จิตวิญญาณที่เลือนราง


  จิตวิญญาณที่เลือนราง   

    คนธรรพ์แห่งภูบรรทัดเป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของ "กำพล นิรวรรณ" ประกอบไปด้วยเรื่องเล่าลี้ลับ สนุกสนาน แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ และคนธรรพ์แห่งภูบรรทัดก็เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่มีความน่าสนใจ แฝงแง่คิดในหลายแง่มุมอีกด้วย

          คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด เป็นเรื่องราวที่เล่าผ่านตัวละคร ข้าพเจ้า โดยเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้เป็นนายพรานให้แก่กองทัพ ครั้งเมื่อสมัยที่มีการสู้รบในเขตพัทลุง ตรัง สตูล ถึงแม้ว่าตัวข้าพเจ้าจะไม่มีความชำนาญมากพอที่จะเป็นนายพรานของกองทัพได้ แต่ข้าพเจ้าก็มิอาจทนรับบรรยากาศตึงเครียดหลังจากการสู้รบ จึงเลือกที่จะทำหน้าที่ในส่วนที่เล็งเห็นว่าเป็นอิสระแก่ตนมากที่สุด

          การเป็นนายพรานที่ดูเหมือนจะแสนธรรมดา แต่ข้าพเจ้าก็ได้พบความพิศวงของป่า คราใดที่ข้าพเจ้าเดินทางไปล่าสัตว์เพียงคนเดียว ข้าพเจ้าจะมองเห็นน้ำตกอันสวยงามที่เต็มไปด้วย ปลาหวด แต่หากมีบุคคลอื่นที่เดินทางไปล่าสัตว์พร้อมกับข้าพเจ้า น้ำตกที่งดงามแห่งนั้นก็จะไม่ปรากฏจะเห็นเพียงลำธารเล็ก ๆ เท่านั้น

          นอกจากนั้นยังมีความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าได้ยินเสียงดนตรีที่ฟังคล้ายว่าเป็นงานรื่นเริง จึงเข้าไปดู และได้พบกับชายหนุ่มที่มีผมขาวโพลน ชายหนุ่มผู้นั้นได้บอกกับข้าพเจ้าว่างานนี้เป็นงานฉลองวันสิ้นอายุขัยของตน และตนมีอายุมากพอ ๆ กับต้นไม้สูงที่โคนต้นมีขนาดเท่ากับสิบคนโอบ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่ามีอายุมากกว่าห้าร้อยปีแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจึงได้รู้ว่าชายคนที่เขาพบเป็นผู้ดูแลป่าที่มีจิตวิญาณเป็นผู้รักสันติ

          เรื่อง คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด มีการเปิดเรื่องโดยใช้ประโยคที่มีลักษณะคล้ายคำคมความว่า “ฝันหวานที่แวบเข้ามาเติมเสี้ยวหัวใจที่หายไป ฝันร้ายในชีวิตจริงบางฝันอาจตามหลอกหลอนเราได้นานปี แต่ความจริงที่งดงามดั่งความฝันอาจพันธนาการเราได้ชั่วนิรันดร์” ซึ่งประโยคดังกล่าวมีความสอดคล้องกันกับเนื้อเรื่อง หากผู้อ่านอ่านจบแล้วก็จะสามารถตีความหมายจากประโยคนี้ได้อย่างเข้าใจว่าผู้เขียนมีเจตนาที่จะแฝงทัศนะลงไปว่าสิ่งที่เราพบเจอหากเป็นเรื่องเลวร้ายก็อาจทำให้เราเจ็บปวดได้นานปี แต่หากเป็นเรื่องราวที่มีคุณค่าก็สามารถอยู่กับเราตลอดไป เพราะเป็นเรื่องราวที่เราอยากเก็บไว้ อยากจดจำ คล้าย ๆ กับมีการเติมเต็มส่วนที่หายไปได้

          ในเรื่องมีการผูกปมไว้กับตัวละคร ข้าพเจ้า ที่ได้พบเจอเรื่องราวที่พิศวงเพียงผู้เดียว ผู้อื่นมิอาจรับรู้หรือพบเจอเรื่องราวเหล่านั้นเลย ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งภายในใจของข้าพเจ้าที่ได้พบเจอเรื่องราวที่แปลกประหลาด ว่าแท้จริงสิ่งที่เขาได้พบเจอนั้นคือสิ่งใด และการทำร้ายสัตว์ในป่าเช่นนี้ตนรู้สึกผิดแต่ก็ต้องทำเพื่อส่วนรวม เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปจนกระทั่งเขาไปพบคำตอบจากชายผู้หนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ดูแลป่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าชายผู้นั้นเป็นผู้ที่คลายปมของเรื่องนั่นเอง

          คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด เป็นการตั้งชื่อเรื่องตามสาเหตุของเรื่อง คำว่า คนธรรพ์ หมายถึง ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง เป็นบริวารท้าวธตรฐ มีความชํานาญในวิชาดนตรีและขับร้อง ซึ่งหมายถึงชายหนุ่มที่ข้าพเจ้าได้ไปพบเจอ ที่กล่าวว่าตนเป็นผู้ที่ดูแลป่า มีจิตวิญญาณเป็นผู้รักสันติ มีลมหายใจเป็นดนตรี ส่วนคำว่าภูบรรทัด ในที่นี้อาจหมายถึง เทือกเขาบรรทัดในจังหวัดพัทลุง การตั้งชื่อเรื่องนี้มีความสอดคล้องกันกับเนื้อเรื่อง อีกทั้งยังเป็นการตั้งชื่อที่สร้างความน่าสนใจ อาจเป็นเพราะคำว่า คนธรรพ์ มีความหมายในเชิงบุคคลลี้ลับ ซึ่งนั่นเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้เนื้อหาต่อไป

          ผู้เขียนมีการสร้างตัวละครเอกที่สำคัญเพื่อดำเนินเรื่องราว คือ ข้าพเจ้า กับ ชายหนุ่มผมขาวโพลนที่กล่าวว่าตนเป็นผู้ดูแลป่า สำหรับข้าพเจ้าเป็นตัวละครที่เรียกได้ว่าหลายลักษณะ เพราะเป็นตัวละครที่มีนิสัย อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ดูเหมือนคนในชีวิตจริง กล่าวคือ ข้าพเจ้ามีลักษณะนิสัยเป็นคนที่รักอิสระ ชอบความโดดเดี่ยว นึกถึงผู้อื่นเสมอ นอกจากนั้นข้าพเจ้ามีนิสัยที่อยากรู้อยากเห็น สังเกตได้จากการที่ได้ยินเสียงเพลงจากในป่าตอนกลางคืน ข้าพเจ้าเดินไปดูด้วยความอยากรู้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ตัวละครดูสมจริงน้อยลง เนื่องจากมนุษย์โดยทั่วไปแล้วความกลัว ความรักตัวกลัวตายเป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด อีกทั้งเป็นเขตแดนที่มีการสู้รบกันอยู่เช่นนี้ ถ้าหากจู่ ๆ มีเสียงดนตรีบรรเลงในป่า และไม่สามารถล่วงรู้เลยว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ของศรัตรูหรือไม่ โดยความเป็นจริงแล้วมนุษย์จะมีความกลัวมากกว่าความสงสัยที่จะเดินตามเสียงเพลง หากจะมองถึงความกล้าของข้าพเจ้า ก็จะเห็นว่ามีความขัดกันอยู่บ้าง เพราะในการดำเนินเรื่องข้าพเจ้าต้องเผชิญกับความกลัวอยู่หลายเหตุการณ์ด้วยกัน ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ข้าพเจ้า เป็นตัวละครที่มีความสมจริงในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ขาดความจริงไปบางบางประการ ดังที่กล่าวไปข้างต้น

          ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินเรื่องคือ ผู้ดูแลป่า เป็นตัวละครที่เป็นที่มาของชื่อเรื่องว่า คนธรรพ์  และเป็นตัวละครแบบคงที่หรือลักษณะเดียว คือมีจิตใจที่บริสุทธิ์ มีเมตตา สังเกตจากตอนที่ข้าพเจ้าทำร้ายปลาของผู้ดูแลป่าด้วยอาวุธรุนแรง แต่ผู้ดูแลป่าก็มิได้โกรธเคือง อีกทั้งยังช่วยบอกวิธีการจับปลาให้อีกด้วย ผู้ดูแลปลาเป็นตัวละครเหนือจริง เป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับเนื้อหาได้เป็นอย่างดี  สำหรับตัวละครประกอบอื่น ๆ ได้แก่ หัวหน้าค่าย สหายในค่าย ต่างก็เป็นตัวละครที่ช่วยเสริมให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงมากขึ้น

          ในส่วนของจุดประสงค์ของเรื่อง หรือแก่นเรื่องของ คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด อาจเป็นในเรื่องของการที่ผู้เขียนต้องการให้มนุษย์เห็นความสำคัญของป่าและให้ความเคารพป่า อันเป็นพื้นที่ของธรรมชาติที่งดงาม โดยในตอนท้ายเรื่องผู้เขียนดำเนินเรื่องให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาที่พรากความสวยงามของธรรมชาติไป ซึ่งเป็นฝีมือของมนุษย์ที่รุกล้ำเข้าไปในป่าเพื่อสร้างพื้นที่ทำกิน  เป็นการสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด อีกทั้งความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แม่น้ำลำธารขนาดใหญ่ มีปลาแหวกว่าย พื้นที่เหล่านั้นจางหายไปอย่างน่าเศร้า รวมไปถึงความมหัศจรรย์ของป่า หรือเหล่าจิตวิญาณที่รักสันติ ผู้ดูแลป่าก็เริ่มเลือนรางจนแทบมิอาจมองเห็นหรือสัมผัสได้อีก อาจเป็นเพราะไม่มีผู้สมควรที่มองเห็น หรืออาจเป็นเพราะป่ามิใช่ป่าเช่นเดิมที่ควรจะเป็นอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นคงมีเพียงผู้สัมผัสถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง และจิตใจที่บริสุทธิ์เท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสถึงความมหัศจรรย์นั้นได้ ถึงกระนั้นผู้คนเหล่านั้นก็มีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย

          อย่าไรก็ตาม ความงดงามที่ได้ปรากฏให้พบเจอ ความมหัศจรรย์ที่ยากเกินจะบรรยายก็จะสถิตอยู่ภายในใจของผู้ที่ได้พบเห็น ซึ่งอาจมิได้หมายถึงเพียงความงามของป่าเพียงเท่านั้น เมื่อย้อนกลับไปถึงประโยคเปิดเรื่อง ก็จะทำให้เข้าใจว่าความจริงที่เราพบเจอนั้นแม้เป็นความจริงที่เลวร้ายอยู่กับความทรงจำเราได้นานเป็นปี แต่ความจริงที่งดงามดั่งความฝัน แม้ว่าจะผ่านไปนานเท่าใดความรู้สึกเหล่านั้นก็มิได้เลือนรางตามกาลเวลา

หมายเลขบันทึก: 688509เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท