียนใช้วิธีการเล่านิทานที่กล่าวถึงนก อีกทั้งชื่อเรื่องยังเป็นชื่อของนก (นกกระยางโง่ ๆ) ซึ่งเป็นการดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่าน ทั้งยังใช้สัตว์(นก)เป็นนัยสำคัญที่อาจจะสื่อถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ลักษณะของนกกระยางนั้นเป็นสัตว์ที่มีขายาวและปีกใหญ่ แต่นกชนิดนี้ไม่สามารถวิ่งได้เร็วและบินได้เร็วซึ่งเมื่อเปรียบกับมนุษย์แล้วก็เหมือนกับคนที่มีความรู้แค่เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ

          นกกระยางโง่ ๆ ภาพแทนสังคมโลกไร้พรมแดน เป็นการแนะแก่นของเรื่อง ในปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีและมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งผู้คนในปัจจุบันสามารถเข้าถึงข่าวสารและเรื่องราวได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ใช้ชีวิตผูกติดกับโลกโซเชียล จนกระทั่งในบางครั้งเรื่องราวที่เราเสพเข้าไปอาจจะไม่เป็นดังสิ่งที่เห็น หากว่าผู้เขียนไม่เพียงจะสื่อให้เห็นแค่เรื่องของความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันที่มักโพสต์อวดอ้างสิ่งที่ตนทำ ซึ่งในบางครั้งเบื้องหลังของเรื่องนั้นไม่เป็นจริงดังที่เห็นเปรียบเสมือนสังคมเปลือกนอก ในปัจจุบันนั้นเห็นได้ชัดเจน

          สาเหตุที่แก่นเรื่องเป็นเช่นนี้อาจพิจารณาได้ว่าการที่ตัวละครเอกของเรื่อง เลี้ยงสัตว์หลายชนิด แต่ก็ไม่ได้ผลดังคาดหวัง เห็นผู้อื่นทำก็อยากทำตามโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลและวิธีการอย่างละเอียดรอบคอบ ใส่ใจแค่การถ่ายภาพแล้วโพสต์ลงในโซเชียลเพื่อต้องการยอดไลก์ นั่นหมายถึงคนในสังคมปัจจุบันที่มีลักษณะนิสัยมักง่าย ชอบการสร้างภาพ ดังนั้นผู้เขียนต้องการกระตุ้นและเตือนให้ผู้อ่านในการใช้ชีวิต คือการลงมือทำสิ่งใดควรใส่ใจและเรียนรู้อย่างท่องแท้ แก่นเรื่องของเรื่องนี้จะถูกเปิดเมื่ออ่านเรื่องจนจบ

          กล่าวได้ว่าเรื่องนี้มีโครงเรื่องที่สมจริงเนื่องจากเรื่องราวของตัวละครเอกในเรื่องมีความคล้ายคลึงกลับพฤติกรรมของคนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก มีเปิดเรื่องและปิดเรื่องด้วยการเล่านิทานอีกทั้งโครงเรื่องยังช่วยเสริมแก่นเรื่องให้ชัดขึ้น คือ ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม

          ตัวละคร บทบาทที่เสมือนภาพจริง ตัวละคร “ท็อป” เป็นตัวละครที่ผู้เขียนสร้างขึ้นในลักษณะการเสียดเย้ยพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันที่หันมาสนใจโลกโซเชียลกันมากขึ้น ใช้โลกออนไลน์แสดงความเป็นตัวตนในอีกด้านออกมาและปิดตัวตนของอีกด้านเอาไว้ ซึ่งในโลกโซเชียลนี้เราสามารถที่จะแสดงแต่ด้านดี ๆ ออกมาเพื่อให้คนภายนอกรับรู้ได้โดยที่ไม่มีใครสามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งที่แสดงออกมานั้นจริงหรือเท็จอย่างไร ดังตัวละคร

“ท็อป” ที่โพสต์เกี่ยวกับชีวิตการเลี้ยงสัตว์ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้สนใจสัตว์เลี้ยงของเขาแต่อย่างใด

          ทั้งนี้ตัวละครเอกในเรื่องยังมีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง ทว่าตัวละครเอกในเรื่องนี้ไม่มีพัฒนาการในด้านลักษณะนิสัย เนื่องจากตัวละครมีนิสัยมักง่ายตั้งแต่ต้นเรื่องกระทั้งตอนจบ เพียงแต่มีตัวละครรองในเรื่องที่ช่วยเสริมให้ตัวละครเอกแสดงพฤติกรรมออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          ผู้เขียนสร้างตัวละครได้สมจริง ตัวละครมีลักษณะนิสัยเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการจำกัดตัวละครโดยตัวละครทุกตัวมีบทบาทสอดคล้องสัมพันธ์กันกับเนื้อเรื่อง ตัวละครมีลักษณะนิสัย  อารมณ์ ความรู้สึกหลากหลาย และมีความสมจริงตามลักษณะของตัวละคร ทำให้เรื่องดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งนำเสนอตัวละครโดยอ้อม ใช้สอดแทรกอยู่ในการเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครผ่านทางพฤติกรรมที่แสดงออกทางการกระทำ  คำพูดที่พูดกับตัวละครอื่นหรือคิดในใจ ตัวละครบางตัวใช้วิธีการนำเสนอผ่านทางความคิดของตัวละครเอก

          “นกกระยางโง่ ๆ” จึงเปรียบเสมือนภาพแทนพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้แสดงผ่านการกระทำของตัวละครเอกของเรื่อง ในแง่มุมหนึ่งผู้เขียนอาจจะต้องการสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อสะกิดใจผู้อ่าน ให้รู้จักพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำอย่างรอบคอบ ก่อนลงมือกระทำ ซึ่งถ้าสังคมมีคนแบบตัวละครเอกของเรื่องอยู่มากมาย อาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมและประชากรในประเทศได้ยากขึ้น

               

บรรณานุกรม

จเด็จ กำจรเดช. (2563). คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพฯ:ผจญภัย

หมายเลขบันทึก: 688504เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท