ชีวิตที่พอเพียง 3875. เป็น catalyst for change ให้แก่หน่วยราชการ ยากมาก



ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. เมื่อบ่ายวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓  มีคนกล่าวว่า การเป็น catalyst for change ให้แก่หน่วยราชการ เป็นงานที่ยากมาก

ทำให้หวนคิดถึงงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล    ที่ดำเนินการมาสิบกว่าปี ภายใต้เป้าพัฒนาเด็กและเยาวชน    เน้นพัฒนาบุคลิก   โดยมุ่งทำงานเป็น catalyst    ซึ่งมองมุมหนึ่ง ได้รับความสำเร็จสูงมาก    สร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ดีเยี่ยม    เป็นที่ยอมรับนับถือ

แต่ท่านประธานมูลนิธิท่านปัจจุบัน คือ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย มองว่า ไม่ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็น catalyst for change    เพราะเขยื้อนกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอื่นที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น พม. แทบไม่ได้เลย    ซึ่งเป็นความจริง    ท่านจึงไม่ต้องการให้มูลนิธิสยามกัมมาจลทำงานแบบเดิมอีกต่อไป    คือยอมแพ้ต่อเป้าหมายขับเคลื่อนระบบการศึกษา    ต้องการหันไปทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างผลลัพธ์ได้เอง    ไม่ใช่สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกเชิงระบบ

ความจริง และความเชื่อเช่นนี้    สะท้อนภาพปัญหาของระบบราชการ    ที่อยู่ในสภาพ “ดื้อต่อการเปลี่ยนแปลง”    คือยึดติดสภาพการทำงานแบบเดิมๆ   

 ผมมุ่งทำงานเป็น catalyst for change มาตลอดชีวิต และพอใจในชีวิตของตน    จึงลองตีความความเข้าใจของผมต่อระบบราชการ    และความเปลี่ยนแปลงในระบบราชการในช่วงชีวิตที่ผมพอจะรับรู้ในช่วงเวลาราวๆ ๖๐ ปี   

ผมมองว่า ระบบราชการถดถอยลงในด้านสมรรถนะของข้าราชการ    และทำงานยึดกฎหมายหรือกฎระเบียบรุนแรงขึ้น    ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์น้อยลง    ซึ่งสวนทางกันกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัย    ทำให้คนเก่งๆ ไม่มุ่งรับราชการ    มุ่งไปทำงานเอกชนที่มุ่งใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์สูง และมีความเสี่ยงสูงด้วย    ในหลายกรณี การพัฒนาประเทศจึงมีราชการเป็นคอขวด  

การออกกฎระเบียบเคร่งครัดมักมีเป้าหมาย หรือข้ออ้าง ลดการโกงกิน แต่ในความเป็นจริง การโกงกินในราชการไทยไม่ลดลงเลย    เราเห็นอาการปากว่าตาขยิบในนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง    เราเห็นคนไม่ค่อยสะอาดอยู่ใน ครม.    เราเห็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย    ที่เป็นข่าวดังอย่างกรณีทายาทกระทิงแดงเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง (และอาจเงียบหายไปอีก)  

ผมได้มีโอกาสเห็นการทำงานของข้าราชการระดับสูง    ที่มองดูห่างๆ ก็รู้ ว่าเขาทำเพื่อให้ตนเองได้ก้าวสู่ตำแหน่งสูง มากกว่าทำเพื่อให้งานดี    และเขาก็ทำได้สำเร็จ    เพราะที่เขาทำมันเอื้อต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้ง   

แต่ผมไม่รู้ ว่าในระบบราชการระดับสูง ส่วนเน่ากับส่วนดี อันไหนมากกว่า    ผมเดาว่าส่วนดีน่าจะมากกว่าหลายเท่า    มิฉะนั้นบ้านเมืองคงจะพินาศไปแล้ว   

หันมามองที่โอกาสในชีวิตของบุคคล    สำหรับคนส่วนใหญ่ การได้เข้าเป็นข้าราชการเป็นความมั่นคงของชีวิต    ซึ่งก็น่าจะจริง    แต่มองอีกมุมหนึ่ง การเข้าเป็นข้าราชการอาจเป็นการเข้าสู่จุดอับของชีวิตก็ได้    คือเข้าไปในวงการที่ไม่เอื้อให้คนกล้าคิดนอกกรอบ    ไม่เอื้อต่อการใช้พลังสร้างสรรค์ ที่มนุษย์ทุกคนมี    การเป็นข้าราชการจึงอาจเป็นเส้นทางที่ปิด   ไม่เปิดกาสให้แก่ตนเอง

โอกาสกับความยากลำบากเป็นของคู่กัน    คนที่เข้าสู่ชีวิตราชการเพราะต้องการความมั่นคง    ก็ได้ความมั่นคง    ซึ่งต้องแลกกับโอกาสทำงานสร้างสรรค์ และโอกาสพัฒนาความสร้างสรรค์ของตนเอง   

ที่จริงผมทำงานราชการมาค่อนชีวิตการทำงานของตนเอง    คือเป็นข้าราชการระหว่างอายุ ๒๖ ถึง ๕๕   แต่ก็เป็นชีวิตข้าราชการมหาวิทยาลัย ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการสายอื่น    เรามีโอกาสทำงานสร้างสรรค์ได้มาก    ทั้งในงานวิชาการ และงานบริหาร    แต่ในช่วงเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา    ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารมีอำนาจการเมือง    ระบบราชการแข็งตัวขึ้นมาก    หน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาให้ทำงานอย่างคล่องตัว เพื่อให้ทำงานสร้างสรรค์วิชาการให้แก่บ้านเมืองก็ถูกจับเข้ากรอบราชการ    ยิ่งทำให้ระบบราชการล้าหลังยิ่งขึ้น   

ที่น่าเสียดายคือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สมัยก่อนมีจำนวนมากที่ทำงานเพื่อบ้านเมืองส่วนรวม    ในสมัยนี้รู้สึกว่ามีสัดส่วนน้อยลง    ยิ่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่บ้านเมืองจริงๆ มีน้อยลงมาก    มักพบแต่คนที่ทำเพื่อรักษาตำแหน่งหรือเพื่อไต่เต้า   

ไม่ทราบว่าผมมองโลกราชการในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า   

ผมคิดทบทวนกับตัวเองเพื่อรู้เท่าทันโลกและบุคคล    ให้ตนเองไม่หลงโดนใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการสร้างภาพของนักการเมืองและข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจต่อบ้านเมือง    ผมแก่แล้ว ควรใช้เวลาที่เหลือน้อยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม 

เพิ่มเติม ๙ มกราคม ๒๕๖๔

ค่ำวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๔    ผมไปงานสวดพระอภิธรรมศพคุณพ่อของคุณหมอก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ได้มีโอกาสคุยกับ ดร. สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานบริษัท SNC Former Plc Ltd    ท่านทำงานพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษามานานกว่า ๒๐ ปี    ผมจึงได้เรียนรู้ประสบการณ์จากท่าน    และได้ข้อมูลยืนยันว่า ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนระบบใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการได้    เพราะมีผลประโยชน์สีเทาเกี่ยวข้องซับซ้อนมาก    ฟังที่ท่านเล่าแล้วผมรู้สึกสยดสยองสะอิดสะเอียนมาก    ท่านสรุปว่าหากจะร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะหรือเทคนิค    ต้องมีข้อตกลงตามที่เรากำหนดและหากเขาจะเชิญ รมต. หรือผู้ใหญ่ในกระทรวงมาเปิดโครงการ อย่ายอมตาม    และบอกว่า คนจบ ปวส. ที่มาจาก ม. ๖ มักจะไม่มีทักษะในการทำงาน    ต้องเรียน ปวช. ต่อ ปวส. จึงจะมีทักษะตรงความต้องการ                 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ธ.ค. ๖๓   เพิ่มเติม ๙ ม.ค. ๖๔    


      

หมายเลขบันทึก: 688506เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท